ตัว “เหรา” มาจากไหน?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

อยู่ๆ บรรดาสัตว์มหัศจรรย์ในจักรวาลสิงสาราสัตว์ประหลาดของไทยก็กลายมาเป็นที่นิยมในโซเชียลมีเดียสารพัดชนิด

และหนึ่งในบรรดาสัตว์มหัศจรรย์เหล่านั้น มีอยู่คู่หนึ่งที่มีถิ่นที่อยู่อยู่ที่วัดชัยภูมิการาม หรือวัดกลาง อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเรียกกันว่าตัว “เหรา”

ตามนิทานท้องถิ่นของวัดกลางนั้นเชื่อกันว่า เจ้าเหรานั้นเป็นตัวกินพญานาค เพราะมันโกรธที่พญานาคอุปสมบทได้ แต่เหราทำไม่ได้

ดังนั้น มันจึงแก้แค้นด้วยการจับพญานาคกินมันทุกครั้งที่เห็นเสียเลย

แต่เอาเข้าจริงแล้ว เจ้าสัตว์มหัศจรรย์ที่เรียกว่า เหรานี้ไม่ได้มีมาจากจักรวาลของสัตว์มหัศจรรย์ในอินเดีย เหมือนกับนาค, ครุฑ, กินรี หรือสัตว์หิมพานต์ชนิดอื่นๆ หรอกนะครับ

ประวัติที่ว่านี้จึงเป็นเรื่องเล่าเฉพาะในถิ่น ดังนั้น ถ้าไปถามคนอินเดีย สัตว์ที่จะกินพญานาคก็มีแต่ครุฑเท่านั้นแหละ พ่อพราหมณ์เขาไม่มีรู้จักตัวเหรากันหรอก

ที่สำคัญก็คือ เรายังเหลือหลักฐานความเชื่อเกี่ยวกับ “เหรา” ว่าคนโบราณในกรุงศรีอยุธยาเขาคิดว่าตัวเหรานั้นคืออะไรอยู่ด้วย

ในบทมโหรีสมัยอยุธยา มีเพลงที่ชื่อ “เหรา” (อ่านว่า เห-รา และนี่ก็คือสัตว์มหัศจรรย์ ที่มีถิ่นที่อยู่ค่อนข้างคลุมเครือว่ามาจากจักรวาลอินเดีย หรือเป็นสปีชีส์ใหม่ที่พี่ไทยจับทำ GMO ขึ้นแถวๆ แม่น้ำเจ้าพระยา) ซึ่งมีเนื้อร้องลำดับแสดงถึงความเกี่ยวข้องของสัตว์ในปรัมปราคติ จากคนละอารยธรรมกันเลยเหล่านี้ว่า

“เจ้าเหราเอย รักแก้วข้าเอยเหรา บิดานั้นนาคา มารดานั้นเปนมังกร มีตีนทั้งสี่ หน้ามีทั้งครีบทั้งหงอน เปนทั้งนาคทั้งมังกร เรียกชื่อว่าเหราเอย”

 

จากหลักฐานที่เก่าแก่กว่า (ถึงจะเป็นคนละสถานที่ จึงอาจจะเป็นคนละชุดความเชื่อก็เถอะ) ตัวเหรานั้นจึงมีลักษณะที่ผสมปนเปกันมาจากอะไรที่คล้ายๆ กันอย่าง “นาค” จากอินเดีย และ “มังกร” จากจีน ซึ่งก็คงทำเอาคนในยุคโน้นมึนๆ กันจนจับมาผสมเป็นเจ้าเหรานี่แหละ

ในวัฒนธรรมล้านนาและล้านช้าง มีคำเรียก “พญานาค” อีกอย่างหนึ่งว่า “ลวง” ซึ่งก็พออนุโลมเรียกได้ว่าหมายถึงงูใหญ่ตัวเดียวกัน แต่จะว่าไปแล้ว การที่พวกลาวทั้งสองกลุ่มนี้มีคำเรียกชื่อเจ้างูใหญ่ที่ว่าถึง 2 ชื่อ ก็มีที่มา ที่ไป ซึ่งแตกต่างกันไปอยู่เหมือนกันนะครับ

“นาค” คืองูใหญ่ของ “อินเดีย” ที่พวกล้านนา-ล้านช้างรับเอามาพร้อมกับคติในศาสนาพุทธ และพราหมณ์-ฮินดู พร้อมกับอะไรอื่นอีกหลายๆ อย่าง แล้วก็เรียกว่า “นาค” ทับศัพท์กันง่ายๆ ตามคำในภาษาบาลี-สันสกฤต

แต่นาคจากอินเดียนั้นเป็นงูจริงๆ ถึงจะมีอะไรพิเศษจากงูธรรมดา เช่น อาจจะมีหงอน หรืออิทธิฤทธิ์ต่างๆ แต่อย่างน้อยก็ไม่มี “ขา” แน่

อีกหนึ่งอารยธรรมใหญ่ของโลกอย่าง “จีน” ก็มีงูใหญ่ ซึ่งมีชื่อเรียกในสำเนียงจีนแมนดารินว่า “หลง” (หรือ “เล้ง” ในสำเนียงของพวกจีนแต้จิ๋ว) พวกลาวไม่ว่าจะเป็นล้านช้างหรือล้านนาในสมัยก่อนใกล้ชิดกับจีน ก็เอา “หลง” มาจับใส่ไว้เป็นสัตว์ในปรัมปราคติของตัวเองด้วย แต่เรียกด้วยสำเนียงลาวว่า “ลวง”

แต่ว่า “หลง” หรืองูใหญ่ตามความเชื่อของจีนเขามี “ขา” ไม่เหมือนนาคของพวกแขก แถมอะไรที่ติดอยู่ตรงขางูใหญ่ของพวกเขานี่แหละที่เป็นอวัยวะสำคัญ เพราะใช้ลำดับยศ หรือความสำคัญจากจำนวน “เล็บ”

ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ เครื่องแต่งกายหรืออะไรก็แล้วแต่ ที่ประดับด้วยรูปมังกร 5 เล็บ อันเป็นลำดับชั้นสูงสุดของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าหลงตามคติจีน จะเป็นสมบัติเฉพาะของพระจักรพรรดิจีนเท่านั้น ดังนั้นใครจะนำไปใช้ซี้ซั้วไม่ได้ (แต่ถ้าจะมีใครที่กล้าซี้ซั้วก็คงจะมีต้องหัวกุดกันบ้าง ไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง)

ส่วนใครที่มีลำดับยศรองลงมาก็อาจจะใช้เสื้อผ้าลวดลายของหลง 4 เล็บ เป็นต้น

เอาเข้าจริงแล้ว ทั้ง “นาค” และ “ลวง” จึงไม่ใช่สัตว์ในปรัมปราคติชนิดเดียวกันเสียทีเดียว มาจากถิ่นที่อยู่ของคนละแหล่งอารยธรรมกันเลยอีกต่างหาก แต่ใครในยุคโน้นกันเล่าครับจะมัวมาสนใจและทำการลำดับสปีชีส์ให้วุ่นวายนัก จะมีขา ไม่มีตีน อย่างไรก็เรียกรวมๆ สลับกันได้หมดไม่ว่าจะพญานาค หรือตัวลวง

แต่คนลุ่มน้ำเจ้าพระยาและปริมณฑลที่อยู่ทางใต้ของล้านนาและล้านช้างไม่ได้คิดอย่างนั้น

พวกเขารู้จักทั้งพญานาคจากอินเดีย พอๆ กับที่รู้ว่าเจ้าตัวหลงนั้นมาจากจีน จึงไม่เหมือนกับพญานาคเสียทีเดียว

