ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 ธันวาคม 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
นวดข้าวกลางลาน
ข้าวเปลือกกองพูน
ทํานาเป็นงานรวมหมู่เพื่อสะสมอาหาร (ข้าว) เลี้ยงชุมชนตลอดปีในสังคมเทคโนโลยี (ไม่ก้าวหน้า) แบบดั้งเดิม
จึงเป็นต้นตอระบบเครือญาติของสังคมหมู่บ้านสมัยแรกเริ่มที่ยังตกค้างถึงปัจจุบันเรียก “ระบบอุปถัมภ์”
นวดข้าว เดือนยี่
นวดข้าว เดือนยี่ หรือเดือน 2 (ราวธันวาคม-มกราคม) คือ การทำให้เมล็ดข้าวหลุดจากรวงข้าวโดยจูงควายขึ้นย่ำบนก่อข้าวที่เกี่ยวแล้วมัดรวมเป็นฟ่อน (แต่บางท้องถิ่นทำด้วยวิธีอื่น เช่น ตีข้าว, ฟาดข้าว เป็นต้น) โดยมีรวงข้าวซึ่งถูกสมมติเป็นแม่ข้าว หรือข้าวขวัญ พร้อมข้าวปลูกเป็นพันธุ์ข้าวใช้ปลูกปีต่อไป รวมอยู่ในสถานที่จัดไว้เป็นพิเศษ (เสมือนประธานพิธีนวดข้าว)
ฤดูทำนาตั้งแต่ไถนาจนถึงเกี่ยวข้าว, นวดข้าว, และอื่นๆ ชุมชนโบราณพึ่งพาแรงงานเครือญาติและเพื่อนบ้านเรียก “ลงแขก” (เพราะไม่มีเครื่องจักรเครื่องทุ่นแรง เช่น รถไถ, รถเกี่ยวข้าว)
ดังนั้น ในฤดูเกี่ยวข้าวต้องตกลงนัดหมายจัดลำดับว่านาของใครเกี่ยววันไหน? ทุกคนต้อง “ลงแขก” เกี่ยวข้าวนานั้นจนกว่าจะครบทั้งชุมชน
นาที่เกี่ยวเสร็จแล้วเมื่อได้ข้าวมัดเป็นฟ่อนเอาไปจัดกองรวมกันบนลานนวดข้าวของชุมชน เมื่อเกี่ยวข้าวในนาครบหมดแล้วจึงกำหนดร่วมกันวันนวดข้าวพร้อมกัน
ต้นข้าวมีลำต้นกับรวงเมล็ดข้าวสีเหลืองแก่หรือน้ำตาลแก่ติดปลายรวงเป็นช่อยาวที่ต้องเกี่ยวหรือตัดไปเอาเมล็ดข้าวออกจากรวงด้วยการนวด (หรือตี หรือฟาด)
ต้นข้าวที่เกี่ยวแล้วตั้งแต่โคนถึงปลายรวงเฉลี่ยยาวราว 2 เมตร ถูกมัดโคนด้วยตอกไม้ไผ่รวมกันเป็นหอบใหญ่ เรียกแต่ละมัดว่าฟ่อน (หรือฟ่อนข้าว) วางกระจายในนาไว้ก่อน รอขนไปนวด
เมื่อเกี่ยวข้าวหมดแล้ว ชาวนาขนฟ่อนข้าวไปวางรวมกันที่ลานดินแห่งหนึ่งที่เตรียมไว้เป็นวงกลมที่ชายขอบนอกหมู่บ้าน หรืออาจกลางหมู่บ้านก็ได้ เรียกลานนวดข้าว
ลานนวดข้าว
ลานนวดข้าว หมายถึง พื้นที่ปรับเรียบราบเคียงเพียงเสมอกัน แล้วตักขี้ควายผสมน้ำให้ข้น (เสมือนกาว) เอาราดพื้นดินที่เตรียมไว้นั้น โดยมีไม้แผ่นเกลี่ยขี้ควายให้ทั่วเสมอกันเหมือนหน้ากลอง แล้วปล่อยตากแดดตากลมให้แห้ง เมื่อขี้ควายแห้งจะเป็นแผ่นแน่นกรังฉาบหน้าพื้นที่นั้น (เสมือนยางมะตอยปัจจุบัน)
ทำขวัญลาน
ลานนวดข้าวมีขวัญสิงอยู่ตามความเชื่อในศาสนาผีของบรรพชนคนสุวรรณภูมิอุษาคเนย์ ราว 3,000 ปีมาแล้ว
