ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | สู่สังคมที่การต่อต้านอำนาจเก่า กลายเป็นแมส

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ไม่มีข้อสงสัยแล้วว่าการต่อต้านเผด็จการเป็น “กระแส” ของคนรุ่นใหม่อย่างไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

เพราะถึงแม้ชัยชนะอนาคตใหม่ในการเลือกตั้งต้นปี 2562 จะเป็นสัญญาณว่าคนรุ่นใหม่ไม่เอาเผด็จการ แต่ระดับการต่อต้านเผด็จการที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็เป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายของสังคมจริงๆ

เมื่อคำนึงว่าคุณอภิรัชต์ คงสมพงษ์ เคยดูถูกคนรุ่นใหม่ช่วงยุบพรรคอนาคตใหม่ว่าแสดงออกแค่ในโซเชียล ไม่กล้าชุมนุม

ส่วนคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา และพลังประชารัฐก็ดูแคลนคนรุ่นใหม่เป็น “ม็อบมุ้งมิ้ง” ที่ชุมนุมเพราะอยากถ่ายรูป

ปรากฏการณ์ที่คนรุ่นใหม่ชุมนุมแทบทุกวันเกือบหกเดือนก็ฉีกหน้าคนเหล่านี้ไม่มีชิ้นดี

ครึ่งหลังของปี 2563 คือยุคสมัยที่คนรุ่นใหม่ผลักดันประเด็นตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญ, ปฏิรูปสถาบัน, เลิก 112 ฯลฯ ถึงสาธารณรัฐคืออะไร ขณะที่ในแง่ของการชุมนุมนั้น

พลังของคนรุ่นใหม่ก็มีมากจนการที่รัฐบาลใช้คอนเทนเนอร์สกัดผู้ชุมนุมกลายเป็นความไม่ธรรมดาที่เป็นเรื่องธรรมดา

ผู้ผลักดันประเด็นปฏิรูปสถาบันอย่างเพนกวิน, อานนท์, รุ้ง ฯลฯ ประกาศบ่อยครั้งว่าการเคลื่อนไหวรอบนี้ “ทะลุเพดาน” และถึงแม้ผลของปฏิบัติการ “ทะลุเพดาน” จะทำให้คนกลุ่มนี้โดนคดี 112 และคดีดับอนาคตอื่นนับไม่ถ้วน

การตอบสนองที่คนรุ่นใหม่มีต่อเรื่อง “ทะลุเพดาน” กลับไม่ลดลงเลย

รัฐบาลและกองหนุนโจมตีว่าการชุมนุมเดือนธันวาคมมีผู้เข้าร่วมน้อยลงเพราะคนไม่เห็นด้วยที่ “ทะลุเพดาน”

แต่การแสดงออกว่าเห็นด้วยกับผู้ชุมนุมไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปการชุมนุม และปรากฏการณ์หลายอย่างในเดือนธันวาคมสะท้อนการต่อสู้ทางการเมืองวัฒนธรรมนอกท้องถนนอย่างน่าสนใจ

นักเรียนจากหลายโรงเรียนทั่วประเทศแต่งชุดไปรเวตไปเรียนช่วงต้นธันวาคม

และด้วยความเข้าใจของนักเรียนที่เชื่อมโยงเครื่องแบบกับการควบคุมประชาชนของรัฐบาล การแต่งไปรเวตคือการประท้วงของพลเมืองต่ออำนาจรัฐเผด็จการด้วยวิธีอารยะขัดขืนซึ่งพื้นที่ในการประท้วงคือโรงเรียน

ขณะที่เด็กเรียกร้องการแต่งชุดสุภาพโดยไม่จำกัดแค่ชุดนักเรียน การตอบโต้ของผู้บริหารโรงเรียนและรัฐโดยตี, ขัง, ห้ามเข้าเรียน, หักคะแนนความประพฤติ, ด่าเด็กกลางสภา, ส่งตำรวจล่า ฯลฯ ประจานความไม่สามารถใช้เหตุผลจนต้องใช้อำนาจปิดปากแบบ พล.อ.ประยุทธ์คุกคามประชาชน

ขบวนการรณรงค์แต่งไปรเวตคือการต่อต้านอำนาจรัฐที่คนรุ่นใหม่กระทำต่อ Soft Power อย่างโรงเรียนซึ่งเกิดได้ทุกที่และทุกเวลา

และด้วยเหตุที่การรณรงค์นี้เริ่มจากนักเรียนแก่นนครวิทยาลัยจนเป็นความเคลื่อนไหวระดับชาติ สำนึกนี้จึงเป็นสำนึกร่วมที่หยั่งรากในคนรุ่นใหม่ไม่น้อยเลย

