วิรัตน์ แสงทองคำ : ธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งซีพี สายสัมพันธ์จีน

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หมายเหตุ – ข้อเขียนชุดนี้ถือเป็นเนื้อหา “ทางเลือก” ของเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับซีพีและธนินท์ เจียรวนนท์ กับสังคมธุรกิจไทย จะทยอยนำเสนอเป็นระยะๆ โดยไม่จำเป็นต้องต่อเนื่องกัน

ซีพีกับสายสัมพันธ์จีนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หลากหลายและซับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไม่ถึงทศวรรษมานี้

เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทย เครือข่ายระดับโลก มีบุคลิกหนึ่งซึ่งสำคัญ ด้วยสายสัมพันธ์อันยาวนานกว่า 4 ทศวรรษกับจีนแผ่นดินใหญ่ ภาพสำคัญอย่างกว้างๆ นำเสนอโดยซีพีอย่างที่ยกมา (โปรดพิจารณา “ไทม์ไลน์ ซีพี-จีน” ในล้อมกรอบ) เชื่อว่ามีภาพซ้อนซ่อนอยู่ สะท้อนยุทธศาสตร์และแผนการธุรกิจอันยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์

จากจุดเริ่มต้นปี 2522 ซีพีภายใต้ชื่อ “เจียไต๋” (Chia Tai) ลงหลักปักฐานในประเทศจีน เดินหน้ามาถึง 40 ปีแล้ว จนดำเนินธุรกิจครอบคลุมเกือบทั่วประเทศ ในมณฑลและเขตการปกครอง ถือเป็นความสำเร็จอย่างสำคัญ เป็นฐานแห่งโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ตามแผนการบุกเบิก (greenfield) จากบทเรียนและโนว์ฮาวของซีพีขยายพรมแดนภูมิศาสตร์กว้างขึ้น ธุรกิจการเกษตรสู่ธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าผลิตรถจักรยานยนต์ อสังหาริมทรัพย์ และค้าปลีก จากการลงทุนแบบบุกเบิกสู่การร่วมทุน จนกระทั่งร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับรัฐบาลในภาพยิ่งใหญ่ ในกรณี “ผิงกู่” โครงการความร่วมมือ “สี่ประสาน” ระหว่างรัฐบาล เกษตรกร ธนาคาร และซีพี (ปี 2555)

จากนั้นจึงมาถึงจุดเปลี่ยนที่น่าสนใจยิ่งขึ้น

 

ซีพีสร้างโอกาส สร้างสายสัมพันธ์ทางธุรกิจ มีดีลที่ใหญ่มากขึ้น มีความหมายและเป้าหมายที่กว้างกว่าเดิม

เปิดฉากขึ้นในปี 2555 สำนักข่าวระดับโลกพร้อมใจกันเสนอข่าว ซีพีซื้อหุ้น 15.6% จาก HSBC ซึ่งถือหุ้นในบริษัทประกันอันดับสองของจีน (เวลานั้น) ด้วยจำนวนเงินถึง 9.38 พันล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นดีลแห่งปีที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับสองของเอเชีย

Ping An Insurance (Group) Company of China, Ltd. กลุ่มบริษัทที่มีเครือข่ายธุรกิจครอบคลุมทั้งธุรกิจประกันและบริการทางการเงินครบวงจร เป็นกิจการที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ต่อมากลายเป็นบริษัทประกันใหญ่ที่สุดในจีน และใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง มีพนักงานเกือบๆ 200,000 คน ปัจจุบันซีพีถือหุ้น 8.81% มากกว่า Shenzhen Investment Holdings Co., Ltd. เสียอีกที่ถือหุ้นอยู่ 5.27%

อย่างไรก็ตาม แผนการซีพีมีฐานะเป็นนักลงทุนในดีลใหญ่ครั้งแรกๆ แม้มิได้มีบทบาทบริหารโดยตรง หากเชื่อว่าความหมาย “พันธมิตร” ทางธุรกิจ กับเครือข่ายธุรกิจใหญ่ มีความหมายในเชิงยุทธศาสตร์ของเครือข่ายธุรกิจระดับโลก

