ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 ธันวาคม 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | ยุทธบทความ |
ผู้เขียน | ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข |
เผยแพร่ |
88 ปีระบอบทหารไทย (21) จากรัฐประหาร 2549
“ทหารมีแนวโน้มอย่างมากที่จะล้มรัฐบาลพลเรือน เพราะปัญหาความไม่พอใจในนโยบายของรัฐบาล มากกว่าจะเป็นเรื่องว่าประชาธิปไตยเป็นภัยคุกคามต่อกองทัพ”
Paul Brooker (2009)
นับจากการเลือกตั้งในต้นปี 2548 แล้ว การเมืองไทยเริ่มส่งสัญญาณที่กลายเป็นความน่ากังวล เพราะในด้านหนึ่งพรรคไทยรักไทยของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร สร้างปรากฏการณ์อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน คือการกวาดชัยชนะในรัฐสภาด้วยจำนวนเสียงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มากจนโอกาสที่พรรคฝ่ายค้านจะสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยกระบวนการทางรัฐสภานั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
สภาวะเช่นนี้จึงถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อสร้าง “วาทกรรมต่อต้านประชาธิปไตย” ว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเป็น “เผด็จการรัฐสภา” เพราะพรรครัฐบาลมีเสียงในสภามากเกินไป ทั้งที่การหาเสียงที่เกิดจากการแข่งขันในการเลือกตั้งนั้น ทุกพรรคล้วนปรารถนาที่จะได้คะแนนเสียงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ว่าที่จริงแล้วไม่เคยมีทฤษฎีทางรัฐศาสตร์เล่มใดที่กล่าวว่า พรรคการเมืองไม่ควรได้เสียงจากการเลือกตั้งมากเกินไป แต่สำหรับฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยในไทยแล้ว พวกเขาไม่เคยเห็นปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อน และพวกเขาเป็นฝ่ายแพ้
ชัยชนะในปี 2548 จึงกลายเป็น “ทุกขลาภ” สำหรับตัวนายกฯ ทักษิณและพรรคไทยรักไทย แต่ขณะเดียวกันชัยชนะนี้คือสัญญาณสำหรับฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยที่จะฉวยโอกาสก่อกระแสต่อต้านรัฐบาล และหากเป็นไปได้ก็ใช้โอกาสเช่นนี้ล้มรัฐบาลพลเรือนที่พวกเขาไม่ต้องการด้วย
แต่ปัญหาคือจะทำรัฐประหารอีกครั้งอย่างไร และทำแล้วจะถูกมวลชนต่อต้านหรือไม่
ความน่ากลัวและภัยคุกคาม
แม้นักพยากรณ์การเมืองเชื่อว่าพรรคไทยรักไทยจะชนะการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2548 แต่ไม่มีใครคาดคิดว่าพรรคจะชนะด้วยคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น ในแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในการเมืองไทย
จากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตจำนวน 400 ที่นั่งนั้น พรรคไทยรักไทยได้มากถึง 310 ที่นั่ง
ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ 70 ที่นั่ง ส่วนพรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ได้จำนวน 18 และ 2 ตามลำดับ ต้องยอมรับว่าเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของพรรค เพราะได้คะแนนเสียงมากกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนที่นั่งในการเลือกตั้งทางตรงจากการแบ่งเขต หรือคิดเป็นร้อยละ 77.5 ของจำนวน ส.ส.เขตทั้งหมด
