เปิดความเห็นผู้เชี่ยวชาญ-ผลวิจัย ทำไมพรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้ทำประตูกันเยอะ ?

พิศณุ นิลกลัด

ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษฤดูกาลล่าสุด (2020/2021) เพิ่งอนุญาตให้แฟนสวมหน้ากากอนามัยเข้าชมการแข่งขันได้เมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา แต่จำกัดไม่เกิน 4,000 คนบ้าง ไม่เกิน 2,000 คนบ้าง ขึ้นอยู่กับว่ายอดผู้ติดเชื้อของเมืองที่ทีมฟุตบอลตั้งอยู่ถูกจัดอยู่ในพื้นที่ระดับไหน

นี่เป็นการเปิดให้แฟนเข้าไปชมในสนามได้เป็นครั้งแรกหลังจากที่วันที่ 9 มีนาคม คือวันสุดท้ายที่แฟนๆ สามารถเข้าไปเชียร์ในสนามได้

ทีมใหญ่ที่แฟนๆ สามารถเข้าไปเชียร์ในสนามได้ก็เช่น ลิเวอร์พูล, อาร์เซนอล เชลซี และสเปอร์ส อนุญาตให้แฟนๆ เข้าเชียร์ได้ 2,000 คน

สนามแข่งของทั้ง 4 ทีมนี้ มีความจุผู้ชม 40,000-60,000 คน

ส่วนทีมดังอย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และเลสเตอร์ ซิตี้ ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ยังสูง จึงไม่อนุญาตให้ผู้ชมเข้าไปเชียร์ในสนามแข่ง

สัปดาห์แรกที่กองเชียร์เข้าสนามแข่งได้ ทีมเจ้าบ้านลิเวอร์พูล, เชลซี, สเปอร์ส เป็นฝ่ายชนะ

มาติดตามกันว่า หลังจากที่แฟนเข้าไปเชียร์ในสนามได้ (แม้จะไม่เต็มสนาม) มีผลต่อความได้เปรียบของทีมเจ้าบ้านหรือเปล่า และการทำประตูของนักเตะจะลดลงหรือไม่

พรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้ ช่วงที่ไม่อนุญาตให้ผู้ชมเข้าไปดูในสนาม มีการยิงประตูกันมากที่สุดในรอบ 90 ปีของลีกฟุตบอลสูงสุดในอังกฤษ

อย่างเกมแรกของลิเวอร์พูลกับแอสตัน วิลล่า ผลการแข่งขัน แอสตัน วิลล่าชนะลิเวอร์พูล 7-2 ทำให้ลิเวอร์พูลเป็นทีมป้องกันแชมป์ทีมแรกที่ถูกยิง 7 ประตู นับจากอาร์เซนอล ทีมป้องกันแชมป์โดนยิง 7 ประตูในปี 1953

เกมของสเปอร์สกับแมนฯ ยู ผลการแข่งขัน สเปอร์สชนะแมนฯ ยู 6-1

การแข่งขัน 38 เกมแรกของฤดูกาลนี้มีการทำประตูกันถึง 144 ประตู เฉลี่ยแล้วยิงกันเกมละ 3.79 ประตู มากกว่า 38 เกมแรกของฤดูกาลที่แล้ว ที่มีผู้ชมนั่งเชียร์อยู่บนอัฒจันทร์ถึง 40 ประตู

ก่อนหน้านี้ ฤดูกาลของลีกฟุตบอลระดับสูงสุดในอังกฤษ ที่มีการทำประตูต่อเกมมากที่สุดคือฤดูกาลปี 1930/1931 ยิงกัน 3.95 ประตูต่อ 1 เกม

11 เกมแรกของพรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้ มีการทำประตูกันอย่างน้อย 5 ประตู สูงที่สุดนับจากฤดูกาล 1960/1961

ไมเคิล คีน (Michael Keane) กองหลังทีมเอฟเวอร์ตัน บอกว่าฤดูกาลนี้นักเตะพูดถึงเรื่องการทำประตูนัดละหลายลูกกันเยอะ บางทีมแม้จะถูกยิงไป 3 ประตู ก็ยังสามารถกลับมาชนะ 4-3 หรือ 5-3 ได้

ถามไมเคิล คีน ว่า คิดว่าการที่มีการทำประตูกันเยอะในพรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้ เป็นเพราะอะไร

คีนตอบว่า “a mixture of things” หรือ “มีปัจจัยหลายอย่าง”

คีนบอกว่า นักเตะไม่ได้ฝึกซ้อมกันเป็นประจำเหมือนก่อนเพราะสถานการณ์โควิด เมื่อซ้อมกันน้อยกว่าเดิม ความรู้ใจเข้าขากันก็ลดลง โอกาสที่กองหลังจะผิดพลาดก็มีเยอะ

นอกจากนี้ คีนเห็นว่า การที่ไม่มีผู้ชมในสนามทำให้กองหน้ารู้สึกมีอิสระมากขึ้นในการทดลองยิงช็อตใหม่ๆ ไม่รู้สึกกดดันจนไม่กล้าลองเหมือนตอนที่มีผู้ชมในสนาม

ผู้จัดการทีมพรีเมียร์ลีกที่ไม่ประสงค์ออกนาม บอกว่าการไม่มีผู้ชมในสนาม ลดความกดดันให้นักเตะกองหลังเวลาลูกฟุตบอลมาอยู่แถวหน้าประตู กองหลังรู้สึกว่าไม่ต้องเล่นเกมรับอย่างดุดันรุนแรงแบบปลอดภัยไว้ก่อน กล้าเลี้ยงลูกโชว์ทักษะมากขึ้น ก็เป็นเหตุให้เสียประตู

คาร์โลส คาร์วัลฮัล (Carlos Carvalhal) ผู้จัดการทีมบราก้า (Braga) ของโปรตุเกส ซึ่งเป็นอดีตผู้จัดการทีมสวอนซีบอกว่า สำหรับนักเตะทีมใหญ่ๆ การไม่มีแฟนๆ ในสนาม ทำให้ความกดดันในการแข่งขันลดลง ส่งผลให้ความตั้งใจและความจดจ่อในการแข่งลดลงไปด้วย

คาร์โลสเห็นว่า แฟนๆ ในสนามช่วยให้นักฟุตบอลตื่นตัว ประสาทสัมผัสต่างๆ ตื่นตัว ทำให้กล้ามเนื้อตอบสนองได้ฉับไวกว่าเดิม ซึ่งคาร์โลสเชื่อว่าแฟนๆ ในสนามช่วยให้นักเตะตื่นตัวมากกว่าเดิมถึง 20%

นอกจากนี้ คาร์โลสยังเห็นว่า กองเชียร์ในสนามยังสร้างความกดดันต่อทีมคู่แข่งด้วยเช่นเดียวกัน เพราะหากไม่มีแฟนๆ ในสนาม การแข่งขันก็จะเป็นการต่อสู้ระหว่างผู้เล่น 11 คน ต่อ 11 คน ลูกฟุตบอล 1 และผู้ตัดสิน 1 คน ทีมเจ้าบ้านจะไม่มีกองเชียร์เป็นผู้เล่นคนที่ 12 ในสนาม

ไมเคิล คอลฟิลด์ (Michael Caulfield) นักจิตวิทยาด้านกีฬาบอกว่า ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ขึ้นอยู่กับการข่มขู่ ความกลัว ซึ่งถ้าไม่มีแฟนในสนาม ความกลัว การข่มขู่ก็หายไป

นอกจากพรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้ที่ไม่มีผู้ชมในสนามจะมีการทำประตูเพิ่มขึ้นแล้ว จำนวนการเป่าฟาวล์โดยผู้ตัดสินยังเพิ่มขึ้น ซึ่งวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะผู้ตัดสินไม่มีแรงกดดันจากแฟนๆ ในสนามในการตัดสินใจว่าจะเป่าฟาวล์ดีหรือไม่

จากการศึกษาจากหลายสถาบัน พบว่าผู้ตัดสินมักจะลำเอียงเข้าข้างทีมเจ้าบ้านโดยไม่รู้ตัวเพราะแรงกดดันจากแฟนทีมเจ้าบ้านในสนาม

งานศึกษาปี 2002 ของ A.M. Neville แห่ง University of Wolverhampton เรื่องอิทธิพลของเสียงผู้ชมในสนามต่อการตัดสินใจของผู้ตัดสินฟุตบอล พบว่าการมีผู้ชมในสนามแข่งขันมีผลต่อการตัดสินของผู้ตัดสินฟุตบอล ทำให้ผู้ตัดสินลังเลในการตัดสินใจ และทำให้เป่าฟาวล์ทีมเจ้าบ้านน้อยลง 15.5% เมื่อเทียบกับการตัดสินในเกมที่ไม่มีเสียงผู้ชมในสนาม

การศึกษานี้มีข้อสรุปว่า เสียงของผู้ชมในสนามมีผลต่อการตัดสินใจของผู้ตัดสิน ทำให้ลำเอียงเข้าข้างทีมเจ้าบ้าน เพราะผู้ตัดสินไม่ต้องการให้แฟนๆ ในสนามไม่พอใจ