อภิญญา ตะวันออก : “ไอ้งูเก็งก็อง” ของสังเวียนไทยลีก

อภิญญา ตะวันออก

มากกว่าตัวตน ทรงผมพรสวรรค์และการจากไปที่สุดอาลัยของดิเอโก้ มาราโดน่า ตอนอยู่ก็เป็นตำนาน ตอนจากก็เช่นกัน ฟังดูอาจแหกคอกไปบ้างที่เรียกฮีโร่คนนี้ว่า-เจ้าหัวงูเก็งก็องแบบนั้นด้วยความเคารพ

ถูกแล้ว เรากำลังรำลึกย้อนไปยุค 70 ยุคที่เพ็น โสพัต นักเตะเขมรผู้มีหัวกบาลหยอกหย็องเหมือนไอ้หัวงูเก็งก็องตามฉายาของเขานั้น

มันคือเรื่องราวนักเตะเขมรคนหนึ่งซึ่งมากด้วยพรสวรรค์และการต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยวของเขา จนเป็นที่รู้จักไปทั่วทั้งในวงการลูกหนังไทยและยุโรป รวมทั้งความเป็นตำนานลูกหนังเขมรที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชาติอื่น

ตาม “รหัสเนียม” หรือฉายา “งูเก็งก็อง” ที่ได้มานี้เกิดขึ้นมาราวปลายปี 1968 ที่เด็กหนุ่มเขมรคนนี้ฉายแววการเล่นฟุตบอลจนถูกเรียกตัวติดทีมชาติในเวลาต่อมา

แต่เป็นที่รู้กันว่าสมาคมฟุตบอลเขมรนั้นเติบโตอย่างสูงสุดในยุคพระกรุณาสีหนุราชที่สิ้นสุดในปี 1970 จากกรณีรัฐประหาร กระนั้น เพ็น โสพัต ก็ยังรับใช้ทีมชาติในนามสาธารณรัฐเขมรที่เขาและเพื่อนร่วมทีมฝ่าฟันแข่งขันจนพาทีมสร้างชื่อเสียงคว้าลำดับที่ 4 เอเชี่ยนคัพ 1972

ปีแรก ปีเดียว และปีสุดท้ายที่กัมพูชาเข้าลึกสุดของวงการลูกหนังแห่งเอเชีย

แต่สำหรับนักเตะวัยห้าวที่เพิ่งจะก้าวสู่วงการไม่นาน แต่ยังไม่ทันจะสร้างชื่อเสียงมากไปกว่านี้ก็ให้สะดุดเสียก่อน โดยเฉพาะปัญหาการเมืองระหว่างเขมร 2 ฝ่ายที่ลามเข้ามาในวงการฟุตบอลด้วย ซึ่งเพ็น โสพัต กับเพื่อนนักเตะบางรายที่ติดร่างแหถูกไล่ล่าจากฝ่ายรัฐด้วย

ในที่สุดเพ็น โสพัต และเสียง ทารา เพื่อนร่วมทีมก็ตัดสินใจหนีมาพักพิงที่กรุงเทพฯ โดยไม่คิดว่าเขาจะยึดค้าแข้งได้หรือไม่ ถ้าหากว่านักเตะรายนี้จะไม่เจอกับสโมสรราชประชา

ดูเหมือนเพ็น โสพัต จะได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี เห็นจากที่นามสกุลเพ็นและชื่อโสพัตของเขาถูกเปลี่ยนให้เหมาะกับชื่อสกุลแบบไทยๆ ว่า “เพ็นพัต วงศ์สวัสดิ์”

 

แน่ละ เขาน่าจะเป็น 1 ในนักเตะที่ได้รับการฟูมฟักและน่าจะถึงขั้นโอนสัญชาติเป็นนักเตะไทย แต่มันไม่ง่ายเสมอไปสำหรับวงการฟุตบอลด้วยแล้ว

