รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เข้าข่ายระบอบอำนาจนิยมหรือไม่? (2)

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

ตอนก่อนๆ ผู้เขียนได้เขียนถึงประเด็น “รัฐบาลทักษิณเข้าข่ายระบอบอำนาจนิยมหรือไม่?” ไปแล้ว

มาคราวนี้ ถึงตารัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่าเป็นเข้าข่ายระบอบอำนาจนิยมหรือเปล่า?

ก่อนที่จะวิเคราะห์ว่าเข้าข่ายหรือไม่ จะขอย้ำถึงนิยามหรือกรอบความหมายของระบอบ “อำนาจนิยม” อีกครั้ง

กรอบที่ผู้เขียนใช้วิเคราะห์เป็นเกณฑ์ระบอบอำนาจนิยมตามเกณฑ์อำนาจนิยมและอำนาจนิยมอำพราง (authoritarianism และ stealth authoritarianism) ของ Ozan O. Varol เงื่อนไขสำคัญของระบอบอำนาจนิยมตามที่ Varol ได้วางไว้ นั่นคือ

รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญหรือเปิดโอกาสรับฟังความเห็นต่างและความหลากหลายทางการเมือง (political pluralism) และรัฐบาลหรือพรรคที่ปกครองประเทศมักจะกระทำการอย่างมุ่งมั่นชัดเจนที่จะกดหรือบีบฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองไว้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ มุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดการเมืองที่อยู่ภายใต้รัฐบาลพรรคเดียว โดยใช้วิธีการต่างๆ ที่จะกดหรือปิดกั้นพรรคฝ่ายค้านหรือพรรคอื่นๆ และการกระทำดังกล่าวนี้ของรัฐบาลในระบอบอำนาจนิยมมักจะเกิดขึ้นโดยอาศัยวิธีการผ่านช่องทางตามกฎหมายหรือเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้ (extra-legal) และการใช้อำนาจนั้น แม้ว่าจะไม่ถึงขนาดตามอำเภอใจ คาดการณ์ไม่ได้เหมือนอย่างในระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ แต่ก็มักจะไม่มีบรรทัดฐานที่ชัดเจน (ill-defined norms) แต่กระนั้นก็เป็นการใช้อำนาจที่พอคาดการณ์ได้

ตามคำอธิบายของ Juan J. Linz ใน Totalitarian and Authoritarian Regimes หน้า 162 ได้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (totalitarian) กับระบอบอำนาจนิยม (authoritarian)

โดยระบอบเบ็ดเสร็จขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์ (ideology) ในขณะที่ระบอบอำนาจนิยมขับเคลื่อนโดยทัศนคติหรือวิธีคิด (mentality)

และ Zargorka Golubovic ได้ขยายความความหมายของ “authoritarian mentality” ไว้ใน “Traditionalism and Authoritarianism as Obstacles to the Development of Civil Society in Serbia,” in Civil Society in Southeast Europe หน้า 92 ว่า ทัศนคติหรือวิธีคิดแบบอำนาจนิยม (authoritarian mentality) ปรากฏหรือแสดงออกในลักษณะของการยอมรับและเชื่อฟังอำนาจโดยไม่พินิจพิเคราะห์ (uncritical)

การเชื่อฟังอำนาจที่ว่านี้ เริ่มต้นจากการเชื่อฟังอำนาจของผู้นำพรรคและพรรคของรัฐ ต่อมาคือการยอมรับและเชื่อฟังอย่างผู้นำรัฐและรัฐชาติอย่างไม่พินิจพิเคราะห์

 

ก่อนจะกล่าวถึงรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ จะขอปูพื้นบริบททางการเมืองก่อนหน้าที่เธอเป็นนายกรัฐมนตรี หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในปี พ.ศ.2550 ได้เกิดการก่อตั้งกลุ่มต่อต้านรัฐประหารและรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

กลุ่มดังกล่าวนี้มีชื่อว่า แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ซึ่งต่อมาภายหลังได้ขยายตัวเข้มแข็งมากขึ้นและเปลี่ยนชื่อเป็น แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และเป็นที่รู้จักกันในฐานะของ “คนเสื้อแดง”

