เทศมองไทย : จากเขื่อนถึงข้อมูลน้ำ การเมืองในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

หน้าหนาวย่างกรายมาถึง อีกไม่นานฤดูแล้งสาหัสก็จะก้าวติดตามมาหากวัดจากสภาวะที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกกับชุมชนของผู้คนอย่างน้อย 60 ล้าน ที่ต้องพึ่งพาอาศัยน้ำท่าจากลำน้ำโขงเป็นเครื่องพยุงชีวิต

บทบรรณาธิการของอาเซียนทูเดย์เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์แห่งนี้ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา ไม่เพียงชี้ให้เห็นว่า ปัญหาเรื่องน้ำในลำโขงกับสารพัดเขื่อนทั้งที่สร้างแล้วและมีแผนจะจัดสร้างขวางลำน้ำสายสำคัญสายนี้ มีผลกระทบมหาศาลต่อชีวิตความเป็นอยู่และสภาพสิ่งแวดล้อมของชุมชนบนลุ่มน้ำโขงตอนล่างแล้ว

นับวันปัญหานี้ยิ่งทวีนัยสำคัญทางการเมืองมากขึ้นและมากขึ้นทุกที

 

ข้อเขียนดังกล่าวระบุว่า เกิดความเคลื่อนไหวสำคัญ 3 ประการเกี่ยวกับการบริหารจัดการลำน้ำโขงตอนล่าง หนึ่งนั้นคือ การประกาศ “ทบทวน” การตัดสินใจของทางฝ่ายไทย ในเรื่องการจัดซื้อพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากเขื่อน “สานะคาม” เขื่อนขนาดใหญ่ลำดับที่ 7 ของลาวที่จะสร้างขึ้นขวางลำโขง ซึ่งผู้จัดสร้างคือ “ต้าถัง” รัฐวิสาหกิจของจีน

โดยให้เหตุผลว่า โครงการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่นี้ “ไม่มีข้อมูลด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพียงพอ”

สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ถึงกับบอกตรงไปตรงมาเมื่อพฤศจิกายนนี้ว่า ไทย “ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้”

หากคำนึงถึงว่า ในอดีตที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็น “หุ้นส่วนสำคัญ” ของรัฐบาลลาวมาตลอดในการใช้เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเปลี่ยนประเทศให้เป็น “แบตเตอรี่แห่งอาเซียน” พัฒนาการท่าทีต่อเขื่อนสานะคามของไทยก็จัดว่าน่าแปลกใจไม่น้อย

ข้อมูลของ “อาเซียนทูเดย์” ระบุว่า หัวใจของการไม่เห็นด้วยครั้งนี้ อยู่ที่ “รายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของเขื่อนสานะคาม ซึ่งทางการลาวต้องยื่นต่อ “คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี)” ที่เป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างลาว, ไทย, กัมพูชา และเวียดนาม”

ไม่ใช่ว่าลาวไม่ได้ทำ ลาวทำ แต่ทำแบบแปลกๆ และลวกๆ จนนักวิชาการตลอดจนผู้เชี่ยวชาญหลายคนจับได้ว่า นี่ไม่ใช่เป็นผลการศึกษาใหม่ แต่เป็นผลการศึกษาที่ “คัดลอก” มาจากรายงานการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของ “เขื่อนปากลาย” ซึ่งอยู่เหนือเขื่อนสานะคามขึ้นไปกว่า 50 กิโลเมตร

เท่านั้นยังไม่พอ ตัวรายงานของเขื่อนปากลายดังกล่าวก็ไม่ใช่ผลการศึกษาต้นฉบับ เพราะมีรายงานก่อนหน้านี้ว่า รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของเขื่อนปากลาย “ก๊อบปี้” มาจากรายงานของ “เขื่อนปากเบง” ซึ่งอยู่เหนือน้ำขึ้นไปอีกกว่า 180 กิโลเมตรด้วยอีกต่างหาก

 

ข้อเขียนของอาเซียนทูเดย์ สรุปความเรื่องนี้เอาไว้อย่างนี้ครับ

“ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์การระดมสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำอย่างสนุกสนานในลาวตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ยังคงมีกรรมวิธีที่ยั่งยืนกว่า ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า และต้นทุนต่ำกว่าการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าในลาว และยกตัวอย่างไว้ด้วยว่า เพียงเฉพาะในต้นปี 2019 เท่านั้น ทางการเวียดนามสามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์สร้างศักยภาพทางไฟฟ้าให้แก่ประเทศตนสูงถึง 4,400 เมกะวัตต์”

ความเคลื่อนไหวถัดมาที่อาเซียนทูเดย์นำมาบอกเล่าไว้คือ การประกาศแผนและยุทธศาสตร์ใหม่ของเอ็มอาร์ซี ด้วยการเปลี่ยนเข็มมุ่งขององค์กรไปที่ “ความร่วมมืออย่างทั่วถึงว่าด้วยการบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำ” ผ่านการแบ่งปันข้อมูลและองค์ความรู้ รวมทั้งการกำหนด “ยุทธศาสตร์บริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม” ขึ้นมาเป็นครั้งแรกสำหรับภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนล่างอีกด้วย

แล้วก็ถูกมาร์ก กัวช็อต หัวหน้าแผนกน้ำจืดของดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ แขวะกลับทันทีว่า สิ่งที่ผู้คนในลุ่มน้ำโขงตอนล่างต้องการ ไม่ใช่งานวิชาการเพิ่มเติมใดๆ แต่ “เป็นการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูสุขภาพของลำน้ำโขง ที่เป็นฐานรากสำคัญของสังคมและเศรษฐกิจของพวกเขา”

 

เรื่องสุดท้าย คือการประกาศของอี้จิ้งผิง รัฐมนตรีทรัพยากรน้ำของจีนเมื่อ 1 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า พร้อมที่จะแบ่งปันข้อมูลข่าวสารองค์ความรู้ ประสบการณ์และเทคโนโลยีเกี่ยวกับสภาวะลุ่มน้ำโขงตอนบน หรือที่จีนเรียกว่า “ล้านช้าง” ให้กับประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ภายใต้แพลตฟอร์ม “ความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำล้านช้าง-แม่โขง” ที่จีนริเริ่มขึ้น

ข้อมูลทรัพยากรน้ำดังกล่าวจะช่วยให้ 5 ชาติตอนล่างของลำน้ำโขงได้รับรู้ข้อมูลน้ำของลำน้ำโขงตอนบนในประเทศจีนได้ตลอดทั้งปี ช่วยให้คาดการณ์ระดับน้ำของลำน้ำโขงตอนล่าง ทั้งสภาวะแล้งและเอ่อท้นฝั่งได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

การประกาศดังกล่าวมีขึ้นหลังจากจีนซึ่งสร้างเขื่อนขวางโขงตอนบนอยู่ 11 เขื่อนเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นเหตุให้เกิดแล้งเข็ญขึ้นในประเทศท้ายน้ำเมื่อปี 2019

จนเป็นที่มาของการเข้ามาแทรกของสหรัฐอเมริกาด้วยการจัดตั้ง “หุ้นส่วนสหรัฐ-แม่โขง” และโครงการ “ริเริ่มข้อมูลน้ำแม่โขง” เมื่อไม่นานมานี้

ทำให้แม่โขงกลายเป็นประเด็น “การเมืองเรื่องอิทธิพล” ในภูมิภาคไปอย่างน่าเสียดาย