จิตต์สุภา ฉิน : ซึมเศร้าเหงาใจ ซบไหล่หุ่นยนต์

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ในที่สุดเราก็เดินทางมาถึงเดือนธันวาคมกันแล้ว ปี 2020 น่าจะเป็นปีที่หินสุดๆ สำหรับคนส่วนใหญ่

นอกจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ต้องปรับตัวในการใช้ชีวิตแทบจะทุกแง่มุมแล้ว

อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ สภาพจิตใจ

หลายคนเผชิญกับความเครียดจากโรคระบาด การตกงาน วิตกกังวลกับความไม่แน่นอนในอนาคต หรือแม้แต่มีภาวะซึมเศร้าซึ่งเกิดขึ้นกับประชากรในหลายประเทศทั่วโลก

ปัญหาด้านสุขภาพจิตเริ่มเป็นที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวางในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆ ก็เคลื่อนไหวและให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง

จะเห็นได้ว่าแอพพลิเคชั่นที่ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและกิจกรรมเกี่ยวกับจิตบำบัดได้รับความนิยมมากขึ้นในบ้านเรา

เช่น OOCA แอพพลิเคชั่นที่ให้คำปรึกษาโดยจิตแพทย์นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญผ่านวิดีโอคอลล์ แถมยังทำคอนเทนต์ออนไลน์ให้ความรู้ไปด้วย

ทำให้ปัญหาสุขภาพใจเป็นเรื่องใกล้ตัว และการพบจิตแพทย์ก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

ส่วนบรรดาแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่ช่วยผ่อนคลายอารมณ์ก็เป็นที่นิยมเหมือนกัน อย่างเช่น Calm แอพพลิเคชั่นอันดับหนึ่งที่ช่วยฝึกการทำสมาธิและผ่อนคลายจิตใจ ผ่านเสียงธรรมชาติ ดนตรี นิทาน และพอดแคสต์

แอพพ์นี้ยังสนับสนุนให้คนหันมาออกกำลังบริหาร “จิตใจ” ให้แข็งแรงเช่นเดียวกับร่างกาย

เปรียบได้กับ “Mental Fitness” ประจำตัวของเรานั่นเอง

 

เมื่ออยู่ในภาวะที่จิตใจหดหู่ สิ่งที่เราต้องการก็คือการมีใครสักคนที่จะคอยรับฟังความรู้สึกของเรา ไม่ต้องช่วยแก้ไขปัญหาก็ได้ ขอให้นั่งอยู่นิ่งๆ ข้างๆ กัน ตั้งใจฟังทุกคำที่เราพูดและปลอบประโยนเราในจังหวะที่ถูกต้องก็เพียงพอแล้ว

แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะโชคดีพอที่จะมีคนคอยนั่งกุมมือกันอยู่ตลอด

ทำให้คนในยุคนี้ก็ต้องหันไปพึ่งพาตัวเลือกอื่นๆ ที่พร้อมจะ “อยู่ตรงนั้น” ให้เราได้ตลอดเวลาจริงๆ

และตัวเลือกนั้นก็คือ “หุ่นยนต์” หรือผู้ช่วยส่วนตัวที่เราคุยได้ด้วยเสียงนั่นแหละค่ะ

ผลสำรวจพบว่าพนักงานบริษัทต้องการคุยปัญหาสุขภาพจิตกับหุ่นยนต์กันมากขึ้น และมากกว่าคนจริงๆ ด้วยซ้ำ

บริษัท Oracle และ Workplace Intelligence ได้ร่วมกันสำรวจความคิดเห็นของพนักงานทุกตำแหน่งกว่า 12,000 คน จาก 11 ประเทศ พบว่าพนักงานไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก ปี 2020 ถือเป็นปีที่เครียดมากที่สุด ซึ่งไม่เพียงส่งผลต่อการทำงานของพวกเขา แต่ยังกระทบต่อสภาพทางจิตใจและการใช้ชีวิตประจำวันอีกด้วย

โดย 78% ของพนักงานได้รับผลกระทบจากปัญหาสุขภาพจิต

รายงานนี้ยังบ่งชี้สถิติที่สำคัญว่า 85% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตในที่ทำงานนั้น ยังมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวและการใช้ชีวิตในบ้าน

