ถ้าบังคับทุกอย่าง ห้าม-ห้าม-ห้าม แทบทุกเรื่อง เด็กจะไม่ได้เรียนรู้ด้วยตัวเองเลย

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

เครื่องแบบ

เห็นการรณรงค์ไม่ใส่ชุดนักเรียนของกลุ่ม “นักเรียนเลว” ในวันเปิดเทอมแล้ว

ต้องยอมรับเลยว่าเป็นข้อเสนอที่ก่อให้เกิดการถกเถียงสูงมาก

มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ทั้งที่เรื่องนี้เคยมีการพูดกันมานานแล้ว

แต่เป็นเพียงแค่แนวคิด

ไม่ใช่การลงมือทำแบบวันนี้

เพราะวันนั้นมีนักเรียนหลายโรงเรียนกล้าที่จะไม่ใส่ชุดนักเรียน

แม้จะไม่ใช่ “ส่วนใหญ่”

แต่แค่ “ส่วนหนึ่ง” ก็ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ล้ำมาก

ล้ำกว่าแค่การถกเถียงกันในอดีต

เหตุผลของแต่ละฝ่ายก็คล้ายๆ เดิม

ฝั่งที่สนับสนุนเครื่องแบบนักเรียนมองว่าใส่ชุดเหมือนๆ กันจะได้เรียบร้อย ไม่เหลื่อมล้ำ

ลูกคนรวย-คนจน แต่งชุดเหมือนกัน

ฝั่งที่คัดค้านก็บอกว่าถ้าจะเหลื่อมล้ำ ใส่ชุดนักเรียนก็เหลื่อมล้ำได้

ตั้งแต่ชุดใหม่-ชุดเก่า

รองเท้าแพง-รองเท้าถูก

หรือแม้แต่ “กล่องดินสอ” ยังเหลื่อมล้ำเลย

หรือเรื่องประหยัด

ใครที่คิดว่าชุดนักเรียนประหยัด เพราะคิดว่าเด็กนักเรียนทุกคนจะแข่งขันกันแต่งตัวแพงๆ

เขาลืมคิดในมุมว่าถ้าเด็กสามารถใส่ชุดไปรเวตมาเรียน ไม่ต้องจ่ายค่าชุดนักเรียนเพิ่ม

ใส่ทั้งเรียนทั้งเที่ยว ชุดเดียวกัน

แบบนี้ประหยัดกว่าต้องซื้อชุดนักเรียนแน่นอน

ทั้ง 2 ฝ่ายมี “กรอบความเชื่อ” ที่แตกต่างกัน

แต่ประเด็นสำคัญที่ฝั่งสนับสนุนชุดนักเรียนลืมไปก็คือ แทนที่จะมาเถียงแทนนักเรียน

ก็ให้นักเรียนเลือกสิครับ

ไปบังคับเขาทำไม

ใครอยากใส่ชุดนักเรียนก็ใส่

ไม่อยากใส่ก็ไม่ต้องใส่

เรื่องแค่นี้ทำไมต้องบังคับกัน

เหมือนตอนเรียนมหาวิทยาลัย ใครอยากใส่ชุดนักศึกษาก็ใส่ ไม่อยากใส่ก็ไม่ต้องใส่

ถ้าเราอยากให้เด็กเติบโตทางความคิด

เราต้องมี “พื้นที่ว่าง” ให้เขาคิดเองเยอะๆ

ไปตีกรอบ ไปบังคับแทบทุกเรื่อง

แล้วบอกว่า “เด็กไทย” ไม่มีความคิดสร้างสรรค์

เราต้องให้เขาลองถูก ลองผิดบ้าง

แค่ปล่อยให้เขามีเสรีภาพคิดเองว่าจะใส่ชุดนักเรียนหรือไม่ใส่

เดี๋ยวเขาก็หาจุดที่เหมาะสมกับตัวเองได้เอง

ปล่อยให้ “ความคิด” ของเขาได้หายใจบ้างเถอะครับ

สมัยเป็นนักเรียน ผมไม่เคยตั้งคำถามกับ “ชุดนักเรียน”

แต่ตั้งคำถามเกี่ยวกับ “ทรงผม” มากกว่า

อาจเป็นเพราะเข้าช่วงวัยรุ่น

อยากไว้ผมยาวบ้าง

ไม่ได้อยากไว้ผมยาวแบบนักร้องวงร็อก

แค่หัวไม่เขียวก็พอแล้ว

และไม่เข้าใจว่าทำไมจะปล่อยผมยาวกว่า 4 ซ.ม.ไม่ได้

ทั้งที่ไม่มีผลต่อความโง่หรือความฉลาดเลย

แต่เรื่อง “ชุด” นั้น ผมเริ่มตั้งคำถามเมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถือว่ามีเสรีภาพเรื่องการแต่งกายสูงมากเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยทั่วไป

