ฉัตรสุมาลย์ : เทวาลัยที่บ้านโป่ง มีอะไรถึงต้องมาดู

บังเอิญผ่านไป วันนั้นเป็นวันจันทร์ ตั้งใจจะไปดูพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ที่บ้านโป่ง

พอไปถึงเขาติดป้ายว่า เขาเปิดเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์ หลานวัย 9 ขวบว่า “เนี่ยะ ถ้าเป็นพ่อ พ่อต้องโทร.มาก่อน” อกหักแล้วยังถูกหลานซ้ำเติมอีก

ไม่เป็นไรไม่ว่ากัน

เราอยู่ในซอยอะไรก็ไม่รู้ค่ะ แต่ตอนที่ถอยรถกลับออกมานั้น แว้บไปเห็นยอดวิหารสีสดใส ดูตามรูปทรงรู้เลยว่าเป็นเทวาลัยของศาสนาฮินดู

ตรงทางเข้าเขียนว่า “เทวาลัยศิวะพราหมณ์สกุล”

ต้องแนะนำให้อาจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ท่านเข้าไปศึกษา ไม่ทราบท่านรู้จักเทวาลัยนี้หรือยัง

ค่อยๆ เลี้ยวรถเข้าไป มีที่จอดรถพอสำหรับ 4-5 คัน ทางซ้ายมือ ดูจะเป็นบ้านที่อยู่อาศัย มีเด็กหนุ่มโผล่หน้าออกมา

เราขออนุญาตเข้าไปไหว้ที่เทวาลัย

เขาเชื้อเชิญอย่างเป็นมิตร

 

สถานที่รกพอได้ค่ะ แสดงว่าไม่มีกำลังคนดูแลรักษา มีเทวาลัยหลังเล็กๆ เกาะกลุ่มกันหลายหลัง ที่เรียกว่าเทวาลัย คือ เป็นตึกชั้นเดียว ขนาดเล็กๆ ปลูกติดๆ กัน จนเรียกว่าแน่น

สถานที่นี้ เจ้าของเดิมเป็นพราหมณ์ในนิกายไศวะ มีเทพองค์หลักคือพระศิวะ โดดเด่น

แม้จะดูไม่ค่อยมีเนื้อที่มากนัก ก็สร้างก่อนที่โควิดจะมา เลยยังไม่มีโซเชียลดิสแทนซิ่งมากนัก

ชิ้นงานที่เป็นเทพต่างๆ มีศิลปะสวยงาม ไม่ใช่สักแต่ว่า มีงานปูนปั้น ที่ปรากฏในแต่ละจุด ไม่ว่าเป็นงานเล็กหรือใหญ่ ต้องชมว่าสวยค่ะ มีความงามทางศิลปะ

ท่านท้าวพรหมลิขิตเป็นบุพพาจารย์ของตระกูล มีภาพของท่านอยู่ที่อนุสาวรีย์ และอีกด้านหนึ่งของอนุสาวรีย์มีข้อความว่า

ปรัชญาที่น่าคิด

พ่อสร้างแต่ความดี

อนุสาวรีย์จึงปรากฏ

ถ้าลูกหลานคิดทรยศ

คงสิ้นหมดอนุสาวรีย์

จากใจพ่อ

สุนทร ศิวะพราหมณ์สกุล

13 กรกฎาคม 2521

เมื่อเดินวกไปอีกที่หนึ่งมีป้ายเป็นตัวอักษรตัวนูนชัดเจน ใหญ่ขนาด 2 เมตร ข้อความที่น่าทึ่ง บ่งบอกเจตจำนงผู้สร้าง

ทุกศาสนามีพระเจ้าองค์เดียวกัน

ถ้าท่านเห็นศาสนาเป็นเรื่องงมงาย

จงกลับออกไป…ท่านจะสบายใจกว่า

เพราะเรากับท่านเห็นกันคนละทาง

ความศรัทธาเหนือความศักดิ์สิทธิ์

ลงชื่อ…พราหมณ์สมบุญ ศิวะพราหมณ์สกุล

 