และหลังจากที่ตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทยในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ต่อมาในวันที่ 31 พฤษภาคม 2550 ได้มีการเคลื่อนไหวมวลชนภายใต้แกนนำ นปก. เพื่อแสดงออกซึ่งปฏิกิริยาความโกรธแค้นไม่พอใจจากการที่พรรคไทยรักไทยต้องถูกตัดสินยุบพรรค โดยเคลื่อนมวลชนไปสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีและที่ทำการหนังสือพิมพ์ผู้จัดการซึ่งเป็นฐานสำคัญของแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

และเคลื่อนมวลชนไปที่บ้านสี่เสาฯ เรียกร้องให้ พล.อ.เปรม ตินณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง

โดยโจมตี พล.อ.เปรม ว่าอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

การเคลื่อนไหวมวลชนดังกล่าวได้นำไปสู่ความชุลมุนวุ่นวาย มีการพยายามสลายการชุมนุมถึง 3 ครั้งถึงจะสลายการชุมนุมได้ และลงเอยด้วยการที่อัยการสูงสุดมีความเห็นชี้ขาดสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดในข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และข้อหาอื่น

พนักงานสอบสวนมีความเห็นสมควรสั่งฟ้องแกนนำ นปช. 10 คน ในข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือการกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก และร่วมกันเดินแถว เดินเป็นขบวนใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานจราจร และร่วมกันกระทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน

ปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวมวลชนต่อต้านรัฐประหารและรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ รวมทั้งการบุกบ้านประธานองคมนตรีเรียกร้องให้ลาออก ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

เพราะก่อนหน้านี้ ไม่เคยมีการขับเคลื่อนมวลชนออกมาต่อต้านรัฐประหารและโดยเฉพาะอย่างยิ่งโจมตีเรียกร้องให้ประธานองคมนตรีลาออกจากตำแหน่ง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปรากฏการณ์ใหม่นี้ถือเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนอย่างที่ไม่เคยปรากฏเช่นนี้มาก่อน ที่เมื่อไม่พอใจกับรัฐประหารและผลพวงที่ตามมา ก็มิได้นิ่งเฉย (passive) อีกต่อไป

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความกล้าที่จะโจมตีกล่าวหาประธานองคมนตรีว่าอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร

เพราะตั้งแต่เหตุการณ์ 1 เมษายน 2524 เป็นต้นมา การพยายามทำรัฐประหารและรวมทั้งการต่อต้านรัฐบาลจะสำเร็จหรือล้มเหลว มักจะต้องอาศัยตัวแปรสถาบันพระมหากษัตริย์หรือสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้อง


ความตื่นตัวและความกล้าในการเคลื่อนไหวมวลชนภายใต้ นปก. ที่จะกล่าวหาโจมตีประธานองคมนตรีว่าอยู่เบื้องหลังการรัฐประหารและเรียกร้องให้ลาออกมีนัยสำคัญยิ่งที่ต้องตีความ นอกเหนือปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวมวลชนออกมาต่อต้านรัฐประหารและรัฐบาลหลังรัฐประหารแล้วภายใต้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ (อดีตองคมนตรีในขณะนั้น) นัยสำคัญที่สามารถตีความได้ที่ว่านี้คือ

นัยยะที่หนึ่ง นปก. เชื่อว่า สถาบันพระมหากษัตริย์มิได้รู้เห็นเกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร แต่เป็นการแอบอ้างหรือแอบอิงโดยประธานองคมนตรี ด้วยเหตุนี้ นปก. จึงโจมตีไปที่ตัวประธานองคมนตรีในฐานะที่แอบอ้างเบื้องสูงในการส่งสัญญาณให้ผู้นำกองทัพทำรัฐประหารล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ

นัยยะที่สอง นปก. เชื่อว่า สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร และส่งสัญญาณให้ทำรัฐประหารผ่านการส่งสัญญาณสู่สาธารณะโดยประธานองคมนตรี

