วิเคราะห์ | พิษโควิดท่าขี้เหล็กบานปลาย ดับฝันไฮซีซั่น “เชียงใหม่-เชียงราย”

ยังคงส่งผลกระทบเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ สำหรับกรณีพบคนไทยลักลอบเข้าประเทศผ่านช่องทางธรรมชาติติดเชื้อโควิด-19 จากแหล่งบันเทิง 1G1 ในจังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา

โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงรายที่ยังคงตรวจพบผู้ติดเชื้อเพิ่มแทบทุกวันหลังจากพบผู้ติดเชื้อรายเรกที่เชียงใหม่เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ประเด็นที่น่าวิตกคือ คนเหล่านี้ได้เดินทางไปในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดการแพร่ระบาดสู่คนใกล้ชิดและกระจายออกไปในจังหวัดต่างๆ อย่างรวดเร็ว จากเชียงใหม่ เชียงราย กระจายสู่พะเยา, กรุงเทพฯ, พิจิตร, ราชบุรี, สิงห์บุรี ฯลฯ

กระทั่งถึงวันที่ 8 ธันวาคม 2563 พบผู้ติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมาแล้วราว 40 ราย

และในจำนวนนี้พบในเชียงรายมากที่สุด รองลงมาคือเชียงใหม่ และกรุงเทพฯ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยซึ่งกำลังอยู่ในทิศทางที่ค่อยๆ ฟื้นตัวจากการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือไทยเที่ยวไทย ได้รับผลกระทบทันที จากความตื่นตระหนกและวิตกกังวล ยกเลิกการเดินทางท่องเที่ยว ยกเลิกโรงแรมที่พักเป็นทิวแถว

โดยเฉพาะเส้นทางท่องเที่ยวเชียงรายและเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นช่วงไฮซีซั่น หรือเป็นโอกาสทองของการท่องเที่ยวภาคเหนืออย่างแท้จริง เพราะเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวอากาศหนาวเย็น บวกกับมีวันหยุดยาวตามประกาศของรัฐบาล นักท่องเที่ยววางแผนการเดินทางและจองโรงแรมที่พักล่วงหน้ากันเป็นจำนวนมาก และมียอดจองล่วงหน้าลากยาวไปจนถึงปลายเดือนมกราคม 2564

ผู้ประกอบการโรงแรมในพื้นที่เชียงรายและเชียงใหม่หลายรายกล่าวในทิศทางเดียวกันว่า ข่าวการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในเชียงรายและเชียงใหม่ทำให้คนไทยรวมถึงชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศบางส่วน panic ไม่กล้าเดินทางและทำการยกเลิกห้องพัก เพื่อรอประเมินสถานการณ์และวางแผนการเดินทางในช่วงเวลาที่เหมาะสมอีกครั้ง

โดยนักท่องเที่ยวจำนวนมากแจ้งยกเลิกการจองห้องพักในช่วงวันหยุดยาว 10-13 ธันวาคมนี้ไปแล้ว และบางส่วนได้ทำการยกเลิกการจองห้องพักในช่วงปลายปีไปบ้างแล้วเช่นกัน

ฟากหน่วยงานภาครัฐ กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงการท่องเที่ยวฯ, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ต่างเร่งออกมาให้ข้อมูลและสร้างความเชื่อมั่นว่าจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อนั้นยังสามารถเดินทางไปทำธุรกิจหรือท่องเที่ยวได้ตามปกติ

ทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมและท่องเที่ยวในพื้นที่เชื่อว่าสถานการณ์จะกลับสู่ปกติได้โดยเร็ว โดยเชื่อมั่นว่าระบบสาธารณสุขและระบบการบริหารจัดการการแพร่ระบาดโควิดของไทยจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้

สอดรับกับ “สมบัติ อติเศรษฐ์” ประธานบริหารโรงแรมในเครือกะตะธานี คอลเลคชั่น เจ้าของโรงแรมเดอะริเวอร์รี บาย กะตะธานี จังหวัดเชียงราย ให้ข้อมูลว่า ประเด็นดังกล่าวทำให้นักท่องเที่ยวบางส่วนยกเลิกการจองห้องพัก จัดงานประชุมสัมมนา และยกเลิกอีเวนต์บางส่วนไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวประเมินว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลเป็นเวลาสั้นๆ เท่านั้น เพราะเชื่อว่าผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานด้านสาธารณสุขของไทยจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้

ขณะที่ “ชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร” อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ที่เพิ่งหมดวาระไปเมื่อ 4 ธันวาคมที่ผ่านมาให้ข้อมูลว่า ช่วงแรกที่เกิดเหตุพบผู้ติดเชื้อโควิดที่เชียงใหม่, เชียงรายนั้น สทท.ได้เดินทางขึ้นไปมอนิเตอร์สถานการณ์ของภาคธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่เชียงใหม่ ได้รับรายงานจากผู้ประกอบการโรงแรมกว่า 60 แห่งว่าถูกยกเลิกห้องพักในจำนวนไม่มากนัก และต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้พอสมควร

แหล่งข่าวในธุรกิจท่องเที่ยวรายหนึ่งระบุว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวส่วนใหญ่วิตกว่าผลกระทบของโควิดท่าขี้เหล็กจะกลายเป็นปัจจัยลบสำคัญที่ทำให้แผนการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือไทยเที่ยวไทย ไม่เป็นไปตามเป้าที่รัฐบาลตั้งไว้ ประกอบกับที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 8 ธันวาคมที่ผ่านมาได้ขยายเวลาของโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” จากเดิมที่จะสิ้นสุดสิ้นเดือนมกราคม 2564 ไปสิ้นสุด 30 เมษายน 2564 ทำให้คนไทยตัดสินใจชะลอการเดินทางโดยยังสามารถใช้สิทธิตามโครงการได้ต่อไปอีกถึง 3 เดือน

นอกจากนี้ หากสถานการณ์บานปลาย ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะกระทบเพียงแค่พื้นที่เชียงใหม่และเชียงรายเท่านั้น จะไม่ลามไปยังพื้นที่อื่นๆ และจะทำให้คนไทยชะลอการเดินทางไปยังจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อ อาจทำให้บรรยากาศการเดินทางโดยรวมชะงักอีกครั้งหลังจากสถานการณ์คลี่คลายตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา

หากสถานการณ์ลุกลามบานปลายจะส่งผลกระทบต่อการให้บริการเส้นทางบินภายในประเทศของผู้ประกอบการสายการบินด้วยเช่นกัน

โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา สายการบินของไทยทุกค่ายต่างเร่งทำการเปิดเส้นทางบินภายในประเทศเป็นจำนวนมาก เพื่อให้สอดรับกับแผนการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศของรัฐบาล โดยเฉพาะเส้นทางสู่เมืองรอง อาทิ เชียงราย, นครศรีธรรมราช, นครพนม, เลย, น่าน ฯลฯ และทั้งเส้นทางบินจากกรุงเทพฯ (ดอนเมือง, สุวรรณภูมิ) และเส้นทางบินข้ามภาค

เมื่อประเมินจากรายงานของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ยังพบว่าผู้ประกอบการสายการบินภายในประเทศได้ขอตารางการบินเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงที่ผ่านมา

สอดรับกับแนวทางการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นของรัฐบาล อาทิ เส้นทางสุวรรณภูมิสู่ขอนแก่น, อุบลราชธานี, นครศรีธรรมราช โดยสายการบินไทย เวียตเจ็ทแอร์ สุวรรณภูมิสู่นครศรีธรรมราช, น่าน, นครพนม โดยสายการบินไทยสมายล์ ดอนเมืองสู่แม่ฮ่องสอน, น่าน โดยสายการบินนกแอร์, เส้นทางสุวรรณภูมิ-น่านนคร โดยสายการบินไทยแอร์เอเชีย

นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางบินอีกจำนวนหนึ่งที่ผู้ประกอบการเตรียมแผนเปิดให้บริการในต้นปีหน้า เช่น สุวรรณภูมิสู่กระบี่, สุราษฎร์ธานี โดยสายการบินไทยแอร์เอเชีย สุวรรณภูมิสู่แม่สอด, ขอนแก่น โดยสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เป็นต้น

รวมถึงเส้นทางบินข้ามภาคที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน อาทิ เชียงใหม่-นครศรีธรรมราช และอุดรธานี-นครศรีธรรมราช โดยสายการบินไทยสมายล์ เชียงใหม่-ขอนแก่น โดยสายการบินนกแอร์

และอยู่ระหว่างการขอเปิดให้บริการอีกจำนวนหนึ่ง เช่น เชียงใหม่-หัวหิน และหัวหิน-อุดรธานี โดยสายการบินไทยแอร์เอเชีย อุบลราชธานี-สุราษฎร์ธานี โดยสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ เป็นต้น

“ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยอมรับว่าเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวคนไทยที่มีแผนเดินทางไปเที่ยวเชียงใหม่ เชียงราย และพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยวและกำลังคึกคัก อย่างไรก็ตาม สุดท้ายยังเชื่อมั่นว่าบรรยากาศการท่องเที่ยวโดยรวมในช่วงวันหยุดยาวและไฮซีซั่นนี้จะยังคงคึกคักและเป็นไปตามเป้าหมาย โดยนักท่องเที่ยวบางส่วนอาจเปลี่ยนจุดหมายปลายทางเพื่อหลีกเลี่ยงพื้นที่เป็นปัญหา เนื่องจากการท่องเที่ยวนั้นเป็นสิ่งที่ทดแทนกันได้

แน่นอนว่าหากมีการแพร่ระบาดของโควิดภายในประเทศรอบนี้ นอกจากจะส่งผลต่อการกระตุ้นไทยเที่ยวไทยแล้ว ยังกระทบซิ่งถึงแผนการเพิ่มความถี่และขายเส้นทางบินของกลุ่มธุรกิจสายการบินด้วย

ทางรอดเดียวในขณะนี้คือ คงต้องลุ้นให้ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ และเอาใจช่วยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควบคุมสถานการณ์ได้โดยเร็ว เพื่อประคับประคองภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยในช่วงไฮซีซั่นนี้ให้เป็นอีกฟันเฟืองหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป