เดินหน้าประชามติ : ถอดบทเรียน 7 สิงหาคม 2559 โดย สมชัย ศรีสุทธิยากร

1ธันวาคม 2563 รัฐสภามีมติรับหลักการ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. … เป็นที่เรียบร้อยและมีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาแปรญัตติในวาระที่สอง โดยมีกรอบเวลาให้สมาชิกรัฐสภาที่ประสงค์แปรญัตติสามารถยื่นคำขอแปรญัตติได้ภายใน 15 วัน และคาดว่า กรรมาธิการน่าจะดำเนินการในวาระสองเสร็จสิ้นก่อนสิ้นเดือนมกราคม 2564

กรอบเวลาดังกล่าว ดูจะคู่ขนานไปกับการพิจารณาญัตติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่คาดว่าน่าจะผ่านสภาวาระสามในช่วงใกล้เคียงกัน

ซึ่งหากรัฐสภาผ่านวาระสามก็ต้องมีการออกเสียงประชามติตามมาภายใน 90-120 วัน

การมีกฎหมายประชามติที่ปรับปรุงใหม่ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับเงื่อนไขการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่เขียนไว้ใน (8) ของมาตรา 256 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

แม้เราจะมีประสบการณ์การลงประชามติในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา 2 ครั้ง คือ ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เมื่อ 19 สิงหาคม 2550 และประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เมื่อ 7 สิงหาคม 2559

แต่การจัดประชามติครั้งล่าสุดดูจะมีบทเรียนหลายอย่างที่น่าสนใจศึกษา

ยกเว้นเราอยากเห็นสิ่งซ้ำซากที่เป็นปัญหาแล้วไม่คิดแก้ไข

คำถามประชามติควรต้องชัดเจนและไม่เอนเอียง

แม้ตามกฎหมาย คำถามประชามติจะมาจากคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ตั้งคำถาม และส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ดำเนินการจัดทำการออกเสียงประชามติ

แต่จากประสบการณ์การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อ 7 สิงหาคม 2559 คำถามที่ตั้งมาจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอมายังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กลับเป็นการตั้งคำถามที่ขัดกับหลักการออกเสียงประชามติที่ดี ทั้งในด้านความไม่เป็นกลาง เป็นคำถามนำ (Leading question) และเต็มไปด้วยคำศัพท์ยาก (Jargon) ที่ประชาชนทั่วไปยากที่จะเข้าใจ

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

คำถามที่ยาวเหยียดซึ่งยากต่อการจับใจความ ประกอบคำยากมากมาย เช่น “ปฏิรูปประเทศ” “ยุทธศาสตร์ชาติ” “ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา” และมีการชี้นำในด้านประโยชน์ “เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง” เพื่อนำไปสู่คำตอบต้องการให้ “ตอบรับ” มากกว่าที่จะปฏิเสธ

นี่คือตัวอย่างของคำถามประชามติที่ขัดกับการออกแบบในทางสากล แต่เป็นคำถามที่เอนเอียง มุ่งหวังคำตอบไปในทิศทางที่ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองต้องการ

การตั้งคำถามประชามติที่ดี จึงควรสั้น กะทัดรัด ใช้คำง่าย และผ่านกระบวนการกลั่นกรองจากนักวิชาการแล้วว่าไม่เป็นคำถามนำ

ไม่เอนเอียงไปในทางใดทางหนึ่ง

รัฐธรรมนูญควรส่งถึงครบทุกครัวเรือน

จุดอ่อนของการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อ 7 สิงหาคม 2559 อีกประการหนึ่งคือ การไม่ส่งเอกสารร่างรัฐธรรมนูญถึงครัวเรือนต่างๆ ซึ่งมีอยู่ในประเทศไทยราว 25 ล้านครัวเรือนให้ครบถ้วน

สาเหตุสำคัญคือ รัฐบาลไม่ได้จัดสรรงบประมาณให้เพียงพอต่อการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งหากประมาณการง่ายๆ ว่ามีต้นทุนการพิมพ์และการส่งต่อเล่มประมาณ 50 บาท ก็คืองบประมาณที่ต้องสนับสนุนเพิ่มเติมอีก 1,250 ล้านบาท

ด้วยความเชื่อว่า ร่างรัฐธรรมนูญสามารถดาวน์โหลดผ่านเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ ได้ ดังนั้น ประชาชนสามารถเข้าถึงร่างรัฐธรรมนูญได้โดยไม่ยาก

ด้วยความหลงว่า ถึงส่งตัวเล่มร่างรัฐธรรมนูญไปถึงประชาชน ก็คงไม่มีการเปิดอ่านศึกษาจะกลายเป็นเพียงสิ่งหนุนรองขาตู้กับข้าวให้สมดุลเท่านั้น

