เพ็ญสุภา สุขคตะ : เขาวงพระจันทร์ มหัศจรรย์ประติมากรรม “จามปา” ในดินแดนละโว้

เพ็ญสุภา สุขคตะ

วัตถุมากกว่าล้านชิ้น
บารมีหลวงปู่ฟัก

ดิฉันได้เดินทางไปสำรวจแหล่งโบราณคดีที่เขาวงพระจันทร์ ตำบลห้วยโป่ง อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา

ได้พบสิ่งมหัศจรรย์ยิ่งชนิดที่ไม่เคยคาดฝันมาก่อน

นั่นคือกลุ่มประติมากรรมหินทรายสีเหลืองอมส้ม ติดตั้งเรียงรายอยู่ที่ลานภายใน นอกตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ของวัดเขาวงพระจันทร์ จำนวนมากกว่า 30 ชิ้น (พิพิธภัณฑ์อยู่ฝั่งซ้ายมือจากถนน คนละฝั่งกับทางขึ้นเขา 3 พันกว่าขั้น)

หมายเหตุ การจะขึ้นชมพิพิธภัณฑ์ได้ต้องผ่านประตูรั้วชั้นนอกก่อน 1 ชั้น จากนั้นจึงมีลานเดินขึ้นสู่อาคารพิพิธภัณฑ์ 3 ชั้น ประติมากรรมเหล่านี้ตั้งอยู่บนลานกลางแจ้งดังกล่าว

ข้อสำคัญคือ ประติมากรรมเหล่านี้หาใช่ศิลปะทวารวดี หรือศิลปะขอม อันเป็นรากเหง้าของ “ละโว้” / “ลวปุระ” ไม่ หากแต่กลับพบ “ศิลปะจาม” (จามปา) อันมีต้นกำเนิดอยู่ไกลถึงประเทศเวียดนาม!

ลำพังภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ของวัดเขาวงพระจันทร์ก็น่าตื่นเต้นมากพออยู่แล้วทั้ง 3 ชั้น แม้โบราณวัตถุมากกว่าล้านชิ้นที่จัดแสดงจะมีปะปนกันทั้งเก่า-ใหม่ นับแต่หม้อก่อนประวัติศาสตร์ อาวุธโบราณ เครื่องถ้วยสมัยต่างๆ พระเครื่องหลากหลายสกุลช่าง ไม้เท้า เครื่องบริขารของเกจิอาจารย์ทั่วฟ้าเมืองไทย สัตว์สตัฟฟ์ ภาพเก่า ฯลฯ

ผู้นำชมอธิบายว่า หลวงปู่ฟัก ภทฺทจารี อดีตเจ้าอาวาสวัดเขาวงพระจันทร์ ซึ่งเพิ่งมรณภาพไปเมื่อปี 2555 เป็นผู้เก็บสะสมรวบรวมสิ่งของจัดแสดงทั้งหมด มีทั้งจัดหาซื้อด้วยความที่ท่านสนใจส่วนตัว และมีทั้งผู้นำมาถวาย

ท่านไม่ได้แยกจัดทำบัญชีระหว่างของเก่า-ใหม่ อีกทั้งไม่ได้บันทึกที่มาของวัตถุแต่ละชิ้น หากเป็นสิ่งเดียวกันท่านให้จัดรวมไว้ด้วยกัน โดยบอกกับลูกศิษย์ว่า “ของเหล่านี้จะใหม่หรือเก่า จะมาจากที่ไหนโดยใครให้มาก็แล้วแต่ ครั้นเมื่อมาอยู่กับหลวงปู่แล้ว ถือว่าเป็นของดี สิริมงคลเหมือนๆ กันทั้งหมด”

ฉะนั้น พวกที่สนใจโบราณคดี ต้องการศึกษาเฉพาะโบราณวัตถุรุ่นเก่าของแท้ดั้งเดิม อาจต้องใช้เวลาพินิจพิเคราะห์สังเกตสังกา “วัตถุ” แต่ละชิ้นผ่านตู้กระจกนานหน่อยนะคะ ด้วยทุกอย่างวางปะปนกันระหว่างโบราณวัตถุกับวัตถุที่ยังไม่โบราณ

