รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เข้าข่ายระบอบอำนาจนิยมหรือไม่? (9) : ถึงทีคนเสื้อแดง

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

ตอนก่อนๆ ผู้เขียนได้เขียนถึงประเด็น “รัฐบาลทักษิณเข้าข่ายระบอบอำนาจนิยมหรือไม่?” ไปแล้ว

มาคราวนี้ ถึงตารัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่าเป็นเข้าข่ายระบอบอำนาจนิยมหรือเปล่า?

ก่อนที่จะวิเคราะห์ว่าเข้าข่ายหรือไม่ จะขอย้ำถึงนิยามหรือกรอบความหมายของระบอบ “อำนาจนิยม” อีกครั้ง

กรอบที่ผู้เขียนใช้วิเคราะห์เป็นเกณฑ์ระบอบอำนาจนิยมตามเกณฑ์อำนาจนิยมและอำนาจนิยมอำพราง (authoritarianism และ stealth authoritarianism) ของ Ozan O. Varol

เงื่อนไขสำคัญของระบอบอำนาจนิยมตามที่ Varol ได้วางไว้ นั่นคือ รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญหรือเปิดโอกาสรับฟังความเห็นต่างและความหลากหลายทางการเมือง (political pluralism) และรัฐบาลหรือพรรคที่ปกครองประเทศมักจะกระทำการอย่างมุ่งมั่นชัดเจนที่จะกดหรือบีบฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองไว้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ มุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดการเมืองที่อยู่ภายใต้รัฐบาลพรรคเดียว โดยใช้วิธีการต่างๆ ที่จะกดหรือปิดกั้นพรรคฝ่ายค้านหรือพรรคอื่นๆ และการกระทำดังกล่าวนี้ของรัฐบาลในระบอบอำนาจนิยมมักจะเกิดขึ้นโดยอาศัยวิธีการผ่านช่องทางตามกฎหมายหรือเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้ (extra-legal)

และการใช้อำนาจนั้น แม้ว่าจะไม่ถึงขนาดตามอำเภอใจคาดการณ์ไม่ได้เหมือนอย่างในระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ แต่ก็มักจะไม่มีบรรทัดฐานที่ชัดเจน (ill-defined norms) แต่กระนั้นก็เป็นการใช้อำนาจที่พอคาดการณ์ได้

ตามคำอธิบายของ Juan J. Linz ใน Totalitarian and Authoritarian Regimes หน้า 162 ได้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (totalitarian) กับระบอบอำนาจนิยม (authoritarian)

โดยระบอบเบ็ดเสร็จขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์ (ideology) ในขณะที่ระบอบอำนาจนิยมขับเคลื่อนโดยทัศนคติหรือวิธีคิด (mentality)

และ Zargorka Golubovic ได้ขยายความความหมายของ “authoritarian mentality” ไว้ใน “Traditionalism and Authoritarianism as Obstacles to the Development of Civil Society in Serbia,” in Civil Society in Southeast Europe หน้า 92 ว่า ทัศนคติหรือวิธีคิดแบบอำนาจนิยม (authoritarian mentality) ปรากฏหรือแสดงออกในลักษณะของการยอมรับและเชื่อฟังอำนาจโดยไม่พินิจพิเคราะห์ (uncritical)

การเชื่อฟังอำนาจที่ว่านี้ เริ่มต้นจากการเชื่อฟังอำนาจของผู้นำพรรคและพรรคของรัฐ ต่อมาคือการยอมรับและเชื่อฟังอย่างผู้นำรัฐและรัฐชาติอย่างไม่พินิจพิเคราะห์

 

ก่อนที่คุณยิ่งลักษณ์ จะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในฐานะ “นอมิมี” คนที่สามของคุณทักษิณ พรรคประชาธิปัตย์ได้ร่วมกับพรรคอื่นๆ จัดตั้งรัฐบาลโดยมีคุณอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี และการเมืองแบบทีใครทีมันก็ได้เริ่มขึ้นทันที โดยพี่น้องเสื้อแดงภายใต้แกนนำก็ได้รวมตัวประท้วงรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์

โดยผู้เขียนขอขอบคุณข้อมูลของ คุณฤกษ์ ศุภศิริ จากหนังสือประวัติย่อการเมืองไทยในรอบทศวรรษ : จากทักษิโณมิกส์ถึงพฤษภาจลาจล

ปรากฏการณ์ใหม่ของความรุนแรง-หมิ่นเหม่ต่อสงครามกลางเมือง-รัฐผุเสื่อม-ล้มเหลว?

ในความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองในช่วง พ.ศ.2553 ได้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ของการประท้วงต่อต้านรัฐบาล นั่นคือ “ขอนแก่นโมเดล” ซึ่งเป็นรูปแบบการประท้วงอีกอย่างหนึ่งของกลุ่มคนเสื้อแดง นอกเหนือไปจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ

ขอนแก่นโมเดลคือการระดมคนของแนวร่วมเพื่อตั้งด่านสกัดตำรวจ ทหาร และตรวจค้นรถที่ต้องสงสัยในพื้นที่ภาคอีสาน หรือแม้กระทั่งการสกัดหน่วยทหารและยุทโธปกรณ์ ซึ่งถือเป็นการท้าทายอำนาจรัฐ โดยที่รัฐไม่สามารถจัดการให้ทุกอย่างดำรงอยู่ภายใต้ระบบนิติรัฐได้

