การศึกษา / เมื่อ น.ร.ขอสลัดทิ้ง ‘เครื่องแบบ’ การปะทะของ ‘คนรุ่นใหม่-ผู้ใหญ่หัวอนุรักษ์’

การศึกษา

 

เมื่อ น.ร.ขอสลัดทิ้ง ‘เครื่องแบบ’

การปะทะของ ‘คนรุ่นใหม่-ผู้ใหญ่หัวอนุรักษ์’

 

หลังจากภาคีนักเรียน KKC และกลุ่มนักเรียนที่ชื่อนักเรียนเลว ประกาศเชิญชวนให้ “นักเรียน” ใส่ “ชุดไปรเวต” ในวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันแรกของการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 เพื่อแสดงออกถึงสิทธิเสรีภาพ และต้องการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดำเนินการแก้ไขกฎระเบียบว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 โดยมีโรงเรียนเข้าร่วม 23 แห่ง

ทำให้ “#1ธันวาบอกลาเครื่องแบบ” กลายเป็นประเด็นร้อนแรง จนทะยานขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์อย่างต่อเนื่อง

พร้อมกับคำถามที่ตามมา ว่าการสวมชุดนักเรียนมีประโยชน์อย่างไร?

ทำให้นักเรียนปลอดภัย? ลดความเหลื่อมล้ำจริงหรือ?

และชุดนักเรียนนั้น ลดหรือเพิ่มภาระให้กับผู้ปกครองกันแน่?

ซึ่งในวันที่ 1 ธันวาคม หลายโรงเรียนในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มีนักเรียนจำนวนหนึ่งพร้อมใจกันแต่งชุดไปรเวตมาโรงเรียน

แน่นอนว่าปฏิกิริยาตอบรับจากโรงเรียน มีทั้งให้นักเรียนเข้าเรียนตามปกติ ดำเนินการตามกฎระเบียบของ ศธ.หรือเรียกนักเรียนเข้าห้องปกครอง เชิญผู้ปกครองเข้าพบ หรือกักตัวนักเรียนไม่ให้เข้าเรียน

จนผู้ปกครองต้องเข้าไปแจ้งความเอาผิดผู้อำนวยการโรงเรียนฐานละเมิดสิทธิทำโทษนักเรียนเกินขอบเขต!!

 

กลุ่มนักเรียนเลวได้เปิดเว็บไซต์ “badstudent.co” ให้นักเรียนแจ้งชื่อโรงเรียนและครูที่ไม่ให้นักเรียนแต่งไปรเวต และได้รวบรวมสถิติไว้ จากข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พบนักเรียนรายงาน 17,378 รายการ

อันดับ 1 โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ ถูกรายงาน 2,485 ครั้ง

อันดับ 2 โรงเรียนสุรนารีวิทยา ถูกรายงาน 2,482 ครั้ง

อันดับ 3 โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ ถูกรายงาน 1,123 ครั้ง

จากการรวบรวมข้อมูลของกลุ่มนักเรียนเลว หลายคนมองว่าการกระทำของโรงเรียนและครู ยิ่งตอกย้ำถึงการ “ปฏิเสธ” ข้อเรียกร้องของนักเรียน ปฏิเสธสิทธิเสรีภาพของนักเรียน และมองว่าผู้ใหญ่ไม่ฟังเสียงเรียกร้องของเด็กเลย

ส่งผลให้กลุ่มนักเรียนเลวชวนนักเรียนที่ไม่เห็นด้วยกับการแต่งชุดนักเรียน มารวมตัวที่หน้า ศธ.พร้อมกับจัดกิจกรรมบอกเล่าประสบการณ์การใส่ชุดไปรเวตมาโรงเรียน แล้วถูกครูกระทำอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นไม่ให้เข้าเรียน หรือถูกไล่ให้กลับไปใส่ชุดนักเรียน หรือถูกเรียกเข้าห้องปกครอง ถูกเรียกผู้ปกครองมาพบ เป็นต้น พร้อมกับจัดกิจกรรมนำชุดนักเรียนคืน ศธ.และนำผ้าสีรุ้งติดรอบๆ เพื่อสื่อให้ ศธ.เคารพถึงความแตกต่าง และหลากหลายของนักเรียน อย่ากำหนดให้นักเรียนอยู่แต่ในกรอบเท่านั้น

ตัวแทนกลุ่มนักเรียนเลวระบุว่า นอกจากเราจะเป็นนักเรียนแล้ว เรายังเป็นคน เป็นมนุษย์ เรามีสิทธิเสรีภาพในตัวของพวกเรา เรามีสิทธิมนุษยชน มีสิทธิเด็ก ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราจะต้องรักษาสิทธิของเรา และการเรียกร้องครั้งนี้ ไม่ใช่ขอให้ ศธ.ยกเลิกชุดนักเรียน แต่ขอให้ ศธ.เลิก “บังคับ” ให้นักเรียนใส่ชุดนักเรียนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การที่นักเรียนออกมาเรียกร้องขอแต่งชุดไปรเวต ทำให้สังคมเกิดความคิดแยกเป็น 2 กลุ่ม…

