นพมาส แววหงส์ / ภาพยนตร์ : HILLBILLY ELEGY ‘กว่าจะมีวันนี้’

นพมาส แววหงส์

HILLBILLY ELEGY
‘กว่าจะมีวันนี้’

กำกับการแสดง
Ron Howard

นำแสดง                                                                                                             Amy Adams
Glenn Close
Gabriel Basso
Owen Asztalos
Freida Pinto

หนังสร้างจากหนังสือขายดีชื่อเดียวกัน เขียนโดย J.D. Vance ในลักษณะของบันทึกความทรงจำในวัยเด็กที่เติบโตขึ้นในครอบครัวคนผิวขาวที่มาจากพื้นเพที่เรียกว่า “คนแถบภูเขา” “บ้านนอก” “เถื่อน” หรือ “พวกหลังเขา” (hillbilly)

Hillbilly จึงมีความหมายในเชิงดูแคลนถึงความไม่ประสีประสา โง่เขลา ไม่มีมารยาทแบบคนเมือง ฯลฯ แต่ดั้งเดิมคำนี้หมายถึงพวกคนขาวที่อยู่ตามแถบเทือกเขาแอปปาเลเชีย ใต้ลงไปจากรัฐนิวยอร์ก

ก่อนจะกลายมาเป็นภาพยนตร์ หนังสือเล่มนี้โด่งดังขึ้นมาโดยติดอันดับหนึ่งของหนังสือขายดีของนิวยอร์กไทม์สอยู่นาน และได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งใน “หนังสือหกเล่มที่ช่วยให้เข้าใจชัยชนะของทรัมป์” โดยเปลี่ยนรัฐในภูมิภาคแถบนี้ให้กลายเป็นสีแดงของพรรครีพับลิกันจนเอาชนะฮิลลารี คลินตัน ของพรรคเดโมแครตไปได้

ว่ากันว่า เจ.ดี.แวนซ์ สะท้อนภาพชีวิตความเป็นอยู่ สภาพเศรษฐกิจ ทัศนคติและค่านิยมของผู้คน “หลังเขา” ในอเมริกาได้อย่างชัดเจน

แวนซ์ (โอเวน แอสตาลอส ในวัยเด็ก และเกเบรียล บาสโซ ในวัยหนุ่ม) เติบโตขึ้นในแถบแอปปาเลเชีย เขารู้สึกผูกพันกับธรรมชาติของป่าเขาลำเนาไพร และบอกว่ามีความสุขที่สุดเมื่ออยู่ห่างไกลจากอารยธรรมแบบนั้น

เขาโตขึ้นโดยไม่มีพ่อ ไม่รู้จักพ่อ รู้จักแต่แม่ที่ยังสาวมาก ชื่อเบฟ (เอมี่ อดัมส์) และไม่ได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย เนื่องจากตั้งท้องเสียก่อน ทั้งๆ ที่แม่เขาเป็นคนที่ฉลาดมากและเรียนเก่งเป็นที่สองของชั้น

ชีวิตของเบฟจึงย่ำอยู่กับที่ โดยไม่ได้ก้าวไปไหนพ้นแวดวงเดิมๆ ได้แต่วนเวียนอยู่กับปัญหาที่แก้ไม่ตกและไม่เคยหลุดพ้นไปได้ ทางด้านเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ที่ล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า ความรุนแรงในครอบครัว เหล้า และยาเสพติด

ในวัยเด็กของแวนซ์ ปู่กับย่า รวมทั้งแม่ของเขา ย้ายถิ่นฐานจากเคนตักกี้มาอยู่ในเมืองในรัฐโอไฮโอ ซึ่งทำให้เขาได้เรียนหนังสือที่นั่น แต่ชีวิตครอบครัวซึ่งมีแม่ติดยาเสพติด และอารมณ์แปรปรวน ก็ไม่ได้ส่งเสริมให้เขาได้เรียนหนังสืออย่างสุขสบาย

แม่สามารถแปรโฉมหน้าจากนางฟ้าที่รักใคร่ทุ่มเทให้ลูกอย่างเหลือเกิน กลายเป็นนางยักษ์ขมูขีไปได้ในพริบตา เพียงเมื่อได้ยินคำพูดผิดหูไปนิดเดียว

และยังส่งเสริมและเลี้ยงดูลูกในทางผิดๆ เช่น ให้ลักเล็กขโมยน้อยในร้านค้า โดยถือเป็นชัยชนะเหนือการถูกเจ้าของร้านดูถูกดูแคลน

ที่สุดของที่สุด ค่านิยมในแบบชนบท “หลังเขา” คือการผนึกกำลังกันอย่างเหนียวแน่น เพื่อช่วยเหลือคนในครอบครัวโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง ศีลธรรม และกฎหมายบ้านเมือง

เบฟจึงรอดตัวมาได้ทุกครั้งโดยไม่มีใครจัดการอย่างเด็ดขาดในทางที่ถูกที่ควร และยังอยู่ในวังวนของยาเสพติด และความรุนแรงในครอบครัว แบบที่ต้องส่งผลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อวัยเด็กที่ยังพึ่งพาตัวเองไม่ได้

จวบจนย่า (เกลนน์ โคลส) ทนหลับหูหลับตาอยู่ไม่ไหว ต้องยื่นมือเข้ามาดึงเขาออกไปจากอิทธิพลเลวร้ายในครอบครัวใหม่ของแม่

ช่วงเวลาของหนังอยู่ในระหว่างทศวรรษ 1990 จนถึง ค.ศ.2011 เมื่อแวนซ์ส่งเสียตัวเองเข้าเรียนในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยลที่เป็น “ท็อปเท็น” ของประเทศ

แต่ค่าใช้จ่ายในการเรียนมหาวิทยาลัยดังๆ แบบนั้น ก็เกินงบฯ ในกระเป๋าของคนที่มาจากชนชั้นกรรมาชีพแบบเขา อย่างไรก็ตาม อเมริกาเป็นประเทศที่โอกาสเปิดกว้างสำหรับคนที่พากเพียรพยายามและหนักเอาเบาสู้อยู่แล้ว

“ความฝันแบบอเมริกัน” (The American Dream) คืออุดมคติของความเสมอภาพของคนทุกคนที่จะได้สร้างความฝันของตัวเองให้กลายเป็นจริงขึ้นอย่างเท่าเทียมกัน

โอกาสมีให้สำหรับคนทุกผู้ที่ไขว่คว้าและทุ่มเท

กระนั้น ขณะที่เขากำลังขวนขวายตะกายฟ้า เพื่อให้พ้นจากการจมปลักอยู่ในปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่วนเวียนอยู่รอบตัว

ขณะที่โอกาสของความก้าวหน้าในชีวิตอยู่ใกล้เพียงแค่เอื้อมมือไปไขว่คว้า เขาก็ยังต้องหยุดชะงักและย้อนกลับไปเผชิญหน้ากับอดีตเลวร้ายที่ตามหลอกหลอนเขา ด้วยสำนึกของความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นที่ได้รับการปลูกฝังมาแต่วัยเด็ก

Hillbilly Elegy พูดถึงคนสามชั่วอายุของครอบครัวแถบแอปปาเลเชีย ที่อาจถูกสาปให้จมปลักอยู่ในความรุนแรงในครอบครัว เหล้าและยาเสพติด ส่งผ่านต่อมาจากรุ่นถึงรุ่น หากไม่ได้รับความช่วยเหลือทันท่วงทีและพลังใจอันกล้าแข็งที่จะดีดตัวเองให้หลุดพ้นออกมา

และฝีมือกำกับฯ ของรอน เฮาเวิร์ด (A Beautiful Mind, Apollo 13, The Da Vinci Code, Angels and Demons) ก็ละเมียดละไมพอที่จะนำเสนอภาพของตัวละครที่โลดแล่นมีชีวิตขึ้น รวมทั้งองค์ประกอบที่เล่าเรื่องได้ดีเยี่ยม

บทสำคัญที่น่าจดจำได้นักแสดงฝีมือดีเยี่ยม คือ เอมี่ อดัมส์ และเกลนน์ โคลส มาสวมบทบาทอย่างเข้าถึงแก่นแบบที่เรียกว่า “ตีบทแตก”

เอมี่ อดัมส์ สะวิงไปจนสุดขั้วจากบทบาทของนักแสดงสาวสวย และเกลนน์ โคลส ก็เป็นนักแสดงฝีมือฉกาจที่เปลี่ยนตัวเองไปตามตัวละครได้อย่างน่าทึ่ง

เนื่องจากตัวละครทุกตัวมีต้นฉบับจากตัวจริงเสียงจริง ดังนั้น ในตอนเครดิตสุดท้ายเมื่อหนังจบ จึงมีภาพของตัวบุคคลที่มีชีวิตอยู่จริง และช่างมีความคล้ายคลึงกับตัวละครที่นำเสนออย่างน่าทึ่ง
แม้ว่าความดังของหนังสือน่าจะมาจากประเด็นทางการเมืองระหว่างพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันเป็นสำคัญ

แต่หนังก็แตะเรื่องการเมืองน้อยมาก จนสามารถพูดได้ว่าเป็นหนังที่สะท้อนภาพของสังคม เศรษฐกิจ สภาพความเป็นอยู่

และค่านิยมของพวกที่ถูกเรียกว่า hillbilly มากกว่า…