อย่าให้โควิดมากำหนดความเป็นไปทั้งหมด

ในกระแส “โควิด” รอบ 2

ไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมายอะไรนัก เมื่อโควิด-19 ระบาดจากพม่าเข้าไทย

ทั้งนี้ เนื่องจากไทยมีชายแดนติดกับเมียนมาตลอดเหนือจรดใต้

มีช่องทางเข้า-ออกเขตแดนของกันและกันยาวเหยียด

ไม่ว่าจะเป็นด้านที่เป็นทางการ หรือช่องทางธรรมชาติ อันหมายถึงการไปมาหาสู่ระหว่างคนพื้นถิ่นที่ความสัมพันธ์ไม่ดินกับเส้นแบ่งเขตประเทศ

เมื่อเชื้อโควิดระบาดหนักที่อินเดียและลามเข้ามาติดกันมากมายที่เมียนมา จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะระบาดมาถึงไทย

ดังนั้น การเสนอความคิดว่า “จะอยู่กับโควิดอย่างไร” จึงเกิดการถกแถลงกันมาก่อนหน้าที่การระบาดครั้งใหม่จะเกิดขึ้น

ความเดือดเนื้อร้อนใจจากสถานการณ์โรคระบาดไม่ได้เกิดจากความเจ็บป่วยที่เกิดจากการติดเชื้อเท่านั้น แต่ปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะระดับปากท้องเป็นเรื่องรุนแรงไม่แพ้กัน

จากรายงาน “ภาวะสังคมไทย ไตรมาส 3 ปี 2563”

โควิด-19 ที่ระบาดตั้งแต่ต้นปี ทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างรุนแรง ประชาชนร้อยละ 54 มีรายได้ลดลง มีการก่อหนี้ทั้งในและนอกระบบเพิ่มขึ้น การว่างงานเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อครอบครัวที่เดิมยากจนอยู่แล้ว และกลุ่มเปราะบาง 1.14 ล้านครัวเรือนเสี่ยงที่จะตกเป็นครัวเรือนยากจน

จึงเกิดความเห็นที่แตกต่างกันเรื่องรับมือการระบาด

ฝ่ายแรกเห็นว่าการป้องกันการระบาดเป็นภารกิจจำเป็นและเร่งด่วนที่สุด การบริหารจัดการจะต้องรักษาสภาวะปลอดจากการติดเชื้อไว้ด้วยความขันแข็งที่สุด ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แม้จะต้องล็อกดาวน์ ปิดประเทศ หรือใช้มาตรการเข้มข้นไม่ให้เกิดการรวมตัวเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน

อีกฝ่ายเห็นว่า ควรเน้นที่ความสามารถในการรับมือ จัดเตรียมระบบสาธารณสุขให้พร้อม จากนั้นดำเนินชีวิตไปโดยไม่ให้โควิดมากำหนดความเป็นไปทั้งหมด

ป้องกันเท่าที่ไม่กระทบต่อเศรษฐกิจจนสร้างความเดือดร้อนรุนแรง มีเครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ ยารักษาไว้เพียงพอ

ประเมินความเข้มข้นผ่านจำนวนผู้ป่วยเทียบกับความพร้อม

เน้นที่การปล่อยให้ระบบเศรษฐกิจดำเนินไปได้ ผู้คนรับมือกับผลกระทบจากปัญหาปากท้องได้

ข้อมูลจากรายงานเรื่องนี้ของสภาพัฒน์พบว่า “ระบบสาธารณสุขของไทย” มีการเตรียมความพร้อมในทรัพยากรทางการแพทย์ด้านต่างๆ เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดไว้ดังนี้

สถานที่กักกันแห่งรัฐ มี 1,049 แห่ง กระจายอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ และสามารถรองรับผู้เข้าพักได้มากกว่า 46,733 คน

การสำรองเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรม มียาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ซึ่งเป็นยาสำคัญตัวหนึ่งที่ใช้ในการรักษา 560,200 เม็ด หน้ากาก N95 จำนวน 2,142,010 ชิ้น ชุด PPE แบบ COVERALL 707,546 ชุด และแบบ Isolation Gown 287,759 ชุด

การเตรียมทีมสอบสวนควบคุมโรค จัดเตรียมไว้ถึงระดับตำบล

รายงานนี้สรุปว่า “จากข้อมูลทรัพยากรสาธารณสุขข้างต้นจะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยว”

โดยยืนยันว่าหากพบผู้ติดเชื้อหรือมีการแพร่ระบาด

ประเทศไทยยังมีเตียงจากห้อง Isolation Room และห้อง AIIR-CU ซึ่งเป็นห้องที่สามารถรองรับผู้ป่วย COVID-19 ได้ถึง 6,707 เตียง

เป็นข้อมูลที่ให้ความเชื่อมั่นได้ว่าเป็นระบบที่สามารถบริหารเศรษฐกิจโดยอยู่รวมกับการระบาดของโควิดได้ในความพร้อมสูง

นั่นหมายถึง หากนำข้อมูลนี้มาเป็นหลักคิดในการบริหารจัดการประเทศ

การอาศัยความพร้อมของระบบสาธารณสุขเพื่อปล่อยให้ระบบเศรษฐกิจทำงานได้น่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสมและแก้ปัญหาโดยรวมของประเทศได้ดีกว่า

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการติดเชื้อลามจากเพื่อนบ้านเข้ามาไทย

ข่าวลือต่างๆกลับกระหึ่ม

โดยมีเหตุผลทางการเมือง ว่าด้วยเรื่อง “สยบม็อบ” เข้ามาเกี่ยวข้อง