100 ปีชาตกาล “เรย์ แฮร์รีเฮาเซน” ผู้ให้กำเนิด “น้าผี” ในจอภาพยนตร์ | คนมองหนัง

คนมองหนัง

“เรย์ แฮร์รีเฮาเซน” (1920-2013) คือนักทำหนังและแอนิเมเตอร์ชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกคนสำคัญของวงการภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์-แฟนตาซี จากยุคปลายทศวรรษ 1940 ถึงต้นทศวรรษ 1980

ผ่านผลงานยิ่งใหญ่จำนวนมากที่สร้างสรรค์ให้เหล่าสัตว์ประหลาด-ปีศาจในจินตนาการ และสรรพสัตว์ยุคโบราณที่สูญพันธุ์ไปแล้ว กลับมีชีวิตโลดแล่นในจอหนัง

โดยประดิษฐกรรมที่ได้รับการจดจำมากที่สุดของเขา น่าจะได้แก่ “กองทัพโครงกระดูก” ในภาพยนตร์เรื่อง “Jason And The Argonauts” (เจสันกับขนแกะทองคำ/อภินิหารขนแกะทองคำ) เมื่อปี 1963

น่าเหลือเชื่อว่ากอริลลาใน “Mighty Joe Young” (1949) ม้าบินเพกาซัสใน “Clash of the Titans” (1981) ร่วมด้วยเหล่าปีศาจ-สิ่งมีชีวิตในตำนานเทพปกรณัม ไปจนถึงไดโนเสาร์ยุคบรรพกาล และจานบินจากนอกโลก ซึ่งปรากฏในภาพยนตร์หลากหลายเรื่องที่แฮร์รีเฮาเซนร่วมสร้างสรรค์อยู่เบื้องหลังนั้น ถือกำเนิดขึ้นก่อนยุค “ซีจีไอ” (เทคนิคการสร้างภาพพิเศษด้วยคอมพิวเตอร์) ซึ่งคนทำหนังรุ่นหลังๆ คุ้นชิน

ทว่าแฮร์รีเฮาเซนกลับสร้างโลกจินตนาการในภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์-แฟนตาซีเหล่านั้น ด้วยเทคนิค “สต็อป-โมชั่น” และหุ่นโมเดลขนาดเล็กจิ๋ว ผนวกกับองค์ความรู้ในการจัดแสงและองค์ประกอบภาพ

ด้วยเหตุนี้ สัตว์ประหลาดและสัตว์ดึกดำบรรพ์ทั้งหลายที่เขารังสรรค์ขึ้น จึงเผชิญหน้ากับเหล่านักแสดงที่เป็นมนุษย์ได้อย่างมีชีวิตชีวา

จนนับเป็นย่างก้าวที่ไปไกลกว่าคนทำเทคนิคพิเศษทางด้านภาพในอุตสาหกรรมหนังยุคเดียวกัน

ผลงานของ “เรย์ แฮร์รีเฮาเซน” เป็นที่รักของแฟนหนังยุคเก่าๆ ทั้งยังส่งอิทธิพลและได้รับความเคารพจากนักทำหนังรุ่นต่อมา อาทิ “สตีเวน สปีลเบิร์ก” “จอร์จ ลูคัส” “ปีเตอร์ แจ็กสัน” และ “กิเยร์โม เดล โตโร” เป็นต้น

ภาพ “เรย์ แฮร์รีเฮาเซน” โดย CARL COURT / AFP

ยิ่งกว่านั้น แฮร์รีเฮาเซนยังได้รับยกย่องจากนักสัตววิทยา, นักบรรพชีวินวิทยา (ผู้ศึกษาสิ่งมีชีวิตยุคดึกดำบรรพ์) ตลอดจนนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจศึกษาเรื่องชีวกลศาสตร์และกายวิภาคศาสตร์เปรียบเทียบ จำนวนไม่น้อย

หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่ชื่นชมนักทำหนัง/แอนิเมเตอร์ผู้นี้เป็นอย่างยิ่ง ก็คือ “เจสัน กิลคริสต์” นักนิเวศวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ เนเปียร์

กิลคริสต์มักบอกกับนักศึกษาว่าผลงานของแฮร์รีเฮาเซนคือตัวอย่างในการชุบชีวิตให้บรรดาไดโนเสาร์และเทอโรซอร์ (สัตว์เลื้อยคลานบินได้) หวนกลับมามีชีวิต มีลมหายใจ และสามารถเคลื่อนไหวได้อย่าง “สมจริง”

นักวิชาการสายวิทยาศาสตร์ผู้นี้ระบุว่าแฮร์รีเฮาเซนเป็นผู้มีจินตนาการสูงส่ง แต่ขณะเดียวกัน เขาก็มีวิสัยทัศน์และมันสมองที่มุ่งแสวงหาภาวะสัจนิยม

เห็นได้จากฉากช้างต่อสู้กับไดโนเสาร์ใน “The Valley of Gwangi” (1969) ฉากปูยักษ์ใน “Mysterious Island” (1961) หรือฉากลิงบาบูนใน “Sinbad And The Eye Of The Tiger” (1977)

เช่นเดียวกับการปรากฏตัวของสัตว์ดึกดำบรรพ์จำนวนมาก จานบินของมนุษย์ต่างดาว ยักษ์ตาเดียวไซคลอปส์ เมดูซา และกองทัพผีโครงกระดูกอันลือลั่น

แม้สิ่งมีชีวิตนานาพันธุ์ในหนังจะมิได้มีอากัปกิริยาเหมือนกับสัตว์จริงๆ เสียทีเดียว แต่พวกมันก็เคลื่อนไหวอย่าง “สมจริง” หรือ “สมเหตุสมผล” อยู่ภายในระบบตรรกะของโลกแห่งจินตนาการที่ “เรย์ แฮร์รีเฮาเซน” ร่วมออกแบบขึ้นมา

เป็นที่รู้กันว่า “เรย์ แฮร์รีเฮาเซน” คือมนุษย์ผู้รอบคอบและใส่ใจรายละเอียด เขายอมเสียสละเวลาไปอย่างมหาศาลเพื่อความสมบูรณ์แบบของงานส่วนเสี้ยวเล็กๆ

เช่น การทุ่มเทเวลา 4 เดือนครึ่ง ไปกับการสร้างสรรค์ฉากต่อสู้ของกองทัพโครงกระดูกในหนัง “อภินิหารขนแกะทองคำ” ทั้งๆ ที่ฉากดังกล่าวได้ปรากฏในภาพยนตร์เพียง 4 นาทีครึ่ง

กิลคริสต์ชี้ว่า แฮร์รีเฮาเซนนั้นทำงานแบบเดียวกันกับนักกายวิภาคศาสตร์รุ่นปัจจุบัน คือ การพยายามศึกษาทำความเข้าใจถึงกลไกการทำงานของโครงกระดูก กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่ออื่นๆ ภายในร่างกายสิ่งมีชีวิต

พร้อมๆ กันนั้น งานสร้างภาพเคลื่อนไหวของสัตว์ยุคดึกดำบรรพ์ที่เขาทุ่มเททำ ก็สอดคล้องกับภารกิจของนักบรรพชีวินวิทยาในยุคนี้

ในกระบวนการพลิกฟื้นคืนชีวิตให้แก่ไดโนเสาร์หนึ่งตัว แฮร์รีเฮาเซนมิได้สนใจแค่เพียงว่ามันควรมีรูปลักษณ์เช่นไร?

แต่เขาใส่ใจไปถึงประเด็นที่ว่ามันควรเคลื่อนไหวร่างกายอย่างไร?

มันจะส่งเสียงอะไรออกมาบ้าง?

มันจะมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวอย่างไร?

และกลไกอวัยวะภายในร่างกายของมันนั้นประสานงานกันแบบไหน?

เจสันและกองทัพโครงกระดูก

ด้วยเหตุนี้ นักนิเวศวิทยาอย่าง “เจสัน กิลคริสต์” จึงเขียนบทความยกย่องว่าแฮร์รีเฮาเซนคือผู้เชื่อมต่อพรมแดนระหว่างวิทยาศาสตร์กับศิลปะ และสร้างสรรค์แรงบันดาลใจใหญ่หลวงให้แก่นักวิทยาศาสตร์และนักทำหนังรุ่นหลัง

เนื่องในโอกาสที่ปี 2020 คือวาระ 100 ปี ชาตกาล “เรย์ แฮร์รีเฮาเซน” และมีการจัดแสดงนิทรรศการศิลปะ “Ray Harryhausen : Titan Of Cinema” ที่แกลเลอรีศิลปะสมัยใหม่แห่งสกอตแลนด์ (จนถึงเดือนกันยายน 2021)

ประจักษ์พยานที่พิสูจน์ว่า “เรย์ แฮร์รีเฮาเซน” ส่งอิทธิพลสำคัญต่อวงการบันเทิงไทยอยู่ไม่น้อย ก็คือตัวละคร “น้าผี” อันเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของจักรวาลละครจักรๆ วงศ์ๆ ค่ายสามเศียร

เท่าที่ตรวจสอบข้อมูล ดูเหมือน “ไพรัช สังวริบุตร” และคีย์แมนรายอื่นๆ ของ “สามเศียร/ดีด้า/ดาราวิดีโอ” ผู้ปลุกปั้น “น้าผี” ขึ้นมา จะไม่เคยกล่าวพาดพิงถึงชื่อแฮร์รีเฮาเซน ตลอดจนหนังอย่าง “อภินิหารขนแกะทองคำ” แบบตรงๆ

แต่มิอาจปฏิเสธได้ว่า “น้าผี” ซึ่งน่าจะเริ่มปรากฏตัวในแถวๆ ทศวรรษ 2520 (1980) นั้นได้รับแรงบันดาลใจทั้งทางศิลปะและเทคโนโลยีมาจากตัวละคร “กองทัพโครงกระดูก” ของอุตสาหกรรมบันเทิงต่างแดน

“น้าผีใส่หน้ากาก” จากช่องยูทูบ SAMSEARN OFFICIAL

ก่อนที่ “น้าผี” แห่งจักรวาลจักรๆ วงศ์ๆ ไทย จะค่อยๆ พัฒนาบุคลิกลักษณะเฉพาะของตนเองมาตามลำดับ จนก่อเกิดเป็นอัตลักษณ์พิเศษบางประการ

เช่น จนถึงปัจจุบัน ภาพเรือนร่างที่เหลือเพียงโครงกระดูกดังกล่าวดูจะถูกจดจำไปพร้อมๆ กับเสียงพูด/พากย์ที่บู้บี้ขึ้นจมูก เป็นต้น

นอกจากนี้ ทายาทของกองทัพโครงกระดูกที่ยังโลดโผนโจนทะยานอยู่ในจอโทรทัศน์ไทย ก็มีอัตลักษณ์บางด้านที่แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยอย่างน่าทึ่ง

ดังจะเห็นได้จากภาพ “น้าผีสวมใส่หน้ากากป้องกันโควิด” ในละครเรื่อง “พระสุธน-มโนห์รา” ฉบับล่าสุด

ข้อมูลจากบทความ “Monsters, movies, and biomechanics: celebrating Ray Harryhausen” โดย Jason Gilchrist https://theconversation.com/monsters-movies-and-biomechanics-celebrating-ray-harryhausen-149297

ภาพ “เรย์ แฮร์รีเฮาเซน” โดย CARL COURT / AFP

ภาพ “น้าผีใส่หน้ากาก” จากช่องยูทูบ SAMSEARN OFFICIAL