ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 พฤษภาคม 2560 |
---|---|
คอลัมน์ | เสฐียรพงษ์ วรรณปก |
เผยแพร่ |
3.ความกรุณา
คุณธรรมด้านสุดท้ายของครู นอกจากความรู้ (ปัญญา) และความบริสุทธิ์แล้วยังมีความกรุณา ความรู้สึกสงสารและคิดช่วยเหลือศิษย์
ความสงสารเป็นเรื่องของจิตใจ ส่วนการช่วยเหลือเป็นเรื่องของกายและวาจา อันเป็นผลมาจากความสงสารคิดช่วยเหลือนั้น
บางครั้ง ศิษย์อาจเห็นว่า การช่วยเหลือของครูเป็นการซ้ำเติม หรือกลั่นแกล้งก็ได้ แท้ที่จริงแล้วอาจเป็นอุบายหนึ่งของการช่วยเหลือศิษย์โดยที่ศิษย์ไม่รู้ (ต่อเมื่อรู้ภายหลังแล้วก็อดยกย่องสรรเสริญครูไม่ได้)
ยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่ง
ชายหนุ่มคนหนึ่งไปฝากตัวเป็นศิษย์เรียนวิชาฟันดาบกับอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง ศิษย์คนนี้ไปด้วยความมุ่งมั่นที่จะเรียนอย่างจริงจัง
อาจารย์เห็นศิษย์มีความมุ่งมั่นมากก็ถาม (เพื่อให้ระบายความในใจและจะหาโอกาสเตือนสติ) ว่า “เธออยากเรียนวิชาฟันดาบมากหรือ”
“อยากเรียนมากครับ อาจารย์ ผมมุ่งมั่นมา 4 ปีแล้ว” เมื่อเห็นอาจารย์นั่งนิ่ง ศิษย์ผู้มากไปด้วยความมุ่งมั่น ก็ถามอาจารย์ว่า “อาจารย์ครับ ถ้าผมจะตั้งอกตั้งใจฝึกอย่างจริงจัง จะใช้เวลาสักกี่มากน้อยจึงจะเรียนสำเร็จ”
“5 ปี” อาจารย์ตอบขรึมๆ
“โอ ทำไมนานขนาดนั้น ถ้าผมจะเพิ่มความมุ่งมั่นขึ้นอีกสักสองเท่าจะใช้เวลากี่ปีครับ อาจารย์” ศิษย์ถามอีก
“ถ้ามุ่งมั่นขนาดนั้นก็ต้อง 10 ปี” อาจารย์ตอบเหมือนแกล้ง
เมื่อเห็นศิษย์อึ้ง ทำสีหน้าไม่ค่อยพอใจ อาจารย์จึงว่า การเรียนศิลปวิทยาอะไรก็ตาม ความมุ่งมั่นน่ะ จำเป็นต้องมี แต่อย่าอยากมากจนกลายเป็นความกระวนกระวาย ไม่เช่นนั้นจะเรียนไม่สำเร็จ เอาเป็นว่าเธอเริ่มเรียนได้ตั้งแต่บัดนี้ ทำใจให้สบายๆ ทุกอย่างจะดีเอง
ว่าแล้วก็ให้ศิษย์ไปพักผ่อน ตกเย็นมาก็ใช้ศิษย์ตักน้ำมาใส่ตุ่ม ผ่าฟืนสำหรับหุงต้ม เสร็จงานนั้นก็ให้ทำงานโน่นนี่เรื่อยไป วันๆ แทบไม่มีเวลาว่าง ศิษย์ก็คิดน้อยใจว่า อาจารย์ไม่เต็มใจรับตนเป็นศิษย์ รับอย่างเสียไม่ได้ รับมาแล้วก็ไม่สอนให้ ทำอย่างนี้เหมือนแกล้งกันชัดๆ แล้วเมื่อไรจะเรียนสำเร็จสักทีล่ะ
ขณะคิดน้อยใจอยู่นี้ ศิษย์กำลังผ่าฟืนอยู่ เงื้อขวานไปคิดไป อาจารย์ย่องมาข้างหลังอย่างเงียบๆ เอาไม้เคาะหัวดังโป๊ก ศิษย์เอามือคลำหัวป้อยๆ ขณะอาจารย์หัวเราะหึหึเดินผ่านไป