ชัยชนะเช่นนี้ทำให้พรรคไทยรักไทยได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่ออย่างท่วมท้นเป็นสัดส่วนตามกันไป คือจากจำนวนบัญชีรายชื่อ 100 ที่นั่ง พรรคไทยรักไทยได้ถึง 67 ที่นั่ง
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์และพรรคชาติไทยได้จำนวน 26 และ 7 ที่นั่งตามลำดับ
จึงส่งผลให้พรรคไทยรักไทยมีคะแนนมากถึง 377 ที่นั่งจากจำนวน 500 ที่นั่งในรัฐสภา ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ได้ 96 ที่นั่ง และเป็นของพรรคอื่นๆ อีก 27 ที่นั่ง
หรือพรรคไทยรักไทยมีจำนวน ส.ส. คิดเป็นร้อยละ 75.4 ของที่นั่งทั้งหมด และพรรคประชาธิปัตย์มีจำนวนร้อยละ 19.2 ของที่นั่งทั้งหมดในรัฐสภา
แน่นอนว่าชัยชนะเช่นนี้กลายเป็น “ภัยคุกคามทางการเมือง” ไม่ใช่เฉพาะแต่เพียงพรรคฝ่ายค้านในรัฐสภาเท่านั้น
หากแต่สำหรับบรรดาชนชั้นนำและผู้นำปีกอนุรักษนิยมที่เห็นต่างด้วยแล้ว ชัยชนะครั้งนี้กลายเป็น “ความน่ากลัว” ในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย
เพราะไม่เคยมีมาก่อนที่พรรคการเมืองจะมีเสียงในรัฐสภาเป็นจำนวนมากเช่นนี้ เพราะในการเลือกตั้งในเดือนมกราคม 2544 นั้น พรรคไทยรักไทยได้ 248 ที่นั่ง และพรรคประชาธิปัตย์ได้ 128 ที่นั่งจากจำนวนทั้งหมด 500 ที่นั่ง
หรือชัยชนะของพรรคไทยรักไทยในครั้งนั้นคิดเป็นร้อยละ 49.6 ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ได้ร้อยละ 25.6
ดังนั้น หากเปรียบเทียบการเลือกตั้ง 2 ครั้งในระยะ 4 ปี (2544-2548) พรรคไทยรักไทยเติบโตจากจำนวน 248 ที่นั่งเป็น 377 ที่นั่งในรัฐสภา
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ลดจำนวนจาก 128 ที่นั่งเหลือเพียง 96 ที่นั่ง (หรือมีจำนวนต่ำกว่า 100 ที่นั่ง) โดยเปรียบเทียบแล้ว พรรคไทยรักไทยเติบโตจากร้อยละ 49.6 ในการเลือกตั้งปี 2544 เป็นร้อยละ 75.4 ในปี 2548 และพรรคประชาธิปัตย์ลดจากร้อยละ 25.6 ในการเลือกตั้งปี 2544 เหลือเพียงร้อยละ 19.2 ในปี 2548
ผลเช่นนี้เป็น “ความน่ากลัวทางการเมือง” อย่างมาก เพราะพื้นที่ของปีกอนุรักษนิยมหดตัวลงอย่างมาก
ไม่น่าเชื่อเลยว่าในระยะเวลาเพียง 4 ปีเท่านั้น คะแนนนิยมของพรรคในสายอนุรักษนิยมจะลดเหลือไม่ถึงร้อยละ 20…
เป็นไปได้อย่างไรจากพรรคที่เคยยึดกุมการเมืองในรัฐสภาไทยกลับแพ้อย่างคาดไม่ถึง
และสะท้อนให้เห็นถึงภาวะ “ถดถอย” อย่างที่ปีกอนุรักษนิยมไม่อาจจะยอมรับได้เลย และเท่ากับชี้ให้เห็นว่าปีกอนุรักษนิยมไทยไม่อาจชนะการแข่งขันทางการเมืองในระบบรัฐสภาได้แล้ว
จำเป็นต้องแสวงหาวิธีการ “นอกสภา” เพื่อทำให้รัฐบาลและพรรคการเมืองที่พวกเขาไม่พึงปรารถนาต้อง “สูญสลาย” ไปในพริบตา และทหารจะเข้าควบคุมการเมืองได้หมด
อุดมการณ์ต่อต้านประชาธิปไตย
ชัยชนะในต้นปี 2548 ยังคู่ขนานกับการขยายอิทธิพลของนายกรัฐมนตรีทักษิณและพรรคไทยรักไทยในชนบทและพื้นที่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลางบางส่วน จนเป็นดังการลดทอนความนิยมของกลุ่มอนุรักษนิยมและพรรคการเมืองเก่าที่ฝังรากลึกมานาน
และยิ่งเขาชนะมากเท่าใด ฝ่ายตรงข้ามก็ยิ่งกลัว (และเกลียด) เขามากขึ้นเท่านั้น
และความเกลียดชังที่เกิดถูกแปลงเป็น “ความรังเกียจต่อประชาธิปไตย” อันนำไปสู่การต่อต้านนักการเมือง พรรคการเมือง และการเลือกตั้ง ซึ่งทั้งสามส่วนนี้คือ “แกนกลาง” ของระบอบรัฐสภา
