รายงานพิเศษ / เมื่อ ‘บิ๊กตู่’ คัมแบ๊ก ปลดแอกม็อบ มองเกมอยู่ยาว เดินตามรอย ‘ป๋า’ ส่องทัพฟ้า ยุค ‘แอร์บูล’ สบายดีหรือเปล่า?

รายงานพิเศษ

 

เมื่อ ‘บิ๊กตู่’ คัมแบ๊ก

ปลดแอกม็อบ

มองเกมอยู่ยาว เดินตามรอย ‘ป๋า’

ส่องทัพฟ้า ยุค ‘แอร์บูล’

สบายดีหรือเปล่า?

 

หลังบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม รอดคดีพักบ้านทหารไม่หลุดเก้าอี้

แถมศาลรัฐธรรมนูญลงมติเป็นเอกฉันท์ 9:0 ว่า การอยู่บ้านพักในค่ายทหาร ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ก็เสมือนเป็นใบเบิกทางให้ พล.อ.ประยุทธ์พักบ้านใน ร.1 รอ.ต่อไปเรื่อยๆ แบบไม่มีกำหนด และพำนักตามสิทธิ์ของอดีต ผบ.ทบ. ไม่ใช่ในนามนายกรัฐมนตรี หรือ รมว.กลาโหม ไม่จำเป็นต้องออกมาอยู่บ้านส่วนตัว หรือบ้านพิษณุโลก บ้านประจำตำแหน่งนายกฯ

โดยมีการนำไปเปรียบเทียบกับการที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ พำนักอาศัยอยู่ในบ้านสี่เสาเทเวศร์ยาวนานกว่า 30 ปีก็ในฐานะอดีต ผบ.ทบ. ที่ถือเป็นบ้านพักรับรองของกองทัพบกเช่นกัน

แต่ทว่านายทหารลูกป๋ายืนยันว่า พล.อ.เปรมแม้จะพำนักอยู่บ้านรับรองของกองทัพบก แต่ก็จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟและค่าใช้จ่ายทุกอย่างเอง

และส่อเค้าว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็อาจจะอยู่บ้านพักหลังนี้ใน ร.1 รอ.ต่อไปแม้ว่าจะพ้นจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีในอนาคตก็ตาม

โดยอาจกลายเป็นเสมือนบ้านสี่เสาเทเวศร์หลังที่ 2 เพราะคาดกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็จะเป็นนายกรัฐมนตรียาว 2 สมัย ไม่รวม 5 ปียุค คสช. และหลังจากนั้นก็คงมีตำแหน่งสำคัญรองรับ เดินตามรอยเท้าป๋า

 

กรณีรอด ไม่มีความผิด ที่พักบ้านในค่ายทหารนี้ ก็เป็นการส่งสัญญาณการเป็นนายกรัฐมนตรีผู้อยู่ยงคงกระพัน รอดพ้นมาทุกคดี ทั้งคดีถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน คดีเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และคดีพักบ้านในค่ายทหาร

แถมประเมินว่าพลังของม็อบก็อ่อนลง แผ่วลง น้อยลง จน พล.อ.ประยุทธ์เลิกเครียด เลิกกังวล กลับมาทำงานตามแผนที่วางไว้

ต่างจากเมื่อครั้งที่มีการชุมนุมตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ที่ พล.อ.ประยุทธ์ก็เสียหลักไม่น้อยกับพลังและจำนวนผู้ชุมนุมที่สุดกระหึ่ม และเต็มไปด้วยพลังที่ต้องการเปลี่ยนแปลงของบรรดาเยาวชน นิสิต นักศึกษา

ความมั่นใจยังมีมากกว่านั้นด้วยยังไม่มีคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อในการชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี แม้แต่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยก็ตาม

อีกทั้งเก้าอี้ยังมั่นคง เพราะกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ คุมทั้งตำรวจ และกองทัพ

จึงอาจเป็นดัชนีชี้วัดได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ในอำนาจยาวตามแผน

 

หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และ 5 ปีของการเป็นรัฐบาล คสช. จนมาเป็นรัฐบาลเลือกตั้ง ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับของ คสช. พล.อ.ประยุทธ์ถูกมองตั้งแต่นานแล้วว่าจะเอาเป็นนายกรัฐมนตรียาวนาน

ทั้งจากการที่มีบทเฉพาะกาลเรื่องอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา 250 คนที่หัวหน้า คสช.เป็นคนแต่งตั้ง ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่มีวาระ 5 ปี สามารถที่จะโหวตเลือกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้งหนึ่งหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า

ทั้งการวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เป็นแผนระยะยาวรองรับ พล.อ.ประยุทธ์ที่คาดว่าจะเป็นนายกฯ รับ 2 สมัย ไม่รวม 5 ปีที่เป็นนายกฯ คสช.มาแล้ว

ในทางการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังมีบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ คุมเกม เดินเกมให้ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ สร้างความแข็งแกร่งในทุกๆ ด้านให้พรรคอยู่ได้ยาวนาน

ท่ามกลางการถูกจับตามองว่าในการเลือกตั้งสมัยหน้า พล.อ.ประยุทธ์จะลงสู่สนามการเมืองเต็มตัวหรือไม่ ทั้งในฐานะที่จะเข้าเป็นสมาชิกพรรค พปชร. เป็นปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 ของพรรค และเป็นนายกฯ ในบัญชีรายชื่อของพรรค หรือแม้แต่เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเอง

เพื่อที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งแบบเต็มตัว และเป็นประชาธิปไตยเต็มใบเพื่อลบข้อครหา

จากเดิมที่เป็น ผบ.ทบ.แล้วปฏิวัติมาเป็นนายกฯ และมาเป็นนายกฯ จากการเลือกตั้ง แต่ต้องใช้ 250 ส.ว.ช่วยโหวต เพราะรัฐธรรมนูญที่ คสช.ออกแบบมาเอง

พล.อ.ประยุทธ์ก็ย่อมที่จะอยากปลดเปลื้องข้อครหาทุกสิ่งเหล่านี้เพื่อกลายเป็นนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งแบบเต็มตัว

ที่สำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยปฏิเสธว่าจะเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ หรือจะเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเองในอนาคตหรือไม่ แต่ระบุว่ายังไม่มีความจำเป็น

เพราะตอนนี้ยังมี พล.อ.ประวิตรเป็นแม่ทัพทางการเมืองดูแลให้เป็นอย่างดี

แต่ทว่า พล.อ.ประวิตรวัย 75 ปี ได้ออกตัวในเบื้องต้นแล้วว่า ตนเองอาจจะอยู่ไม่ไหว หาก พล.อ.ประยุทธ์ต้องเป็นรัฐบาลในสมัยที่ 2

จึงคาดการณ์ว่าในตอนนั้น พล.อ.ประยุทธ์อาจจะต้องลงมาคุมพรรคพลังประชารัฐด้วยการเป็นหัวหน้าพรรคเองหรือไม่ หรือจะเป็นแค่ ส.ส.บัญชีรายชื่อหมายเลข 1 เท่านั้น

เพราะถึงอย่างไร พล.อ.ประวิตรก็ยังไปไหนไม่ได้ ต้องช่วย พล.อ.ประยุทธ์ให้ชนะเลือกตั้งครั้งหน้าและเป็นรัฐบาล เป็นนายกฯ อีกสมัยเสียก่อน

พี่น้อง 3 ป.ไม่มีวันทิ้ง หรือแยกกันได้หาก พล.อ.ประยุทธ์ยังอยู่ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็ยังคงต้องช่วยต่อไป ไม่ว่าจะเบื้องหน้าหรือเบื้องหลังก็ตาม

หรือไม่ก็อาจจะมีหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐคนใหม่สำรองไว้แล้ว โดยเฉพาะนายพีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

หรือแม้แต่ชื่อของบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ. ที่แม้ว่าตอนนี้จะเป็นรองเลขาธิการพระราชวังแล้วก็ตาม แต่วันหนึ่งก็อาจจะต้องกลับมาสู่สนามการเมืองหรือไม่

เช่นเดิม มาในตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังเลี่ยงที่จะตอบว่าจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ และเมื่อใด

 

ในเวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์จึงกลับมาสู่สภาพปกติ แม้จะมีม็อบ มีการชุมนุม มีความเคลื่อนไหว แต่ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงก็ประเมินว่ายังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงสำหรับความเคลื่อนไหวในการปฏิรูปสถาบันหรือการล้มล้างสถาบัน

ขณะที่ประชาชนจำนวนมากได้แสดงออกถึงพลังสีเหลืองและการแสดงออกถึงการไปเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จทุกครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมราชินี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ

แต่ความเคลื่อนไหวของคณะราษฎร ก็เป็นการส่งสัญญาณและเปิดเผยตัวตนให้ชัดเจนว่า ไม่ใช่แค่การเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบัน แต่อาจกลายเป็นการหยิบยกเรื่องสาธารณรัฐมาเป็นธงนำ พร้อมสัญลักษณ์ค้อนเคียว