วันต่อมาขณะศิษย์นั่งยองๆ ก่อไฟที่เตาจะต้มน้ำ อาจารย์ก็ย่องมาข้างหลังอย่างเงียบเชียบเช่นเดิม แพ่นกบาลศิษย์อีกโป๊ก แล้วเดินผ่านไป
เหตุการณ์สองครั้งสองคราเกิดขึ้นติดต่อกัน ศิษย์ก็เกิดความตื่นตัวขึ้นแล้วสิครับว่า อาจารย์อาจย่องมาเมื่อใดก็ได้ เวลาทำอะไร ก็มีสติอยู่ตลอดเวลาคอยสังเกตว่าอาจารย์จะแอบมาหรือเปล่า ไม่ได้ทำงานไป เหม่อลอยไปเหมือนที่แล้วๆ มา
วันหนึ่งขณะศิษย์กำลังกวาดพื้นอยู่ อาจารย์ก็ย่องๆ เข้ามาข้างหลัง คราวนี้เธอไม่เหม่อลอยเหมือนคราวก่อนแล้วครับ กำหนดอาการเคลื่อนไหวของอาจารย์ได้ คอยระวังอยู่ พออาจารย์ฟาดไม้หมายแพ่นกบาล ศิษย์ก็หลบวูบ ตีไม่ถูกครับ
อาจารย์ยิ้มพูดว่า “เออ ใช้ได้” แล้วก็เดินผ่านไป
ตั้งแต่วันนั้นมา อาจารย์ก็เริ่มสอนวิชาฟันดาบให้ ไม่ช้าศิษย์ผู้มากไปด้วยความมุ่งมั่นก็ได้สำเร็จการศึกษา ศิลปะการฟันดาบนี้เป็นตัวอย่างของความกรุณาของอาจารย์ที่มีต่อศิษย์
ครูที่มีความกรุณาต่อศิษย์ จะเป็นครูที่มี “องค์คุณของกัลยาณมิตร 7 ประการ” ตามที่พระบรมศาสดาตรัสไว้คือ
1. น่ารัก น่าวางใจได้อย่างสนิทสนม อยากเข้าไปหาเพื่อปรึกษาหารือ สอบถามเรื่องวิชาการและอื่นๆ
2. น่าเคารพ เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจที่ได้เข้าไปหา รู้สึกว่าเป็นที่พึ่งพาได้อย่างปลอดภัย
3. น่ายกย่อง เป็นผู้ทรงภูมิปัญญา มีความสามารถในวิชาการนั้นๆ และในเรื่องอื่นๆ อย่างน่าทึ่ง เป็นความภาคภูมิของศิษย์ที่มีความรู้สึกว่ามีอาจารย์เก่ง
4. รู้จักพูด คอยให้คำแนะนำ ว่ากล่าวตักเตือน เป็นที่ปรึกษาที่ดีรู้ว่าขณะใดควรพูดอย่างใด ให้คำแนะนำประเภทไหน อันนี้รวมถึงความสามารถที่จะสอนที่จะถ่ายทอดอย่างมีประสิทธิภาพด้วย
5. อดทนต่อถ้อยคำ พร้อมที่จะรับฟังการซักถามต่างๆ ของศิษย์เสมอ ไม่เบื่อหน่าย มีวิญญาณของความเป็นครู รักการสอน การถ่ายทอดวิชาความรู้อย่างแท้จริง
6. แถลงเรื่องลึกซึ้งได้ มีความสามารถในการอธิบายเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างลึกซึ้ง เรื่องยากๆ อธิบายให้เป็นที่เข้าใจง่ายได้ และเรื่องง่ายๆ บางครั้งก็สามารถอธิบายได้อย่างลึกซึ้งละเอียดพิสดาร
7. ไม่ชักนำในทางเสียหาย เป็นครูที่ดีจะต้องไม่ชักจูงให้ศิษย์ไปในทางเสียหาย
อันนี้รวมถึงตัวครูมีความประพฤติเป็นแบบอย่างที่ดีงามของศิษย์ด้วย
พระบรมครู หรือครูชั้นยอด ที่เป็นแบบอย่างที่ดีงามของครูทั้งปวงคือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อเวไนยสัตว์ทุกถ้วนหน้า พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์แสดงออกให้เห็นทางพุทธกิจ 5 ประการ ซึ่งเห็นได้ชัดว่า วันเวลาแต่ละวันของพระองค์นั้นทรงใช้เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นแทบทั้งสิ้น
พุทธกิจ 5 ประการนั้นท่านแต่งเป็นคาถาประพันธ์ ดังนี้
ปุพฺพณฺเห ปิณฺฑปาตญจ สายณฺเห ธมฺมเทสน์
ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ อพฺฒรตฺเต เทวปญหนํ
ปจฺจูเสว คเต กาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ
เช้า เสด็จออกบิณฑบาต บ่าย ทรงแสดงพระธรรมเทศนา
ค่ำ ประทานโอวาทแก่ภิกษุ กลางคืน ทรงตอบปัญหาเทวดา
จวนสว่าง ทรงตรวจดูสัตว์โลก ผู้ที่ควรและไม่ควรโปรด
รายละเอียดของพุทธกิจ 5 ประการนั้น พระอรรถกถาอาจารย์ท่านอธิบายไว้ ท่านเจ้าคุณพระพุทธโฆษาจารย์ได้เคยนำมาถ่ายทอดอีกที่หนึ่งในหนังสือ “เทคนิคการสอนของพระพุทธเจ้า”
ผมขอถือโอกาสลอกมาลงไว้ดังนี้
1.ปุเรภัตตกิจ พุทธกิจภาคเช้าหรือภาคก่อนอาหาร ได้แก่ ทรงตื่นพระบรรทมแต่เช้า เสด็จออกบิณฑบาต เสวยแล้วทรงแสดงธรรม โปรดประชาชนในที่นั้นๆ เสด็จกลับพระวิหาร รอให้พระสงฆ์ฉันเสร็จแล้วเสด็จเข้าคันธกุฎี
2. ปัจฉาภัตตกิจ พุทธกิจภาคบ่ายหรือหลังอาหารระยะที่ 1 เสด็จออกจากพระคันธกุฎี ทรงโอวาทภิกษุสงฆ์ เสร็จแล้วพระสงฆ์แยกย้ายกันไปปฏิบัติธรรมในที่ต่างๆ พระองค์เสด็จเข้าพระคันธกุฎี ทรงโอวาทภิกษุสงฆ์ เสร็จแล้วพระสงฆ์แยกย้ายกันไปปฏิบัติธรรมในที่ต่างๆ พระองค์เสด็จเข้าพระคันธกุฎี อาจทรงบรรทมเล็กน้อย แล้วถึงระยะที่ 2 ทรงพิจารณาตรวจดูความเป็นไปของชาวโลก ระยะที่ 3 ประชาชนในถิ่นนั้นมาประชุมในธรรมสภาทรงแสดงธรรมโปรด
3. ปุริมยามกิจ พุทธกิจยามที่ 1 (ของราตรี) หลักจากพุทธกิจภาคกลางแล้ว อาจทรงสรงสนามแล้วปลีกพระองค์อยู่เงียบๆ พักหนึ่ง จากนั้นพระภิกษุสงฆ์มาเฝ้าทูลถามปัญหาบ้าง ขอกรรมฐานบ้าง ขอให้ทรงแสดงธรรมบ้าง ทรงใช้เวลาตลอดยามแรกนี้ สนองความประสงค์ของพระสงฆ์
4. มัชฌิมยามกิจ พุทธกิจในมัชฌิมยาม เมื่อพระสงฆ์แยกย้ายไปแล้ว ทรงใช้เวลาที่สองตอบปัญหาพวกเทพทั้งหลายที่มาเฝ้า
5. ปัจฉิมยามกิจ พุทธกิจในปัจฉิมยาม ทรงแบ่งเป็น 3 ระยะ
ระยะแรก เสด็จดำเนินจงกรมเพื่อให้พระวรกายได้ผ่อนคลาย
ระยะที่ 2 เสด็จเข้าพระคันธกุฎีทรงพระบรรทมสีหไสยาสน์อย่างมีพระสติสัมปชัญญะ
ระยะที่ 3 เสด็จประทับนั่งพิจารณาสอดส่องเลือกสรรว่า ในวันต่อไปมีบุคคลผู้ใดที่ควรเสด็จไปโปรดโดยเฉพาะเป็นพิเศษ
เมื่อทรงกำหนดพระทัยไว้แล้ว ก็จะเสด็จไปโปรดในภาคพุทธกิจที่ 1 คือ ปุเรภัตตกิจ