จนเป็นดังสัญญาณว่า “ภัยคุกคามใหม่” ที่บรรดาฝ่ายขวาไทย โดยเฉพาะฝ่ายทหารกลัวคือ “ประชาธิปไตย”
ความเกลียดชังเช่นนี้กำลังสะท้อนให้เห็น “อุดมการณ์ใหม่” ของปีกอนุรักษนิยมไทย
ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่า ความกลัวภัยคอมมิวนิสต์ไม่ใช่ประเด็นหลักอีกต่อไป
ศูนย์กลางของการสร้างอุดมการณ์ของฝ่ายขวาในยุคหลังสงครามเย็นกลายเป็นเรื่องของ “การต่อต้านประชาธิปไตย”
ซึ่งอาจเรียกในทฤษฎีรัฐศาสตร์ว่า “อุดมการณ์ต่อต้านการเมือง” (Antipolitics Ideology)
ซึ่งปรากฏการณ์ที่ชัดเจนของอุดมการณ์ชุดนี้เคยเกิดมาก่อนแล้วในละตินอเมริกา ที่หลังจากการรัฐประหารในบราซิลในปี 2507 และในเปรูในปี 2511 เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการสร้างอุดมการณ์ใหม่ในหมู่นายทหาร และไม่ใช่เกิดกับนายทหารในสองประเทศนี้เท่านั้น แต่เกิดกับนายทหารและกับฝ่ายขวาทั้งภูมิภาคด้วย
ด้วยอุดมการณ์ชุดนี้ ผู้นำทหารมีทัศนคติในทางลบกับนักการเมืองอย่างมาก ด้วยความเชื่อว่า นักการเมืองคือ แหล่งของ “การคอร์รัปชั่น การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ความขัดแย้ง และความไร้ศีลธรรม”
แน่นอนว่าชุดความคิดเช่นนี้เข้ากันได้อย่างดีกับความคิดแบบอำนาจนิยมที่มีผู้นำทหารเป็นผู้นำ
และขณะเดียวกันก็ถูกสร้างให้เกิดความเชื่อว่า อุดมการณ์นี้จะเป็นรากฐานของ “ระเบียบและเสถียรภาพ” ทั้งจะเอื้อให้เกิด “สิทธิพิเศษ” ให้แก่บรรดาชนชั้นนำและชนชั้นสูงอีกด้วย ซึ่งชุดความคิดเช่นนี้ดูจะสอดรับกับความคิดของผู้นำทหารไทยอย่างมาก
ฉะนั้น เมื่อสิ้นยุคสงครามเย็นในไทยแล้ว จึงเกิดความพยายามที่จะประกอบสร้างอุดมการณ์ทหารชุดใหม่ ที่ไม่ใช่การอิงอยู่กับการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในแบบเดิม
และอุดมการณ์ชุดใหม่นี้ ซึ่งนอกจากจะเอื้อกับการสร้างความชอบธรรมของผู้นำทหารในระบอบรัฐประหารแล้ว
ยังเอื้ออย่างมากกับการรองรับบทบาทของผู้นำทหารในระบอบเลือกตั้งอีกด้วย
ที่สำคัญอุดมการณ์ต่อต้านการเมืองเป็นเครื่องมือให้แก่ฝ่ายทหารใช้ในการ “ควบคุม” ทางสังคม และเป็นหนทางของการทำให้กองทัพมีสถานะเป็น “ผู้ปกป้องแห่งชาติ” (national guardian) อันมีความหมายว่า ทหารจะเป็นผู้ปกป้องประเทศให้พ้นจาก “อิทธิพลของนักการเมืองที่ชั่วร้าย” ซึ่งฝ่ายอนุรักษนิยมจะประกอบสร้างและผลิตซ้ำทางความคิดว่า นักการเมืองเป็น “ผู้ร้าย” และผู้นำทหารเป็น “อัศวินม้าขาว”
การต่อต้านนักการเมืองของผู้นำทหารและบรรดาปีกขวาจึงมีนัยโดยตรงถึงการต่อต้านพรรคการเมืองและการเลือกตั้งไปโดยปริยาย แต่นัยที่สำคัญกว่านั้นก็คือ พวกเขาไม่สามารถที่ยอมรับกระบวนการสร้างประชาธิปไตยที่กำลังขับเคลื่อนการเมืองไทยในยุคหลังรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งไม่ใช่เพียงความพ่ายแพ้การเลือกตั้งของพรรคฝ่ายอนุรักษนิยมเท่านั้น
หากแต่ยังมีผลกระทบต่อบทบาทของกองทัพในทางการเมืองอีกด้วย
ดังจะเห็นได้ว่าบทบาททางการเมืองของทหารในยุคหลังปี 2540 นั้น กองทัพไม่ใช่ “ตัวแสดงหลัก” ที่จะเป็นผู้คุมการเมืองได้ทั้งหมด
หากแต่บทบาทเช่นนั้นตกอยู่ในมือของนักการเมืองพลเรือน ที่เข้าสู่อำนาจด้วยการเลือกตั้ง…
อำนาจอยู่กับ “รถหาเสียง” มากกว่า “รถถัง”
กลิ่นอายรัฐประหาร!
ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้ง 2548 เริ่มปรากฏให้เห็นถึงการต่อต้านรัฐบาล และการต่อต้านถูกยกระดับขึ้นเป็นลำดับ แม้จะยังคงพอมีความหวังอยู่บ้างว่า ผู้นำทหารและกลุ่มชนชั้นนำจะไม่หันกลับไปใช้เครื่องมือเก่าที่โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วยการยึดอำนาจ
แต่ความหวังเช่นนี้ก็ดูจะเลือนราง เพราะปีกอนุรักษนิยมตัดสินใจเปิดการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ด้วยการจัดตั้ง “กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” โดยมีนายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นแกนนำหลัก
การเคลื่อนไหวเริ่มต้นด้วยสัญลักษณ์ของ “ผ้าพันคอสีฟ้า” และต่อมาเป็น “เสื้อเหลือง” ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ล้วนเป็นการส่งสัญญาณของการสนับสนุนทางการเมืองในระดับสูง ขณะเดียวกันก็ใช้สัญลักษณ์เช่นนี้เป็นเครื่องมือของการปลุกระดมมวลชน การประท้วงที่เริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 สามารถระดมกลุ่มอนุรักษนิยมที่ต่อต้านรัฐบาลได้เป็นจำนวนมาก จนเป็นวิกฤตครั้งที่ 2 ของการเมืองไทยในยุคหลังสงครามเย็น (วิกฤตครั้งแรกคือ เหตุการณ์พฤษภาคม 2535)
แม้รัฐบาลจะพยายามออกจากวิกฤตด้วยการยุบสภาในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 และการเลือกตั้งจะเกิดในต้นเดือนเมษายน แต่ก็ถูกต่อต้านอย่างมาก และพรรคฝ่ายค้านคือพรรคประชาธิปัตย์ปฏิเสธที่เข้าร่วมการเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 2 (พรรคนี้ปฏิเสธการเลือกตั้งครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2495) และมีการใช้กระบวนการ “ตุลาการธิปไตย” (Juristocracy) เพื่อจัดการกับรัฐบาลผ่านอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ และทำให้การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
วิกฤตถูกยกระดับมากขึ้นอีก เมื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ออกมาแสดงความเห็น โดยเฉพาะวลีที่กล่าวว่า “หากเปรียบทหารเป็นม้า รัฐบาลก็เป็นเพียงแค่จ๊อกกี้…”
อันเท่ากับเป็นสัญญาณให้กองทัพแยกตัวออกจากรัฐบาล
เดาได้ไม่ยากแล้วว่า สุดท้ายวิกฤตชุดนี้จะจบอย่างไร ต่อมาในวันที่ 19 กันยายน 2549 ผู้นำทหารก็กลับเข้าสู่วงจรเก่าด้วยการรัฐประหารอีกครั้ง…
ภูมิทัศน์ของการเมืองกับการทหารหลังปี 2535 และหลังปี 2540 จบลงแล้ว
และภูมิทัศน์ใหม่ก่อตัวขึ้นอีกแบบ!