ในประเทศ / 20 ธ.ค.ชี้ชะตากรรม ก้าวไปข้างหน้า หรือ ก้าวถอยหลัง

ในประเทศ

 

20 ธ.ค.ชี้ชะตากรรม

ก้าวไปข้างหน้า

หรือ

ก้าวถอยหลัง

 

การเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคมนี้

ถือเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นอีกครั้งในรอบ 6 ปี นับแต่การรัฐประหาร 2557

โดยนายกและสมาชิก อบจ.ยังอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 1/2557 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2557

ทั้งนี้ คนไทย 76 จังหวัดจะได้ใช้อำนาจอธิปไตยทางตรงเพื่อกำหนดชะตากรรมตัวเอง

ซึ่งนอกจากนายกและสมาชิก อบจ.เก่า ซึ่งจำนวนหนึ่งเป็น “บ้านใหญ่” อันหมายถึง ผู้กว้างขวางในพื้นที่ จะเสนอตัวเป็นทางเลือกอีกครั้งแล้ว

การเลือกตั้งครั้งนี้ ยังมีพรรคและกลุ่มการเมืองที่เสนอตัวเข้าชิงชัย

ที่ได้รับการจับตาว่าจะประสบความสำเร็จในศึกเลือกตั้งครั้งนี้

ก็คือ คณะก้าวหน้า

 

ทั้งนี้ คณะก้าวหน้าส่งชิงนายก อบจ. 42 จังหวัด

คือ ภาคเหนือ จ.พะเยา พิษณุโลก แพร่ อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร

ภาคกลาง จ.นครปฐม นครสวรรค์ นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สมุทรสงคราม สิงห์บุรี สมุทรสาคร อ่างทอง สระบุรี ราชบุรี สมุทรปราการ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.นครราชสีมา บึงกาฬ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด หนองคาย หนองบัวลำภู ยโสธร อุบลราชธานี สุรินทร์ สกลนคร นครพนม อำนาจเจริญ อุดรธานี

ภาคตะวันตก-ภาคตะวันออก-ภาคใต้ จ.ตาก ฉะเชิงเทรา ระยอง ปราจีนบุรี ชลบุรี พังงา สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต นครศรีธรรมราช นราธิวาส

โดยชูแนวทาง “เปลี่ยนประเทศไทยเริ่มได้ที่บ้านเรา”

 

น.ส.พรรณิการ์ พานิช แกนนำคณะก้าวหน้า ชี้ว่า อิทธิพลของการเมืองท้องถิ่นคือนั่งร้านของเผด็จการ ม็อบที่กรุงเทพฯ ออกมาต่อต้านอำนาจเผด็จการ ในสมรภูมิท้องถิ่น ก็ต้องช่วยกันทำลายนั่งร้านของเผด็จการในแต่ละท้องถิ่น

ซึ่งมีโอกาส โดยประเมินว่าหากจำนวนผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ.เพิ่มขึ้น 10-20% จากเดิมที่อยู่ราว 50% เศษ ผู้สมัครหน้าใหม่ก็มีโอกาสกำชัยชนะได้

ภายใต้สมมุติฐานที่ว่า ผู้ลงคะแนนหน้าใหม่น่าจะเลือกผู้สมัครของคณะก้าวหน้า เพราะ

1) การว่างเว้นจากการเลือกตั้งท้องถิ่นมา 7-8 ปี ทำให้ประชาชนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง

2) มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นครั้งแรกจำนวนมาก (อายุ 18-26 ปี) ซึ่งคนรุ่นใหม่ถือเป็นฐานเสียงสำคัญของคณะก้าวหน้า

3) การเลือกตั้ง อบจ.เกิดขึ้นพร้อมกันทั้งประเทศ ทำให้มีโอกาสจัดทำแคมเปญระดับชาติ

4) การจุดกระแสต่อต้านรัฐบาลของผู้ชุมนุมกลุ่ม “ราษฎร” ทำให้ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองสูง ซึ่งเป็นแนวร่วมเดียวกับคณะก้าวหน้า

 

ขณะที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า บอกว่า การส่งผู้สมัคร อบจ.ทั้งหมด 42 จังหวัด และ ส.อบจ. เกือบ 1,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งในประวัติศาสตร์ไม่เคยมีใครทำแบบนี้มาก่อน

“การเมืองท้องถิ่นถูกผูกขาดโดยตระกูลการเมืองมาอย่างยาวนาน หลายคนพ่อเป็น ส.ส. แม่เป็นนายก อบจ. ญาติเป็นนายกเทศมนตครี หรือไม่ก็มีญาติพี่น้องทำงานรับเหมาที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการรัฐ ลักษณะแบบนี้อยู่กับสังคมไทยมากว่า 40 ปีแล้ว และในหลายจังหวัดยังมีการใช้อิทธิพล ใช้ความรุนแรงต่อคู่แข่งทางการเมืองด้วย ถามว่าท่านอยากให้ลูกหลานเติบโตมาในสังคมแบบนี้หรือ นี่คือคำถามสำคัญมากที่พวกเราต้องตอบ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องเปลี่ยนแปลง” นายธนาธรระบุ

ด้วยเป้าหมายอันทะเยอทะยาน

ที่จะเข้าไปดูแลงบประมาณกว่า 8 แสนล้านบาทของท้องถิ่นทั่วประเทศ

อันจะหมายถึงเกิดการเปลี่ยนแปลง ภูมิทัศน์ใหม่ โดยการเมืองท้องถิ่นที่จะเชื่อมกับการเมืองระดับชาติ

นายธนาธรจึงคาดหวังกับการเลือกตั้งในวันที่ 20 ธันวาคม อย่างสูง

ถึงกับประกาศอย่างมั่นใจว่าผลการเลือกตั้งที่ออกมา

จะหักปากกาเซียน

 

ด้วยความมุ่งมั่น และสร้างความโดดเด่นนี้เอง

ด้านหนึ่ง ก็ได้ก่อปัจจัยด้านลบให้กับคณะก้าวหน้าด้วย

เมื่อกลายเป็นตำบลกระสุนตก

ถูกขั้วตรงข้ามทางการเมืองเชื่อมโยงว่าอยู่ “เบื้องหลังม็อบคณะราษฎร”

และที่รุนแรงคือ มีการกล่าวหาว่าคณะก้าวหน้า มีแนวคิด “ล้มเจ้า”

อันทำให้คู่แข่งทั้งในพื้นที่ และคู่แข่งในการเมืองระดับชาติ ผนึกกับมวลชนที่มีจุดยืน ปกป้องสถาบัน ก่อตัวเป็นขบวนการ และแสดงออกในเชิงต่อต้านนายธนาธรและคณะที่ออกเดินสายหาเสียงให้กับผู้สมัครนายก อบจ.ตามจังหวัดต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา

เกิดเป็น “โมเดล” ที่ฝ่ายเทิดทูนสถาบันนำมาใช้เคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกันเพื่อต่อต้านไปยังนายธนาธร

เกิดข้อจำกัดในการหาเสียงและยังลามไปถึง “ผู้สมัคร” ในสังกัดที่ต้องได้รับความเสียหายตามมาด้วย

จนคณะก้าวหน้าต้องเข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีถูกขัดขวางการหาเสียงเลือกตั้ง

โดยยก 6 กรณีที่เกิดขึ้นใน จ.นราธิวาส นครศรีธรรมราช สมุทรปราการ นครราชสีมา สุรินทร์ ระยอง

มาร้องเรียนเพื่อให้ช่วยแก้ไขและป้องกันการคุกคามดังกล่าว

 

แต่ก็ดูเหมือนว่า คณะก้าวหน้า คงจะคาดหวังกับ กกต.ลำบาก

เพราะที่ผ่านมา เกิดเหตุกระทบกระทั่งกับ กกต.มาโดยตลอด

จนถือเป็นคู่อริมากกว่าที่จะเป็นกรรมการคอยช่วยหย่าศึก

โดยล่าสุดที่ประชุม กกต.เมื่อ 30 พฤศจิกายน มีมติให้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช ในนามคณะก้าวหน้า

ฐานถูกร้องเรียนช่วยหาเสียงให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้ง อบจ.

อาจเข้าข่ายลักษณะเป็นพรรคการเมือง ซึ่งมีความผิดตามมาตรา 111 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560

ทั้งนี้ หลังพิจารณาข้อมูลและหลักฐานตามที่ฝ่ายกิจการพรรคการเมืองของสำนักงาน กกต.เสนอมา

ปรากฏว่า กกต.ก็ชี้ว่า มีพยานหลักฐานพอมีมูล จึงให้ดำเนินการต่อ

ซึ่งหากผลการสืบสวนพบว่าเข้าข่ายลักษณะความผิดทางกฎหมาย

นายธนาธรกับพวกอาจต้องรับผลในคดีเพิ่มเติม โดยระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองอีก 5 ปี

แถมอาจจะส่งผลต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. และสมาชิก อบจ. ในนามของคณะก้าวหน้า

ถึงขั้นถูกระงับสิทธิสมัครไว้เป็นการชั่วคราว หรือที่เรียกว่า “แจกใบส้ม” ก็ได้

ถือเป็นวิบากกรรมที่ต้องลุ้นจาก กกต.หลังจากนี้

 

ไม่เพียงถูกต่อต้าน ถูก กกต.เล่นงานเท่านั้น

นายธนาธรยังเจอมรสุมดิสเครดิตอีก

เมื่อมีมือลึกลับเผยแพร่คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562

จำคุกนายประสิทธิ อภัยพลชาญ อดีตเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และนายสุรกิจ ตั้งวิทูวนิช นายหน้าค้าที่ดิน

ในข้อหาเรียกรับสินบนและปลอมแปลงเอกสารราชการของสำนักทรัพย์สินฯ

ที่น่าสนใจ คำพิพากษานี้ยังระบุว่า จำเลยได้อ้างถึงชื่อนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้บริหารบริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด

ซึ่งเป็นน้องชายของนายธนาธร ได้จ่ายเงินจำนวน 20 ล้านบาท

ในการว่าจ้างให้จำเลยทั้งสองดำเนินการติดต่อประสานงานเพื่อให้ทางบริษัทได้เช่าที่ดิน 2 แปลงใน ซ.ร่วมฤดี และย่านชิดลม จากสำนักงานทรัพย์สินฯ โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนการประมูลตามปกติ

จากผลคำพิพาษาดังกล่าว มีผู้นำไปขยายผลโดยเรียกร้องไปยังตำรวจและอัยการ ให้เอาผิดนายสกุลธรด้วยในฐานะเป็นผู้ให้สินบน

และตอนนี้ กองบังคับการปราบปรามได้รับลูกแล้ว

ซึ่งหากนายสกุลธรถูกดำเนินคดี

ในทางการเมือง ย่อมกระทบไปถึงนายธนาธร

แม้ น.ส.พรรณิการ์ วานิช พยายามแก้เกม โดยตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ข้อกล่าวหานี้อาจเป็นความพยายามที่จะ “ปิดปาก” นายธนาธรและแนวร่วมที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปและตรวจสอบความโปร่งใสของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ก็เป็นได้

แต่เรื่องนี้คงเป็นหนังเรื่องยาว

และถูกหยิบไปทิ่มแทงนายธนาธร ตราบใดที่เรื่องยังไม่เคลียร์แน่นอน

 

นี่คือภาวะของการอยู่ในตำบลกระสุนตก ที่นายธนาธรและคณะก้าวหน้าเผชิญ

ซึ่งตรงนี้อาจจะมีผลต่อการเลือกตั้งนายกและสมาชิก อบจ.ในวันที่ 20 ธันวาคม ทั้งโดยตรง ทั้งโดยอ้อม

ทั้งนี้ นายธนาธรมิได้อยู่ในสภาพที่เคยเผชิญอย่างที่สามารถนำพรรคอนาคตใหม่โกยคะแนนเสียงมหาชนได้ถึง 6,330,617 เสียง

สร้างปรากฏการณ์ใหม่ทางการเมืองได้อีกแล้ว

เพราะตอนนั้น มิได้อยู่ในภาวะถูกรุมกินโต๊ะ

ต่างจากครั้งนี้ นายธนาธรและคณะก้าวหน้า เป็นเป้าของการแข่งขันและทำลายอย่างรุนแรง

แม้แต่พรรคเพื่อไทยที่เป็นพันธมิตร ก็ส่งผู้สมัครนายก อบจ. 25 จังหวัด ซึ่งหลายพื้นที่เป็นคู่แข่งโดยตรงของทีมคณะก้าวหน้า

ขณะเดียวกัน ยังต้องลุยกับ “บ้านใหญ่” และเจ้าถิ่นเดิม ที่ต้องสู้เพื่อรักษาพื้นที่และป้องกันแชมป์ จาก “ผู้ท้าชิง” ไม่ให้ป้อมปราการของตนเองถูกตีแตก

ยิ่งกว่านั้น ในปีกฝ่ายจารีตและอนุรักษ์ ซึ่งอาจหมายรวมถึงฟากรัฐบาล ข้าราชการ ตำรวจ ทหาร มวลชนที่ปกป้องสถาบัน ซึ่งมองนายธนาธรและคณะก้าวไกลเป็น คณะที่มีแนวคิด “อันตราย”

คงต้องผนึกพลังต่อต้านอย่างรุนแรงแน่นอน

อันทำให้ความมั่นใจของนายธนาธรที่ว่า จะก่อปรากฏการณ์ “หักปากกาเซียน” อาจจะเป็นเรื่องยาก

เว้นเสียแต่ว่า “คนรุ่นใหม่” “เลือดใหม่” จะผนึกกำลังร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลง “ใหม่” อย่างพร้อมเพรียง

หลังวันที่ 20 ธันวาคม จะได้รู้กัน!