เกษียร เตชะพีระ | แรกอ่าน Moments of Silence ของธงชัย วินิจจะกูล (จบ)

เกษียร เตชะพีระ

ปฏิทรรศน์หรือความย้อนแย้งอันเป็นปมปริศนา (problematic paradox) ของธงชัย วินิจจะกูล ผู้เขียน Moments of Silence : The Unforgetting of the October 6, 1976 Massacre in Bangkok (ค.ศ.2020) อยู่ตรงเขามีฐานะบทบาททับซ้อนกันหรือเป็นผู้เขียนสองบุคลิกในหนังสือเล่มนี้ คือเป็นทั้ง :

ตัวผู้เรียนรู้ หรือ the knowing subject (ตัวผู้เขียน ผู้ประพันธ์ นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ นักวิเคราะห์) กับ

ตัวผู้กระทำการ หรือ the doing subject (คนใน ตัวแสดง พยาน ผู้เข้าร่วม)

มันแสดงออกให้เห็นเด่นชัดในลักษณะกลับตาลปัตรอย่างน้อย 2 ตอนด้วยกันใน Moments of Silence

ได้แก่ :

1)ตอนที่ธงชัยเล่าฉากการพูดคุยสอบถามคุณพ่อจินดากับแม่ลิ้ม ทองสินธุ์ เกี่ยวกับการรับทราบการเสียชีวิตของจารุพงษ์ ทองสินธุ์ ผู้เป็นลูกในเหตุการณ์ล้อมปราบฆ่าหมู่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ที่หน้า 153-155 ของหนังสือ

“ผมได้พบทั้งคุณพ่อจินดากับแม่ลิ้มเมื่อปี ค.ศ.2001 เมื่อพวกท่านมากรุงเทพฯ เพื่อร่วมงานรำลึกการสังหารหมู่ครบรอบยี่สิบห้าปี ผมขอพูดคุยเป็นการส่วนตัวเพื่อเล่าเรื่องทั้งหมดที่ผมรู้เกี่ยวกับศพของลูกชายของพวกท่านให้ฟัง “ผมเสียดายครับที่หาซากร่างของเขาไม่เจอ” ผมพูดปิดท้ายคำบอกเล่าของผม แล้วเราทั้งสามก็ร้องไห้ออกมาด้วยกัน หลังจากนั้นผมถามคุณพ่อจินดาว่าท่านได้ไปโรงพยาบาลตำรวจหรือเห็นภาพถ่ายบรรดาศพชายไทยไม่ทราบชื่อจากเหตุการณ์ครั้งนั้นหรือเปล่า ทันใดนั้นแม่ลิ้มก็ชี้นิ้วไปที่คุณพ่อจินดาและร้องโพล่งออกมาทั้งน้ำตาว่า “ฉันบอกแกแล้วว่านั่นน่ะลูกเกี๊ยะ! ฉันบอกแกแล้วว่านั่นลูกเกี๊ยะ!” แล้วแม่จินดาก็สะอื้นไห้ ส่วนคุณพ่อจินดานั่งก้มหน้าคอตกค้อมหลังนิ่ง…

“แม่ลิ้มพึมพำออกมาทั้งที่ยังสะอึกสะอื้นว่า “ฉันบอกแกแล้วว่านั่นน่ะลูก ฉันบอกแกแล้ว” คุณพ่อจินดาคงเล่าสิ่งที่ท่านได้พบเห็นและนึกคิดให้แม่ลิ้มฟังด้วย ผมไม่พูดอะไรอีก และขณะที่ทั้งคู่ยังสะอื้นไห้อยู่ ผมก็ขอตัวออกมาเงียบๆ ผมรู้สึกช็อกเพราะฉุกคิดได้ว่าสิ่งที่ผมเพิ่งทำกับทั้งสองท่านนั้นโหดร้ายเพียงใด ทำไมผมจะต้องไปแส่รู้คำตอบทั้งหมดด้วย? ผมควรจะถามคำถามสุดท้ายกับพวกท่านไหม? ผมถามคำถามนั้นไปได้ยังไง? จวบจนเท่าถึงทุกวันนี้ ตาผมยังรื้นทุกครั้งที่หวนรำลึกถึงช่วงจังหวะนั้นซึ่งผมไม่มีวันจะลืมลง อีกทั้งผมก็คงไม่มีวันให้อภัยตัวเองได้ด้วย การบอกกล่าวสัจจะความจริงออกมาช่างเป็นสิ่งที่โหดร้าย…

“เรามักทึกทักว่าบันทึกความจำเป็นการบันทึกไว้ซึ่งความทรงจำ อะไรที่ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ก็คือสิ่งที่จำไม่ได้หรือไม่ก็เป็นอะไรบางอย่างที่ผู้บันทึกไม่อยากจำ พูดอีกอย่างก็คือ เราทึกทักว่าเมื่อบันทึกความจำสิ้นสุดยุติลงอย่างกะทันหันนั้น การลืมหรือการสูญเสียความทรงจำไปก็เริ่มต้นขึ้น ฉะนั้น บันทึกความจำที่ยังไม่แล้วเสร็จจึงเป็นความทรงจำที่ยุติลงโดยยังไม่จบ แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ? สำหรับคุณพ่อจินดา บันทึกความจำของท่านยุติลงเมื่อใด ความทรงจำที่แช่แข็งก็เริ่มต้นขึ้น ความเงียบ ณ จังหวะแห่งการระงับยับยั้งบันทึกความจำของท่านไว้นั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยความทรงจำ มันเป็นความทรงจำที่ดี เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังที่ทำให้ทุกคนยังมีชีวิตอยู่ บันทึกความจำดังกล่าวถูกระงับยับยั้งไว้เพื่อป้องกันไม่ให้มันจบลงเพราะว่ามันไม่สมควรจะจบ

