รัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้าข่ายระบอบอำนาจนิยมหรือไม่? (12) : ร่างนิรโทษกรรมเหมาเข่ง การฆ่าตัวตายทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย

รัฐบาล คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จัดได้ว่าเป็นรัฐบาล “นอมินี” รุ่นสามของคุณทักษิณ ส่วนรุ่นแรกคือ คุณสมัคร สุนทรเวช

รุ่นสองใกล้เข้ามาอีกนิดคือใช้ญาติ นั่นคือ คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ผู้เป็นน้องเขย

ถัดจากน้องเขย ก็เริ่มหมดตัวเล่นที่วางใจได้ คุณทักษิณจึงจำต้องเข็นน้องสาวขึ้นมาเป็น “นอมินี”

และบทความในคราวนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “รัฐบาลนอมินีสมัยที่สาม-คุณสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร-พรรคเพื่อไทย และเงื่อนไขรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557”

 

หลังจากเหตุการณ์การชุมนุมขององค์กรพิทักษ์สยาม 10 เดือน ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม คุณวรชัย เหมะ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และคณะ ได้เข้าชื่อกันเสนอร่าง พ.ร.บ. “นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน”

โดยมีเนื้อหามุ่งนิรโทษกรรมตั้งแต่เหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา และนิรโทษกรรมแต่เฉพาะประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมืองเท่านั้น แต่จะไม่เอื้อประโยชน์ครอบคลุมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมืองที่มีอำนาจรับผิดชอบสั่งการ และแกนนำทุกกลุ่มการเมือง ซึ่งโดยหลักการดังกล่าวนี้ ไม่มีผู้ใดและฝ่ายใดในสังคมคัดค้านแต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน มีกลุ่มนักวิชาการที่มีความกังวลว่าหากในระหว่างขั้นตอนการพิจารณา มีการบิดเบือนไปจากนี้ อาจจะเกิดความขัดแย้งทางการเมืองปะทุขึ้นมาได้ จึงได้ร่วมกันแถลงการณ์สนับสนุนหลักการดังกล่าวและย้ำว่าไม่ควรที่จะให้เนื้อหาผิดเพี้ยนไป

แถลงการณ์ดังกล่าวมีใจความดังนี้คือ

“ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. … ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาโดยรัฐสภานั้น อยู่ในความสนใจของผู้คนอย่างกว้างขวาง เนื่องจากผูกพันโดยตรงกับความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นที่เข้าใจและยอมรับในหลักการได้ว่า เจตนารมณ์ของร่างกฎหมายดังกล่าวดำรงอยู่บนพื้นฐานของความพยายามเยียวยาและสร้างความยุติธรรมให้กับประชาชนทุกกลุ่มสังกัดที่เข้าร่วมชุมนุมเพื่อแสดงออกถึงจุดยืนทางการเมืองของตน อย่างไรก็ดี หากพิจารณาถึงข้อกังวลของผู้คนที่ติดตามการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้

จะพบว่ามีประเด็นที่อยู่ในความสนใจและพึงพิจารณาดำเนินการอย่างเคร่งครัดอย่างน้อยสามข้อ หนึ่ง ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการเยียวยาทางกฎหมายในครั้งนี้ จะต้องไม่ใช่บุคคลระดับผู้มีอำนาจสั่งการ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งการภายใต้กลไกอำนาจรัฐ หรือการสั่งการมวลชนผู้ชุมนุม กล่าวให้ชัดกว่านั้น การพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมจะต้องยืนบนหลักสำคัญคือ มุ่งละเว้นโทษเฉพาะประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมืองเท่านั้น แต่จะไม่เอื้อประโยชน์ครอบคลุมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมืองที่มีอำนาจรับผิดชอบสั่งการ และแกนนำทุกกลุ่มการเมือง สอง บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมโดยตรงในเหตุการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมือง และการใช้ความรุนแรงในทุกเหตุการณ์ นับตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จวบจนถึงปัจจุบัน จะต้องไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เนื่องจากเป็นการบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวพันถึงผลประโยชน์ได้เสียของตนเองโดยตรง

หลักการสำคัญอีกประการหนึ่งอันพึงพิจารณาคือ กระบวนการบัญญัติกฎหมายนิรโทษกรรมในครั้งนี้ จะต้องไม่ก่อให้เกิดวัฒนธรรมทางการเมืองของการไม่ต้องรับผิดชอบในความผิดที่ได้กระทำลงไป อันจะสร้างปัญหาระยะยาวและแก้ไขได้ยากต่อการปกครองด้วยหลักกฎหมาย สาม ดังที่ได้กล่าวตั้งแต่ต้นว่า กระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ในความสนใจของผู้คนอย่างกว้างขวาง ทุกขั้นตอนในการพิจารณาจึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเปิดเผย วิธีการสร้างความเปิดเผยดังกล่าว สามารถกระทำได้ตั้งแต่ให้มีการถ่ายทดสดการประชุมกรรมาธิการทุกครั้ง เปิดให้สื่อมวลชนปฏิบัติหน้าที่รายงานความคืบหน้า อธิบายความหมายสำคัญในแต่ละเนื้อหา แต่ละประเด็นข้อถกเถียง ภายใต้กระบวนการนี้จะส่งผลให้สาธารณชนสามารถมองเห็นจุดยืน เหตุผล บทบาทและการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่คณะกรรมาธิการฯ ว่ากำลังปฏิบัติหน้าที่โดยถือผลประโยชน์ของใครเป็นที่ตั้ง บทบาทหน้าที่ดังกล่าววางอยู่บนหลักการใด แตกต่างกันอย่างไร และบรรลุความเห็นพ้องต้องกันในเงื่อนไขใด หากกระบวนการร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ดำเนินภายใต้จุดยืนสำคัญดังกล่าว จะเป็นการสร้างความเข้าใจร่วมกันในสังคม อันจะช่วยลดเงื่อนไขความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต”

(16 สิงหาคม 2556 โพสต์ทูเดย์)

ขณะเดียวกัน ก็มีการชวนให้นักวิชาการทุกฝักฝ่ายมาลงชื่อในแถลงการณ์นี้ มีนักวิชาการสองท่านยืนยันว่า “ส.ส.พรรคเพื่อไทยไม่มีทางจะเปลี่ยนเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมหรอก ถ้าทำเช่นนั้นก็เท่ากับฆ่าตัวตาย!” นักวิชาการสองท่านนั้นเห็นว่า นักวิชาการที่ออกแถลงการณ์ดังกล่าวเข้าข่าย “ไร้เดียงสา”

แต่ต่อมา เนื้อหาร่างสุดท้ายของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม (กมธ.นิรโทษกรรม) มีมติด้วยเสียงข้างมากแก้ไขเนื้อหาจากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเดิม กลับมีเนื้อหาครอบคลุมถึงหลายฝ่าย รวมถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

อีกทั้งยังย้อนนิรโทษกลับไปถึงปี พ.ศ.2547 ทำให้เกิดเสียงคัดค้านจากแกนนำมวลชนทุกขั้ว และรวมถึงประชาชนทั่วไปด้วย

ขณะเดียวกัน พรรคเพื่อไทยยังพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. ซึ่งต่อมา คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. เป็นการพยายามแปลงวุฒิสภาให้เป็น “สภาผัวเมีย” ผิดทั้งกระบวนการ ทั้งยังมีการปลอมร่างฯ และตัดสิทธิผู้อภิปราย ยิ่งกว่านั้นยังมีการเสียบบัตรแทนกันอีกด้วย ส่งผลให้กลายเป็นชนวนสำคัญอีกเรื่องที่สร้างกระแสความไม่พอใจให้กับผู้คนในสังคม

จนเกิดการออกมาชุมนุมคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม และการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล

 

กล่าวได้ว่า นับแต่ต้นเดือนตุลาคม พ.ศ.2556-22 พฤษภาคม 2557 ได้มีการชุมนุมทั้งจากฝ่ายต่อต้านและสนับสนุนรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยชนวนสำคัญเริ่มจากการชุมนุมคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ซึ่งเดิม วรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. เป็นผู้เสนอร่าง

แต่ภายหลังมีการแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ นำโดย ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ รองประธานกรรมาธิการ และคณะ จนมีการคัดค้านจากพรรคประชาธิปัตย์ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี การคัดค้านต่อต้านดังกล่าวยังได้ขยายวงกว้างไปยังผู้คนหลากหลายสาขาอาชีพ รวมทั้งคนเสื้อแดงบางกลุ่มก็คัดค้านการนิรโทษกรรมนี้ด้วย (ดู https://th.wikipedia.org/wiki/ยิ่งลักษณ์_ชินวัตร) และแน่นอนว่า กลุ่มต่างๆ ที่เคยต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ต่างก็ออกมาร่วมชุมนุมประท้วง รวมทั้งกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามที่ออกมาเคลื่อนไหวล่าสุดในปี พ.ศ.2555

เรียกว่าได้จังหวะ ทุกหมู่เหล่าที่ไม่เอา “ทักษิณ” ก็สามัคคีดีเดือดพร้อมยำเต็มที่ โดยทางฝั่งพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงก็ไม่รู้จะแก้เกมอย่างไร?

ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ตกลงใครกันที่เป็นต้นคิดให้ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง?

แล้วคุณวรชัยแกไม่โกรธคุณประยุทธ์ (หัวเขียง) เลยบ้างหรือ ที่มาสอดไส้แบบนั้น? เพราะร่างของคุณวรชัย ใครๆ ทุกฝักฝ่ายก็สนับสนุนกันทั้งนั้น

ถ้าเป็นภาษาสามก๊ก คนที่แนะให้ออกร่างแบบเหมาเข่ง คือ คนทรยศต่อพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดง ต้องจับเอาไปประหารสถานเดียว!