ขอได้รับความนับถือเลยค่ะ ท่าน

หายากที่จะมีคนกล้าบอกจุดยืนของตนชัดเจนอย่างนี้

พราหมณ์สมบุญ น่าจะเป็นบุตรของพราหมณ์สุนทร คนที่เขียนปรัชญาที่น่าคิดข้างต้น เมื่อเราเดินต่อไป ได้เห็นศาลาเล็กๆ มีร่างของพราหมณ์สมบุญอยู่ในโลงแก้ว ประดับดอกไม้ แสดงว่า มีลูกหลานมากราบไหว้อยู่ มีรูปของท่านอยู่ด้านหน้าโลงด้วย หน้าตาแบบคนไทยพื้นบ้าน ไว้หนวด เครา ดำ ภาพนั้นถ่ายในช่วงอายุประมาณ 50 ประตูที่เป็นบานเหล็กปิดไว้แต่ไม่ได้ล็อก สามารถเปิดเข้าไปได้

เราหยุดมองเพียงด้านนอก ใช้สายตาเก็บรายละเอียดที่เห็น แสดงความเคารพแก่ท่านแล้วจึงถอยออกมา

ลูกหลานที่สืบทอดมาในปัจจุบันน่าจะเป็นรุ่นที่ 4-5 แล้ว เทวาลัยที่สร้างติดๆ กัน มีทางเดินเพียง 1 เมตรระหว่างอาคาร แต่เนื่องจากประตูใหญ่ปิด เราเข้าทางประตูหลัง ที่เป็นประตูของเจ้าของบ้านคนปัจจุบัน เราก็เลยดูเหมือนจะได้ชมเทวาลัยจากหลังมาด้านหน้าประมาณนั้น

ตามหลักแล้ว จะต้องเริ่มจากพระคเณศ หลักที่ว่านี้ เป็นหลักของฉันเอง จากความเข้าใจว่า พระคเณศนั้นเป็นเทพเจ้าที่จะขจัดปัดเป่าอุปสรรค แม้ว่าอาจจะเป็นพิธีใหญ่ โดยเทพหลักเป็นพระศิวะ หรือองค์อื่นๆ เขาก็จะนิยมบูชาพระคเณศก่อน ให้ช่วยขจัดปัดเป่าอุปสรรคไปก่อน

คนไทยเราจะรู้จักพระคเณศในฐานะเทพเจ้าแห่งศาสตร์และศิลปะ แต่ในอินเดีย พระคเณศมีฐานะเทพผู้ปัดเป่าอุปสรรคด้วย เหตุผลหนึ่งที่เราจะเข้าใจได้ คือ อินเดียเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ อาชีพหลักคือ เกษตรกรรม ศัตรูตัวร้ายคือ หนู และเพราะพระคเณศเป็นเจ้าแห่งหนู มีหนูเป็นบริวาร ชาวอินเดียจึงบูชาพระคเณศ เพราะท่านเป็นผู้ที่ควบคุมหนูนั่นเอง

แต่ที่เทวาลัยนี้ เอาเทวาลัยของพระคเณศไปไว้ข้างใน ก็คงจะมีหลักคิดอีกเหมือนกัน คือ เห็นว่าพระคเณศเป็นโอรสของพระศิวะ จึงควรอยู่ด้านหลังผู้เป็นพ่อ

คิดอย่างนี้ก็ถูกอีกเหมือนกัน

 

ที่วิหารด้านข้าง ปิดเหมือนกันค่ะ แต่เราแอบมองตามบานประตู น่าสนใจ ในวิหารน้อยมีรูปปั้นครูบาศรีวิชัยนั่งอยู่ตรงกลาง สองข้างเป็นหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค และหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ

น่าสนใจที่ท่านพราหมณ์ ไม่ทราบว่าเป็นพราหมณ์สุนทร ผู้พ่อ หรือพราหมณ์สมบุญ ผู้บุตร ท่านให้ความเคารพครูบาศรีวิชัย จัดวางอาสนะสูงกว่าอีกสององค์ ผู้เขียนเองศรัทธาทั้งสามองค์ ครูบาศรีวิชัยนั้น ท่านมีบารมีสูงมาก และถูกกลั่นแกล้งหลายเรื่องอยู่ เราไม่ลงในรายละเอียดตรงนี้

แต่ที่พวกเรารู้จักคือ ด้วยบารมีของท่าน สร้างถนนขึ้นดอยสุเทพด้วยความศรัทธาของญาติโยมโดยแท้ ท่านเป็นศูนย์กลางขวัญกำลังใจของคณะสงฆ์ทางเมืองเหนือในสมัยนั้น

หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา นั้น ชาวไทยศรัทธามาก อย่างน้อยก็เมื่อ 50-60 ปีก่อน ฉันสวดมนต์ของท่านบทที่ว่า “วิระทะโย วิระโคนายัง…” ได้ตั้งแต่เด็กๆ

ส่วนหลวงพ่อสด วัดปากน้ำนั้น เป็นครูกัมมัฏฐานรูปแรกของฉันตั้งแต่ฉันอายุ ๘ ขวบ

ใช้บริกรรม “สัมมาอรหัง” เป็นมาตั้งแต่สมัยโน้น

ในเทวาลัยนี้ มีวัวหลายแห่ง ทุกตัว สัดส่วนงดงาม ก็วัวเป็นพาหนะของเทพเจ้าที่สำคัญ

 

เมื่อเดินเลี้ยวโค้งไปจึงถึงบางอ้อว่า มีถนนที่ตรงเข้ามาที่วิหารใหญ่ แต่เนื่องจากประตูใหญ่ปิด เราจึงวกเวียนเข้ามาทางหลัง วิหารใหญ่ที่น่าจะใช้เป็นที่ทำพิธีกรรมของเทวาลัย ตอนที่เราเข้าไปนั้นปิดประตู จึงไม่ได้เห็นภายใน

มีเทวาลัยของนางสีดาอยู่ไกลออกไป ตอนนั้นแดดร้อนจัดมากเพราะเป็นเวลาเที่ยงวัน ฉันเลยไปไม่ถึงเทวาลัยของท่าน แต่ยังนึกภชัญ ซึ่งเป็นบทสวดบูชาพระรามและนางสีดาได้ พยายามทบทวนในใจ เออ ยังร้องได้จนจบแน่ะ

บทสวดนี้ฉันชอบมาก ตอนที่อยู่ที่พาราณสีในช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นเดือนที่สังคมชาวฮินดูบูชาเทพของเขาตลอดเดือนนั้น ไปที่ไหนก็จะได้ยินเสียงบทสวดนี้ มันเลยซึมซับเข้ามาในใจโดยอัตโนมัติ

ตรงกลางแจ้ง และอยู่ด้านซ้ายมือของวิหารใหญ่ มีรูปพระพุทธเจ้าขนาดใหญ่ ประทับบนนาค 7 เศียร ศิลปะงดงามอีกเช่นกัน พระพักตร์งาม สัดส่วนลงตัว

อ้าว คราวนี้ หนุมานองค์ใหญ่ ศิลปะตามแบบอินเดีย ไม่ใช่หนุมานของไทย ถือตะลุมพุกองค์ใหญ่ ให้ความรู้สึกว่า ท่านคงคุ้มครองพระรามและสีดาได้จริงๆ

ด้านหลังรูปเคารพของหนุมาน มีลิงแกะสลักบนหินหลายตัว แต่ละตัวอุ้มลูกในอก บ้างอยู่บนบ่า เป็นงานใหม่ แต่ก็น่าสนใจ

มีงานที่น่าจะมีคุณค่าทางโบราณคดีอยู่ด้วย ทั้งพระศิวะแกะสลักบนหิน และทั้งรอยพระบาท เหลือแต่พระบาทคู่ น่าจะเป็นของเก่าที่มีคุณค่าทีเดียว

มีเศียรครุฑขนาดใหญ่ อาจจะเป็นศิลปะจากเขมร วางคู่อยู่กับเทพที่มีพระพักตร์เป็นม้า ในเทวาลัยเล็กๆ ที่เราเดินซอกแซกออกมานั้น มองเข้าไปข้างใน มีทั้งพระกฤษณะกำลังเป่าปี่เรียกผู้หญิงที่เลี้ยงวัวให้ออกมาร่ายรำกับพระองค์ องค์สูงและใหญ่กว่าคนธรรมดา

 

หากจะเรียนเรื่องศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ก็ไปดูของจริงได้ที่เทวาลัยแห่งนี้เลยค่ะ ทางที่เราเดินไปในเทวาลัยนั้น สกปรกด้วยขี้นก และมูลสุนัข เนื่องจากไม่มีการดูแลรักษาประจำ แต่เข้าใจว่า ในช่วงที่มีพิธีกรรม ตกแต่งสถานที่ใหม่ ก็จะเป็นสถานที่ที่น่าเข้าไปศึกษาทีเดียว

แต่อย่างที่ท่านพราหมณ์ท่านบอกนะคะ ไม่ศรัทธา ให้ออกไป

ก่อนที่เราจะลาจาก เราหันกลับไปถวายความเคารพ โดยเฉพาะจิตวิญญาณของบรรพบุรุษทั้งหลายของเทวาลัยแห่งนี้…ไม่ธรรมดา…ขอน้อมคารวะ