รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เข้าข่ายระบอบอำนาจนิยมหรือไม่? (7) : ถึงทีคนเสื้อแดง

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

ตอนก่อนๆ ผู้เขียนได้เขียนถึงประเด็น “รัฐบาลทักษิณเข้าข่ายระบอบอำนาจนิยมหรือไม่?” ไปแล้ว

มาคราวนี้ ถึงตารัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่าเป็นการเข้าข่ายระบอบอำนาจนิยมหรือเปล่า?

ก่อนที่จะวิเคราะห์ว่าเข้าข่ายหรือไม่ จะขอย้ำถึงนิยามหรือกรอบความหมายของระบอบ “อำนาจนิยม” อีกครั้ง

กรอบที่ผู้เขียนใช้วิเคราะห์เป็นเกณฑ์ระบอบอำนาจนิยมตามเกณฑ์อำนาจนิยมและอำนาจนิยมอำพราง (authoritarianism และ stealth authoritarianism) ของ Ozan O. Varol

เงื่อนไขสำคัญของระบอบอำนาจนิยมตามที่ Varol ได้วางไว้ นั่นคือ

รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญหรือเปิดโอกาสรับฟังความเห็นต่างและความหลากหลายทางการเมือง (political pluralism) และรัฐบาลหรือพรรคที่ปกครองประเทศมักจะกระทำการอย่างมุ่งมั่นชัดเจนที่จะกดหรือบีบฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองไว้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ มุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดการเมืองที่อยู่ภายใต้รัฐบาลพรรคเดียว โดยใช้วิธีการต่างๆ ที่จะกดหรือปิดกั้นพรรคฝ่ายค้านหรือพรรคอื่นๆ และการกระทำดังกล่าวนี้ของรัฐบาลในระบอบอำนาจนิยมมักจะเกิดขึ้นโดยอาศัยวิธีการผ่านช่องทางตามกฎหมายหรือเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้ (extra-legal) และการใช้อำนาจนั้น แม้ว่าจะไม่ถึงขนาดตามอำเภอใจคาดการณ์ไม่ได้เหมือนอย่างในระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ แต่ก็มักจะไม่มีบรรทัดฐานที่ชัดเจน (ill-defined norms) แต่กระนั้นก็เป็นการใช้อำนาจที่พอคาดการณ์ได้

ตามคำอธิบายของ Juan J. Linz ใน Totalitarian and Authoritarian Regimes หน้า 162 ได้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (totalitarian) กับระบอบอำนาจนิยม (authoritarian) โดยระบอบเบ็ดเสร็จขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์ (ideology) ในขณะที่ระบอบอำนาจนิยมขับเคลื่อนโดยทัศนคติหรือวิธีคิด (mentality) และ Zargorka Golubovic ได้ขยายความความหมายของ “authoritarian mentality” ไว้ใน “Traditionalism and Authoritarianism as Obstacles to the Development of Civil Society in Serbia,” in Civil Society in Southeast Europe หน้า 92 ว่า ทัศนคติหรือวิธีคิดแบบอำนาจนิยม (authoritarian mentality) ปรากฏหรือแสดงออกในลักษณะของการยอมรับและเชื่อฟังอำนาจโดยไม่พินิจพิเคราะห์ (uncritical)

การเชื่อฟังอำนาจที่ว่านี้ เริ่มต้นจากการเชื่อฟังอำนาจของผู้นำพรรคและพรรคของรัฐ ต่อมาคือการยอมรับและเชื่อฟังอย่างผู้นำรัฐและรัฐชาติอย่างไม่พินิจพิเคราะห์


ก่อนที่คุณยิ่งลักษณ์จะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในฐานะ “นอมิมี” คนที่สามของคุณทักษิณ ภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ ได้เกิดการชุมนุมเรียกร้องและต่อต้านรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ของคนเสื้อแดงหรือ นปช. ได้เกิดขึ้นทั้งที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่กระจายไปตามจังหวัดต่างๆ ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในการเมืองไทย เพราะแต่เดิมการชุมนุมต่อต้านจะเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนกรุงเทพฯ ที่ออกมาต่อต้านรัฐบาล สอดคล้องกับทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยของ อาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์

ปรากฏการณ์ใหม่ของการชุมนุมที่กระจายไปตามต่างจังหวัดในปี พ.ศ.2552 อันนำไปสู่การแบ่งพื้นที่ระหว่างขั้วขัดแย้งทางการเมืองที่จะเห็นได้ชัดขึ้นในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ เนื้อหาสาระของการชุมนุมพุ่งเป้าไปที่การชี้ให้เห็นถึงการใช้อำนาจและอิทธิพลของชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งที่ต้องการสร้างข้อกล่าวหาต่อคุณทักษิณว่าไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีเครือข่ายที่พยายามจะหาทางกำจัดคุณทักษิณ

ซึ่งสาระดังกล่าวนี้มาจากการกล่าวผ่านวิดีโอลิงก์โดยตัวคุณทักษิณเองมายังผู้ชุมนุมในที่ต่างๆ

และกล่าวชัดเจนว่า มี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรีอยู่เบื้องหลัง รวมทั้งประธานองคมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ด้วย

