การศึกษา / ปิดตำนาน 15 ปี ‘โอเน็ต’ ‘ครูตั้น’ สั่งโละ-ไม่ตอบโจทย์คุณภาพ

การศึกษา

 

ปิดตำนาน 15 ปี ‘โอเน็ต’

‘ครูตั้น’ สั่งโละ-ไม่ตอบโจทย์คุณภาพ

 

หารือกันมาพักใหญ่ สำหรับการยกเลิกสารพัดการสอบ เริ่มจากการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ซึ่ง “ครูตั้น” นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทบทวนข้อดี ข้อเสีย และความจำเป็นที่เด็กยังต้องสอบ!!

เหตุที่ต้องมาทบทวนเพราะสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี ทำให้ ศธ.ต้องประกาศเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ออกไป จากเดิมเปิด 15 พฤษภาคมของทุกปี มาเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 กระทบกับการเรียนการสอน และการสอบต่างๆ รวมถึงการสอบเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ที่ต้องขยับปฏิทินรับนักศึกษาเข้าเรียนตามไปด้วย

ขณะเดียวกันที่ผ่านมามีเสียงสะท้อนมาตลอดว่าเด็กต้องสอบจำนวนมาก ทั้งสอบเพื่อประเมินผลการเรียนในโรงเรียน ไปจนถึงการสอบแข่งขันเพื่อเข้าเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ทำให้เกิดความเครียด และยิ่งให้คะแนนโอเน็ตเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย ทำให้บางคนถึงขั้นไปติวเพื่อสอบโอเน็ตให้ได้คะแนนดี

หลากหลายปัญหาที่มาพร้อมกับการสอบ ไม่นับรวมกระแสวิพากษ์วิจารณ์มาตรฐานข้อสอบ ที่แต่ละปีมีทั้งข้อสอบที่ผิดพลาดและข้อสอบที่ทำให้สังคมต้องตั้งคำถามถึงความเหมาะสม…

ยังไม่นับรวมที่มีการเชื่อมโยงคะแนนโอเน็ตกับการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะของครู มีผลต่อการประเมินสถานศึกษาภายในและนอก

ดังนั้น การยกเลิกโอเน็ต จึงต้องปรับทั้งระบบ!!

 

ใช้เวลาศึกษาข้อดี ข้อเสียพอสมควร ในที่สุด ก็เป็นที่แน่นนอนแล้วว่า จะยกเลิกโอเน็ต ป.6 และ ม.3 ในปี 2564 ทันที ส่วน ม.6 ให้คงไว้ก่อน เพราะต้องใช้เป็นองค์ประกอบในการเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย และให้ไปยกเลิกในปี 2565

หลังจัดสอบมายาวนานกว่า 15 ปี โดยเริ่มสอบครั้งแรกปี 2549 เพื่อประเมินผลการจัดการศึกษาในปีการศึกษา 2548…

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปศึกษาผลกระทบข้อดี ข้อเสียที่จะเกิดขึ้นหากยกเลิกการสอบโอเน็ต ซึ่งได้ข้อสรุปว่า การยกเลิกโอเน็ตไม่ส่งผลกระทบกับการเรียนการสอน เพียงแต่ต้องปรับปรุงระเบียนแสดงผลการเรียน หรือ ปพ.1 โดยตัดในส่วนของคะแนนโอเน็ตออกเท่านั้น

“สำหรับ สพฐ. การสอบโอเน็ตหรือไม่ ไม่ได้มีผลกระทบกับการพัฒนาการศึกษา ส่วนมหาวิทยาลัยเองก็ไม่ได้ใช้โอเน็ตในการเข้าศึกษาต่อในสัดส่วนที่สูงมากนัก แต่จะไปเน้นใช้คะแนนสอบวิชาความถนัดทั่วไป หรือ GAT คะแนนการดสอบความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT และคะแนนสอบวิชาสามัญ 9 วิชามากกว่า ดังนั้น แม้จะยกเลิกไปก็เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาในภาพรวม ส่วนการใช้โอเน็ตพัฒนาการเรียนการสอนในโรงเรียนต่างๆ นั้น ทุกวันนี้ การจัดการเรียนการสอนจะยึดเด็กเป็นศูนย์กลางอยู่แล้ว สพฐ.จะเน้นให้โรงเรียนพัฒนาการศึกษาตามศักยภาพ ซึ่งแต่ละแห่งจะมีการประเมินผลการจัดการศึกษาของตัวเองอยู่แล้ว และหาก สพฐ.ต้องการประเมินผลการจัดการศึกษาในภาพรวม ก็อาจใช้วิธีสุ่มสอบ ลักษณะเดียวกับการสอบวัดความรู้นักเรียนนานาชาติ หรือ PISA โดยใช้ข้อสอบที่ สพฐ.มีอยู่เป็นตัววัด”

นายอัมพรกล่าว

 

นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) บอกคล้ายกันว่า ได้มอบหมายให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ (สทศ.) ซึ่งเป็นหน่วยจัดสอบที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรงไปศึกษารายละเอียด ข้อดี ข้อเสียว่าถ้าไม่ใช้คะแนนโอเน็ตจะสร้างผลกระทบอะไรบ้าง ถ้ายกเลิกสอบโอเน็ตจะมีอะไรเข้ามาทดแทน และจะมีแนวทางการทดสอบไหนเข้ามาทดแทนได้บ้าง ตนมองว่าการสอบโอเน็ตไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการวัดศักยภาพเด็ก ยังมีวิธีอื่นๆ มากมายที่จะมาเปรียบเทียบและวัดศักยภาพของนักเรียน

“เมื่อเร็วๆ นี้ ได้หารือกับนางเพ็ญรัตน์ หงษ์วิทยากร รองเลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) หากไม่สอบโอเน็ต จะมีระบบการสอบใดมารองรับหรือไม่ ซึ่งทาง ทปอ.ตอบกลับมาว่า มีระบบและมีวิธีการรองรับอยู่ ส่วน สพฐ.ก็บอกว่า ถึงยกเลิกก็ไม่มีปัญหา เพราะ สพฐ.สามารถทำระบบการทดสอบกลางได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการว่าจะยกเลิกสอบโอเน็ตหรือไม่ และภายในเดือนธันวาคมนี้ สทศ.จะต้องเสนอความก้าวหน้ามาให้ ศธ.รับทราบต่อไป” นายสุภัทรกล่าว

ด้านนายพีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้จัดการระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย หรือทีแคส ของ ทปอ. กล่าวว่า คณะกรรมการทีแคสได้เตรียมแผนรับมือไว้แล้ว และในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ จะมีการประชุมสามัญ ทปอ.ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะกรรมการทีแคสจะแจ้งเรื่องนี้ให้ที่ประชุมรับทราบ และรับฟังความคิดเห็นจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ ด้วย ทั้งนี้ ตนมองว่าหากไม่ใช้คะแนนสอบโอเน็ต ก็มีการทดสอบอื่นที่สามารถเข้ามาแทนที่ได้ ข้อดีคือจะทำให้มหาวิทยาลัยมีอิสระในการกำหนดหลักเกณฑ์ เพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าเรียนได้ตรงตามความต้องการมากขึ้น

สำหรับทีแคสปีการศึกษา 2566 ทปอ.จะปรับเนื้อหาข้อสอบทั้งหมด โดย ทปอ.จะกำหนดกรอบข้อสอบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการออกข้อสอบรูปแบบใหม่ เน้นการนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน

นายวัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า มองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะปัจจุบันนักเรียนต้องสอบหลายอย่าง หากไม่มีการสอบโอเน็ต เด็กก็จะได้ไม่เครียดมากนัก

 

เป้าหมายต่อไป ที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.แย้มออกมาว่าจะยกเลิกเช่นกัน คือ การสอบวีเน็ต หรือการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ด้านอาชีวศึกษา ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ปี 3 และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ปี 2

โดยล่าสุด นายสุเทพ แก่งสันเที๊ยะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ได้ออกมาเปิดเผย วิเคราะห์การสอบวีเน็ต พบว่า ไม่ได้มีผลกับนักศึกษาหรือนำไปใช้ประโยชน์ เนื่องจากการเรียนสายอาชีพเราจะมีการประเมินสมรรถนะความรู้แต่ละสาขาวิชาในแต่ละวิทยาลัยก่อนเด็กจะจบการศึกษาอยู่แล้ว ซึ่งมาตรฐานการวัดดังกล่าวจะนำไปเชื่อมโยงกับการวัดมาตรฐานและการทดสอบฝีมือของกระทรวงแรงงาน ดังนั้น การสอบวีเน็ตจึงเป็นการทดสอบที่วัดมาตรฐานระดับกลางเท่านั้น

ถือเป็นข่าวดีส่งท้ายปีของเด็กๆ หลังมีบ่นกับการสอบที่เป็นภาระหนักกันมาหลายปี!!

    ปิดตำนาน 15 ปีการสอบโอเน็ต จากนี้ต้องจับตาดู ‘ครูตั้น’ ว่าจะวางแนวทางจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ และการประเมินผลการจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์เด็กยุคใหม่ได้อย่างไร…