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจในพิพิธภัณฑ์นี้ในทัศนะของดิฉันคือ รูปประติมากรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ประเภท “แม่เมือง” หรือ Mather Goddess แบบพื้นบ้าน 3-4 ชิ้น ใบหน้าท่าทาง Primitive มาก (หมายเหตุ ไม่ได้นำภาพประกอบมาให้ดูในที่นี้ด้วยพื้นที่ค่อนข้างจำกัด)

 

จามปาปุระ มาทั้งพุทธ-พราหมณ์

ประติมากรรมหินทรายแบบจามปา มีทั้งที่สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ พบทั้งนิกายเถรวาทและมหายาน

รูปเคารพในศาสนาฮินดูประกอบด้วย พระคเณศวร์มีทั้งแบบนั่งและยืน พระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ศิวลึงค์แบบมุขลึงค์ พระแม่อุมาเทวี ขันทกุมารทรงนกยูง สุครีพ ฯลฯ

รูปเคารพในศาสนาพุทธนิกายเถรวาท คือธรรมจักร-กวางหมอบ กับพระพุทธรูปปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ (หรือปางแสดงธรรม ด้วยการยกพระหัตถ์ขึ้นสองข้าง แล้วหักนิ้วพระกรลง 4 นิ้ว) ส่วนนิกายมหายานประกอบด้วย พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมีหลายพระกร

นอกจากนี้ เป็นรูปสัตว์หิมพานต์ สัตว์ในวรรณคดี ที่สามารถใช้ประกอบศาสนสถานได้ทั้งพุทธและพราหมณ์ เช่น ตัวหงส์ เหรา เต่า อัศวมุขี และเหล่าทวารบาล ฯลฯ

แน่ใจได้อย่างไรว่าทั้งหมดที่เห็นนั้นคือศิลปะจามปาจริง?

เพราะหากใช่ จะต้องมีคำถามตามมาอีกชุดใหญ่ อาทิ พบที่แหล่งไหนในเขาวงพระจันทร์ พบที่นี่หรือนำเข้าจากที่อื่น และหากพบที่นี่จริง ใครเป็นคนสร้าง ช่วงไหนของอาณาจักรจามปา ในอดีตเคยมีชนชาติจามเข้ามาอาศัยอยู่ในละโว้หรือเช่นไร เมื่อไหร่ อย่างไร ก่อนหรือหลังสุริยวรมันที่ 2 คนสร้างนครวัด มีเอกสารตำนานฉบับไหนมารองรับไหม ฯลฯ

คำถามทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่ดิฉันยังไม่มีคำตอบค่ะ กำลังค่อยๆ คลำทางสืบค้นอยู่เช่นกัน และรอคอยนักวิชาการด้านโบราณคดีหรือศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมพิสูจน์

แต่ในเบื้องต้นนี้ดิฉันได้สัมผัสเนื้อหินทรายสีเหลืองอย่างละเอียดลออทุกชิ้นว่ามีความเก่าจริง ผิวมีรอยรานผ่านการใช้งาน ไม่ใช่ของทำเลียนอย่างแน่นอน เพราะหากใครอุตริจะมาจำลองรูปแบบศิลปกรรมจามปาก็น่าจะเสี่ยงสูง

ด้วยการจำหลักหินทรายเป็นเรื่องยากเย็น ทำแล้วจะขายใคร คงต้องรอให้ภัณฑารักษ์จากพิพิธภัณฑ์กีเมต์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส (ที่เอ่ยเช่นนี้ เพราะเชื่อว่าน่าจะเป็นรายต้นๆ ที่เห็นคุณค่า) มาซื้อกระนั้นหรือ?

ลองถามพ่อค้านักเล่นของเก่าแล้ว พวกเขาตอบชัดว่าสุ่มเสี่ยงมาก ไม่มีใครคิดอะไรพิเรนทร์นอกกรอบอะไรได้ขนาดนี้ดอก ที่อยู่ๆ ไปขุดเอาศิลปกรรมย้อนยุคของงานต่างถิ่นไกลโพ้นมาเลียนแบบ ด้วยกลุ่มเป้าหมายที่เป็นลูกค้าเขาไม่ได้สะสมงานประเภทนี้ หากจะทำควรเลียนแบบประติมากรรมขอมหรือทวารวดีมากกว่าไหม?

ยิ่งกลุ่มนักสะสมโบราณวัตถุตัวยงระดับพรีเมียม หากเอาของไปเสนอขายเขา ก็ต้องถูกซักไซ้ไล่เลียงจนตายกันไปข้าง ว่าไปลักลอบเอามาจากเวียดนามได้อย่างไร ข้ามพรมแดนมาทางใด ถึงซื้อไปก็ไม่กล้าโชว์ เพราะไม่รู้จะติดป้ายคำบรรยายอย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมาย

ดังนั้น ในเบื้องแรกนี้ ดิฉันอยากเชื้อเชิญชวนให้ทุกท่านไปพิสูจน์ด้วยสายตาตัวเอง ดูเนื้อหินสึกกร่อนรอนรานคงไม่พอ ต้องช่วยกันดูรูปแบบศิลปะด้วยว่า ประติมากรรมที่วัดเขาวงพระจันทร์ที่ (คือภาพซ้ายมือของท่านทั้งหมด) เหมือนหรือต่างกับภาพด้านขวามืออย่างไรบ้าง อันเป็นงานที่ดิฉันเอาศิลปกรรมในอาณาจักรจามปา ประเทศเวียดนามสมัยต่างๆ ที่ได้รับการยอมรับแล้วว่า นี่คืออัตลักษณ์ของศิลปกรรมจาม มาเปรียบเทียบให้ดูกันแบบจะจะ

ดังนั้น บทความชิ้นนี้ ขอเขียนเนื้อหาให้สั้นที่สุด เพื่อเปิดพื้นที่ให้ท่านชมภาพให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ซึ่งดิฉันหยิบยกตัวอย่างมาให้ดู 8 คู่ ดังได้เขียนคำอธิบายไว้ใต้ภาพให้แล้ว

 

แปลกไหมหากมีศิลปกรรมจามปาในละโว้

จะว่าแปลกก็แปลก ครั้นจะว่าไม่แปลกก็ไม่แปลกนะคะ

ที่แปลกก็เพราะประเทศเวียดนามอยู่ค่อนข้างไกลจากเรา ปัจจุบันไทยกับเวียดนามไม่มีพรมแดนประชิดกัน ต้องผ่านเขมร ลาวก่อน หรือไม่ก็ลงทะเล

ถ้าคิดเชิงภูมิศาสตร์สมัยใหม่ ก็อาจจะเหลือเชื่อ

แต่หากเราถอดรหัสคำว่า “จามปา/จำปา” นับแต่จามปาปุระในเวียดนาม เข้าสู่ลาวใต้ก็มี “จำปาสัก” (จามปาศักดิ์) ข้ามโขงมามี “ศรีจำปานาดูน” เข้ามาที่อโยธยามี “ปท่าคูจาม” ที่ลพบุรีมี “ซับจำปา” และจบลงที่ลำพูนมี “พระนางจามเทวี”

สุจิตต์ วงษ์เทศ น่าจะเป็นบุคคลแรกๆ ที่เสนอว่า “จามเทวี” อาจมาจากตำแหน่ง “เทวีแห่งอาณาจักรจามปาปุระ” ก็เป็นได้ แต่นักวิชาการหลายท่านไม่ค่อยขานรับทฤษฎีนี้ ด้วยมองว่าจามปานั้นอยู่ไกลเกินไป ต้องข้ามขอมไปอีกชั้นหนึ่งก่อน

ดิฉันก็ไม่แน่ใจนะคะ ว่าการค้นพบประติมากรรมที่วัดเขาวงพระจันทร์นี้ จะช่วยคลี่คลายตอบโจทย์แก่วงการประวัติศาสตร์ โบราณคดี ให้ได้ข้อมูลอะไรแปลกใหม่บ้างหรือไม่ อย่างไรก็ดี ดิฉันได้จัดทำรายงานให้สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรีรับทราบเป็นเบื้องต้นแล้ว

ลำดับถัดไปราวเดือนมีนาคมปีหน้า (ถือโอกาสหนีฝุ่นควันเมืองเหนือ) ดิฉันกับทีมจะไปลุยสำรวจแหล่งโบราณคดีที่อำเภอโคกสำโรงและเมืองศรีเทพอีกครั้ง หากพบข้อสังเกตแปลกใหม่จะแจ้งให้ผู้อ่านทราบเป็นระยะๆ ต่อไปค่ะ

ใครสนใจอยากร่วมทีมเชิญติดต่อหลังไมค์ได้นะคะ