ก่อนใช้งานต้องมีพิธีทำขวัญ เรียกทำขวัญลาน หมายถึงทำขวัญลานนวดข้าว
สงฟาง
เมื่อคะเนว่านวดข้าวจนเมล็ดข้าวหลุดจากรวงหมดแล้วก็หยุด ชาวนาร่วมกันสงฟางให้เหลือแต่เมล็ดข้าวเปลือก
สงฟาง หมายถึงใช้ตะขอไม้ไผ่เสมือนคันหลาวยาว เขี่ยฟางออกจากเมล็ดข้าว (สง แปลว่า หยิบหย่งๆ หรือเขย่าให้อีกสิ่งหนึ่งร่วงลง ฟาง แปลว่า ต้นข้าวแห้งที่ถูกนวดเอาเมล็ดออกแล้ว)
เพลงสงฟาง ของชาวบ้านแต่ก่อน ได้ชื่อจากชาวนาร่วมกันสงฟางหลังนวดข้าว แต่ไม่ได้เล่นเพลงไปสงฟางไปเพราะเป็นไปไม่ได้ ถ้าจะเล่นก็เล่นตอนเสร็จงานสงฟางแล้ว (ซึ่งไม่เคยพบ) หรือในโอกาสพิเศษ
ฝัดข้าว หมายถึง กระพือกระดังข้าวเปลือกขึ้นลงเพื่อแยกส่วนที่ต้องการกับส่วนที่ไม่ต้องการออกจากกัน โดยเฉพาะเศษฟางข้าวตลอดจนดินหินกรวดทรายที่ปะปนมา แต่บางชุมชนท้องถิ่นโรยข้าวเปลือกจากกระบุง (ยกขึ้นเหนือหัว) ลงพื้นลานให้ลมพัดเศษผงปลิวออกไป สมัยหลังๆ มีเครื่องทุ่นแรง (เทคโนโลยีจากจีน?) เรียก “เครื่องฝัดข้าว”
ชักกระดาน
เมื่อสงฟางออกหมดแล้วจะมีเมล็ดข้าวตกกระจายเรี่ยรายปนเศษผงฟางข้าวเต็มลานนวดข้าว ชาวนาต้องร่วมกันใช้ไม้กวาด (จากต้นมอน หรือต้นไม้กวาด) กวาดเมล็ดข้าวไปกองรวมกัน
แต่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องเอาเชือก 2 เส้น ผูกแผ่นกระดานเป็นสองสาย แล้วช่วยกันลากเอาข้าวเป็นกองพูนสูงขึ้นไป
เพลงชักกระดานของชาวบ้านแต่ก่อน ได้ชื่อจากชาวนาร่วมกันชักกระดานพูนข้าวเป็นกองสูงในลานนวดข้าว แต่ไม่ได้เล่นเพลงขณะชักกระดานเพราะเป็นไปไม่ได้ ถ้าจะเล่นก็เล่นเมื่องานชักกระดานเสร็จสมบูรณ์แล้ว (ซึ่งไม่เคยมี) หรือในโอกาสพิเศษ
บุญคูนลาน
บุญคูนลาน เป็นคำลาวลุ่มน้ำโขง หมายถึงลานที่มีเมล็ดข้าวเปลือกกองอยู่มาก (คูน มีความหมายเดียวกับ พูน แปลว่าทำให้กองทับถมสูงขึ้น หรือพอกพูนขึ้น)
หลังนวดข้าวเสร็จแล้วมีทำบุญเลี้ยงพระเป็นประเพณีหลังรับศาสนาพุทธจากอินเดีย
ยุ้งข้าว
เมื่อได้ข้าวเปลือกกองอยู่ลานนวดข้าว ต้องขนเก็บในยุ้งข้าว (บางแห่งเรียก เยียข้าว, เล้าข้าว) หมายถึงเรือนเก็บข้าวเปลือกไว้กินตลอดปี
ยุ้งข้าวมีขวัญ ก่อนขนข้าวเปลือกขึ้นยุ้ง ต้องทำขวัญยุ้ง (เช่นเดียวกับทำขวัญลานนวดข้าว)
นวดข้าวนาหลวง
พระเจ้าบรมโกศเสด็จออกไปทำพิธีนวดข้าวที่ทุ่งหันตรา (ซึ่งมีพื้นที่กำหนดเป็นนาหลวงอยู่หน้าวัดหันตรา) เมื่อได้ฟางข้าวจำนวนหนึ่งขนใส่เกวียน และใส่ล้อขนเข้าวัง เอาฟางประดิษฐ์เป็นฉัตรฟางข้าวถวายพระทุกวัด แล้วมีการละเล่นมหรสพฉลองและให้ทาน
(คำให้การขุนหลวงหาวัด)