โดยเฉพาะการที่เขามักถูกล้อเลียนว่า “ไอ้เก็งก็อง” ซึ่งใช่แต่ทรงผมเท่านั้น แต่มันยังบ่งบอกถึงเชื้อชาติและความเป็นมาในประวัติชีวิตของนักเตะคนนี้ ซึ่งมีทั้งปมถูกเหยียดหยามและความอิจฉาริษยา ดังที่รู้กันดีสำหรับผู้คนในวงการ

เพ็น โสพัต จึงมักถูกล้อเลียนในบางครั้ง แต่ความจริงแล้วเขาเก่งกาจและมีพรสวรรค์ในเชิงฟุตบอลจนทำให้ผู้คนจดจำ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากระเบียบวินัยที่เคร่งครัด ตลอดจนความมุ่งมั่นในการฝึกซ้อม กฎเดียวที่เพ็น โสพัต ให้สัมภาษณ์กับสื่อเขมรเมื่อหลายปีก่อน

และนั่นหรือไม่ที่ทำให้เอเย่นต์แมวมองสโมสรชาติยุโรปติดตามผลงานและยื่นข้อเสนอซื้อตัวนักเตะเขมรคนนี้ไปเล่นที่เยอรมนีตั้งแต่ปี 1977

แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขสัญญาซึ่งมิใช่เรื่องง่าย สำหรับอาชีพค้าแข้งในยุโรปของนักเตะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกปัญหาเอกสารยุคเขมรแดงของเพ็น โสพัต เวลานั้น ที่สำคัญ มาจากสโมสรราชประชาตัดสินใจไม่ขายนักเตะรายนี้

ข้อเสนอดังกล่าวจึงตกไป

แต่ 4 ปีผ่านไป อะไรที่ทำให้สโมสรในยุโรปยังเฝ้าติดตามเขาอยู่ ขณะนั้นเพ็น โสพัต ซึ่งแตะวัยสามสิบแล้ว และเขาเองก็คิดอยากจะตั้งหลักปักฐานในยุโรปเช่นเดียวกับชาวเขมรจำนวนมากที่อพยพไปที่นั่น

กอปรกับความอิ่มตัวในการเล่นให้กับสโมสรในเมืองไทยคราวนั้น ทันทีเมื่อได้รับข้อเสนออีกครั้ง เพ็น โสพัต จึงตอบรับและพยายามลดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรค รวมทั้งเอกสารจากบทเรียนครั้งแรก ในทันทีที่ราชประชาได้รับการติดต่อซื้อตัวเพ็น โสพัต ไปค้าแข้งกับโบรุสเซีย เร็ตเติล-สโมสรลีกรองของเยอรมนี

และคราวนี้ ด้วยการประสานงานที่รัดกุมจากทุกฝ่าย

ไอ้งูเก็งก็องแขฺมร์จึงผ่านฉลุย เป็นนักเตะกัมพูชาคนแรกที่ไปค้าแข้งในยุโรป!

 

ฉันใด บทพิสูจน์ของเพ็น โสพัต นับแต่นั้น สำหรับชีวิตค้าแข้งในดินแดนยุโรปของนักเตะเอเชียยุค 80

เริ่มจากโบรุสเซีย เร็ตเติล ที่แม้ว่าเขาจะสร้างผลงานโดดเด่นจนทีมได้เลื่อนชั้น แต่ชีวิตหมาล่าเนื้อในต่างแดนมันไม่ง่าย ด้วยเหตุนี้ เพ็น โสพัต จึงถูกขายให้แก่สโมสรในดิวิชั่น 4 และปารีสเอฟซีในเวลาต่อมา

แม้จะพิสูจน์ฝีเกือก ช่วยทีมรอดการตกชั้น กระนั้นปัญหาของนักเตะลี้ภัยในปัญหาชีวิตนักบอลที่มากมาย ทั้งการเหยียดเชื้อชาติและความพยายามรักษาสภาพร่างกาย

