รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เข้าข่ายระบอบอำนาจนิยมหรือไม่? (6) : ยุครัฐบาลในค่ายทหาร

AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT

ตอนก่อนๆ ผู้เขียนได้เขียนถึงประเด็น “รัฐบาลทักษิณเข้าข่ายระบอบอำนาจนิยมหรือไม่?” ไปแล้ว

มาคราวนี้ ถึงตารัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่าเป็นเข้าข่ายระบอบอำนาจนิยมหรือเปล่า?

ก่อนที่จะวิเคราะห์ว่าเข้าข่ายหรือไม่ จะขอย้ำถึงนิยามหรือกรอบความหมายของระบอบ “อำนาจนิยม” อีกครั้ง

กรอบที่ผู้เขียนใช้วิเคราะห์เป็นเกณฑ์ระบอบอำนาจนิยมตามเกณฑ์อำนาจนิยมและอำนาจนิยมอำพราง (authoritarianism และ stealth authoritarianism) ของ Ozan O. Varol

เงื่อนไขสำคัญของระบอบอำนาจนิยมตามที่ Varol ได้วางไว้ นั่นคือ รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญหรือเปิดโอกาสรับฟังความเห็นต่างและความหลากหลายทางการเมือง (political pluralism) และรัฐบาลหรือพรรคที่ปกครองประเทศมักจะกระทำการอย่างมุ่งมั่นชัดเจนที่จะกดหรือบีบฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองไว้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ มุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดการเมืองที่อยู่ภายใต้รัฐบาลพรรคเดียว โดยใช้วิธีการต่างๆ ที่จะกดหรือปิดกั้นพรรคฝ่ายค้านหรือพรรคอื่นๆ และการกระทำดังกล่าวนี้ของรัฐบาลในระบอบอำนาจนิยมมักจะเกิดขึ้นโดยอาศัยวิธีการผ่านช่องทางตามกฎหมายหรือเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้ (extra-legal) และการใช้อำนาจนั้น แม้ว่าจะไม่ถึงขนาดตามอำเภอใจ คาดการณ์ไม่ได้เหมือนอย่างในระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ แต่ก็มักจะไม่มีบรรทัดฐานที่ชัดเจน (ill-defined norms) แต่กระนั้นก็เป็นการใช้อำนาจที่พอคาดการณ์ได้

ตามคำอธิบายของ Juan J. Linz ใน Totalitarian and Authoritarian Regimes หน้า 162 ได้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (totalitarian) กับระบอบอำนาจนิยม (authoritarian)

โดยระบอบเบ็ดเสร็จขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์ (ideology)

ในขณะที่ระบอบอำนาจนิยมขับเคลื่อนโดยทัศนคติหรือวิธีคิด (mentality)

และ Zargorka Golubovic ได้ขยายความความหมายของ “authoritarian mentality” ไว้ใน “Traditionalism and Authoritarianism as Obstacles to the Development of Civil Society in Serbia,” in Civil Society in Southeast Europe หน้า 92 ว่า ทัศนคติหรือวิธีคิดแบบอำนาจนิยม (authoritarian mentality) ปรากฏหรือแสดงออกในลักษณะของการยอมรับและเชื่อฟังอำนาจโดยไม่พินิจพิเคราะห์ (uncritical)

การเชื่อฟังอำนาจที่ว่านี้ เริ่มต้นจากการเชื่อฟังอำนาจของผู้นำพรรคและพรรคของรัฐ ต่อมาคือการยอมรับและเชื่อฟังอย่างผู้นำรัฐและรัฐชาติอย่างไม่พินิจพิเคราะห์


ก่อนจะเข้าสู่รัฐบาลนอมินียิ่งลักษณ์ การเมืองไทยได้มีนายกรัฐมนตรี 3 ท่านในระยะเวลาเพียงไม่ถึง 3 ปี นั่นคือ คุณสมัคร สุนทรเวช คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สองท่านแรกเป็นนอมินีให้คุณทักษิณ โดยท่านแรกเป็นไม่มากนัก แต่ท่านหลังเป็นมากกว่า หลังจากคุณสมชายพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

คุณอภิสิทธิ์ได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจจากสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่มีกระแสโจมตีว่าเป็นรัฐบาลที่ “จัดตั้งในค่ายทหาร”

จริงเท็จประการใดไม่ทราบ แต่ข้อเท็จจริงคือ พรรคประชาธิปัตย์ต้องยอมให้พรรคร่วมได้เก้าอี้กระทรวงสำคัญๆ ไปมิใช่น้อย ได้แก่ กระทรวงคมนาคม ยกให้พรรคอื่นไปทั้งหมด

เริ่มตั้งแต่พรรคภูมิใจไทย คุณโสภณ ซารัมย์ (รมต.คมนาคม) คุณประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ และ คุณสุชาติ โชคชัยวัฒนากร (รมช.คมนาคม) และ คุณเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร (รมช.คมนาคม จากพรรคชาติไทยพัฒนา)

ต่อมากระทรวงพาณิชย์ยกให้ภูมิใจไทยอีกเช่นกัน โดยมี คุณพรทิวา นาคาศัย เป็นรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทยให้ภูมิใจไทยอีกโดยมี คุณชวรัตน์ ชาญวีรกูล เป็นรัฐมนตรี และ คุณบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ เป็นรัฐมนตรีช่วย

กระทรวงอุตสาหกรรมก็ยกให้ คุณชาญชัย ชัยรุ่งเรือง จากพรรคเพื่อแผ่นดิน เป็นต้น

ทั้งนี้ ยังไม่นับกระทรวงอื่นๆ ที่พรรคชาติไทยพัฒนามักขอจองมาโดยตลอดอีก เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่มี คุณชุมพล ศิลปอาชา นั่งแท่นรัฐมนตรี

ถ้ารัฐบาลคุณอภิสิทธิ์จะเกิดจากการ “จัดตั้งในค่ายทหาร” จริง ก็น่าจะเป็นการจัดตั้งในค่ายทหารที่มาจากกลุ่มก๊วนที่ได้โควต้ากระทรวงสำคัญๆ ไป โดยคนเหล่านั้นมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับนายทหารระดับสูง การจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารที่ให้ผลประโยชน์งามๆ กับพรรคใดที่สุด

ก็หมายความว่าพรรคนั้นนั่นแหละที่เป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร

และจะเป็นพรรคอื่นใดไปไม่ได้เลย จะต้องเป็นกลุ่มก๊วนที่เพิ่งอกหักจากพรรคพลังประชาชนมา

 

น่าสังเกตเป็นอย่างยิ่งว่า สูตรการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารในสมัยนั้น มีนายทหารผู้ใหญ่อย่างท่าน พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งแท่นเป็นรัฐมนตรีกลาโหม และปัจจุบันท่านก็ยังเป็นอีก

และข่าวความใกล้ชิดกับกลุ่มคุณเนวินก็ยังออกมาให้ได้ยินอยู่สม่ำเสมอ

ดังนั้น จึงน่าสนใจอย่างยิ่งว่า สูตรที่เคยปรากฏในสมัยรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์อาจจะมาปรากฏให้เห็นอีกในรัฐบาลหลังการเลือกตั้งคราวหน้า แต่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนไปตามจำนวนเก้าอี้ ส.ส. ในสภา

ถ้าการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารเป็นจริงในยุคคุณอภิสิทธิ์ มันก็ย่อมจะเป็นจริงหลังการเลือกตั้งคราวหน้า!

แต่คราวนี้ ไม่ต้องทำในค่ายทหาร แต่เปิดหน้าออกใสๆ ให้เห็นตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องดูแรงขับทางการเมืองด้วย เพราะช่วงหลังคุณสมัคร แก๊งออฟโฟร์ที่ถูกกดดันจากเสียงส่วนใหญ่ในพรรคพลังประชาชนมีแรงขับทางการเมืองสูงงงงมากกกกก!!!!!

แต่หลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงกระชับพื้นที่ในปี พ.ศ.2553 แรงขับหดหายไปเยอะ เพราะไม่เป็นไปตามแผนการอันล้ำลึกที่คิดจะให้เกิดการปิดท้ายอย่างสวยงามตามโมเดลพฤษภาทมิฬ หวังให้กระสุนนัดเดียว (ที่จริงหลายนัด แต่นับถ้วนตอนวัดปทุมฯ) ส่งให้ไพ่ทุกใบลงตัวหมด ยกเว้นไพ่หน้าเหลี่ยมคนแดนไกล

เมื่อไม่เป็นไปตามแผน จอมวางแผนจึงต้องออกจากวงการเมืองไปสักระยะ แต่ทหารยังต้องมึนๆ กับคดีความจวบจนปัจจุบัน


แต่เมื่อรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ถือกำเนิดมาอย่างต้องคำสาปตั้งแต่แรกคลอดว่า “เกิดในค่ายทหาร” ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองก็ได้ขับเคลื่อนมวลชนออกมาต่อต้านทันทีแบบ “ทีใคร ทีมัน” ในทำนองเดียวกันกับที่พันธมิตรฯ ได้ออกมาต่อต้านรัฐบาลนายสมัครและนายสมชาย

โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2552 กลุ่มคนเสื้อแดงได้เริ่มชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่ท้องสนามหลวงและยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ดังนี้

1. เร่งรัดดำเนินคดีอย่างจริงจังกับตัวแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที และยึดสนามบินสุวรรณภูมิ

2. ปลดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายกษิต ภิรมย์ (ที่มีส่วนร่วมนำการชุมนุมประท้วงกับพันธมิตรฯ)

3. รับร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ (คปพร.) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของ 35 องค์กร นำโดย นพ.เหวง โตจิราการ, นายจรัล ดิษฐาอภิชัย และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) เก่า ทำการรวบรวมรายชื่อประชาชนซึ่ง คปพร. ระบุว่ารวบรวมได้กว่าสองแสนรายชื่อเมื่อเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2551 เพื่อประกอบในการยื่นญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ต่อประธานรัฐสภา และให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วนำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้

4. เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่แล้วให้ยุบสภา และให้เวลา 15 วันในการปฏิบัติ มิฉะนั้นจะชุมนุมยืดเยื้อ

การชุมนุมเรียกร้องและต่อต้านรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ของคนเสื้อแดงหรือ นปช. ได้เกิดขึ้นทั้งที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่กระจายไปตามจังหวัดต่างๆ ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในการเมืองไทย เพราะแต่เดิมการชุมนุมต่อต้านจะเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนกรุงเทพฯ ที่ออกมาต่อต้านรัฐบาล สอดคล้องกับทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์

ปรากฏการณ์ใหม่ของการชุมนุมที่กระจายไปตามต่างจังหวัดในปี พ.ศ.2552 เป็นจุดเริ่มต้นและการส่งสัญญาณให้เห็นถึงวิกฤตการเมืองไทยที่เข้มข้นรุนแรงมากขึ้นกว่าในอดีต