พวกเขาจึงพยายามเรียกสัตว์มหัศจรรย์ทั้งสองชนิดดังกล่าวให้แตกต่างไปจากกัน ซึ่งก็ทำได้เกือบจะดีนะครับ แต่ก็กลับมีข้อผิดพลาดอยู่นั่นเอง เพราะว่าไปอธิบายโดยใช้ความรู้จากจักรวาลในปรัมปราคติของอินเดียไปเรียกเจ้าหลง ที่มาจากจีนมันเสียอย่างนั้น

ว่าแล้วบรรดาต้นตระกูลไทยสยามของเราก็ไปเอาสัตว์ผสมของอินเดียอีกชนิดหนึ่ง ที่ก็มีเกล็ดคล้ายๆ งูเหมือนกันมาคือ “มกร” (ในสำเนียงซาวด์แทร็กของชมพูทวีปออกเสียงว่า มะ-กะ-ระ) มาใช้เรียก “หลง” หรืองูใหญ่ตามจักรวาลในปรัมปราคติของจีน (ทั้งๆ ที่เรียกทับศัพท์ว่าหลงตามอย่างจีนไปเสียก็จบ)

จนทำให้เกิดความสับสนตามมาอีกหลายเรื่องเลยทีเดียว

 

คําว่า “มกร” ในภาษาสันสกฤต แปลตรงตัวได้ว่า “ผู้สำรอก” ตามจักรวาลของสัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่จากอินเดีย จึงเป็นสัตว์ในปรัมปราคติที่มีลักษณะพิเศษอยู่ประการหนึ่งก็คือ จะอ้าปากจนขากรรไกรค้างอยู่เสมอ เพื่อจะคอยสำรอก “ความอุดมสมบูรณ์” ต่างๆ ออกมานั่นเอง

ตามระบบสัญลักษณ์โบราณโดยทั่วไปนั้น “ความอุดมสมบูรณ์” มักจะแสดงแทนด้วยอะไรๆ ที่เกี่ยวกับ “น้ำ”

ดังนั้น ไอ้เจ้า “มกร” ที่จริงแล้วจึงมีรูปร่างหน้าตาไม่ต่างไปจากการเอาตัวอะไรที่อยู่ในน้ำมาโขลกๆ ให้ผสมเป็นตัวเดียวกัน จะเป็นจระเข้ ปลา งู พันธุ์ไม้น้ำ หรือแม้กระทั่งช้าง ก็ไม่ผิด

ที่จริงแล้วในจักรวาลของอินเดีย ช้างเป็นสัตว์ที่ให้ “น้ำ” หรือ “ความอุดมสมบูรณ์” มาก่อนงูใหญ่เสียอีกนะครับ

ในคัมภีร์ที่เก่าที่สุดของพวกพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งก็เป็นคัมภีร์ของศาสนาบรรพบุรุษของพราหมณ์-ฮินดูด้วยคือคัมภีร์ฤคเวท อันเป็นคัมภีร์เล่มแรก และเก่าที่สุดในชุดคัมภีร์พระเวททั้ง 4 เล่ม ที่แต่งขึ้นเมื่อ 3,500 ปีที่แล้ว คำว่า “นาค” หมายถึง “ช้าง” เสมอ ส่วน “งูใหญ่” นั้น ฤคเวทจะเรียกว่า “อหิ” มาก่อน

โดยปราชญ์ทางด้านภาษาสันสกฤตโบราณอธิบายว่า คนที่แต่งคัมภีร์พวกนี้เปรียบเทียบสีของ “ช้าง” ว่า หมือนกับสีของ “เมฆ” ที่ตั้งเค้าฝน

คำว่า “นาค” เพิ่งจะหมายถึง “งูใหญ่” อย่างที่เราเข้าใจกันก็ได้ด้วยในคัมภีร์อื่นในชุดคัมภีร์พระเวท ซึ่งแต่งขึ้นทีหลัง ไม่ว่าจะเป็นยชุรเวท สามเวท หรืออาถรรพเวท ในปัจจุบันเรายังใช้คำว่านาค ในความหมายที่หมายถึงได้ทั้งที่แปลว่า งูใหญ่ และช้างนั่นเอง