แต่ด้วยข้อเท็จจริง ประชาชนส่วนใหญ่มิได้เชี่ยวชาญหรือพร้อมกับการหาร่างรัฐธรรมนูญมาอ่านด้วยวิธีผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และการที่อย่างน้อยมีร่างรัฐธรรมนูญไว้อย่างน้อยบ้านละหนึ่งเล่มก็ยังเป็นประโยชน์สำหรับประชาชนที่จะเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญยามเมื่อมีเรื่องที่กระทบต่อสิทธิของเขา หรือเพื่อเข้าถึงเข้าใจในสาระของประเด็นกฎหมายต่างๆ ให้เท่าทันฝ่ายการเมือง

ดังนั้น หากมีการทำประชามติในอนาคต หากเป็นเรื่องการรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญก็ควรมีแจกถึงทุกครัวเรือนอย่างน้อยครัวเรือนละ 1 เล่ม

การรณรงค์ควรทำได้ทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียม

ประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมากในการทำประชามติเมื่อ 7 สิงหาคม 2559 คือ การที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้รับโอกาสในการรณรงค์หรือแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียม

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการทำประชามติดังกล่าวอยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายสองฉบับในเวลาเดียวกัน คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 และคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 ที่ไม่อนุญาตให้มีการชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คนขึ้นไปและให้อำนาจเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยในการออกคําสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัว หรือมาให้ถ้อยคํา และจับกุมตัวบุคคลที่กระทําความผิดซึ่งหน้า และควบคุมตัวผู้ถูกจับกุมได้

ภายใต้บรรยากาศดังกล่าว ผู้รณรงค์ที่เห็นต่างถูกดำเนินคดีตามกฎหมายถึงอย่างน้อย 113 คน โดยแยกเป็นความผิดตาม พรบ.ประชามติ 6 ราย ความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติและคำสั่งหัวหน้า คสช. 13 ราย และความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช.อย่างเดียว 94 ราย

การตีความบังคับใช้กฎหมายโดยเจ้าพนักงานของรัฐในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน การจัดเวทีเสวนาทางวิชาการในหลายมหาวิทยาลัยถูกสั่งห้ามทั้งๆ ที่เป็นเนื้อหาวิชาการที่มุ่งให้เห็นสองด้านของเนื้อหารัฐธรรมนูญ ในขณะที่ฝ่ายร่างรัฐธรรมนูญสามารถใช้ทรัพยากรทุกอย่างของรัฐได้อย่างเต็มที่

ดังนั้น ในอนาคต การสร้างโอกาสความเท่าเทียมในการรณรงค์ข้อมูลทั้งจากผู้เห็นด้วยและผู้เห็นต่างจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

ประชาชนควรมีสิทธิลงคะแนนโดยสะดวกและครอบคลุม

หลักประการสุดท้ายที่ควรคำนึงถึงคือ เป็นหน้าที่ของฝ่ายจัดการออกเสียงประชามติที่จะต้องอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่ประสงค์ออกเสียงสามารถออกมาใช้สิทธิให้มากที่สุด

ต้องเห็นคุณค่าของทุกเสียงที่มีสิทธิ

หากเขาทำงานต่างถิ่น ไม่สะดวกเดินทางกลับ ต้องกำหนดให้มีการลงคะแนนล่วงหน้า “นอกเขต” หากเขาติดภารกิจในวันลงคะแนน ต้องกำหนดให้สามารถลงคะแนนล่วงหน้า “ในเขต” ได้ หรือแม้เขาเป็นคนไทยแต่อยู่อาศัยในต่างประเทศ ก็สมควรให้มีการลงคะแนน “นอกราชอาณาจักร”

เวลาของการให้ลงคะแนนต้องยาวนานและเพียงพอกับการใช้สิทธิ หน่วยลงคะแนนต้องมีจำนวนมากและไม่ห่างไกลจนเป็นภาระในการเดินทาง คนพิการ คนสูงอายุต้องมีระบบในการให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษ สิ่งใดที่สามารถอำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้สิทธิได้ ต้องคิดและริเริ่มดำเนินการอย่างเต็มที่

ไม่ใช่ยิ่งจัด ยิ่งน้อยลง ยิ่งหดหาย ไม่คำนึงถึงความสะดวกของประชาชน แต่เอาความสะดวกของหน่วยจัดการเป็นที่ตั้ง

ดูจากร่าง พ.ร.บ.ประชามติฉบับใหม่ที่ผ่านรัฐสภาไป กลับกลายว่า ไม่มีทั้งการลงคะแนนล่วงหน้า “ในเขต” สำหรับประชาชนที่ติดภารกิจ และไม่มีการลงคะแนนสำหรับคนไทยนอกราชอาณาจักร ทั้งๆ ที่การจัดการออกเสียงประชามติมีความง่ายและซับซ้อนน้อยกว่าการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.หลายเท่าตัว

อดีต คือ บทเรียนให้เราเรียนรู้ อดีตอาจผิดพลาดได้เพราะเราไม่รู้ แต่สำหรับสิ่งที่ยังไม่เกิด หากไม่สนใจเรียนรู้ปัญหาในอดีตเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขในอนาคต ไม่อาจเรียกว่าเป็นวิญญูชน