E-DUANG : รหัสยนัยแห่ง “คำถาม” ในทาง “การเมือง”  

ทุกครั้งที่มีการตั้ง “คำถาม” ก็มักจะมี “คำตอบ” ดำรงอยู่

ไม่ว่าจะเป็นคำถามในทาง “การเมือง” ไม่ว่าจะเป็นคำถามใน ทาง “เศรษฐกิจ” ไม่ว่าจะเป็นคำถามในทาง “วัฒนธรรม”

ไม่ว่าจะเป็นคำถามจาก “ทำเนียบรัฐบาล”

ไม่ว่าจะเป็นคำถามจาก “พรรคเพื่อไทย” ไม่ว่าจะเป็นคำถามจาก “พรรคประชาธิปัตย์” ไม่ว่าจะเป็นคำถามจาก “พรรคชาติไทยพัฒนา”

ภายใน “คำถาม” ก็มักจะมี “คำตอบ”

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่คล้ายกับว่า “คำถาม” เรียกร้องต้องการ “คำตอบ” จากสังคม

“สังคม” อาจมี “คำตอบ”ให้

แต่ “คำตอบ” ที่ถูกใจที่สุดก็คือ “คำตอบ” ที่มีอยู่แล้ว

 

เมื่อมีคำถามข้อที่ 1 ว่า คิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่

เมื่อมีคำถามข้อที่ 2 ว่า หากไม่ได้จะทำอย่างไร

เมื่อมีคำถามข้อที่ 3 ว่า การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวที่ไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศและเรื่องอื่นๆ เช่น ประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้น ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง

เมื่อมีคำถามข้อที่ 4 ว่า ท่านคิดว่ากลุ่มการเมืองที่มีพฤติกรรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณีควรมีโอกาสเข้าสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีกเกิดปัญหาอีก แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร

เด่นชัดยิ่งว่าภายใน “คำถาม” ล้วนมี “คำตอบ”

 

ไม่จำเป็นต้องเป็นนักจิตวิเคราะห์ระดับ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิเคราะห์สังคมระดับ สี จิ้น ผิง

ก็สามารถ “รู้”

รู้ว่าเมื่อมีการยก “คำถาม” ในลักษณะเช่นนี้ขึ้นมา “คำตอบ” จะเป็นอย่างไร

หมายถึง “คำตอบ” อันเตรียมไว้แล้วของ “คำถาม”

เพียงแต่ย้อนกลับไปศึกษา “คำถาม” ก่อนการรัฐประหารในห้วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมาก็จะได้ “คำตอบ”

ไม่ว่าก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

วนไปเวียนมา ยังไปไม่ถึงไหน