เศรษฐกิจ / แล้ง…ภัยเงียบปี 2564 ธุรกิจวอนรัฐอย่าชะล่าใจ วิกฤตลานีญา อาจเทียบขั้นมหาอุทกภัย ’54

เศรษฐกิจ

 

แล้ง…ภัยเงียบปี 2564

ธุรกิจวอนรัฐอย่าชะล่าใจ

วิกฤตลานีญา

อาจเทียบขั้นมหาอุทกภัย ’54

 

จากภาวะอากาศปรวนแปรในขณะนี้ ที่จังหวัดส่วนใหญ่ต้องเจออากาศหนาวเย็น แต่กลับเจอฝนสลับแล้งแทน ทำให้องค์กรเกี่ยวกับการเกษตรและธุรกิจภาคเอกชน ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และจะเป็นการส่งสัญญาณเตือนอะไร สำหรับประเทศไทยที่กำลังขึ้นปี 2564 ในอีก 2 สัปดาห์

ซึ่งหลายฝ่ายเริ่มเห็นลางร้ายปี 2564 จะเจอทั้งภัยแล้ง และอุทกภัยน้ำท่วม ภายใต้ปรากฏการณ์ลานีญา

ดูข้อมูลการประเมินสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของ ศูนย์ EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ได้พยากรณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ระบุไว้ว่า เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงสำคัญ ประกอบด้วย

  1. การระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19 และความล่าช้าในการกระจายวัคซีนในไทยอย่างแพร่หลาย
  2. แผลเป็นทางเศรษฐกิจที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพสถาบันการเงินผ่านระดับหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการเข้าถึงเงินทุนของภาคเอกชน
  3. ปัญหาเสถียรภาพการเมืองในประเทศ อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน
  4. เงินบาทที่แข็งค่าเร็วกว่าคู่ค้าคู่แข่ง ซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ

และ 5. ภัยแล้ง จากระดับน้ำในเขื่อนที่ยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต

หากเกิดภัยแล้ง จะมากหรือน้อย ย่อมมีผลกระทบต่อทุกสิ่ง ตั้งแต่ภาคการค้า บริโภค ลงทุน ภาคการเงิน และเศรษฐกิจมหภาค

 

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับภาวะอากาศ อย่างอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป อย่าง “วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ระบุว่า ทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งออก ได้ตั้งข้อสังเกตและส่งสัญญาณให้หน่วยงานรัฐได้เตรียมตัวมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะเราดูจากสถิติของทางการ และการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งทุกครั้งจะเห็นการย้ำเตือน “ควรใช้น้ำอย่างประหยัด” และภาคอุปโภคบริโภคต้องมีน้ำใช้อาบเพียงพอก่อนภาคเกษตรและอุตสาหกรรม

ทั้งๆ ที่ภาคเกษตรถือเป็นภาคที่มีการใช้ปริมาณน้ำในการเพาะปลูกและผลิตมากที่สุด มากกว่าภาคอุตสาหกรรม และการอุปโภคบริโภค

หากปี 2564 ปริมาณน้ำน้อยกว่าในปี 2563 จะเป็นตัวเร่งสำคัญส่งผลกระทบต่อพืชผลการเกษตรโดยตรง ทั้งเรื่องปริมาณลดลง แม้ราคาขายอาจดีขึ้น แต่เทียบกับปริมาณการเกษตรเสียหายหรือลดลง รายได้เกษตรกรก็ได้ไม่เต็มที่

วิศิษฐ์ระบุต่ออีกว่า ยังกังวลหากผลผลิตน้อยจะกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออก รวมทั้งผู้บริโภคในประเทศอาจได้รับผลจากการที่ราคาพืชเกษตรบางชนิดปรับตัวสูงขึ้นอีกด้วย

และหากในปี 2564 ผลผลิตมีแนวโน้มลดลงอีก จะยิ่งเป็นทำให้ผลผลิตลดลงเรื่อยๆ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือรัฐต้องมีการบริหารจัดการ และเน้นย้ำให้เกษตรกรเข้าใจและเตรียมตัวว่าต้องมีอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กไว้เพื่อใช้ในการเพาะปลูก

รวมทั้งเป็นการรับมือล่วงหน้าในกรณีน้ำไม่พอใช้การในภาคเกษตรอย่างที่แล้วมา

 

ส่วนภาพรวมในปี 2563 มองว่าภัยแล้งยังไม่ส่งผลกระทบมาก และยังไม่เดือดร้อนกัน เพราะโควิดกระทบต่อความต้องการโลกหดหายในหลายพืชที่เป็นวัตถุดิบแปรรูปอาหาร ตลาดโลกจึงลดความต้องการพืชบางชนิดลดลง

อาทิ อ้อย เนื่องจากการแข่งขันสูง อีกปัจจัยสำคัญคือ ราคาน้ำมันในประเทศต่ำ นักลงทุนจึงไม่นิยมนำอ้อยมาผลิตเป็นเอทานอล ส่งผลให้ผลผลิตเริ่มล้นตลาด อีกทั้งปีนี้ยังมีการผลิตน้ำตาลเกินความต้องการแล้วอีกด้วย เป็นต้น

ส่วนผลไม้ที่แม้จะเกิดวิกฤตโควิด-19 แต่ยังเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ได้แก่ ทุเรียน ถือเป็นผลไม้พรีเมียมของไทย จึงมีราคาสูงอย่างต่อเนื่อง

วิศิษฐ์ย้ำว่า การบริหารจัดการน้ำล่วงหน้าเป็นเรื่องที่สำคัญ สินค้าหลายประเภทเริ่มได้รับผลกระทบทำให้ขยายตลาดได้ยากขึ้น แต่มองว่าในวิกฤตยังมีโอกาสอยู่ เกษตรกรต้องหันมาปลูกพืชผลที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและยกระดับสินค้าเจาะกลุ่มลูกค้าพรีเมียมมากขึ้น

การแปรรูปเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่มีความสำคัญในการเพิ่มมูลค่า จึงอยากให้ภาครัฐสนับสนุนในเรื่องนี้ด้วย เพราะการแปรรูปจะช่วยขยายขนาดของตลาดให้กว้างมากขึ้น

 

ฟากหน่วยงานรัฐอย่าง สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้ประเมินราคาพืชเศรษฐกิจในปี 2564 โดยระบุว่า ราคาพืชเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มเติบโตดี อย่างต่อเนื่อง อาทิ ยางพารา มีแนวโน้มเติบโตสูงว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งปัจจุบันราคาปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมีโอกาสสูงถึง 80 บาท/กิโลกรัม ส่วนปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวไปถึงไตรมาสแรกของปี 2564 เฉลี่ยราคาปาล์มดิบอยู่ที่ 6-7 บาท/กิโลกรัม น้ำมันปาล์ม (ซีพีโอ) อยู่ที่ 25-25.50 บาท/กิโลกรัม

เรื่องราคาพืชที่สูงขึ้น ก็มีหลายปัจจัย ทั้งความต้องการสินค้าไทยยังดี ส่งออกได้มาก กำลังซื้อดี หรือไม่ก็ผลผลิตลดลง ซึ่งส่วนหลังก็เป็นอีกหนึ่งความกังวลของ สศก.เอง ราคาพืชที่สูงอาจมาจากภัยแล้งที่เกิดขึ้นได้ในปี 2564 ดูตามการคาดการณ์ปริมาณน้ำ จะน้อยกว่าปี 2563 เบื้องต้น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ทำการล็อกเป้าหมายการใช้น้ำ พร้อมประกาศพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ด้านการเกษตร (ไม้ผลไม้ยืนต้น) นอกเขตชลประทาน จำนวน 17 จังหวัด พื้นที่ 1.07 แสนไร่ จากจำนวนทั้งหมด 77 จังหวัด พื้นที่ 4.38 ล้านไร่ ทั้งนี้ พื้นที่เฝ้าระวังภาวะน้ำแล้งมาก อยู่ในพื้นที่ที่มีปริมาณฝนสะสมน้อยกว่า 900 มิลลิเมตร

พร้อมเตรียมแผนรับมือลานีญา ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2564 อีกด้วย โดยอยู่ระหว่างการประเมินผลความรุนแรง คาดว่าจะเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นทั้งภัยแล้ง และปรากฏการณ์ลานีญา หลังปีใหม่หรือช่วงเดือนมกราคม 2564

 

ด้านกรมชลประทาน ในฐานะหน่วยงานที่กำกับกับดูแลได้วางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2563/64 หรือระหว่าง 1 พฤศจิกายน 2563 ถึง 30 เมษายน 2564 ทั่วทั้งประเทศ วางแผนการจัดสรรน้ำไว้ 15,701 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แยกเป็นน้ำอุปโภคบริโภค 2,578 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศ 7,615 ล้าน ลบ.ม. เกษตรกรรม 5,120 ล้าน ลบ.ม. อุตสาหกรรม 388 ล้าน ลบ.ม. และสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2564 หรือระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม อีกประมาณ 10,156 ล้าน ลบ.ม.

เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา วางแผนจัดสรรน้ำจาก 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไว้ประมาณ 5,771 ล้าน ลบ.ม. เน้นสนับสนุนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อย ทำให้ไม่สามารถส่งน้ำสนับสนุนการทำนาปรังได้ จึงขอให้เกษตรกรหันมาทำการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน เพื่อลดความเสียหายต่อผลผลิต

นอกจากนี้ ยังได้วางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน เพื่อให้มีปริมาณน้ำอุปโภค บริโภคเพียงพอตลอดฤดูแล้งปี 2563/2564 ต่อเนื่องไปจนถึงต้นฤดูฝนปี 2564 การเฝ้าระวังคุณภาพในลำน้ำสายหลัก และสายรอง เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง เป็นต้น การส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกจัดการน้ำเสียตามหลัก 3 อาร์ การติดตาม ประเมินผล เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2563/2564 เป็นไปตามแผน

อาจมองว่าจะเร็วไปไหม ที่จะเตรียมพร้อมรับมืออากาศที่แปรปรวน ก็อยากให้ย้อนไปปลายปี 2553 ที่หลายฝ่ายเตือนเรื่องน้ำจนเกิดมหาอุทกภัย หนักที่สุดในปี 2554 เศรษฐกิจไทยเสียหายเป็นแสนๆ ล้านบาท ก็อยากให้มองกลับกัน เพราะหลายปีมานี้ ตั้งแต่ปี 2562 มักเห็นข่าวว่าแล้งหนักในรอบ 60 ปี จนบางพื้นที่เป็นสนามเตะบอล ชนบทยอมจ่ายเงินซื้อน้ำอาบเดือนละ 2 พันบาท หรือข่าวในเขื่อนจ่อวิกฤต อาจเป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นได้อีกครั้งในปี 2564

ก็อยากให้รัฐบาลบิ๊กตู่กันไว้ดีกว่าแก้ เกิดแล้ววุ่นวายไม่แพ้เรื่องการเมือง!!