ทำไมต้อง “บิ๊กป้อม”

เสียงระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ถือเป็นการวางระเบิดที่เลวร้ายที่สุดในเมืองไทย

ไม่ใช่ระดับ “ความรุนแรง”

แต่เป็น “เป้าหมาย” หรือ “ตำแหน่ง” ของการวางระเบิดครั้งนี้

เป็นที่รู้กันว่า “โรงพยาบาล” ถือเป็นจุดที่ปลอดภัยที่สุดของการก่อการร้ายหรือแม้แต่ในสงคราม

เพราะทุกฝ่ายไม่ว่าจะขัดแย้งกันรุนแรงแค่ไหนก็จะละเว้น “โรงพยาบาล” ไว้

แต่ครั้งนี้ “ผู้ก่อการ” ตั้งใจที่จะวางระเบิดที่มี “ตะปู” เป็นสะเก็ดระเบิดในโรงพยาบาล

เป็น “ระเบิด” สังหาร

ไม่ใช่ “ระเบิดการเมือง” ที่เกิดขึ้นที่โรงละครแห่งชาติและกองสลากฯ เก่า

นี่คือความเลวร้ายของ “ผู้ก่อการ” ที่ให้อภัยไม่ได้เลย

ประเด็นที่น่าสนใจของการวางระเบิดครั้งนี้

นอกจากการเลือกใช้ “ระเบิดสังหาร” แล้ว

การเลือกโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งเป็นโรงพยาบาลของทหารยังเป็นการส่งสัญญาณทางการเมืองที่เด่นชัด

เพราะเป็นการลงมือถึงในบ้าน

เป้าหมายจึงไม่ใช่แค่ “รัฐบาล”

แต่ทะลุทะลวงไปถึง “คสช.”

ที่สำคัญที่สุดก็คือการเลือกวางแจกันระเบิดที่ “ห้องวงษ์สุวรรณ” ซึ่งตั้งชื่อตามนามสกุลของ พล.อ.ประวิตร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ทำให้มีการมองว่าเป็นการวางระเบิดเชิงสัญลักษณ์

เพราะในโรงพยาบาลนี้ยังมีห้อง “ยงใจยุทธ” ที่ตั้งขึ้นตามนามสกุลของ พล.อ.ชวลิต ซึ่งอยู่ติดกับห้อง “วงษ์สุวรรณ”

และที่หลายคนไม่รู้ก็คือ ในโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ ไม่ใช่มีแต่เพียง 2 ห้องนี้ที่ตั้งตามนามสกุลของอดีตผู้บัญชาการทหารบก

แต่ยังมีอีกห้องหนึ่ง

เป็นห้องรับรองของนายทหารชั้นผู้ใหญ่

ชื่อว่าห้องรับรองพิเศษ “ติณสูลานนท์”

มีรูปของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี พร้อมกับคำขวัญประจำตัวติดอยู่ที่ผนังห้อง

“เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน”

คำถามจึงอยู่ที่ว่า ทำไม “ผู้ก่อการ” ไม่วางแจกันระเบิดที่ห้องนี้

หรือห้อง “ยงใจยุทธ”

แต่กลับเลือกที่ห้อง “วงษ์สุวรรณ”

ทำไม?