คุยกับ “นิธิ เอียวศรีวงศ์” อะไรคือ”ทางออก” ที่เหลืออยู่ของสังคมไทย

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี เป็นผู้บริสุทธิ์ปราศจากมลทินในคดี “บ้านพักหลวง” ขณะที่บนท้องถนน การชุมนุมประท้วงของ “คณะราษฎร” ก็ยังเดินหน้าต่อไป

ทีมข่าวการเมืองมติชนทีวี โฟนอินไปพูดคุยกับ “ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์” ปัญญาชนอาวุโส ถึงสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตของสังคมการเมืองไทย

ดังรายละเอียดต่อไปนี้

อาจารย์นิธิคิดว่าแทบทุกฝ่ายต่างไม่แปลกใจกับผลคำวินิจฉัยข้างต้น

อย่างไรก็ตาม การสร้างชุดเหตุผลมารองรับความชอบธรรมให้นายกฯ โดยอ้างระเบียบของหน่วยงานรัฐระดับกรมขึ้นมาอยู่เหนือรัฐธรรมนูญนั้น ย่อมถูกตั้งคำถามหรือสร้างความอึดอัดใจให้แก่ประชาชนทั่วไปอยู่มากพอสมควร

ในบริบทเช่นนี้ จึงเป็นที่แน่นอนว่าประชาชนกลุ่ม “คณะราษฎร” จะยังเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไป พร้อมข้อเรียกร้องหลัก 3 ประการ เพื่อการปฏิรูปประเทศ

“ผมคิดว่าสื่อมักจะไม่เข้าใจหรือแกล้งไม่เข้าใจอยู่เสมอ คือว่าสามข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ประท้วง จริงๆ แล้ว มันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือคุณแยกออกมาจากกันไม่ได้

“เช่น เป็นต้นว่า ต่อให้คุณประยุทธ์ออกไป คุณคิดว่าคุณประยุทธ์อยู่ได้เพราะว่าคุณประยุทธ์เหรอ? คุณก็รู้อยู่ว่าคุณประยุทธ์อยู่ได้เพราะอะไร? และด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงคิดว่าสามเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่มันจะสามารถแยกจากกันได้”

ขณะเดียวกัน ปัญญาชนอาวุโสมองว่าบทบาทของรัฐสภาได้หมดความหมายลงไปอย่างสิ้นเชิง หลังเสียงส่วนใหญ่ลงมติไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ “ไอลอว์”

และกลไกรัฐสภาจะแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้อีกแล้วในวิกฤตการเมืองระลอกนี้ ตราบใดที่ยังมี 250 ส.ว. ที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน นั่งอยู่ในสภา

เช่นเดียวกับการก่อตั้งคณะกรรมการปรองดองหรือสมานฉันท์ใดๆ ซึ่งก็คงไร้ความหมายในทางการเมืองไม่ต่างกัน

ด้วยเหตุผลที่ว่าคนทุกกลุ่มในสังคมต่างรู้เนื้อหาข้อเรียกร้องทั้งหมดของผู้ประท้วงอย่างกระจ่างแจ้ง แต่ปัญหาสำคัญอยู่ตรงที่ว่าผู้มีอำนาจทั้งหลายจะตอบสนองข้อเรียกร้องดังกล่าวอย่างไร?

นี่เป็นคำถามที่จะถูกโยนไปยังคณะกรรมการปรองดอง-สมานฉันท์ด้วยว่า สุดท้ายแล้ว คุณจะพูดคุยกับใคร? และคุณจะมีอำนาจในการตัดสินใจหรือ “เซย์เยส-โน” ได้ทุกเรื่องหรือไม่?

แม้สังคมไทยจะเริ่มมีความหวังมากขึ้นบ้าง ในการสร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” สำหรับการสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นต่างทางการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับภาวะขัดแย้งในระยะยาว

เช่น การออกมาแสดงทัศนะ-เปิดประเด็นของ “บรรยง พงษ์พานิช” นักธุรกิจอาวุโส

ทว่า ณ ตอนนี้ อาจารย์นิธิยังค่อนข้างเชื่อมั่นว่าปัญหาทางการเมืองที่ก่อตัวขึ้นระลอกล่าสุด จะจบลงด้วยความรุนแรงและการปะทะ

โดยมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ฝ่ายผู้มีอำนาจ

“คือย้อนกลับไปดูในระยะเกือบๆ 100 ปีที่ผ่านมา เราจะพบว่าผู้มีอำนาจจะไม่เคยเปิดพื้นที่ปลอดภัยในการแลกเปลี่ยนพูดคุยกันสักที ในที่สุดแล้วคุณก็จะใช้กำลังทุกที

“แล้วถามว่าจนถึงนาทีนี้ มองเห็นวี่แววบ้างไหมว่าผู้มีอำนาจทั้งหลายจะเรียนรู้บทเรียนที่ผ่านมา? แล้วก็พยายามที่จะหลีกเลี่ยงความรุนแรง ผมคิดว่าไม่พบนะครับ

“คุณยังใช้ความรุนแรง ตอนนี้พยายามใช้ความรุนแรงในรูปแบบ เช่น เป็นต้นว่า จับคนขึ้นศาล จับคนไปตั้งคดีต่างๆ นานาร้อยแปด แต่ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีความรุนแรงนอกแบบ เช่น เป็นต้นว่า สร้างม็อบมาชนกัน”

นักประวัติศาสตร์ชื่อดังคาดการณ์อนาคตด้วยการประมวลข้อมูลจากอดีตและปัจจุบัน

เมื่อถามย้ำว่าสถานการณ์บ้านเมืองในปี 2564 จะเป็นอย่างไร?

แม้อาจารย์นิธิจะยืนยันว่าสังคมไทยอาจหลีกหนี “เหตุนองเลือด” อันเป็นวงจรอุบาทว์ที่เกิดขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าไปไม่พ้น แต่ก็ยังแอบคาดหวังถึงความเป็นไปได้ที่ย่ำแย่น้อยกว่านั้น

“จริงๆ แล้ว ผมเคยหวังว่า คนก็ยังหวังกันอยู่แยะว่า ชนชั้นนำในประเทศไทยจะยอมเปิดให้มันมีพื้นที่ปลอดภัย แล้วก็หันไปใช้วิธีอื่น

“คืออย่างนี้ ในระบอบประชาธิปไตย อย่าไปนึกว่าประชาชนมีอำนาจเท่าเทียมกันหมด ไม่มีที่ไหนหรอก ไม่จริงหรอก เป็นแต่เพียงว่าผู้มีอำนาจแทนที่จะใช้ความรุนแรง มันเลี่ยงไปใช้วิธีอื่นแทน…

“ในที่สุดแล้ว ยังไงๆ กลุ่มผู้ที่ได้เปรียบในสังคมก็ยังสามารถรักษาความได้เปรียบของตนเอาไว้ต่อไปได้ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เป็นแต่เพียงมันจะไม่โจ่งแจ้ง น่าเกลียด อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเท่านั้นเอง”

นี่คือการพยายามมองโลกในแง่ดีของ “ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์”