ในเวลานี้จึงแยกแทบไม่ออกระหว่างความเคลื่อนไหวของพลังสีเหลืองในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ กับการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ถูกมองว่าเป็นนายกรัฐมนตรี อดีตทหารเสือราชินี ที่มีจุดยืนชัดเจนในการปกป้องสถาบัน เพื่อทำหน้าที่ในการค้ำจุนสถาบันต่อไป

การเมืองกับเรื่องสถาบัน จึงถูกผูกโยงเชื่อมต่อกันอย่างแยกแทบไม่ออก

เหล่านี้ทำให้กองทัพในฐานะที่เป็นทหารของพระราชาและมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นองค์จอมทัพไทย จึงถูกจับตามองถึงบทบาทในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ท่ามกลางความเคลื่อนไหวของคณะราษฎร ที่มุ่งโจมตีสถาบันมากขึ้นๆ

จึงทำให้บิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. และ ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 ถูกจับตามอง ในฐานะที่กุมกำลังทั้งของกองทัพบกและเป็นหัวหน้านายทหารคอแดงของกองทัพบก

ทั้งการตั้งม็อตโต้ที่ว่า “พิทักษ์ราชัน ปกป้องประชา รักษาแผ่นดิน” และการให้ความสำคัญกับภารกิจที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน และโดยเฉพาะงานของ ฉก.ทม.รอ.904

และถือได้ว่า พล.อ.ณรงค์พันธ์เป็นนายทหารสายรอยัลลิสต์โดยแท้ และพร้อมทำทุกอย่างเพื่อปกป้องสถาบัน

เพราะยังมีอายุราชการถึงกันยายน 2566 ในช่วง 3 ปีต่อจากนี้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

ในความเงียบงันของทัพฟ้าในยุคบิ๊กแอร์ พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ที่ได้มาเป็น ผบ.ทอ.แบบเหนือความคาดหมาย กลับมีความเคลื่อนไหวที่มีนัยสำคัญ ที่สะท้อนความไม่ธรรมดาของแอร์บูลสมชื่อ

จากที่ใครคิดว่า พล.อ.อ.แอร์บูลจะยึดแนวทางการทำงานตามที่ พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ อดีต ผบ.ทอ.ได้วางเอาไว้

เพราะถือว่า พล.อ.อ.มานัตเป็นคนที่เนรมิตเก้าอี้ ผบ.ทอ.ให้ เพราะเป็นคนหยิบ พล.อ.อ.แอร์บูลจากกรุผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทอ. ขึ้นมาเป็น ผบ.ทอ.

แบบที่ยอมผิดใจกับเพื่อนเตรียมทหาร 20 เกือบทั้งรุ่น เพราะเพื่อนๆ ต่างหนุนบิ๊กจ้อ พล.อ.อ.ธรินทร์ ปุณศรี เป็น ผบ.ทอ. เพราะต้องการสร้างหลักการในการเลือก ผบ.ทอ.ต้องมีคุณสมบัติ 10 ประการ จากการประเมิน และการให้คะแนน

อีกทั้งต้องการตอกย้ำธรรมเนียม ทอ. ที่ว่า ผบ.ทอ.จะไม่ซ้ำรุ่นใน 1 รุ่นนายเรืออากาศ จะต้องเป็น ผบ.ทอ.ได้คนเดียว

ธรรมเนียมนี้ แม้จะมีมาในอดีต แต่ก็ไม่ได้ถูกเน้นย้ำใน ทอ.

แต่หลังจากเกิดศึก นนอ.01 ในยุคของบิ๊กเต้ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล และบิ๊กอู๊ด พล.อ.อ.วรนารถ อภิจารี ที่มีความขัดแย้งสูง ชิงเก้าอี้ ผบ.ทอ.กันเอง บิ๊กอู๊ดได้เป็น ผบ.ทอ.ก่อน แต่ก็ถูกเด้งไปเป็น ผบ.ทหารสูงสุด บิ๊กเต้ขึ้นแทน แต่ก็ร่วงเพราะเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535

การเมืองในเวลานั้น ส่งผลให้ นนอ.01 ได้เป็น ผบ.ทอ.ถึง 3 คน ตบท้ายที่บิ๊กกันต์ พล.อ.อ.กันต์ พิมานทิพย์ ขึ้นหลังพฤษภาทมิฬ 2535

การชิงไหวชิงพริบกันเป็น ผบ.ทอ. แต่ทุ่งดอนเมืองก็แตกร้าวต่อเนื่องยาวนานมาหลายปี

จนทำให้ในรุ่นต่อๆ มามีการกำหนดธรรมเนียมว่า ผบ.ทอ.ต้องไม่ซ้ำรุ่น

ในการแต่งตั้งโยกย้ายที่ผ่านมา พล.อ.อ.มานัต ตท.20 นนอ.27 จึงเลือกเสนอชื่อ พล.อ.อ.แอร์บูล นายทหารที่ พล.อ.อ.มานัตเชื่อว่าดีที่สุดในเตรียมทหาร 21 หรือนายเรืออากาศ (นนอ.) 28 แล้ว เป็น ผบ.ทอ.

