“โลกของใคร” เดี๋ยวก็รู้

ไม่ว่าในที่สุดแล้วการชุมนุมต่อต้านการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลเผด็จการ ผู้ชุมนุมจะประสบผลสำเร็จในการนำประชาธิปไตยกลับคืนให้ประเทศได้หรือไม่ หรือไม่ว่าฝ่ายไหนจะเป็นผู้ชนะ

แต่ถึงวันนี้ชัดเจนแล้วว่าโครงสร้างอำนาจของประเทศที่เอื้อให้คนกลุ่มหนึ่งมีโอกาสครอบครองกลไกการบริหารมากกว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศ และเป็นกลไกที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เอื้อประโยชน์ให้กันและกัน กับผูกขาด มีการนำเสนอให้สังคมโดยทั่วไปรับรู้และถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่เรื่องที่ต้องพูดกันด้วยวิธีซุบซิบ และเนื่องจากหาข้อมูลหลักฐานไม่ได้อีกต่อไป

ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เป็นต้นเหตุของการมีชีวิตที่ทุกข์ยากของคนส่วนใหญ่ มีการนำเสนอให้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น อันเป็นเหตุผลให้เยาวชนคนรุ่นใหม่จำเป็นต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสร้างความเป็นธรรม

ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าการต่อสู้นี้แม้จะไม่เห็นผลอย่างทันท่วงที แต่เนื้อหาที่มาที่ไปของเหตุที่สร้างความเหลื่อมล้ำ ทำลายโอกาสของอนาคตคนรุ่นใหม่ถูกเปิดโปงให้รับรู้ในวงกว้าง รอวันที่จะชำระสะสางให้เกิดความเป็นธรรมอย่างยากที่จะมีอะไรมาเปลี่ยนแปลงได้

ข้อมูลเหล่านี้ซึมซับเข้าไปเป็นความคิดของเยาวชน ที่จะแปลมาเป็นคำพูดและการกระทำต่อในวันข้างหน้า ที่เวลาเป็นของพวกเขา โดยมีชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นเครื่องตอกย้ำให้ยืนหยัดในความจำเป็นต้องสู้

ท่ามกลางความสุขสำราญกับความร่ำรวยที่ใช้จ่ายอย่างเหลือเฟือของคนส่วนน้อย

กรุงเทพโพลล์สำรวจเรื่อง “สภาวะทางการเงินของคนไทย ในปี 2563” เมื่อเร็วๆ นี้

ผลออกมาว่า คนส่วนใหญ่ร้อยละ 41.4 มีรายได้แบบเดือนชนเดือนไม่พอเก็บออม ร้อยละ 28.3 มีรายได้ไม่เพียงพอต้องหยิบยืม/กู้เงิน

มีแค่ร้อยละ 17.6 ที่มีรายได้เพียงพอ แต่เงินออมลดลง และร้อยละ 12.7 เท่านั้นที่รายได้เพียงพอ มีเงินออมตามเป้าทุกเดือน

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

ร้อยละ 61.3 ตอบว่า เพราะข้าวของเครื่องใช้ประจำวันมีราคาแพงขึ้น, ร้อยละ 36.8 ต้องผ่อนบ้านผ่อนรถ, ร้อยละ 29.3 ลูกค้าน้อยลง ธุรกิจย่ำแย่ ค้าขายไม่ค่อยดี, ร้อยละ 26.0 มีค่าใช้จ่ายเพิ่มในการดูแลผู้สูงอายุ คนป่วย คนพิการ, ร้อยละ 21.4 ตนเอง/คนในครอบครัวถูกเลิกจ้าง, ร้อยละ 20.6 พืชผลทางการเกษตรเสียหาย/ราคาตก, ร้อยละ 15.1 ถูกลดเงินเดือน โอที วันทำงาน, ร้อยละ 13.7 ผ่อนสินค้า ผ่อนบัตรเครดิตเพิ่ม, ร้อยละ 6.1 ถูกโกงเงิน ถูกเบี้ยวเงิน

ผลสำรวจนี้จะสื่อว่าชีวิตคนส่วนใหญ่อยู่อย่างไม่ค่อยมีความหวังในอนาคตที่ดีนัก จำนวนมากตกอยู่ในสภาพสิ้นหวังเสียด้วยซ้ำ

แต่ในความย่ำแย่นั้นต่างรับรู้กันเต็มสองตา และทุกห้องใจว่ามีคนกลุ่มหนึ่งเสวยความสุขท่ามกลางความทุกข์ยากของคนส่วนใหญ่

เหล่าผู้ได้วาสนาจากการได้รับแต่งตั้งให้อยู่ในองค์กรศูนย์กลางอำนาจ และแสดงบทบาทปกป้องการสืบทอดอำนาจ คือผู้ที่เสพสุขจากภาษีของประชาชนที่จ่ายเป็นเงินเดือนและรายได้อื่นๆ ให้

สภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจอันเกิดจากโรคระบาด ผสมกับการไร้ความสามารถที่เหมาะสมของผู้บริหารประเทศ ที่การเอื้อประโยชน์ให้ทุนผูกขาด และความสิ้นหวังของคนส่วนใหญ่ เป็นภาพที่ชัดเจนในความรู้สึกนึกคิดของผู้คนร่วมสังคมเดียวกัน

ดังนั้น การต่อสู้จึงเข้มข้นขึ้น แม้ในรูปแบบยังต้องหลบเลี่ยงความรุนแรงด้วยรู้ว่าหากเผชิญหน้าจะมีแต่ความเสียเปรียบ ทว่าโดยสาระที่สื่อถึงกันและกันและให้สังคมร่วมรับรู้นั้นปฏิเสธไม่ได้ว่า “เข้มข้นอย่างยิ่ง”