ตามมาอีกดีลใหญ่ น่าตื่นเต้นยิ่งขึ้น พิจารณาอย่างเผินๆ คล้ายๆ กับดีลก่อน แต่ที่จริงแตกต่างและยกระดับขึ้น

ข้อมูลซีพีเองระบุไว้ด้วยว่า “2558 ผนึกกำลังเป็นพันธมิตรธุรกิจระหว่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ ประเทศไทย Itochu ประเทศญี่ปุ่น และ CITIC Group ประเทศจีน ทั้งด้านทรัพยากร และเครือข่ายธุรกิจ” (https://www.cpgroupglobal.com/ th/about/Milestones)

ธนินท์ เจียรวนนท์เองให้ความสำคัญกล่าวถึงไว้ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง (“บันทึกความทรงจำ” หรือ My Personal History บทที่ 26 – CP, Itochu and Citic, an alliance of the strong) “ผนึกพลัง การบริหาร ทรัพยากร และเครือข่ายของทั้งสามบริษัท จะสร้างพันธมิตรให้เป็น “ผู้เล่น” ที่แข็งแกร่ง โฟกัสตลาดโลก”

เขาย้ำไว้ในตอนท้าย

 

เรื่องราวเกิดขึ้น 2 ขั้นตอน

หนึ่ง-กรกฎาคม 2557 ซีพีกับ Itochu แลกหุ้นกัน ซีพีซื้อหุ้น Itochu 4.9% มูลค่าประมาณ 32,000 ล้านบาท ขณะ Itochu ซื้อหุ้น C.P. Pokphand (CPP) บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง สัดส่วน 25% มูลค่าประมาณ 27,200 ล้านบาท

สอง-เดือนมกราคม 2558 ซีพีกับ Itochu ร่วมกันลงทุนด้วยเงินจำนวน 1.2 ล้านล้านเยน (ประมาณ 406,700 ล้านบาท) เข้าถือหุ้นจำนวน 20% ของ CITIC Group

Itochu เป็นบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (sogo shosha) ชั้นนำแห่งญี่ปุ่น ก่อตั้งมาราว 160 ปี มีเครือข่ายทั่วโลก ส่วน CITIC Group เป็นหนึ่งในบริษัทของรัฐบาลจีนที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งทำธุรกิจหลายด้าน เพื่อแสวงหาโอกาสในการพัฒนาธุรกิจในตลาดจีนและตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มากขึ้น

ในความหมายสำคัญ มักกล่าวในแง่ญี่ปุ่น ที่ว่าเป็นการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของ sogo shosha แห่งญี่ปุ่น และเป็นดีลในจีนแผ่นดินใหญ่ที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทญี่ปุ่นอะไรทำนองนี้ ธนินท์ เจียรวนนท์ ยังกล่าวว่า “ทำให้อิโตชูมีรากฐานทางธุรกิจที่เข้มแข็งในตลาดจีนและอาเซียน”

ปรากฏการณ์อีกด้านเกิดขึ้นคู่ขนาน เป็นกระแสไหลทวน ว่าด้วยทศวรรษจีนทั้งเงินลงทุนและโนว์ฮาว ธุรกิจจีนร่วมมือกับซีพีในประเทศไทย

จากพันธมิตรดั้งเดิมในจีน สู่โครงการใหม่ในไทย-ปี 2557 กรณีธุรกิจยานยนต์แบรนด์ MG (แบรนด์อังกฤษดั้งเดิมซึ่งเปลี่ยนมือเป็นของจีน) กิจการร่วมทุนระหว่างซีพีกับ SAIC Motor Corporation Limited 1 (ถือเป็นผู้ร่วมทุนผลิตจักรยานยนต์ในจีนมาด้วยกัน)

และแล้วซีพีมาถึงธุรกิจยักษ์ใหญ่จีน ตามแผนการกรณีสำคัญๆ ซึ่งมองกันว่าสร้างแรงกระเพื่อมต่อสังคมธุรกิจไทยพอสมควร

 