 

กลุ่มแรกมองว่า ชุดนักเรียนยังจำเป็น เพราะนอกจากจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้เกิดความเท่าเทียมแล้ว ยังช่วยให้นักเรียนปลอดภัย ได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ ซึ่งจากการสำรวจของ “มติชนออนไลน์” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่กว่า 90% ไม่เห็นด้วยที่ ศธ.แก้ไข พ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียน เพื่อเปิดกว้างให้นักเรียนแต่งชุดไปรเวตไปโรงเรียน

ส่วนกลุ่มที่สองมองว่า ชุดนักเรียนเพิ่มภาระให้ผู้ปกครอง และการใส่ชุดนักเรียนไม่ได้ช่วยให้ปลอดภัย เพราะจะเห็นข่าวนักเรียนถูกล่วงละเมิดทางเพศทั้งที่ยังใส่ชุดนักเรียนอยู่บ่อยครั้ง

ในประเด็นดังกล่าว ผู้บริหารประเทศอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาแสดงความคิดเห็นโดยระบุว่า เครื่องแบบนักเรียนมีวัตถุประสงค์หลายประการ ส่วนหนึ่งคือช่วยให้นักเรียนเป็นที่สังเกตได้ง่าย หากเกิดอันตรายในที่สาธารณะ

นอกจากนี้ ยังสิ้นเปลืองน้อยกว่าการแต่งชุดไปรเวต ที่อาจต้องมีหลายชุด

 

ขณะที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ออกมาระบุว่า การเคลื่อนไหวของนักเรียนนั้น มีผู้อยู่เบื้องหลัง ศธ.มีระเบียบอยู่แล้ว ดังนั้น หากนักเรียนแต่งชุดไปรเวตมาโรงเรียน ถือว่าผิดระเบียบ ส่วนการแก้ไขกฎระเบียบที่ล้าหลังนั้น คณะกรรมการพิจารณาข้อเรียกร้องของนักเรียน นักศึกษา อยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ไข

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ยังได้เตรียมดำเนินคดี และประสานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เพื่อปิดเว็บไซต์นักเรียนเลว ที่เปิดเผยรายชื่อครูและโรงเรียนลงโทษนักเรียนที่แต่งชุดไปรเวต

หลังจากที่เจ้ากระทรวงออกปากว่าจะดำเนินคดีกับนักเรียน ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก จนท้ายสุดนายณัฏฐพลต้องกลับลำ ไม่ดำเนินคดีกับกลุ่มนักเรียนเลวแล้ว โดยให้เหตุผลว่าเรื่องดังกล่าวสามารถพูดคุยทำความเข้าใจกันได้

แต่หากยังมีการทำผิดกฎหมาย ก็จะต้องดำเนินคดี

 

ทั้งนี้ “ชุดนักเรียน” ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่เพียงแค่ในหมู่นักเรียนและผู้บริหารการศึกษาเท่านั้น นักการเมือง นักแสดง นางงาม ก็ยังออกมาพูดถึงประเด็นดังกล่าว ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และฝ่ายไม่เห็นด้วย

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สำหรับการแต่งกายด้วยชุดไปรเวตนั้น อยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พยายามทำความเข้าใจความคิดและจินตนาการของเด็ก เพราะโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลและ ศธ.คือการปฏิรูปการศึกษา

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.สมพงษ์มองว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียนเลว สร้างแรงกระเพื่อม สร้างปรากฏการณ์ที่นำไปสู่ความตื่นตัวของคนในวงการศึกษา และทุกประเด็นที่เด็กหยิบยกขึ้นมา มีเหตุผล มีตรรกะ และมีที่มาที่ไป เป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาให้เร็วขึ้นอีกด้วย

ถือเป็นการปะทะทางความคิดระหว่าง “คนรุ่นใหม่” ที่ต้องการสิทธิเสรีภาพ ต้องการความเปลี่ยนแปลงที่ทันสมัยเพื่อก้าวสู่อนาคต กับความคิดอนุรักษนิยมของ “ผู้ใหญ่” ที่มองว่าเรื่องต่างๆ ที่นักเรียนเรียกร้อง เพราะต้องการแสดงออก และอยากแต่งกายตามแฟชั่นเท่านั้น

ต้องติดตามว่าเรื่องนี้จะได้ข้อสรุปหรือลงเอยอย่างไร…

     ทั้ง “นักเรียน” และ “ผู้ใหญ่” จะสามารถหาทางออก และแก้ไขปัญหาร่วมกันได้หรือไม่ เพื่อให้การศึกษาของประเทศเดินหน้าต่อไปได้เสียที!!