ถ้าเป็นในนัยยะที่หนึ่งหมายความได้ว่า การเคลื่อนไหวของ นปก. มุ่งโจมตีกลุ่มคนผู้แอบอ้างหรือแอบอิงเบื้องสูงในการทำรัฐประหาร และกล่าวได้ว่า การเคลื่อนไหวของ นปก. เป็นส่วนหนึ่งของการปกปักรักษาภาพลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นสถาบันที่อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง

แต่ถ้าเป็นไปในนัยยะที่สอง หมายความได้ว่า การเคลื่อนไหวของ นปก. มุ่งโจมตีประธานองคมนตรีเพื่อส่งผลกระทบโดยอ้อมไปยังสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ไม่เป็นกลางหรือไม่อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง

แต่ไม่ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จะอยู่หรือไม่อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมืองจริงหรือไม่ ความหมายในนัยยะสองย่อมบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ

นั่นคือ สัญญาณการเริ่มต้นของปัญหาหรือวิกฤตความชอบธรรมของรัฐประหารและวิกฤตความชอบธรรมของการใช้สัญลักษณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ในการเมืองไทย

 

อย่างไรก็ดี มวลชนดังกล่าวนี้ได้หยุดการเคลื่อนไหวหลังจากผลการเลือกตั้งทั่วไป 23 ธันวาคม 2550 พรรคพลังประชาชน (พรรคไทยรักไทยเดิม) ชนะการเลือกตั้ง (หน้า 238) โดยมี นายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรค ได้ ส.ส. จำนวน 233 คน

พรรคที่ได้จำนวน ส.ส. รองลงมาคือ พรรคประชาธิปัตย์ โดยมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ ส.ส. 165 คน

ต่อมาคือ พรรคชาติไทย มี นายบรรรหาร ศิลปอาชา เป็นหัวหน้าพรรค มี ส.ส. 37 คน

พรรคเพื่อแผ่นดิน นำโดย นายสุวิทย์ คุณกิตติ มี ส.ส. 24 คน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา โดย พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร มี ส.ส. 9 คน พรรคมัชฌิมาธิปไตย โดย นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน มี ส.ส. 7 คน และพรรคประชาราช โดย นายเสนาะ เทียนทอง มี ส.ส. 5 คน และพรรคที่เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลคุณสมัคร ได้แก่ พรรคชาติไทย เพื่อแผ่นดิน รวมใจไทยชาติพัฒนา มัชฌิมาธิปไตย ประชาราช โดยทุกพรรคได้ส่วนแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรีมากน้อยตามจำนวน ส.ส. ของแต่ละพรรค

ผลการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 แสดงให้เห็นว่า ระบบเลือกตั้งตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่มุ่งหวังที่จะให้ผลการเลือกตั้งสะท้อนคะแนนเสียงของประชาชนให้เป็นจริงมากขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้มีพรรคใดพรรคหนึ่งได้คะแนนเสียงมากเกินจริงจนนำไปสู่การครอบงำสภาและฝ่ายบริหารที่เข้มแข็งเกินไป

และรวมถึงการมุ่งหวังที่จะไม่ให้เกิดขั้วขัดแย้งทางการเมืองภายใต้พรรคใหญ่สองพรรคนั้นไม่บรรลุผลเท่าที่ควร แม้ว่าจะทำให้พรรคไทยรักไทยภายใต้พรรคพลังประชาชนที่ตั้งขึ้นใหม่นั้นได้คะแนนเสียงลดลงจากผลการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2548 ที่พรรคไทยรักไทยได้ถึง 377 ที่นั่ง แต่ถ้าเทียบกับผลการเลือกตั้งทั่วไปใน พ.ศ.2544 ที่พรรคไทยรักไทยได้ 248 ที่นั่ง

ผลการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2550 พรรคพลังประชาชน (เดิมไทยรักไทย) ได้ที่นั่งลดลงไปเพียง 15 ที่นั่งเท่านั้น