สุจิตต์ วงษ์เทศ : ทำขวัญข้าวเซ่นผีฟ้าผีแถน ยก ‘แม่ข้าว’ เป็น ‘แม่โพสพ’

แม่ข้าวคือรวงข้าวที่ถูกชาวนาเกี่ยวขาดจากลำต้น ซึ่งบางส่วนต้องเก็บเป็นพันธุ์ข้าวปลูกปีต่อไป (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ทำขวัญข้าวเซ่นผีฟ้าผีแถน
ยก ‘แม่ข้าว’ เป็น ‘แม่โพสพ’

ทําขวัญข้าวเป็นประเพณีพิธีกรรมเพื่อแม่ข้าวในศาสนาผีพื้นเมืองดั้งเดิม ซึ่งมีขึ้นช่วงหลังเกี่ยวข้าว (เดือนอ้าย) และหลังนวดข้าว (เดือนยี่) ด้วยการ “สู่ขวัญ” และ “ส่งขวัญ” ที่ชาวนาทั้งชุมชนร่วมกันทำพิธีเป็นประจำตั้งแต่ดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว และสืบเนื่องจนปัจจุบัน โดยกำหนดนัดหมายเดือนสาม (มกราคม-กุมภาพันธ์) ของทุกปี

เมื่อนวดข้าวได้ข้าวเปลือกรุ่นใหม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้ว ชาวนาไม่เอาข้าวเปลือกใหม่ไปตำเป็นข้าวสารใหม่แล้วหุงกินทันที แต่ต้องรอหลังทำขวัญข้าวเซ่นผีฟ้าผีแถนจึงเอาข้าวใหม่ไปหุงกิน

ชุมชนดั้งเดิมทำขวัญ “แม่ข้าว” ทุกปีมาแต่สมัยดึกดำบรรพ์ สืบเนื่องจนปัจจุบันเรียก “ทำขวัญข้าว” ต่อมาราชสำนักโบราณปรับปรุงประเพณีชุมชนชาวบ้านเป็น “พระราชพิธี” แล้วสถาปนา “แม่ข้าว” เป็น “แม่โพสพ”

ความมั่นคงทางอาหาร

ทําขวัญข้าวเป็นพิธีกรรมเพื่อความมั่นใจในความมั่นคงทางอาหารของชุมชน ซึ่งชาวนาดั้งเดิมถือเป็นพิธีกรรมครั้งใหญ่มีต่อแม่ข้าว ซึ่งมีความหมายสืบเนื่องกัน 2 ตอน คือ สู่ขวัญข้าวกับส่งขวัญข้าว

1. สู่ขวัญข้าว หมายถึง สู่ขวัญของแม่ข้าวที่ตื่นตระหนกจากเหตุการณ์ผ่านมา ได้แก่ เกี่ยวข้าวและนวดข้าว ให้คืนสู่ปกติแล้วอยู่ดีมีสุขในยุ้งฉางหรือเล้าข้าว

2. ส่งขวัญข้าว หมายถึง ส่งขวัญของแม่ข้าว (คือข้าวขวัญ) เซ่นสังเวยผีแถน (ข้าวขวัญของแม่ข้าวคือข้าวสุกที่ถูกทำให้สุกจากข้าวเปลือกชุดแรก แต่ก่อนเรียกบายสฺรี หรือบายสี ปัจจุบันเรียกบายศรี)

ต้นเหตุของพิธีทำขวัญสืบเนื่องจากเชื่อว่าข้าวมีชีวิตเหมือนคน เมื่อถูกทำให้ตายโดยขวัญไม่ตาย แต่ตระหนกตกใจออกจากรวงร่างแล้วหาทางกลับคืนรวงร่างไม่พบ จึงต้องมีพิธีสู่ขวัญคืนรวงร่าง เมื่อไม่คืนก็เป็นผีขวัญแม่ข้าว ต้องส่งผีขวัญแม่ข้าวขึ้นไปเซ่นสังเวยผีแถนบนฟ้า

ข้าวที่ต้องทำขวัญรวมอยู่ในที่เก็บรักษา เช่น ยุ้ง, เล้า (หรืออาจเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของบ้านเรือนที่จัดไว้โดยเฉพาะก็ได้) ข้าวเหล่านั้นมี 3 ส่วน จัดที่ทางไว้ไม่ปนกัน ได้แก่ แม่ข้าว, พันธุ์ข้าวปลูก, ข้าวกิน ดังนี้

(1.) แม่ข้าว คือ รวงข้าวตกที่เก็บรักษาไว้เซ่นวักตั้งแต่วันเกี่ยวข้าว แล้วถูกเชิญเป็นประธานในลานนวดข้าว (2.) พันธุ์ข้าวปลูก หมายถึง เมล็ดข้าวเปลือกที่คัดส่วนดีที่สุดไว้จำนวนตามต้องการจากข้าวชุดแรกที่ลานนวดข้าว สำหรับเป็นพันธุ์ข้าวใช้ปลูกในปีต่อไป (3.) ข้าวกิน คือ ข้าวเปลือกทั้งหมดได้จากนวดข้าวเก็บไว้กินตลอดปี

ทำขวัญข้าวเปลือกในยุ้ง (ภาพจาก https://www.isangate.com)

ข้าวหลาม คือ “บายศรี”

เมื่อเสร็จจากทำขวัญข้าว ต้องแบ่งข้าวชุดแรกที่ผ่านพิธีทำขวัญไปตำซ้อมเป็นข้าวกล้องแล้วหุงด้วยวิธีดั้งเดิมเริ่มแรกเพื่อเซ่นสังเวยผีฟ้าผีแถน คือหุงในกระบอกไผ่ให้สุกด้วยการสุมไฟข้างนอก (ปัจจุบันเรียกข้าวหลาม) บางทีเอาข้าวหลามไป “จี่” เผาไฟไหม้เกรียมมีกลิ่นหอมเรียกข้าวจี่โดยใส่ภาชนะทำจากใบไม้

เหล่านี้มีร่องรอยความเชื่ออยู่ในคำบอกเล่าเก่าแก่ (ตำนานขุนบรม, พงศาวดารล้านช้าง) เกี่ยวกับแถนสั่งความไว้ว่า “กินข้าวให้บอกให้หมาย กินแลงกินงายให้บอกแด่ แถน—-”

ข้าวที่ส่งเซ่นสังเวยผีแถนเรียกว่า “บายศรี” หมายถึงข้าวขวัญ แต่โดยทั่วไปเรียกต่อมาสมัยหลังถึงปัจจุบันว่า “ข้าวหลาม”

ก่อนทำขวัญข้าวเซ่นผีแถน ชาวนาไม่กินข้าวใหม่ที่เพิ่งได้มา แต่ต้องรอหลังทำขวัญข้าวจึงเอาข้าวใหม่ไปหุงกินได้ [หลังรับพุทธศาสนาจากอินเดีย พิธีทำขวัญวันกำฟ้ามีเผาข้าวหลามทำข้าวจี่ในศาสนาผี ก็ถูกปรับเปลี่ยนเข้ากับประเพณีทำบุญในศาสนาพุทธ เรียกบุญข้าวหลาม, บุญข้าวจี่]

ทำขวัญข้าว “วันกำฟ้า”

วันทำขวัญข้าว ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันนัดหมายสำคัญของชาวนาสมัยก่อนๆ สืบเนื่องถึงปัจจุบัน ส่วนชาวนาอีกไม่น้อยเรียก “วันฟ้าเปิด” หรือ “วันกำฟ้า” (โดยเฉพาะชาวนาลุ่มน้ำโขงและพื้นที่ต่อเนื่อง)

วันกำฟ้า หมายถึง วันฟ้าเปิดประตูให้น้ำฝนตกลงดินท้องไร่ท้องนา (ชาวอีสานเรียก “ฟ้าไขประตูฝน”) เพื่อคนทั้งหลายทำไร่ทำนาทำมาหากินอุดมสมบูรณ์ (ชื่อกำฟ้าน่าจะกลายจาก “ก่ำฟ้า” หมายถึงขมุกขมัวครึ้มฟ้าครึ้มฝนใกล้ฝนตก)

วันกำฟ้าชาวไทยพวน จ.สระบุรี (ภาพจาก https://www.stou.ac.th)

คำทำนายจากทิศทางเสียงฟ้าร้อง ฟ้าเปิดประตูฝนหรือฟ้าไขประตูฝน คือ ช่วงหลังฤดูหนาว มีฟ้าร้องเสียงคะนองเป็นสัญญาณจะมีฝน ดังนั้นคนแต่ก่อนเป็นที่รู้กันว่าต้องคอยฟังทั้ง 8 ทิศว่าเสียงฟ้าร้องมาจากทิศทางไหน? จะมีคำทำนายความอุดมสมบูรณ์ของน้ำท่าข้าวปลาอาหารของปีต่อไป (คำทำนายมีในเอกสารเก่าและพิมพ์ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 7 พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2542 หน้า 2460-2461)

พิธีกรรมจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ ช่วงเปลี่ยนผ่านจากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน เมื่อหลายพันปีมาแล้วเป็นเรื่องอธิบายไม่ได้ จึงยกเป็นการกระทำของอำนาจเหนือธรรมชาติ (คือผี) ซึ่งน่ากลัวขนหัวพองสยองเกล้า กระตุ้นให้ชาวนาทั้งชุมชนที่พึ่งพาธรรมชาติต้องร่วมกันกำหนดพิธีกรรมวิงวอนร้องขอความอุดมสมบูรณ์

ในทางภูมิอากาศเรื่องระบบลมมรสุม (ระหว่างเดือน 3) ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไปเป็น “ช่วงเปลี่ยนฤดู” จากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน เกิดความแปรปรวนของลมมรสุมซึ่งพัดในทิศทางไม่แน่นอน มักมีฝนฟ้าคะนองเป็นฝนหลงฤดูเพราะไม่ใช่ฤดูฝน [มีเรียกหลายชื่อต่างๆ กัน ได้แก่ ฝนชะลาน (หมายถึงน้ำฝนชะล้างลานนวดข้าวที่เพิ่งเสร็จจากนวดข้าว), ฝนชะช่อมะม่วง (หมายถึง น้ำฝนราดรดต้นมะม่วงที่กำลังออกช่อ ทำให้บางช่อหลุดไป บางช่อเหลืออยู่)]

[จากหนังสือ อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม 1 ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่สี่ พ.ศ.2545 หน้า 140]

ประเพณีชาวบ้านถูกยกเป็นพระราชพิธี

ประเพณีของชุมชนชาวบ้านดั้งเดิมถูกยกฐานะเป็นพระราชพิธีของรัฐสมัยแรกๆ ในอุษาคเนย์หลังรับศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและศาสนาพุทธจากอินเดีย มาผสมกลมกลืนกับศาสนาผีพื้นเมือง (เรียกสั้นๆ ว่า ผี, พราหมณ์, พุทธ) ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองการปกครอง แม่ข้าวก็ได้รับการสถาปนาเป็น “แม่โพสพ”

รัฐโบราณก่อนสมัยอยุธยาปรับปรุงประเพณีของชุมชนชาวบ้านเป็นพระราชพิธี แล้วทำสืบเนื่องถึงราชสำนักสมัยอยุธยา พบในกฎมณเฑียรบาลเรียกพิธีเดือน 3 ทำขวัญข้าวว่า “พระราชพิธีธานย์เทาะห์ เผาข้าว”

“แม่ข้าว” เป็น “แม่โพสพ” พบในวรรณกรรมสมัยอยุธยาตอนต้น (ทวาทศมาสโคลงดั้น) ว่า เดือน 3 ทำขวัญข้าว มีพิธีตามลัทธิเทวราช คือ สถาปนา “แม่ข้าว” (ซึ่งเป็นผีเพศหญิงสิงประจำต้นข้าวในศาสนาผี) ขึ้นเป็นเทวีหรือเทพี (ซึ่งเป็นผีเพศหญิงในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู) เรียก “แม่โพสพ” เลียนแบบพระไพศรพณ์ ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ในวัฒนธรรมอินเดีย

[รายละเอียดยังมีอีกมากในบทความเรื่อง “แม่โพสพ” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ออนไลน์ เผยแพร่วันอังคารที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2563]