“ทว่าความเงียบงันอันดีงามของความทรงจำดังกล่าวช่างเปราะบาง สัจจะความจริงเพียงกระผีกริ้นเดียวก็ทำลายมันลงได้ และความหวังของผู้เป็นพ่อแม่ก็พลอยลับหายไปพร้อมกับสัจจะความจริงกระผีกริ้นนั้นด้วย สัจจะความจริงได้ทำลายความเงียบซึ่งช่วยแช่แข็งเวลากับประวัติศาสตร์เอาไว้ และช่วยให้จารุพงษ์กับพ่อแม่ของเขามีชีวิตอยู่สืบไป การสรุปปิดจบที่ปกติเราโหยหานั้นนับเป็นคำสาปแช่งต่อความเงียบนี้ ก็แลในกระบวนการแสวงหาสัจจะความจริงของผมเกี่ยวกับศพของจารุพงษ์และแสวงหาคำตอบทั้งหลายแหล่เกี่ยวกับบันทึกความจำ ผมได้เป็นผู้ปิดฉากจบความเงียบอันดีงามนี้ลง หยาดน้ำตาหลั่งไหลเข้ามาแทนที่ความเงียบ สัจจะความจริงนั้นช่างเป็นสิ่งที่เหลือทน”

จะเห็นได้ว่าในกรณีนี้ ด้วยความกระหายใคร่รู้ ตัวธงชัยผู้เรียนรู้ได้บุ่มบ่ามผลีผลามรุ่มร่ามเข้ามาเหยียบตาปลาของตัวธงชัยผู้กระทำการเข้าเต็มๆ จนฝ่ายหลังน้ำตาเล็ด

นี่คือผลของการให้ค่าแก่สัจจะความจริงมากเกินไปกว่าค่าของชีวิต (Truth-value > Life-value)

2)

ในทางกลับกัน ก็ปรากฏกรณีตัวธงชัยผู้เรียนรู้ไม่อยากรู้หรือทนรู้ไม่ไหวอีกต่อไป และยอมที่จะไม่ขวนขวายไปรู้เพื่อเห็นแก่หน้าตัวธงชัยผู้กระทำการ (Life-value > Truth-value) ดังเห็นได้ในคราวเขาเปิดใจเบื้องลึกจากประสบการณ์การสัมภาษณ์บรรดาผู้ก่อเหตุฆ่าหมู่และรัฐประหาร 6 ตุลาฯ 2519 ที่หน้า 189 ว่า

“ผมยอมรับว่ามีขีดจำกัดอยู่ในเรื่องที่ว่าผมสามารถเข้าใจบรรดาผู้ก่อเหตุฆ่าหมู่เหล่านี้ บรรดาผู้ร่วมส่วนในการสังหารผู้คนมากหลายที่ผมรู้จักได้มากแค่ไหนเพียงใด บางทีผมก็ไม่อยากเข้าใจพวกเขาหรือไม่แคร์ที่จะรู้จักพวกเขาให้ดีขึ้นเอาเลย อย่างไรก็ตามบางครั้งผมก็รู้สึกตรงข้ามกัน คือเห็นใจพวกเขาบางคนโดยเฉพาะพวกกระทิงแดง

“ผมไม่ได้แสวงหาสัจจะความจริง หรือความพร้อมรับผิดต่อสิ่งที่พวกเขาได้ทำหรือไม่ได้ทำเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ.1976 อีกทั้งผมก็ไม่ได้หาทางคืนดีกับพวกเขาด้วย ในความพยายามของพรีโม เลวี (Primo Levi, ค.ศ.1919-1987, นักเคมี พลพรรคต่อต้านนาซีและนักเขียนชื่อดังชาวอิตาลีเชื้อสายยิวผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวของนาซี) ที่จะเข้าใจปุถุชนคนเยอรมันผู้เข้าร่วมในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวนั้น เขาเคยพูดไว้ครั้งหนึ่งว่า “บางทีเราก็ไม่สามารถ หรือให้หนักข้อกว่านั้นคือเราจะต้องไม่ไปเข้าใจสิ่งที่ได้เกิดขึ้น… เพราะการเข้าใจก็แทบจะเป็นการให้เหตุผลความชอบธรรมแก่มัน”

“เซฟตาน โทโดรอฟ (Tzevtan Todorov, ค.ศ.1939-2017 ปัญญาชนพหูสูตชาวฝรั่งเศสเชื้อสายบัลแกเรียผู้เขียนงานส่งอิทธิพลต่อหลากหลายสาขาวิชาทางมนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์) คาดคะเนว่าภาวะอิหลักอิเหลื่อกลืนไม่เข้าคายไม่ออกนี้แหละที่ทำให้เลวีกระทำอัตวินิบาตกรรม ในทำนองเดียวกัน ภาวะอิหลักอิเหลื่อสำหรับผมก็คือการไปเข้าใจการคิดและความทรงจำทั้งหลายแหล่ของพวกเขาอย่างแท้จริงนั้นมันเฉียดใกล้การให้เหตุผลความชอบธรรมแก่ความคิดและการกระทำของพวกเขาอย่างน่าเสียวสยอง ถึงจุดนั้น ความอยากรู้ทางปัญญาของผมก็มีอันปิดตัวลงและไม่ยินยอมรับรู้เรื่องของพวกเขาเพิ่มขึ้นอีกเพราะผมไม่อยากไปรับรู้”

“ดังนั้นเอง ผมจึงขอออกตัวว่าการวิเคราะห์ความทรงจำของผู้ก่อเหตุต่อไปนี้อาจไม่ได้ตรวจสอบควานหาอย่างลึกซึ้งเท่าที่พึงทำได้”