ดังนั้น ถ้าคนโบราณ โดยเฉพาะในอินเดีย ท่านจะทำรูปเจ้าสัตว์ผสมที่เรียกว่า “มกร” ให้มีหัวเป็นช้างอยู่บ่อยๆ ก็ไม่แปลกหรอกนะครับ เพราะก็เป็นสัตว์ที่ให้น้ำหรือความอุดมสมบูรณ์เหมือนกัน

แต่การที่เจ้ามกรนั้นก็คือ การนำเอาตัวอะไรก็ได้ที่เกี่ยวข้องอยู่กับน้ำ มามิกซ์แอนด์แมตช์กันอย่างนี้ ก็ทำให้ภายหลังหน้าตาของมกร มักมีปากยื่นออกมาอย่างเดียวกับจระเข้ และก็มีขาน้อยๆ โผล่ออกมา จนดูคลับคล้ายกับตัวหลงด้วย

คนลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็เลยพากันเรียก “หลง” ของจีนด้วยอารมณ์ราวกับพลัดหลงเข้าไปในจักรวาลของสัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่แบบอินเดียมันเสียอย่างนั้น แถมยังเรียกด้วยสำเนียงไทยๆ ว่า “มังกร” ไม่ใช่ “มะ-กะ-ระ” อย่างสำเนียงซาวด์แทร็ก ให้ยิ่งหลงทางหนักกันเข้าไปใหญ่

 

ว่ากันว่า ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล (ล่วงลับ) ผู้บุตรคนสุดท้องของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็เรียกมกร โดยใช้คำว่าเหรา สลับไขว้แทนกันอยู่หลายครั้ง

ม.จ.สุภัทรดิศ หรือที่ใครหลายคนมักจะเรียกกันว่า “ท่านสุภัทรฯ” หรือ “ท่านอาจารย์” นั้นแทบจะนับได้ว่าเป็น “บิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะไทย” สำหรับใครหลายคนเลยนะครับ

และวิชาที่ว่านี่ก็ต้องศึกษาถึงรายละเอียดของลวดลายต่างๆ ซึ่งต้องจำแนกอย่างละเอียดลออว่า นี่มกร โน่นนาค ไอ้นั่นมังกร เพื่อสืบสาวถึงอิทธิพลต่างๆ ที่โผล่เข้ามาในชิ้นงานศิลปะอยู่เสมอ แต่ในขณะเดียวท่านก็มีเชื้อ มีสายตระกูล จนนับได้ว่าเป็น “เจ้า” ที่มักจะมีชุดความรู้แบบโบราณสืบเนื่องต่อมาอีกด้วย

ดังนั้น การที่ท่านสุภัทรฯ เรียกตัวเหราสลับกับมกรอยู่เนืองๆ ก็แสดงให้เห็นถึงร่องรอยเชื่อมต่อระหว่าง “มกร” กับ “หลง” ด้วยสิ่งมีชีวิตในปรัมปราคติอีกตัวหนึ่งที่ชื่อว่า “เหรา” อีกด้วย

ตัวเหรา (หรือน้องเหราของใครหลายๆ คน) ที่วัดกลาง ถึงจะมีรูปร่างหน้าตาชวนให้นึกถึงโปเกม่อน จนทำให้เด็กวัยรุ่นแถวๆ นั้นเรียกวัดกลางว่าวัดโปเกม่อนไปแล้ว แต่ที่จริงแล้วเป็นสัตว์ผสมที่เกิดขึ้นใหม่ในอุษาคเนย์ เพราะการติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอกทั้งจีน อินเดีย และรวมถึงพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของโลกนั่นเอง