ปี2557 นั่นเอง China Mobile ธุรกิจต่างชาติอีกรายเข้าสู่ระบบสื่อสารไทย เข้ามาถือหุ้นทรูคอร์ปอเรชั่น (สัดส่วนล่าสุด 18%)

China Mobile Limited ก่อตั้งขึ้นที่ฮ่องกง เมื่อเดือนกันยายน 2540 สามารถจดทะเบียนทั้งในตลาดหุ้นนิวยอร์ก (NYSE) และฮ่องกง (HKEX) ตามแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจแบบก้าวกระโดด ในฐานะผู้นำให้บริการด้านสื่อสารในจีนแผ่นดินใหญ่ทั้ง 31 มณฑล มีเครือข่ายระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีสมาชิกผู้ใช้บริการมากที่สุดในโลก

จากนั้นสู่ดีลหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับตำนานหน้าใหม่นักธุรกิจจีน เกี่ยวข้องกับ Jack Ma ผู้สร้าง Alibaba Group (พฤศจิกายน 2559)

Ant Financial บริการทางการเงินดิจิตอลระดับโลก (กิจการเกี่ยวข้องกับ Alibaba Group) ร่วมมือกับแอสเซนด์ มันนี่ (กิจการในเครือข่ายซีพี) ประกาศแผนการขยายการเข้าถึงบริการทางการเงิน โดยเน้นว่า

“จะช่วยเร่งการเติบโตของวิถีชีวิตที่พึ่งพามือถือมากขึ้น และการเติบโตของระบบการใช้จ่ายดิจิตอลในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

 

ไทม์ไลน์ ซีพี-จีน

2522 ร่วมลงทุนกับบริษัทคอนติเนนตัล เกรนของสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งบริษัท “เจียไต๋คอนติ” (Chia Tai Conti) ดำเนินธุรกิจผลิตอาหารสัตว์ที่เมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง ใช้ชื่อ “เจียไต๋” หรือ “เจิ้งต้า” เป็นบริษัทต่างชาติรายแรกที่ได้รับอนุญาตให้ลงทุนในสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหมายเลข 0001 ดำเนินกิจการโรงงานอาหารสัตว์ ณ เมืองเซินเจิ้น

2527 ลงทุนร่วมกับบริษัทท้องถิ่นในจีนชื่อบริษัท Ji Lin Chia Tai Co., Ltd. ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนครั้งแรกระหว่างบริษัทท้องถิ่นกับบริษัทต่างชาติในธุรกิจอาหารสัตว์ของประเทศจีน

2535 ก่อตั้งบริษัท Luoyang Northern Ek Chor Motorcycle Co., Ltd. ในมณฑลเหอหนาน ผลิตรถจักรยานยนต์แบรนด์ “ต้าหยาง” ปัจจุบันมีกำลังการผลิตจักรยานยนต์กว่า 640,000 คันต่อปี และรถสี่ล้อความเร็วต่ำอีกกว่า 100,000 คันต่อปี

2540 ริเริ่มธุรกิจโลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จากเขตผู่ตง นครเซี่ยงไฮ้ แล้วขยายไปทั่วประเทศจีน ปัจจุบันมีเครือข่ายกว่า 70 สาขา

2545 เปิดการดำเนินการห้างสรรพสินค้า “ซูเปอร์แบรนด์มอลล์” ในเขตผู่ตง นครเซี่ยงไฮ้จัดเป็นห้างสรรพสินค้าครบวงจรแห่งแรกของจีน

2555 เริ่มเปิดดำเนินงานโครงการเกษตรกรรมหมุนเวียนทันสมัย “ผิงกู่” เป็นโครงการต้นแบบตามแนวทางความร่วมมือ “สี่ประสาน” ระหว่างรัฐบาล เกษตรกร ธนาคาร และซีพี

2558 ผนึกกำลังเป็นพันธมิตรธุรกิจระหว่างซีพี ประเทศไทย Itochu ประเทศญี่ปุ่น และ CITIC Group ประเทศจีน ทั้งด้านทรัพยากร และเครือข่ายธุรกิจ

ที่มา https://www.cpgroupglobal.com/ th/about/Milestones