ถ้ายอมรับว่าการเลือกตั้ง 2562 เป็นหมุดหมายที่ทำให้ “เสียงของคนรุ่นใหม่” ที่เคยเป็นคำพูดกว้างๆ กลายเป็น “มวล” ทางการเมืองซึ่งมีผลต่อประเทศได้จริงๆ ผ่านการเลือกพรรคอนาคตใหม่อย่างท่วมท้น

ปี 2563 ก็คือปีที่มวลก้อนนี้ระเบิดพลังออกในรูปแบบต่างๆ ซึ่งอาจเป็นหรือไม่เป็นการชุมนุม

ด้วยความดุเดือดของการชุมนุมจากกลุ่มปลดแอกสู่คณะราษฎรซึ่ง “ทะลุเพดาน” ในแง่ประเด็นและรูปแบบชุมนุม

คนจำนวนมากเข้าใจว่าเพนกวิน, อานนท์, รุ้ง, ไมค์ ฯลฯ คือ “แกนนำ” ที่ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวทั้งหมด

แต่ที่จริงความคิดนี้ลอยฟุ้งในคนรุ่นใหม่อยู่แล้ว แต่ไม่มีใครหยิบขึ้นมา

รัฐบาลใช้แผนทำลาย “แกนนำ” ถึงขั้นยัดคดี 112 เพื่อเอาคนกลุ่มนี้เข้าคุกแล้วทำลายอนาคตให้หมด แต่ด้วยสภาพพื้นฐานของสังคมที่มีความคิดแบบนี้ก่อนที่จะมี “แกนนำ” การลาก “แกนนำ” เข้าคุกจึงไม่ส่งผลให้ความคิดแบบนี้หมดไปด้วย เพียงแต่รอว่าจะปะทุออกมาในรูปแบบไหนเท่านั้นเอง

ประเทศไทยช่วงต้นปี 2562 ต่อเนื่องถึงปลายปี 2563 คือช่วงเวลาที่คนรุ่นใหม่เปลี่ยนสถานะจากคำพูดกว้างๆ กลายเป็น “มวล” ที่มีผลต่อประเทศจริงๆ การเมืองในความหมายของการเลือกตั้งหรือการชุมนุมเป็นเพียงการแสดงออกซึ่งพลังของ “มวล” คนรุ่นใหม่ซึ่งกำลังถึงจุดที่ไม่มีใครหยุดได้เลย

นักศึกษาประกาศแล้วว่าจากนี้จนถึงสิ้นปีจะไม่มีการชุมนุม พลังที่เคยแสดงออกในรูปการชุมนุมจึงมีโอกาสจะลุกลามไปแสดงออกด้วยวิธีอื่นเยอะไปหมด

โดยเฉพาะในรูปการต่อสู้ทางวัฒนธรรมและการบริโภคในสังคม

เทศกาลดนตรี Big Mountain Music Festival ปีนี้เป็นตัวอย่างว่า “มวล” คนรุ่นใหม่ระเบิดทางวัฒนธรรมในรูปแบบที่ศิลปินและผู้ชมแสดงตัวสนับสนุนผู้ชุมนุมด้วยการชูสามนิ้ว, ใส่เสื้อยืดลายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล รวมทั้งประกาศคำขวัญ “ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ” บนเวที

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแสดงออกแบบนี้เกินความคาดหมายของทุกคน

แต่อะไรที่เกินความคาดหมายย่อมสะท้อนว่าสังคมมีแรงระเบิดที่รอวันปะทุมากกว่าที่คิด

การที่ศิลปินซึ่งผลิตงานเพื่อผู้บริโภคที่เป็น “คนรุ่นใหม่” กล้าแสดงออกแบบนี้คือหลักฐานว่า “คนรุ่นใหม่” คิดแบบนี้มากขึ้นทุกวัน

อาจมีผู้โต้แย้งว่าการแสดงออกทางการเมืองของศิลปินเป็นเรื่องธรรมดา

แต่อย่าลืมว่า “สัญลักษณ์” ที่ศิลปินแสดงออกล้วนเชื่อมโยงกับปฏิบัติการ “ทะลุเพดาน” ของกลุ่มผลักดันปฏิรูปสถาบันทั้งหมด เสื้อยืดและการตะโกนคำขวัญคือหลักฐานของการประท้วงซึ่งไม่จำเป็นต้องเกิดบนท้องถนนต่อไป

ถ้าเพนกวิน, รุ้ง, อานนท์, ไผ่ ฯลฯ ควรได้เครดิตที่เท่าทันความรู้สึกนึกคิด “คนรุ่นใหม่” จนผลักดันให้เกิดการชุมนุมทางการเมือง แอมมี่, T_047, ไททศมิตร, Lomosonic, Tilly Birds ฯลฯ ก็ควรได้เครดิตที่เท่าทันความคิด “คนรุ่นใหม่”

จนผลักดันให้เกิดความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมครั้งสำคัญ

ไม่ใช่ความลับว่า “ตลาด” ของคนทำเพลงทุกวันนี้มาจากการแสดงสดและออนไลน์ ความมั่นใจในการแสดงออกและคำขานรับที่ล้นหลามจากผู้ชมจึงสะท้อนว่า “มวล” ที่เคยปะทุในรูปการเลือกอนาคตใหม่และชุมนุมบนท้องถนนสามารถขยับไปเป็น “ผู้บริโภค” และ “ตลาด” ทางวัฒนธรรม

สองปีแล้วที่ พล.อ.ประยุทธ์และพวกใช้วาทกรรมด้อยค่า “คนรุ่นใหม่” ว่าซ้ายจัดดัดจริต, ม็อบมุ้งมิ้ง, ไม่กล้าลงถนน, ไปม็อบเพราะอยากถ่ายรูป, ถูกธนาธรหลอก ฯลฯ

แต่ก็เป็นเวลาสองปีแล้วเช่นกันที่เราเห็นพลังคนรุ่นใหม่ยกระดับแสดงออกมากขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงวันที่ม็อบทะลุเพดาน

ตรงข้ามกับความคิดของ พล.อ.ประยุทธ์และพวกที่ยังคิดแบบที่เคยคิดมาตลอดว่า “คนรุ่นใหม่” เป็นแบบนี้เพราะมีคนชี้นำ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจริงๆ คือการปฏิวัติทางความคิดและวัฒนธรรมครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศจนแสดงออกทั้งในรูปแบบที่เป็นการเมืองตรงๆ และเป็นการเมืองวัฒนธรรม

พูดให้สั้นที่สุด ขณะที่คุณประยุทธ์และพวกยังเอาแต่หลอกตัวเองว่า “คนรุ่นใหม่” เป็นแบบนี้เพราะธนาธรหลอกหรือสมศักดิ์เจียมชี้นำ

ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นคือ “ฟ้าเดียวกัน” เป็นสำนักพิมพ์ที่หนังสือขายดีในยุคนี้ ส่วนวินทร์ เลียววาริณ หรือฌอนกลายเป็นเรื่องตลกที่พบได้ใน Shopee ว่าจะโละเท่าไรดี

ไม่ว่าต้นสายปลายเหตุของเรื่องทั้งหมดนี้จะเป็นอย่างไร สังคมไทยในปลายปี 2563 คือสังคมที่การปฏิเสธอำนาจเก่ากลายเป็น “มวล” ที่มีพลังทางการเมือง, เป็น “ผู้บริโภค” ที่มีพลังทางการตลาด และเป็น “วัฒนธรรม” ที่แมสจนกลายเป็นส่วนหนึ่งวัฒนธรรมร่วมสมัยในสังคม

สองปีที่ผ่านมาคือสองปีที่รัฐบาลประยุทธ์และทุกกลไกของระบอบเผด็จการพยายามโจมตี “คนรุ่นใหม่” ด้วยการยัดคดีและใช้ IO แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือการที่อภิรัชต์ด่าทวิตเตอร์ทำให้คนแห่เลือกธนาธร เช่นเดียวกับการยุบอนาคตใหม่ทำให้เกิดวิ่งไล่ลุง-ม็อบปลดแอก-คณะราษฎร-ปฏิรูปสถาบัน

ขณะที่ระบอบประยุทธ์ยังทำแค่ตั้งไพบูลย์ นิติตะวัน ไปร่างรัฐธรรมนูญ, พยายามเสนอตั้งสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ไปเป็นกรรมการสมานฉันท์ และส่งแม่ยกแจ้งจับเด็กมัธยมข้อหา 112 “คนรุ่นใหม่” ในสังคมกำลังเดินหน้าสู่การปฏิเสธอำนาจเก่าทางภูมิปัญญา-ทางการเมือง และทางวัฒนธรรมแบบที่ประเทศไทยไม่มีทางเหมือนเดิมได้อีกเลย

ทุกสัญญาณทางวัฒนธรรมชี้ว่าการต่อต้านอำนาจเก่ายิ่งนานยิ่งกลายเป็น “แมส” จนพื้นที่ในการต่อต้านขยายตัวสู่ชีวิตประจำวันตั้งแต่โรงเรียน, โรงหนัง, เทศกาลดนตรี, งานหนังสือ, โซเชียล, คลิปยูทูบ ฯลฯ จนการประท้วงอำนาจเก่าเกิดขึ้นตลอดเวลา ต่อให้ไม่มีการชุมนุมเลยก็ตาม

ในสังคมที่การต่อต้านอำนาจกลายเป็นแมส ทุกองคาพยพของอำนาจเก่ากำลังจะทำให้ประเทศไทยลุกเป็นไฟ หากยังยืนหยัดยัดคดีและใช้กำลังอย่างไม่สิ้นสุด

เพราะการใช้กำลังอาจทำให้รัฐบาลชนะได้ แต่จะไม่มีใครยอม