ปฏิบัติการขอนแก่นโมเดลเริ่มต้นที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องการทำโมเดลการต่อสู้ของคนเสื้อแดง และจึงเป็นที่มาของชื่อขอนแก่นโมเดล

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2553 แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงในจังหวัดขอนแก่นมีการประกาศผ่านสถานีวิทยุ คลื่นเอฟเอ็ม 98.75 เมกะเฮิรตซ์ และหอกระจายข่าวของชุมชน หมู่บ้าน เพื่อระดมพลคนเสื้อแดงให้มารวมตัวที่บริเวณสวนรัชดานุสรณ์ ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด (หลังเก่า)

ทั้งยังได้มีการขวางทางรถไฟเพื่อมิให้เคลื่อนออกจากสถานีหลังมีกระแสข่าวว่าจะมีการเคลื่อนย้ายตำรวจในพื้นที่ภาคอีสานเพื่อเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่บริเวณแยกราชประสงค์

การเคลื่อนไหวในรูปแบบขอนแก่นโมเดลได้ลุกลามไปยังหลายจังหวัด รวมทั้งในกรุงเทพฯ ด้วย

ทำให้เห็นความไร้ประสิทธิภาพของตำรวจในฐานะผู้รักษากฎหมาย ที่ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มคนเสื้อแดงได้

ตำรวจถูกมองว่ารู้เห็นเป็นใจในการกระทำของคนเสื้อแดง

ผลที่เกิดขึ้นจากปฏิบัติการขอนแก่นโมเดลคือ กลไกของรัฐในพื้นที่ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้

ส่งผลให้การชุมนุมประท้วงของกลุ่มคนเสื้อแดงขยายตัวและไร้ขอบเขตมากขึ้น

จนถึงขนาดมีการบุกโรงพยาบาลจุฬาฯ ในวันที่ 29 เมษายน 2553

โดยแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงได้นำคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งเข้าตรวจพื้นที่ภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นเวลานาน 1 ชั่วโมง โดยอ้างว่ามีการซ่องสุมกำลังทหารอยู่ภายในโรงพยาบาล

ได้มีการเข้าค้นพื้นที่อาคาร สก. ทั้งในชั้นใต้ดินและดาดฟ้า

แต่ภายหลังการตรวจค้น ไม่พบทหารอย่างที่กล่าวอ้าง

การบุกเข้าโรงพยาบาลดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นการกระทำครั้งแรกในโลก เพราะโดยทั่วไป แม้แต่ในยามสงคราม โรงพยาบาลก็ยังได้รับการคุ้มครอง การกระทำดังกล่าวจึงถือว่าผิดหลักสากล

จากสภาวการณ์ที่ถือได้ว่าเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมืองของรัฐบาล ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2553 คุณอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีตัดสินใจเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยการสร้างกระบวนกาปรองดองเพื่อให้ประเทศกลับคืนสู่ความสงบสุขผ่านแนวทาง 5 ประการ ที่หากการปรองดองบรรลุได้ตามแนวทางที่วางไว้ รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ก็พร้อมให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2553

แต่ถ้ายังไม่สงบ รัฐบาลก็จะดำเนินการ 5 ข้อ แต่อาจจะขลุกขลักล่าช้า และการเลือกตั้งก็ไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร

การยื่นข้อเสนอดังกล่าว ฝ่ายรัฐบาลอ้างว่าเป็นการเสนอทางออกให้แก่ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลที่ไม่อยากใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม เพราะกลัวจะทำให้เกิดความเสียหาย

ส่วนกลุ่มเสื้อแดงก็ประท้วงกดดันรัฐบาลมานานแล้วและมวลชนก็เหนื่อยล้า

ทั้งการกดดันรัฐบาลให้ยุบสภาก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว ดังนั้น จึงถือว่าเป็นทางออกที่ดีสำหรับทุกฝ่าย

แต่ภายหลังการนำเสนอแผนปรองดองดังกล่าวนี้ แกนนำกลุ่ม นปช. ปฏิเสธแนวทางการปรองดองดังกล่าว

ส่งผลให้สถานการณ์เริ่มเขม็งเกลียวมากขึ้น

โดยที่จริงแล้ว ผู้เขียนได้ทราบมาว่า หนึ่งในแกนนำกลุ่ม นปช. รับข้อเสนอที่เกิดจากการหารือร่วมกันนี้ได้ เพียงแต่อีกสองท่านไม่มีความเป็นอิสระในการตัดสินใจ!

 

การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงได้ขยายตัวมากขึ้น มีการตั้งเวทีปราศรัยย่อยหลายแห่ง เพื่อรวบรวมกลุ่มเสื้อแดง ทั้งผู้อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดที่ไม่สามารถเข้าร่วมชุมนุมที่เวทีใหญ่แยกราชประสงค์ที่มีการชุมนุมยืดเยื้อมาตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2553 เนื่องจากมีกำลังทหารปิดล้อมทุกเส้นทาง

รัฐบาลพยายามเจรจากับกลุ่มคนเสื้อแดงหลายครั้งโดยขอให้ย้ายออกจากพื้นที่ราชประสงค์และยื่นข้อเสนอแก่ผู้ชุมนุมโดยการกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2553

แต่ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้รับการตอบสนองจากแกนนำคนเสื้อแดง

ทั้งสถานการณ์การชุมนุมทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เมื่อมีเหตุการณ์ลอบยิง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก กลางที่ชุมนุม เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 และต่อมาได้เสียชีวิตลง