เพราะหากซ้ำรุ่นได้ พล.อ.อ.มานัตเคยบอกไว้ว่า ก็คงเสนอชื่อ พล.อ.อ.ธรินทร์ เพื่อน ตท.20 เป็น ผบ.ทอ.ไปแล้ว หรือหากมีคนเก่งของ ตท.22-23 อยู่ ก็อาจจะได้รับการพิจารณา

เพราะ พล.อ.อ.มานัตต้องการให้กองทัพอากาศมีระบบสร้างคนฉลาด เลือกคนฉลาด เลือกคนต้องสร้างทายาทเอาคนฉลาด คนดี มีวิธีคิดที่ดี เตรียมมาเป็นผู้นำ

แต่เมื่อยังมีตัวเลือกน้อย พล.อ.อ.มานัตจึงต้องตั้งหลักการในการเลือก ผบ.ทอ.ขึ้นมาเอง

ถึงขั้นที่ต้องหอบหิ้วเอกสารหลักฐานการประเมินผล ให้คะแนน แคนดิเดต ผบ.ทอ. และพลอากาศเอกเรียงลำดับมาชี้แจงกับบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม เพื่อยืนยันชื่อ พล.อ.อ.แอร์บูลเป็น ผบ.ทอ.

จนทำให้มีความพยายามจะสืบหาสายสัมพันธ์เชิงลึกของ พล.อ.อ.มานัต กับ พล.อ.อ.แอร์บูล ว่าเพราะอะไรจึงได้เสนอชื่อ พล.อ.อ.แอร์บูลเป็น ผบ.ทอ. นอกเหนือจากการฝึกอบรม เตรียมตัวไปเป็น ผช.ทูตทหารอากาศ พร้อมกัน พล.อ.อ.มานัตไปเป็น ผช.ทูต ทอ.ที่เยอรมนี พล.อ.อ.แอร์บูลไปเป็น ผช.ทูต ทอ.ประจำสิงคโปร์

เมื่อ พล.อ.อ.แอร์บูลขึ้นมาเป็น ผบ.ทอ.แบบม้ามืด จึงถูกจับตามองว่า พล.อ.อ.มานัตจะมีบทบาทใน ทอ. และต่อ พล.อ.อ.แอร์บูล มากน้อยหรือไม่อย่างไร

 

แน่นอนว่าคนมาเป็น ผบ.ทอ.ใหม่ ก็ต้องมีทั้งการสานต่อนโยบายหรือแนวทางของ ผบ.ทอ.คนก่อน และมีทั้งที่เป็นนโยบายใหม่

ที่กำลังถูกจับตามองคือ หลักการในการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ ที่ต้องยึดหลัก P&D : Purchase & Development

ซึ่ง พล.อ.อ.มานัตเคยให้คำมั่นกับคณะกรรมาธิการงบประมาณไว้ก่อนหน้านี้ว่า การจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของ ทอ.จะต้องทำให้ประเทศได้ประโยชน์ คนไทยได้ประโยชน์จากการสร้างงานภายในประเทศ เน้นอุตสาหกรรมในประเทศ และให้บริษัทอุตสาหกรรมการบิน หรือ TAI ของ ทอ. เป็น Prime Contract

แต่ปรากฏว่ามีการปรับเปลี่ยนใหม่ เป็นการจัดซื้อจัดจ้างจากต่างประเทศมากขึ้น

รวมทั้งการปรับเปลี่ยนใน TAI การเลือก MD คนใหม่ ที่แม้จะมี กม.ที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.ป.ป.ช.2563 ระบุให้ใช้วิธีการคัดสรร หลังจากการสร้างกลไกใหม่และอำนาจหน้าที่ตามโครงสร้างใหม่ของ TAI เสร็จแล้ว เพื่อแยกอำนาจของ ทอ. และตัดขาดระบบอุปถัมภ์ เพราะที่ผ่านมา ใครเป็น ผบ.ทอ.ก็มักจะตั้งเพื่อนร่วมรุ่นเป็นประธานบอร์ด และ MD

แต่ควรใช้ระบบสรรหามืออาชีพเข้าทำหน้าที่นำพาองค์กรเพื่อก้าวสู่อนาคตอย่างมืออาชีพ และให้บังคับใช้กฎหมายให้มีการชำระหนี้สินที่ทั้ง ทอ.และส่วนราชการเหลือคงค้างทั้งหมด

และที่กำลังถูกจับตามองมากที่สุดคือ ผบ.ทอ.คนต่อจาก พล.อ.อ.แอร์บูลที่จะเกษียณในอีก 10 เดือนข้างหน้า จะเป็นเสธ.หนึ่ง พล.อ.อ.ชานนท์ มุ่งธัญญา เสธ.ทอ. ตามที่ พล.อ.อ.มานัตวางตัวไว้หรือไม่

ด้วยเพราะมีการมองกันที่ความสัมพันธ์ของ พล.อ.อ.แอร์บูลกับบิ๊กตั้ว พล.อ.อ.สฤษฎ์พงศ์ วัฒนวรางกูร ผบ.คปอ. ที่เป็นเพื่อนรัก ตท.21 นนอ.28 ด้วยกัน

ยิ่งในระยะหลังๆ มานี้ พล.อ.อ.แอร์บูลมักจะชวน พล.อ.อ.สฤษฎ์พงศ์ไปร่วมงานต่างๆ ออกงานด้วยกันเสมอๆ

 

จนเป็นที่จับตามองกันใน ทอ.ว่า ในที่สุด พล.อ.อ.แอร์บูลจะเสนอชื่อ พล.อ.อ.สฤษฎ์พงศ์เป็น ผบ.ทอ.คนต่อไปหรือไม่

เพราะอย่างน้อย พล.อ.อ.มานัตก็เคยพูดไว้ก่อนหน้านี้ถึงธรรมเนียม ทอ.ที่จะไม่ตั้ง ผบ.ทอ.ซ้ำรุ่น ป้องกันการแย่งเก้าอี้กันเองในหมู่เพื่อน หรือการยึดเก้าอี้ ผบ.ทอ.เป็นของรุ่น

แต่ทว่าธรรมเนียมไม่ใช่กฎหมาย จึงขึ้นอยู่กับว่า ผบ.ทอ.จะปฏิบัติตามหรือไม่ และแล้วแต่สถานการณ์ในเวลานั้น

ทั้งนี้เพราะ พล.อ.อ.สฤษฎ์พงศ์ก็มีเพาเวอร์ไม่น้อย เพราะเข้า-ออกมูลนิธิป่ารอยต่อฯ อยู่เนืองๆ เป็นที่คุ้นเคยของบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ และบิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา

จึงทำให้ พล.อ.อ.สฤษฎ์พงศ์ยังคงอยู่ใน ทอ. เป็น ผบ.คปอ.ได้ แม้ว่า พล.อ.อ.มานัตได้เสนอชื่อไปเป็นรอง ผบ.ทหารสูงสุดในโผที่ผ่านมา เพราะต้องการเคลียร์ทางใน ทอ.ให้ พล.อ.อ.ชานนท์ ตท.23 นนอ.30 ทางสะดวกขึ้นเป็น ผบ.ทอ. เพราะรู้ดีว่าหาก พล.อ.อ.สฤษฎ์พงศ์ยังอยู่ใน ทอ. ก็มีโอกาสสู้ชิงเก้าอี้ ผบ.ทอ.ได้อีก

โดยเฉพาะในเวลานี้เริ่มเชื่อกันว่า พล.อ.อ.แอร์บูลอาจจะเสนอชื่อ พล.อ.อ.สฤษฎ์พงศ์เพื่อนรักเป็น ผบ.ทอ.ในกันยายนปีหน้า

ที่ตอนนั้นให้จับตามอง พล.อ.อ.มานัตให้ดี แม้ว่าวันนี้จะกลับไปเป็นชาวสวนทุเรียนที่บ้านเกิดเมืองจันท์ แต่ทว่าก็ยังคงสนใจงานการเมือง และสมัครเป็นบอร์ด กสทช.

แต่ถึงเวลานั้น พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตรก็คงเข้ามามีบทบาท หากมีความขัดแย้งเกิดขึ้น

อีกทั้งผลพวงที่ พล.อ.อ.มานัตได้จัดวางระบบ และการโยกย้ายทั้งนายพลและนาวาอากาศเอกพิเศษ ผู้การกองบินนั้น ก็ยังเกิดแรงกระเพื่อมไม่หาย

      ส่อเค้าว่า ทอ.อาจจะเกิดความวุ่นวายอีกระลอก ส่งท้ายยุค พล.อ.อ.แอร์บูล