จะเห็นได้ว่า ความขัดแย้งทางการเมืองถูกเน้นไปที่ พ.ต.ท.ทักษิณ กับประธานองคมนตรีและองคมนตรี และอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า การพุ่งเป้าไปที่องคมนตรีและประธานองคมนตรีในฐานะที่อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร รวมทั้งความขัดแย้งทางการเมืองที่ต่อเนื่องหลังจากนั้น มีสองนัยยะที่สามารถตีความได้ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว นั่นคือ

นัยยะที่หนึ่ง ฝ่ายคุณทักษิณเชื่อว่า สถาบันสูงสุดมิได้รู้เห็นเกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร แต่เป็นการแอบอ้างหรือแอบอิงโดยประธานองคมนตรี ด้วยเหตุนี้ ฝ่ายคุณทักษิณจึงโจมตีไปที่ตัวประธานองคมนตรีในฐานะที่แอบอ้างเบื้องสูงในการส่งสัญญาณให้ผู้นำกองทัพทำรัฐประหารล้มรัฐบาลคุณทักษิณ

นัยยะที่สอง ฝ่ายทักษิณเชื่อว่า สถาบันสูงสุดอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร และส่งสัญญาณให้ทำรัฐประหารผ่านการส่งสัญญาณสู่สาธารณะโดยประธานองคมนตรี

ดังนั้น เราสามารถกล่าวได้ว่า สาระสำคัญของการชุมนุมต่อต้านของคนเสื้อแดงในปี พ.ศ.2552 ยังคงเป็นประเด็นสืบเนื่องเหมือนการเคลื่อนไหวของ นปก. ในปี พ.ศ.2550 แต่เข้มข้นมากขึ้นและชัดเจนมากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาระเหล่านี้มาจากการแถลงของคุณทักษิณเองต่อสาธารณะ


ตลอดช่วงเวลาที่คุณอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการชุมนุมต่อต้านโดยคนเสื้อแดงอยู่ตลอดมีการชุมนุมปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลไม่ต่างกันจากที่กลุ่มพันธมิตรฯ เคยชุมนุมมาก่อน

ขณะเดียวกัน กลุ่มคนเสื้อแดงก็ยังพุ่งเป้าไปที่ประธานองคมนตรีตามที่คุณทักษิณได้กล่าวหาว่าเป็น “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” และอยู่เบื้องหลังการรัฐประหารและการกำจัดคุณทักษิณ

การเป็นปฏิปักษ์ระหว่างคุณทักษิณและประธานองคมมนตรีปรากฏให้เห็นชัดเจนในวันที่ 8 เมษายน 2552 ในช่วงที่กลุ่มคนเสื้อแดงยังคงปักหลักชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล และประท้วงหน้าบ้านพัก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

ในการชุมนุมครั้งนี้ ครอบครัวชินวัตร ทั้ง คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คุณเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ และลูกๆ ต่างปรากฏตัวร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดงที่เวทีทำเนียบรัฐบาล และแกนนำมวลชนเสื้อแดงได้อ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และ คุณชาญชัย ลิขิตจิตถะ ลาออกจากตำแหน่งองคมนตรี

และเรียกร้องให้ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย


การชุมนุมของคนเสื้อแดงเพื่อต่อต้านรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ได้ยกระดับความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ มีการเคลื่อนมวลชนเข้าปิดล้อมทางเข้าออกของโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท พัทยา ซึ่งเป็นสถานที่จัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและคู่เจรจาในวันที่ 7 เมษายน 2552

และในช่วงที่คุณอภิสิทธิ์เดินทางกลับกรุงเทพฯ มีกลุ่มคนเสื้อแดงขี่รถจักรยานยนต์ขนาบรถประจำตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี อีกทั้งมีกลุ่มคนเสื้อแดงเต็มรถกระบะได้เข้าปิดล้อมขว้างปาสิ่งของและทุบกระจกรถนายกรัฐมนตรีสองครั้งติดๆ กัน รวมทั้งมีการบุกเข้าไป สถานการณ์เริ่มรุนแรงมากขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและคู่เจรจาที่พัทยา

ในกรุงเทพฯ มีการปิดล้อมสถานที่ต่างๆ มากมาย และที่พัทยากลุ่มคนเสื้อแดงได้บุกเข้าใช้ไปความรุนแรงจนสามารถล้มการประชุมได้สำเร็จและเกิดการจลาจลในกรุงเทพฯ ในช่วงกลางเดือนเมษายน 2552 จนทำให้การจราจรหลายจุดในกรุงเทพฯ เป็นอัมพาต รวมทั้งมีการประกาศให้คนเสื้อแดงเตรียมพร้อมยึดศาลากลางในแต่ละจังหวัด

ส่งผลให้คุณอภิสิทธิ์ต้องประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อควบคุมสถานการณ์ และในที่สุดในวันที่ 14 เมษายน 2552

กองกำลังทหารสามารถสลายการชุมนุมและยุติการจลาจลได้ โดยไม่มีผู้เสียชีวิต แต่มีผู้บาดเจ็บจำนวนประมาณ 120 คน

หลังจากนั้น การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงได้ซาลงไปจนมาเคลื่อนไหวอีกครั้งหลังคำพิพากษาตัดสินยึดทรัพย์ในคดีคุณทักษิณถูกกล่าวหา