รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เข้าข่ายระบอบอำนาจนิยมหรือไม่? (5) : ยุคนอมินีที่สอง

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

ตอนก่อนๆ ผู้เขียนได้เขียนถึงประเด็น “รัฐบาลทักษิณเข้าข่ายระบอบอำนาจนิยมหรือไม่?” ไปแล้ว

มาคราวนี้ ถึงตารัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่าเป็นเข้าข่ายระบอบอำนาจนิยมหรือเปล่า?

ก่อนที่จะวิเคราะห์ว่าเข้าข่ายหรือไม่

จะขอย้ำถึงนิยามหรือกรอบความหมายของระบอบ “อำนาจนิยม” อีกครั้ง

กรอบที่ผู้เขียนใช้วิเคราะห์เป็นเกณฑ์ระบอบอำนาจนิยมตามเกณฑ์อำนาจนิยมและอำนาจนิยมอำพราง (authoritarianism และ stealth authoritarianism) ของ Ozan O. Varol เงื่อนไขสำคัญของระบอบอำนาจนิยมตามที่ Varol ได้วางไว้ นั่นคือ รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญหรือเปิดโอกาสรับฟังความเห็นต่างและความหลากหลายทางการเมือง (political pluralism) และรัฐบาลหรือพรรคที่ปกครองประเทศมักจะกระทำการอย่างมุ่งมั่นชัดเจนที่จะกดหรือบีบฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองไว้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ มุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดการเมืองที่อยู่ภายใต้รัฐบาลพรรคเดียว โดยใช้วิธีการต่างๆ ที่จะกดหรือปิดกั้นพรรคฝ่ายค้านหรือพรรคอื่นๆ และการกระทำดังกล่าวนี้ของรัฐบาลในระบอบอำนาจนิยมมักจะเกิดขึ้นโดยอาศัยวิธีการผ่านช่องทางตามกฎหมายหรือเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้ (extra-legal) และการใช้อำนาจนั้น แม้ว่าจะไม่ถึงขนาดตามอำเภอใจคาดการณ์ไม่ได้เหมือนอย่างในระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ แต่ก็มักจะไม่มีบรรทัดฐานที่ชัดเจน (ill-defined norms) แต่กระนั้นก็เป็นการใช้อำนาจที่พอคาดการณ์ได้

 

ตามคำอธิบายของ Juan J. Linz ใน Totalitarian and Authoritarian Regimes หน้า 162 ได้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (totalitarian) กับระบอบอำนาจนิยม (authoritarian)

โดยระบอบเบ็ดเสร็จขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์ (ideology)

ในขณะที่ระบอบอำนาจนิยมขับเคลื่อนโดยทัศนคติหรือวิธีคิด (mentality) และ Zargorka Golubovic ได้ขยายความความหมายของ “authoritarian mentality” ไว้ใน “Traditionalism and Authoritarianism as Obstacles to the Development of Civil Society in Serbia,” in Civil Society in Southeast Europe หน้า 92 ว่า ทัศนคติหรือวิธีคิดแบบอำนาจนิยม (authoritarian mentality) ปรากฏหรือแสดงออกในลักษณะของการยอมรับและเชื่อฟังอำนาจโดยไม่พินิจพิเคราะห์ (uncritical)

การเชื่อฟังอำนาจที่ว่านี้ เริ่มต้นจากการเชื่อฟังอำนาจของผู้นำพรรคและพรรคของรัฐ ต่อมาคือการยอมรับและเชื่อฟังอย่างผู้นำรัฐและรัฐชาติอย่างไม่พินิจพิเคราะห์

หลังจากคุณสมัครไม่ได้ต่อสัญญาสัมปทานเป็นนายกรัฐมนตรีนอมินีหรือร่างทรงให้คุณทักษิณ คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ สามีคุณเยาวภา ก็ได้รับช่วงสัมปทานนายกรัฐมนตรีร่างทรงคนต่อไป เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2551

คุณสมชายถือเป็นร่างทรงคุณทักษิณที่ชัดเจนและน่าจะรับคำสั่งอย่างเชื่อฟังยิ่งกว่าคุณสมัคร

เมื่อเป็นอย่างนี้ก็เข้าทางกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จากการที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ได้ออกมาชุมนุมคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2551 และก็ยังคงปักหลักชุมนุมยืดเยื้อต่อไปโดยพุ่งเป้าไปที่การไม่ยอมรับการเป็น “นายกฯ นอมินี” ของคุณสมชาย

เพราะก่อนหน้าที่คุณสมชายจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี กลุ่มพันธมิตรฯ ได้เคลื่อนมวลชนเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 26 สิงหาคม และประกาศปักหลักยึดทำเนียบรัฐบาลจนกว่ารัฐบาลคุณสมัครทั้งคณะจะลาออก

แต่หลังจากที่คุณสมัครพ้นจากตำแหน่งและคุณสมชายได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี กลุ่มพันธมิตรฯ ก็ยังปักหลักต่อต้านรัฐบาลคุณสมชายต่อไป

“สถานการณ์มีทีท่าบานปลายขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดการนองเลือด เนื่องมาจากการสลายการชุมนุมของรัฐบาลในช่วงวันที่ 6-7 ตุลาคม 2551 เมื่อพันธมิตรฯ เคลื่อนพลเข้าปิดล้อมรัฐสภา…เพื่อปิดทางสมาชิกรัฐสภาเข้าฟังนายกรัฐมนตรีแถลงนโยบาย…เป็นเหตุให้พันธมิตรฯ เสียชีวิต 2 ราย และได้รับบาดเจ็บรวม 471 ราย”

กลายเป็นคดีที่ยืดเยื้ออยู่ใน ป.ป.ช. มาจนทุกวันนี้

 

“ภายหลังเหตุการณ์การสลายการชุมนุมในวันที่ 6-7 ตุลาคม หลายๆ ฝ่ายต่างพยายามหาทางออกให้แก่สังคม รวมทั้งผู้นำกองทัพ

โดยเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2551 ผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งหมด…ได้ร่วมกันออกอากาศ…ทางช่อง 3…โดยเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกและแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งการที่ผู้นำเหล่าทัพทั้งหมดได้พร้อมใจกันออกรายการโทรทัศน์เรียกร้องให้รัฐบาลลาออกครั้งนี้ ไม่เคยมีปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

จึงมีผู้เรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า เป็น “การปฏิวัติผ่านหน้าจอ”” แต่คุณสมชายก็ยังคงยืนหยัดอยู่ต่อไป ทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ ยกระดับมาตรการกดดันรัฐบาล

โดยในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2551 ได้ปฏิบัติการยึดสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง ซึ่งก็กลายเป็นคดียืดเยื้อมาจนทุกวันนี้อีกเช่นกัน

แต่การชุมนุมยืดเยื้อของพันธมิตรฯ ก็ไม่สามารถกดดันให้รัฐบาลคุณสมชายลาออกได้ แต่ที่ทำให้รัฐบาลของคุณสมชาย จำต้องยุติบทบาทของตัวเองลง เพราะมาจากอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่ได้ตัดสินยุบพรรคพลังประชาชนในวันที่ 2 ธันวาคม 2551

โดยคดีสืบเนื่องมาจากวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551 คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติด้วยเสียงข้างมากให้ใบแดง คุณยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน เนื่องจากพบว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งที่จังหวัดเชียงราย และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย

รวมทั้งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งต่อกรรมการบริหารพรรคมีกำหนด 5 ปี

 

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยข้างต้น สมาชิกพรรคชาติไทยได้ไปก่อตั้งพรรคชาติไทยพัฒนา ส่วนพรรคพลังประชาชนส่วนหนึ่งไปตั้งพรรคเพื่อไทย และส่วนหนึ่งคือกลุ่มเพื่อนเนวินกับพลพรรคมัชฌิมาธิปไตยตั้งพรรคภูมิใจไทย

ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญคือการพลิกขั้วทางการเมือง

โดยพรรคร่วมได้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์และสนับสนุนให้ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

โดยตัวแปรที่สำคัญในการเปลี่ยนขั้วในครั้งนี้คือกลุ่มเพื่อนเนวินที่ยังเจ็บแค้นเมื่อครั้งศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ คุณสมัคร สุนทรเวช จำต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แก๊งออฟโฟร์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ คุณเนวิน ชิดชอบ หัวหน้ากลุ่มเพื่อนเนวิน ได้พยายามดันคุณสมัครให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกรอบ

แต่ความพยายามดังกล่าวต้องสูญเปล่าเมื่อเจ้าของพรรคตัวจริงได้เคาะไปแล้วว่าต้องการให้ คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งเป็นบุคคลที่คุณทักษิณสามารถควบคุมได้ มานั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้กลุ่มเพื่อนเนวินไม่พอใจเป็นอย่างมาก กระแสความไม่พอใจคุณทักษิณ ที่ไม่สนับสนุนคุณสมัครให้นั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ทำให้กลุ่มเพื่อนเนวินออกมาตั้งพรรคภูมิใจไทย และสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์

 

แต่ปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาดในช่วงของการเสนอชื่อผู้เป็นนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้คือ พรรคเพื่อไทยในฐานะที่เป็นพรรคที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกลับไม่ยอมเสนอชื่อสนับสนุนหัวหน้าพรรคของตนเอง (นั่นคือ คุณยงยุทธ วิชัยดิษฐ) หรือบุคคลในพรรคของตนเพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่พรรคเพื่อไทยกลับเสนอชื่อสนับสนุน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดินชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

และในที่สุด คะแนนเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกคุณอภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 17 ธันวาคม 2551

และได้เกิดกระแสโจมตีการที่คุณอภิสิทธิ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีว่าเป็น “การจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร”!