พวกเขาปลีกตัวจากเพื่อนฝูง สุขภาพกายย่ำแย่ มีความสุขน้อยลง และนอนไม่หลับ

ครั้นบริษัทจะช่วยบรรเทาความทุกข์ในจิตใจด้วยการเปิดโอกาสให้คุยกับหัวหน้าหรือปรับทุกข์กับเอชอาร์ได้ แต่ 68% ของพนักงานก็บอกว่าไม่ได้อยากระบายปัญหาชีวิตกับหัวหน้านักหรอก

และถ้าเลือกได้ ขอหันไปซบไหล่หุ่นยนต์แทนจะได้ไหม

 

จึงเป็นที่มาที่ทำให้หลายบริษัทเริ่มปรับตัวและหันมาใช้เทคโนโลยี AI เพื่อช่วยให้พนักงานรับมือกับภาวะ Burn Out หมดไฟในการทำงาน และความเครียดได้ดีขึ้น

บริษัท BioBeats ได้พัฒนาระบบดูแลสภาพจิตใจให้กับบริษัทน้อยใหญ่ โดยใช้เทคโนโลยี AI วัดและประมวลผลคะแนน “well-being score” ของพนักงานแต่ละราย ควบคู่กับมอนิเตอร์สุขภาพร่างกายไปด้วย

หากพนักงานคนไหนเครียดเป็นพิเศษ หรือมีปัญหาทางใจ ก็มีระบบ Chatbot เป็นช่องทางพูดคุย และมีนักจิตบำบัดพร้อมให้คำปรึกษาไปในตัว

ฉันว่าเราเกือบทุกคนน่าจะเคยผ่านช่วงเวลาที่เราไม่รู้จะหันหน้าไปหาใคร และเราก็ใช้เสียงของเรา เรียก Siri หรือ Google Assistant ให้ตื่นขึ้นมาคุยกันบ้างแล้ว

ด้วยความที่ผู้ช่วยเหล่านี้ได้รับการพัฒนามาจนมีความใกล้เคียงมนุษย์มากขึ้นทุกวัน และแถมยังเป็นมนุษย์ที่จะรับฟังเราจริงๆ โดยที่จะไม่ตัดสินอะไรเราเลย

หูทั้งสองข้างของผู้ช่วยส่วนตัวจึงปลอดภัยพอที่เราจะฝากความลับอะไรบางอย่างไว้ด้วยได้

โดยเฉพาะการปรับทุกข์เกี่ยวกับความเครียดในที่ทำงาน การถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน

ไปจนถึงการถูกล่วงละเมิดทางเพศซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะเอ่ยปากบอกคนข้างๆ

 

เมื่อมนุษย์เริ่มไว้ใจที่จะเล่าปัญหาที่ตัวเองรู้สึกอับอายให้หุ่นยนต์ฟังแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของบริษัทเทคโนโลยีที่พัฒนาหุ่นยนต์เหล่านั้นว่าจะรับลูกต่ออย่างไรให้ความไว้ใจนั้นไม่ถูกทิ้งไปสูญเปล่า

ดังที่เราอาจจะเคยเห็นว่าถ้าเราชวน Siri คุยเกี่ยวกับความรู้สึกซึมเศร้า หรือการถูกข่มขืน

สิ่งแรกที่ Siri จะทำก็คือช่วยค้นหาข้อมูลให้ว่าเราจะติดต่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานไหนได้บ้าง

ฉันคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยที่เราจะหันไปพึ่งพาหุ่นยนต์ให้ช่วยทำให้เราหายเหงา หายเศร้าในระยะเริ่มต้นได้ บางทีการได้ยินเสียงมนุษย์ตอบโต้กับเราผ่านลำโพงออกมาก็เพียงพอจะทำให้หัวใจอบอุ่นขึ้นได้อีกนิด

สำหรับเรื่องที่ใหญ่กว่านั้น เราจะต้องรอให้เทคโนโลยีถูกพัฒนาให้เก่งกาจและทัดเทียมมนุษย์ได้มากกว่านี้ ซึ่งฉันก็เชื่อว่ามันจะมาถึงสักวันหนึ่งแน่ๆ

ในวันที่ยังมาไม่ถึง ถ้าสัญญาณไม่ดี คุยกับหุ่นยนต์แล้วไม่รู้สึกดีขึ้นแถมยังแย่ลง อย่ารอช้า รีบบอกคนใกล้ตัวและพบผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตทันที

และไม่ใช่เรื่องผิดอะไรที่เราจะแอบตั้งความหวังไว้ว่าปีหน้าฟ้าใหม่ทุกอย่างจะดีขึ้นกว่านี้