จะใส่ชุดอะไรก็ได้

ใส่ “รองเท้าแตะ” ก็ได้

ตอนเรียนผมใส่เสื้อยืด กางเกงยีนส์ รองเท้าแตะตลอด

มีเสื้อ-กางเกงเก่าๆ ไม่กี่ตัว ใส่วนไปเวียนมา

แต่ไม่เคยรู้สึกด้อยเมื่อเทียบกับเพื่อนที่แต่งตัวดีๆ เสื้อผ้าแพงๆ

“ธรรมศาสตร์” ทำให้เรารู้สึกเท่าเทียมกันมาก

มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะบังคับให้นักศึกษาใส่รองเท้าหุ้มส้นเข้าเรียน

และในห้องสอบ

ห้ามใส่ “รองเท้าแตะ”

ตอนนั้นผมเป็นอุปนายกภายในขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ยอมไม่ได้

เรื่องนี้เรื่องใหญ่

มีการรณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจัง

เพราะเราไม่ได้คิดว่า “รองเท้าแตะ” เป็นแค่ “รองเท้าแตะ”

แต่เป็นเรื่อง “เสรีภาพ” ของนักศึกษา

เราไม่ใช่เด็กแล้ว เรามีสิทธิเลือกตั้งแล้ว

แค่เรื่องการแต่งกาย เรากลับไม่มีสิทธิเลือก

…ได้ไง

ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยุคนั้นก็ดีนะครับ

ท่านรับฟัง แม้จะไม่เห็นด้วยกับเราก็ตาม

สุดท้ายเรื่องนี้ก็ตกไป

ตอนอยู่ธรรมศาสตร์ “ความคิด” ของผมเหมือนต้นไม้ที่มีพื้นที่ว่างให้แผ่กิ่งก้านได้อย่างเต็มที่

“เสรีภาพ” คือ “อากาศ”

ให้มนุษย์ได้หายใจอย่างเต็มปอด

ให้ต้นไม้แห่งความคิดได้เบ่งบาน

ผมจึงให้ความสำคัญกับ “เสรีภาพ” มาก

อะไรที่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ก็ปล่อยให้เขามีเสรีภาพในการตัดสินใจ

เหมือนเราเลี้ยงลูก ถ้าบังคับทุกอย่าง

ห้าม-ห้าม-ห้าม แทบทุกเรื่อง

เด็กจะไม่ได้เรียนรู้ด้วยตัวเองเลย

แต่ถ้าปล่อยให้เขาได้ล้มบ้าง ตัดสินใจเองบ้าง

เขาจะได้ “บทเรียน” ที่ต้องมีใครสอน

ซึ่งเป็น “บทเรียน” ที่สำคัญมากของชีวิต

เพราะชีวิตเป็นของเขา

เขาต้องเรียนรู้และตัดสินใจด้วยตัวเอง

เหมือนกับเรื่องชุดนักเรียน ถ้าไม่คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลต่อการเล่าเรียนก็ปล่อยให้เขาตัดสินใจเอง

จะใส่หรือไม่ใส่ก็ได้

ให้เสรีภาพกับเขาเถอะ

ผมนึกถึงตัวเอง สมัยเป็นนักศึกษาต่อสู้เรื่องเสรีภาพในการแต่งกาย

ปฏิเสธเรื่องการบังคับใส่ชุดนักศึกษา

แต่มาวันนี้ ไม่ได้ทำงานประจำ มีอิสระในการแต่งกาย

จะเลือกใส่ชุดอะไรก็ได้

แต่ผมกลับเบื่อมากที่ต้องเลือกชุด

“ไอดอล” ของผมในเรื่องการแต่งกาย คือ “พี่เก้ง” จิระ มะลิกุล

และ “อัสนี-วสันต์”

“พี่เก้ง” จะมีชุดประจำ คือ เสื้อสีขาว และกางเกงสีน้ำตาล

“พี่ป้อม” ก็ใส่เสื้อยืดสีขาว กางเกงยีนส์

ทั้งคู่ใส่ชุดแบบนี้มานานหลายสิบปี

เพราะเขาเบื่อที่จะคิดว่าเช้านี้จะใส่เสื้อสีอะไรดี

ตอนนี้ผมก็คิดแบบ “พี่เก้ง” และ “พี่ป้อม”

ใส่เสื้อสีเดียวกันเกือบทุกวัน

ไม่ต้องคิดว่าจะใส่ตัวไหนดี

เมื่อผมมี “เสรีภาพ” ในการมี “เครื่องแบบ” ของเราเอง

คนอื่นก็มี “เสรีภาพ” เช่นเดียวกัน

… “เครื่องแบบ” ที่ไม่เหมือนกันทุกวัน