วรศักดิ์ มหัทธโนบล : วิถีชีวิตชาวจีนโพ้นทะเลในไทยและมรดกจากยุคสงครามเย็น

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

จีนอพยพใหม่ในไทย (10)
ชาวจีนภายใต้สถานการณ์โลกสองกระแส

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง มหาอำนาจเดิมอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนีมีอิทธิพลที่ลดลง ส่วนมหาอำนาจใหม่ที่เข้ามาแทนที่คือ สหรัฐ และรัสเซียหรือสหภาพโซเวียตในขณะนั้น และด้วยเหตุที่มหาอำนาจใหม่ทั้งสองมีอุดมการณ์และผลประโยชน์ที่ต่างกัน

การเผชิญหน้าของมหาอำนาจทั้งสองจึงเกิดขึ้น

และทำให้ทั้งสองต้องมีรัฐบริวารมาเป็นฝักฝ่ายของตนเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง หลังจากนั้นรัฐบริวารของทั้งสองก็ทำศึกกันในบางภูมิภาค เพื่อครองพื้นที่ทางอุดมการณ์และผลประโยชน์ให้ได้มากที่สุด เวลานั้นภูมิภาคที่ตึงเครียดจากการศึกที่ว่าภูมิภาคหนึ่งคือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดินแดนที่มีจีนโพ้นทะเลมากที่สุดในโลก

สถานการณ์โลกในยุคนี้เรียกว่า ยุคสงครามเย็น (Cold War era)

ยุคสงครามเย็นครอบงำโลกยาวนานตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงใน ค.ศ.1945 จนถึงเมื่อรัฐสังคมนิยมและสหภาพโซเวียตล่มสลายในปลายทศวรรษ 1980 ต่อต้นทศวรรษ 1990 ยุคสงครามเย็นจึงยุติลง

ชัยชนะของฝ่ายทุนนิยมที่มีสหรัฐเป็นผู้นำทำให้เศรษฐกิจเสรีนิยมกลายเป็นกระแสที่แผ่ไปทั่วโลก โลกที่เคยแบ่งขั้วทุนนิยมกับสังคมนิยมจึงไม่มีอีกต่อไป และทำให้การติดต่อระหว่างกันของรัฐต่างๆ เป็นไปโดยไม่มีอุดมการณ์มาขวางกั้นดังยุคสงครามเย็น

โลกจึงดูเสมือนหนึ่งไร้พรมแดนที่ใครต่อใครสามารถเข้าถึงกันได้ง่าย ยิ่งเมื่อเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีโทรคมนาคมก้าวหน้ามากขึ้นด้วยแล้ว การค้าการลงทุนและการติดต่อสื่อสารระหว่างกันของชุมชนระหว่างประเทศก็ยิ่งแคบลงและเร็วขึ้น

โลกในยุคนี้จึงเรียกกันว่า ยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization era)

 

ตอนที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดอำนาจการปกครองบนแผ่นดินใหญ่ได้ใน ค.ศ.1949 นั้น โลกเพิ่งเข้าสู่ยุคสงครามเย็นได้ไม่กี่ปี เวลานั้นจีนอยู่ข้างฝ่ายสังคมนิยมที่มีรัสเซียเป็นผู้นำ แม้เมื่อความสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซียขาดสะบั้นลงในอีกสิบปีต่อมา จีนก็ยังคงจัดตัวเองอยู่ในฝ่ายสังคมนิยมเช่นเดิม

จีนจึงมีศัตรูทางอุดมการณ์และผลประโยชน์คือสหรัฐกับรัสเซีย

แต่หลังจากที่จีนเข้าสู่ยุคปฏิรูปใน ค.ศ.1978 ไปแล้ว ความสัมพันธ์ของจีนกับมหาอำนาจทั้งสองก็ค่อยๆ เข้าสู่ภาวะปกติ และดำรงเช่นนี้เรื่อยมาแม้ในยุคโลกาภิวัตน์

จากเหตุนี้ นโยบายของจีนในยุคสงครามเย็นและยุคโลกาภิวัตน์จึงย่อมมีผลต่อทัศนคติของชาวจีน ว่าตลอดทั้งสองยุคดังกล่าวชาวจีนมีความเข้าใจและมองสังคมโลกอย่างไร ทัศนคติเช่นนี้ย่อมติดอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของชาวจีนที่ไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในต่างแดนด้วย

