คนของโลก : จิทันจาลี รัล เด็กแห่งปีคนแรกของนิตยสารไทม์

จิทันจาลี รัล เยาวชนหญิงวัย 15 ปี ได้รับเลือกจากนิตยสารไทม์ให้เป็น “เด็กแห่งปี” ขึ้นปกนิตยสารไทม์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา

นับเป็นการให้ความสำคัญกับเด็กเป็นครั้งแรก หลังจากไทม์คัดเลือก “บุคคลแห่งปี” มาตลอด 92 ปีที่ผ่านมา

จิทันจาลี รัล ขึ้นเวที Ted Talk ในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา ได้รับการกล่าวถึงในฐานะ “ผู้คว้ารางวัลเยาวชนนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของสหรัฐอเมริกา เคยได้รับเลือกให้อยู่ในรายชื่อ “30 under 30″” 30 ผู้ประกอบการชั้นนำที่มีอายุไม่เกิน 30 ปี ของนิตยสารฟอร์บส์ และเป็นมันสมองให้กับนวัตกรรมถึง 6 ชิ้นด้วยกัน

รัลเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย เกิดในครอบครัวที่มีพื้นเพด้านการศึกษาดี ให้การสนับสนุนความสงสัยใคร่รู้และความฉลาดหลักแหลมของรัลเป็นอย่างดี

รัลได้สร้างความประหลาดใจกับพ่อ-แม่ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ เมื่อประกาศให้พ่อ-แม่รู้ว่าเธอต้องการที่จะ “ทำวิจัยเทคโนโลยีเซ็นเซอร์คาร์บอนนาโนทูบ ที่ห้องแล็บวิจัยคุณภาพน้ำเดนเวอร์”

ขณะที่เรียนประถม 3 รัลเริ่มคิดเกี่ยวกับการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยเฉพาะเมื่อรัลเรียนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 รัลได้สร้างอุปกรณ์ที่มีชื่อว่า Tethys ที่ใช้คาร์บอนนาโนทูบในการตรวจจับสารตะกั่วในน้ำ และส่งค่าที่ได้ไปแสดงผ่านแอพพลิเคชั่นในสมาร์ตโฟน เพื่อแก้ปัญหาสารตะกั่วปนเปื้อนในแหล่งน้ำดื่มของชุมชนฟลินต์ ในรัฐมิชิแกน

ผลงานดังกล่าวทำให้รัลได้รับรางวัล Discovery Education 3M Young Scientist Challenge ประจำปี 2017 ไปครอง

 

หลังจากนั้น รัลยังสร้าง Kindly ที่เป็นทั้งแอพพลิเคชั่นและส่วนขยายของ Google Chrome ระบบที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการตรวจจับ “การกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์”

“เริ่มด้วยการตั้งค่าคำบางคำที่ถือว่าเป็นการกลั่นแกล้ง และระบบปัญญาประดิษฐ์จะจดจำคำดังกล่าวและหาคำที่มีความหมายเหมือนกันมาเก็บไว้ เมื่อคุณพิมพ์คำหรือวลี และระบบตรวจจับว่าเป็นการกลั่นแกล้ง ระบบจะแจ้งตัวเลือกให้คุณว่าจะแก้ไขหรือส่งคำดังกล่าวออกไปในแบบนั้น เป้าหมายของระบบไม่ได้มีเพื่อการลงโทษ ในฐานะวัยรุ่น หนูรู้ว่าวัยรุ่นอยากจะปลดปล่อยในบางครั้ง ดังนั้น ระบบจึงให้โอกาสที่จะคิดทบทวนถึงสิ่งที่กำลังจะพูด และคุณจะรู้ในครั้งต่อไปว่าจะต้องทำอย่างไร” รัลระบุในคลิปสัมภาษณ์กับแองเจลิน่า โจลี ดาราฮอลลีวู้ดชื่อดังที่ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการพิเศษของนิตยสารไทม์

นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมอื่นๆ อีก อุปกรณ์ที่เรียกว่า Epione อุปกรณ์สำหรับแพทย์ที่ใช้ตรวจจับพฤติกรรมคนไข้ว่าเริ่มมีการติดฝิ่นจากการให้ยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของฝิ่นหรือไม่ โดยได้แรงบันดาลใจจากปัญหาคนติดฝิ่นจากการรับยาแก้ปวดจำนวนมากถึง 6 ล้านคนในอินเดีย เป็นต้น

 

รัลเป็นนักเรียนที่เชื่อในทฤษฎีวิศวกรรมเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์และการศึกษาคณิตศาสตร์ หรือสเต็มศึกษา เคยร่วมงานกับโรงเรียน เด็กนักเรียนผู้หญิงในองค์กรสเต็มหลายแห่ง พิพิธภัณฑ์ทั่วโลก รวมถึงองค์กรใหญ่ๆ กว่านั้นอย่างกลุ่ม Shanghai International Youth Science and Technology ในจีน และ Royal Academy of Engineering ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในการจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปเพื่อการสร้างนวัตกรรมด้วย

องค์กรต่างๆ เหล่านี้สามารถเข้าถึงโรงเรียนถึง 28,000 แห่งทั่วโลก โดยรัลจะร่วมแบ่งปันประสบการณ์ขั้นตอนและเครื่องมือที่ใช้ในการสร้างนวัตกรรมของเธอ

“อย่าพยายามแก้ไขทุกปัญหา เพียงแค่จดจ่อกับสิ่งที่ทำให้คุณตื่นเต้น ถ้าฉันทำได้ ใครๆ ก็ทำได้” รัลบอกกับเด็กๆ ทั่วโลก

 

นักวิทยาศาสตร์น้อยจากรัฐโคโลราโด นอกจากจะเชี่ยวชาญในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว ยังศึกษาดนตรีคลาสสิคตั้งแต่ 9 ขวบ สามารถเล่นเปียโน เต้นแบบอินเดียดั้งเดิม ร้องเพลง ว่ายน้ำ ฟันดาบได้ด้วย

รัลระบุเอาไว้ใน Ted Talk เมื่อปีก่อนเปรียบเทียบ “ซูเปอร์ฮีโร่กับนักวิทยาศาสตร์” ในแบบที่เธออยากเป็นเอาไว้ว่า “ภาพในหัวเรา ซูเปอร์ฮีโร่สามารถกระโดดข้ามตึกสูง มีอุปกรณ์เทคโนโลยีและพลังวิเศษ แต่อะไรล่ะที่พวกเขาต่างมีเหมือนกัน? คำตอบคือความสามารถในการช่วยชีวิต และความวิเศษอีกอย่างของพวกเขาก็คือการอยู่ที่ที่ถูกเวลาเพื่อช่วยชีวิต”

“แล้วนักวิทยาศาสตร์ที่มีชีวิต มีลมหายใจล่ะ ต่างจากซูเปอร์ฮีโร่ในหนังสือการ์ตูนอย่างไร?”

คำตอบก็คือ

“นักวิทยาศาสตร์มาพร้อมกับคำตอบที่จะช่วยผู้คน ฉันรักวิทยาศาสตร์และฉันต้องการเป็นซูเปอร์ฮีโร่นักวิทยาศาสตร์ที่จะแก้ปัญหาในโลกแห่งความจริงและช่วยชีวิตคน” รัลระบุ