ในวัยสามสิบห้าปีเศษที่มีสภาพเป็นนักเตะไร้สังกัดแบบไม่มีค่าตัว และเพ็น โสพัต ที่ถูกส่งไปให้ทีมสำรองใช้งานอย่างไร้ความหมายครั้งแล้วครั้งเล่านั้น ในที่สุดไอ้งูเก็งก็องก็ตัดสินใจแขวนสตั๊ดและหันไปเป็นโค้ชสโมสรสมัครเล่น แต่ด้วยผลงานและพรสวรรค์อันยอดเยี่ยม สามารถพาทีมคว้าแชมป์ 2 สมัยซ้อนจนถูกซื้อตัวในฐานะโค้ชอีกหลายสโมสรและจบลงที่ชุดอะคาเดมีชุดเยาวชน

ที่นี่ เพ็น โสพัต ราวกับได้รับการเติมเต็มชีวิตแต่หนหลังที่เขาประสบพบพานและขาดแคลนไปทุกอย่าง รวมทั้งการได้ช่วยเติมเต็มชีวิตฝันของนักฟุตบอลตัวน้อยที่ส่วนใหญ่อพยพมาจากลาว เขมร เวียดนาม รวมทั้งประเทศไทย

ช่างเป็นบทพิสูจน์ที่โหดร้ายและยากกว่าจะจดจำ ทว่าในฐานะนักฟุตบอลแถวหน้าของกัมพูชาที่เหลือรอดชีวิตและสร้างชื่อเสียงเกียรติประวัติจนเป็นตำนาน แต่ชื่อเสียงของเขากลับไม่เป็นที่จดจำมากนักสำหรับประเทศกัมพูชา

ทว่าในฐานะโค้ชฟุตบอลเยาวชนบนแผ่นดินฝรั่งเศสที่เขาอาศัยนั้น มันช่วยให้เปิดทางให้เพ็น โสพัต มีโอกาสปั้นฝัน และส่งต่อความสำเร็จเล็กๆ แก่นักเตะเด็กๆ เหล่านั้น

โดยเฉพาะนักเตะไทยคนหนึ่งที่ชื่อนนท์ ม่วงงาม

 

ไม่ว่าเพ็น โสพัต จะมีส่วนในการตัดสินใจของนนท์ ม่วงงาม ที่ขณะนั้นกำลังก้าวย่างจากนักเตะเยาวชนไปสู่นักฟุตบอลอาชีพหรือไม่ แต่นั่นก็พอจะทำให้เรารู้ว่า

นนท์ ม่วงงาม นักเตะดีกรีเยาวชนทีมชาติฝรั่งเศส (17 ปี) ตัดสินใจมาค้าแข้งที่บ้านเกิดด้วยประสบการณ์ที่เขาเองแทบจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับประเทศบ้านเกิด และผลจากดีลครั้งนั้น ทำให้ประเทศไทยมีนักเตะทีมชาติชุดแชมป์ซีเกมส์ 2017 และชุดยู 23/2019

แต่ใครจะนึกเล่าว่า เรื่องเล็กๆ ของอดีตนักเตะเขมรที่เคยเล่นให้กับสโมสรไทยคนหนึ่งเมื่อสี่สิบกว่าปีก่อน จะคือส่วนเติมเต็มเล็กๆ เบื้องหลังความสำเร็จของนักฟุตบอลเยาวชนในฝั่งทวีปยุโรป

ซึ่งบังเอิญว่าความสัมพันธ์ของนักเตะไทย-เขมรต่างวัยในฐานะพลเมืองฝรั่งเศสคู่นี้ ช่างเป็นเรื่องบังเอิญที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างนักฟุตบอลไทย-เขมรได้กลับเวียนมาสู่วาระอีกครั้ง

เหมือนกับที่เราเคยเห็นเพ็น โสพัต นักเตะเขมรชราผู้เคยโลดแล่นบนสนามฟุตบอลของไทยเมื่อกว่า 4 ทศวรรษก่อน และตอนนี้เขาก็ยังอยู่ตรงนั้น ในคราบของนนท์ ม่วงงาม? หรือในนามนักเตะแขฺมร์โควต้าอาเซียน?

ที่สมราคากับฉายา “ไอ้งูเก็งก็อง”