การทำความเข้าใจจีนในช่วงที่อยู่ภายใต้สถานการณ์ทั้งสองยุคนี้จึงมีผลต่อความเข้าใจชาวจีนไปด้วย การกล่าวถึงสถานการณ์โลกในสองยุคนี้จะเป็นไปเพื่อความเข้าใจชาวจีนในแง่ที่ว่า เวลานั้นชาวจีนได้เรียนรู้หรือรู้จักโลกภายนอกจากสองยุคที่ว่าอย่างไร

และการเรียนรู้หรือรู้จักนั้นทำให้ชาวจีนมีความรู้สึกนึกคิดเช่นไร

 

จีนในยุคสงครามเย็น

หลังจากที่จีนปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ใน ค.ศ.1949 แล้ว ระบอบนี้ได้ป่าวประกาศว่าจีนมีใครเป็นศัตรูและมีใครเป็นมิตรบ้าง ศัตรูของจีนในเวลานั้นโดยหลักแล้วคือสหรัฐ รองลงมาคือรัฐเสรีทุนนิยมในยุโรป

ส่วนรัฐกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาที่เป็นรัฐเสรีทุนนิยมเช่นกันจีนไม่นับเป็นศัตรู ด้วยเห็นว่ารัฐเหล่านี้ตกเป็นเบี้ยล่างของรัฐที่พัฒนาแล้ว จีนจึงมีนโยบายที่จะผูกมิตรกับรัฐเหล่านี้ เว้นเสียแต่ว่ารัฐเหล่านี้ปฏิเสธด้วยเห็นว่าจีนเป็นศัตรูทางอุดมการณ์

การที่จีนเห็นว่ารัฐกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาเป็นเบี้ยล่างของรัฐที่พัฒนาแล้วนี้ก็หมายความว่า รัฐเหล่านี้ถูกกดขี่ขูดรีดจากพวกจักรวรรดินิยม ในแง่นี้จึงเท่ากับว่ารัฐเหล่านี้เป็นทั้งมิตรและแนวร่วมของจีน ด้วยก่อน ค.ศ.1949 จีนถือว่าตนก็ถูกกดขี่ขูดรีดจากจักรวรรดินิยมเช่นกัน

จากเหตุนี้ หลัง ค.ศ.1949 จีนจึงมีนโยบายสนับสนุนการต่อต้านและต่อสู้กับจักรวรรดินิยมอย่างเปิดเผย

จากทัศนะดังกล่าวของจีนได้ส่งผลในทางความคิดและทางการปฏิบัติของจีนสองเรื่อง เรื่องแรกคือ จีนไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีสามโลกของตะวันตก ที่แบ่งให้โลกที่หนึ่งคือโลกทุนนิยมโดยมีสหรัฐเป็นผู้นำ โลกที่สองคือโลกสังคมนิยมโดยมีรัสเซียเป็นผู้นำ และโลกที่สามคือบรรดาประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาทั้งหลาย และเป็นโลกที่โลกที่หนึ่งและสองจะแย่งชิงมาเป็นพวกของตน

ที่จีนไม่เห็นด้วยกับการแบ่งโลกเช่นนี้ก็เพราะในความคิดของจีนนั้นเห็นว่า โลกที่หนึ่งคือโลกของมหาอำนาจจักรวรรดินิยมที่มีสหรัฐ และรัสเซียเป็นผู้นำ

ส่วนโลกที่สองคือประเทศทุนนิยมในยุโรปตะวันตกและสังคมนิยมในยุโรปตะวันออก ซึ่งจีนเห็นว่าแม้ประเทศเหล่านี้จะมีความเจริญก้าวหน้าก็จริง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ตกเป็นเบี้ยล่างของโลกที่หนึ่งหรือสหรัฐ และรัสเซีย ในด้านนี้จึงทำให้ประเทศเหล่านี้มีสภาพที่ไม่ต่างกับประเทศโลกที่สาม

ซึ่งในความคิดของจีนโลกที่สามก็คือประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนา

โลกที่สามในความคิดของจีนจึงไม่ต่างกับการแบ่งโลกของตะวันตก แต่ที่ต่างกันคือ จีนเห็นว่าโลกที่สามคือโลกที่ถูกกดขี่ขูดรีด และจีนก็จัดให้ตัวเองอยู่ในโลกนี้

ด้วยเหตุนี้ จีนจึงสนับสนุนให้โลกที่สามต่อต้านและต่อสู้กับโลกที่หนึ่งโดยมีโลกที่สองเป็นแนวร่วม การสนับสนุนนี้เองที่ส่งผลให้จีนได้แสดงออกในทางปฏิบัติ

 

การที่จีนมีความคิดต่อทฤษฎีสามโลกแตกต่างไปจากตะวันตกดังกล่าว ได้ส่งผลทางการปฏิบัติให้แก่จีนด้วย นั่นคือ ทำให้จีนในเวลานั้นมีนโยบายให้การสนับสนุนประเทศโลกที่สามที่ถูกกดขี่ขูดรีด ให้ต่อต้านหรือต่อสู้กับจักรวรรดินิยมที่ครอบงำหรือครอบครองประเทศตัวเอง

และกับชนชั้นปกครองที่รับใช้จักรพรรดินิยมและปกครองประชาชนของตนอย่างกดขี่ขูดรีด

จีนได้แสดงจุดยืนในเรื่องนี้อย่างเปิดเผยในวาระต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ในที่ประชุมสหประชาชาติ ค.ศ.1974 ในขณะกล่าวคำปราศรัยโดยมีใจความตอนหนึ่งที่แสดงเหตุผลที่มีต่อจุดยืนดังกล่าวว่าเป็นเพราะ “ประเทศต้องการเอกราช ประชาชาติต้องการปลดแอก ประชาชนต้องการปฏิวัติ”

จากจุดยืนนี้จีนจึงให้การสนับสนุนขบวนการชาตินิยมหรือขบวนการปฏิวัติในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อให้หลุดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นหรือการถูกกดขี่ขูดรีด

ในกรณีไทยก็คือ การให้การสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลไทย

นโยบายดังกล่าวของจีนได้ดำเนินมาจนถึง ค.ศ.1978 จึงเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อจีนเข้าสู่ยุคปฏิรูป เพราะนโยบายเปิดประเทศในยุคนี้จีนต้องการผูกมิตรกับทุกประเทศทั่วโลก หากจีนยังคงจุดยืนดังกล่าวแล้วก็ยากที่จะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับมิตรประเทศ

เช่น ขณะที่จีนมีความสัมพันธ์กับไทยในทางการทูตใน ค.ศ.1975 นั้น จีนกลับยังคงให้การสนับสนุน พคท.อยู่เช่นเดิม เช่นนี้แล้วก็ย่อมทำให้ไทยไม่อาจไว้วางใจจีนได้ เป็นต้น

อีกทั้งจีนยังเห็นว่าการสนับสนุนที่ว่ายังเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของมิตรประเทศ นับแต่นั้นมาจีนจึงค่อยๆ ยุติการให้การสนับสนุนแก่ขบวนการชาตินิยมและขบวนการปฏิวัติในประเทศต่างๆ จนหมดสิ้นไปในที่สุด

และควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงนี้จีนได้หันไปใส่ใจกับการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ตราบจนสงครามเย็นยุติลงแล้วจีนก็ยังคงปฏิรูปเศรษฐกิจของตนเรื่อยมา

ไม่มีทฤษฎีสามโลกที่จีนเคยยึดถืออีกต่อไป

 

จะเห็นได้ว่า การที่จีนให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์โลกดังกล่าว จีนทำไปด้วยความจำเป็นภายในอย่างแท้จริง และโดยที่มิอาจพยากรณ์ได้ว่าในอีกราวสิบปีต่อมาสังคมนิยมจะล่มสลาย และสงครามเย็นจะยุติลงในต้นทศวรรษ 1990

ความจำเป็นภายในจนทำให้ต้องปฏิรูปเศรษฐกิจจึงเป็น “ความบังเอิญ” ที่ทำให้จีนรอดพ้นจากการล่มสลายของสังคมนิยมไปได้

ที่สำคัญ ทัศนะและนโยบายของจีนในยุคสงครามเย็นก่อนที่จีนจะเข้าสู่ยุคปฏิรูปนั้น ไม่เพียงจะทำให้ชาวจีนรู้จักชาวโลกในด้านชีวิตความเป็นอยู่เท่านั้น หากยังรู้ด้วยว่าชาวโลกในส่วนใดที่เป็นมิตรหรือไม่เป็นมิตรกับตน และเมื่อชาวจีนเริ่มออกจากจีนไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่ายังต่างแดนหลัง ค.ศ.1978 แล้วนั้น

ความรู้สึกนึกคิดนี้ก็ยังคงติดตัวชาวจีนเหล่านี้ออกมาด้วย

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยเรื่อง ชาวจีนอพยพใหม่ในประเทศไทย โดยได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ความเห็นในรายงานผลการวิจัยเป็นของผู้วิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป