รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เข้าข่ายระบอบอำนาจนิยมหรือไม่? (11)

AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT

รัฐบาล คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จัดได้ว่าเป็นรัฐบาล “นอมินี” รุ่นสามของคุณทักษิณ

ส่วนรุ่นแรกคือ คุณสมัคร สุนทรเวช

รุ่นสองใกล้เข้ามาอีกนิดคือใช้ญาติ นั่นคือ คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ผู้เป็นน้องเขย ถัดจากน้องเขย ก็เริ่มหมดตัวเล่นที่วางใจได้ คุณทักษิณจึงจำต้องเข็นน้องสาวขึ้นมาเป็น “นอมินี”

และบทความในคราวนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “รัฐบาลนอมินีสมัยที่สาม-คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร-พรรคเพื่อไทย และเงื่อนไขรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557”

พรรคเพื่อไทยโดยการเสนอให้คุณยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรีได้จัดตั้งรัฐบาลผสมได้อย่างรวดเร็ว โดยร่วมกับพรรคชาติไทยพัฒนา (19 ที่นั่ง) พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน (7 ที่นั่ง) พรรคพลังชล (7 ที่นั่ง) พรรคมหาชน (1 ที่นั่ง) และพรรคประชาธิปไตยใหม่ (1 ที่นั่ง) รวม 300 ที่นั่ง

และเริ่มบริหารราชการตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2554 ภายใต้นโยบายที่หาเสียงไว้ ทั้งที่ประกาศโดย คุณทักษิณ ชินวัตร เองที่หอประชุมธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2554 “นโยบายก้าวข้ามวิกฤตสู่สันติสุขของสังคมไทย” อันแสดงให้เห็นชัดเจนถึงการชักใยอยู่เบื้องหลัง “รัฐบาลหุ่นเชิด-นอมินีคุณยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทย” ภายใต้คำขวัญในการหาเสียงและภาพโปสเตอร์ของพรรคเพื่อไทย “ทักษิณคิด… เพื่อไทยทำ… “คนเคยทำสนับสนุน” และรวมทั้งที่ประกาศโดยพรรคเพื่อไทยเอง

แต่ที่โดดเด่นเป็นประเด็นถกเถียงตั้งแต่ในช่วงหาเสียง คือ นโยบายจำนำข้าว และนโยบายนิรโทษกรรม

สำหรับนโยบายจำนำข้าว มีคำถามสำคัญจากนักเศรษฐศาสตร์สถาบันทีดีอาร์ไอต่อนโยบายดังกล่าวนี้ของรัฐบาล รวมทั้งมีนักวิชาการที่ออกมาปกป้อง มีการถกเถียงกันอย่างต่อเนื่องและการเตือนให้เห็นถึงความเสียหายร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา

ส่วนนโยบายนิรโทษกรรม แม้ว่าคุณยิ่งลักษณ์ยืนยันว่าไม่ได้มีนโยบายที่จะช่วยคนใดคนหนึ่งเป็นการเฉพาะ

แต่ฝ่ายตรงข้ามและสังคมทั่วไปมีความแคลงใจว่านโยบายดังกล่าวมีวาระซ่อนเร้นเพื่อช่วยคุณทักษิณให้พ้นโทษและคดีต่างๆ รวมทั้งการคืนทรัพย์สมบัติที่ถูกยึดไป

 

รัฐบาลที่เกิดขึ้นจึงเป็นรัฐบาลนอมินีอย่างยากที่จะปฏิเสธ เพราะคุณทักษิณเองก็ประกาศชัดเจนถึงคุณยิ่งลักษณ์ว่า “เธอเป็นโคลน (clone/ผู้เขียน) ของผม” และ “เธอสามารถตอบ “ใช่” หรือ “ไม่” ในนามของผมได้” (https://th.wikipedia.org/wiki/ยิ่งลักษณ์_ชินวัตร)

นอกจากเป็นที่รับรู้ว่าเป็น “นอมินี” หรือ “หุ่นเชิด” ของคุณทักษิณแล้ว แต่จากการขาดประสบการณ์และทักษะทางการเมืองที่เทียบไม่ได้กับคุณสมัคร ทำให้นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ตกเป็นเป้าในการวิพากษ์วิจารณ์โจมตีต่างๆ ตั้งแต่เรื่องที่สำคัญจริงๆ ไปจนถึงเรื่องไร้สาระ แต่ปัญหาที่ชัดเจนคือ จากการไม่สามารถตอบคำถามของผู้สื่อข่าวหรือการแถลงนโยบายที่ดูเหมือนว่าตัวเองก็ยังไม่เข้าใจในสิ่งที่ตัวเองกล่าวออกไปสู่สาธารณะ

ขณะเดียวกัน แน่นอนว่า กลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามก็จ้องที่จะหาเงื่อนไขโอกาสในการโจมตีและขับไล่คุณยิ่งลักษณ์อยู่แล้ว

ไม่ต่างจากสถานการณ์ทางการเมืองก่อนหน้า นั่นคือ นับตั้งแต่ พ.ศ.2550-2554 ที่กลุ่มการเมืองแต่ละฝ่ายออกมาเคลื่อนไหวไล่ล่าต่อต้านรัฐบาลฝ่ายตรงข้ามในทำนองการเมืองแบบไม่อยู่ในกรอบกติกาในลักษณะ

“ทีใคร ทีมัน”


เพียงระยะเวลาหนึ่งปีกว่าของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้เกิดการรวมตัวจัดตั้งกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “องค์กรพิทักษ์สยาม” โดยเปิดตัวขึ้นในวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2555 ที่ท้องสนามหลวง โดยมี พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ เป็นประธาน มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรให้พ้นจากตำแหน่ง

โดยมีเหตุผลหลัก คือ

หนึ่ง เป็นรัฐบาลหุ่นเชิดหรือนอมินี

สอง รัฐบาลปล่อยปละละเลยให้มีการจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์

และสาม การบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายการจำนำข้าว

สมาชิกและแนวร่วมส่วนใหญ่เป็นกลุ่มบุคคลเดิมที่เคยเข้าร่วมการชุมนุมขับไล่คุณทักษิณในปี พ.ศ.2549 และการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ศ.2551 จากภาคีเครือข่ายเดิมที่เคยเคลื่อนไหวในลักษณะเช่นนี้มาก่อนแล้ว เช่น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.), กลุ่มสันติอโศก และเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน (กลุ่มเสื้อหลากสี)

พล.อ.บุญเลิศ ได้กล่าวถึงเป้าหมายขององค์การพิทักษ์สยาม ซึ่งต่อมาสื่อมวลชนได้เรียกว่าแนวคิดการ “แช่แข็งประเทศเป็นเวลา 5 ปี”

หมายถึง การที่จะให้นักการเมืองหรือภาคการเมืองต่างๆ หยุดเคลื่อนไหวเป็นระยะเวลาประมาณ 5 ปี เพื่อที่จะปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศ

องค์การพิทักษ์สยาม ได้ชุมนุมเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2555 ที่ราชตฤณมัยสมาคม โดยเป็นการชุมนุมในรูปแบบตั้งอยู่กับที่ ไม่มีการเคลื่อนไหวไปไหน มีการปราศรัยสลับกับการแสดงดนตรี จนกระทั่งได้เวลาเลิกประมาณ 20.00 น.

มีผู้เข้าร่วมประมาณ 30,000 คน


จากความสำเร็จในการชุมนุมครั้งนั้น พล.อ.บุญเลิศ ได้ขยายผลไปสู่การชุมนุมใหญ่ครั้งที่สอง โดยให้เป็นไปในลักษณะเป็นการชุมนุมใหญ่แบบไม่ยืดเยื้อ วันเดียวจบ โดยตั้งเป้าผู้ชุมนุมไว้ที่ 1 ล้านคน จากนั้นจะนำผู้ชุมนุมไปสู่หน้าทำเนียบรัฐบาล แล้วเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก ถ้าหากผู้ชุมนุมได้จำนวนไม่เป็นไปตามเป้า ก็จะยุติการชุมนุม และทางตัว พล.อ.บุญเลิศ ก็จะไม่กลับมารับหน้าที่นี้อีก

การชุมนุมใหญ่ครั้งที่สอง เกิดขึ้นในวันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2555 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยนัดหมายไว้ ณ เวลา 09.01 น. ซึ่งทางรัฐบาล โดยคุณยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีได้ประกาศพระราชบัญญัติความมั่นคง (พ.ร.บ.ความมั่นคง) ขึ้นในวันที่ 23 พฤศจิกายน เพียงหนึ่งวันก่อนการชุมนุม

โดยกำหนดพื้นที่เป็นบริเวณรอบๆ ที่ชุมนุม รวมถึงทำเนียบรัฐบาล มีการปิดการจราจรของถนนรวม 5 เส้นทาง รวมถึงการตรวจตราอย่างเข้มงวดตามเส้นทางหลักจากต่างจังหวัดภูมิภาคต่างๆ ที่มุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพมหานครด้วย โดยใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นกำลังหลัก

ในวันที่ 24 พฤศจิกายน กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนก็ได้เดินทางมาถึงถนนราชดำเนิน ช่วงบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์แล้ว แต่มิอาจไปต่อได้ เนื่องจากติดที่ขวางกั้นซึ่งเป็นแท่งปูนแบร์ริเออร์ และรั้วลวดหนาม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ต่อมาเกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้ชุมนุม เมื่อผู้ชุมนุมบางส่วนได้พยายามฝ่าที่กั้นเข้าไปด้วยรถบรรทุก เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาในการปราบปราม ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ

ในส่วนของทางกลุ่มผู้ชุมนุมที่ลานพระบรมรูปฯ ก็ได้ทราบถึงเหตุการณ์ที่สะพานมัฆวานฯ แล้ว แต่ก็ยังไม่อาจเข้าไปให้การช่วยเหลือได้แต่อย่างใด

จนกระทั่งเวลาประมาณ 15.00 น. เหตุการณ์ก็ยังไม่มีความเปลี่ยนแปลง

ซ้ำยังเลวร้ายขึ้น เมื่อฝนตกลงมาห่าใหญ่ เป็นเวลาใกล้มืดซึ่งจะไม่มีแสงสว่าง

บนเวทีมีการประกาศว่ารัฐบาลจะตัดน้ำ ตัดไฟบริเวณที่ชุมนุม

 

ในที่สุด ในเวลา 17.20 น. พล.อ.บุญเลิศ ประธานองค์การพิทักษ์สยาม ได้ขึ้นเวทีประกาศยุติการชุมนุม โดยให้เหตุผลถึงความปลอดภัยของผู้ชุมนุมเป็นหลัก และจะไม่ขอมาเป็นผู้นำการชุมนุมอีก

ทั้งนี้ มีการเปิดเผยว่า เหตุที่ไม่ประสบความสำเร็จในการชุมนุม เกิดจากเหตุที่กลุ่มการเมืองเดิมที่เคยเคลื่อนไหวต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคพวกมาก่อน อย่างกลุ่มพันธมิตรฯ กลับมิได้ให้การสนับสนุนในเรื่องจำนวนคนอย่างมากพอ รวมถึงเกิดความขัดแย้งกันเองในกลุ่มด้วย ทำให้จำนวนผู้ชุมนุมไม่ถึงเป้าหมายอย่างที่ตั้งไว้

แต่ต่อมาในกลางปี พ.ศ.2556 กลุ่มองค์การพิทักษ์สยามได้กลับมามีบทบาทโดยเข้าร่วมต่อต้านคัดค้านการออกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

แม้ว่าเหตุการณ์จะผ่านพ้นไปได้ แต่หลังจากนั้นเพียง 10 เดือน ก็กลับเป็นจุดพลิกผันชะตากรรมรัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยจากการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งพลิกผันไปสู่การนิรโทษกรรมแบบ “สุดซอย-เหมาเข่ง”

และกลายเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยและลงเอยด้วยรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557