ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 ธันวาคม 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | จดหมาย |
เผยแพร่ |
จดหมาย
เยอรมัน
เรียน บ.ก.มติชน
ที่คนเยอรมันเข้าใจเผด็จการและประชาธิปไตยได้ชัดเจนนั้น
คงเหมือนกับที่คนเยอรมันหันมานั่งสมาธิและเข้าใจในพระพุทธศาสนาได้ดีกว่าคนไทยอีกหลายคน
เพราะเขาเจอเหตุการณ์จริง (เผด็จการ-ประชาธิปไตย) ด้วยตนเอง
และเข้าใจคำว่า กบในกะลา ทั้งๆ ที่ประเทศเขาไม่มีกะลา
และออกพ้นจากกะลาได้สำเร็จ
แต่ยังมีคนไทยอีกส่วนหนึ่งอยู่ในกะลา กลับไปว่า คนที่เขาออกพ้นจากกะลา เป็นพวกกบในกะลาเสียอีก
เขามองเห็นสัจธรรมของพระพุทธองค์ได้ดี ว่า
กัมมุนา วัตตะตีโลโก
“สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม”
สาธุ
ตะวันรอน
อ.ลอง จ.แพร่
คนเยอรมัน
ผ่านเผด็จการ-ประชาธิปไตย
มาเข้มข้น จึงเข้าใจระบอบทั้งสองปรุโปร่ง
คงเป็นอย่างที่ตะวันรอนว่า ตามนั้น
ส่วนเรื่องพุทธศาสนา ไม่ยืนยันว่าจะเป็นเรื่องรับรู้กว้างขวาง
แต่โดยบุคลิกนิสัยของคนเยอรมันที่จริงจัง
เมื่อเขาสนใจอะไร
มักจะทะลุ “กะลา” ออกไปให้ได้
ต่างจากของเรา นอกจากทะลุไม่ได้แล้ว
ยังด่าคนที่พ้นจากกะลา อย่างที่ตะวันรอนว่าด้วย
สัตว์โลกเป็นไปตามกรรมจริง-จริง
สหราชอาณาจักร
เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช แจ้งผลการตรวจสอบผักและผลไม้ประจำปี 2563
โดยสุ่มตรวจผักผลไม้ทั้งหมด 509 ตัวอย่างจากทั่วประเทศ
ประกอบไปด้วยผลไม้จำนวน 9 ชนิด
ประกอบด้วย ส้มโอ ส้มแมนดารินนำเข้า ลองกอง น้อยหน่า แก้วมังกร ฝรั่ง ส้มสายน้ำผึ้ง พุทราจีน และองุ่นแดงนอก
ผักจำนวน 18 ชนิด
ประกอบด้วย ข้าวโพดหวาน มันฝรั่ง หน่อไม้ฝรั่ง กระเจี๊ยบเขียว แครอต ถั่วฝักยาว บร็อกโคลี หัวไชเท้า ผักบุ้ง มะระ กะเพรา กวางตุ้ง ผักชี มะเขือเทศผลเล็ก คะน้า ขึ้นฉ่าย พริกแดง และพริกขี้หนู
ของแห้ง 2 ชนิด ได้แก่ พริกแห้ง และเห็ดหอม
โดยส่งตัวอย่างทั้งหมดไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการในประเทศสหราชอาณาจักร
ซึ่งสามารถตรวจวัดผลได้ครอบคลุมสารเคมีกำจัดแมลงและเชื้อรา (ไม่รวมสารเคมีกำจัดวัชพืช) กว่า 500 ชนิด และได้รับรองมาตรฐานระหว่างประเทศ (ISO17025)
ผลการตรวจวิเคราะห์
พบว่า มีผักและผลไม้มากถึง 58.7% พบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน
ผักที่พบการตกค้างเกินมาตรฐานมากที่สุดคือ มะเขือเทศผลเล็ก พริกขี้หนู พริกแดง ขึ้นฉ่าย คะน้า พบตกค้างเกินมาตรฐานทั้งหมดทุกตัวอย่าง (100%) จากที่เก็บมาชนิดละ 16 ตัวอย่าง
ผักผลไม้ที่พบการตกค้างรองลงมาได้แก่ กะเพรา (81%) มะระ (62%) ผักบุ้ง (62%) หัวไชเท้า (56%) บร็อกโคลี (50%) ถั่วฝักยาว (44%) แครอต (19%) กระเจี๊ยบเขียว (6%) และหน่อไม้ฝรั่ง (6%)
ส่วนมันฝรั่งพบการตกค้างในระดับไม่เกินมาตรฐาน และข้าวโพดหวานไม่พบการตกค้างเลย
ผลไม้ที่พบสารพิษตกค้างมากที่สุดตามลำดับได้แก่ องุ่นแดงนอก (100%) พุทราจีน (100%) ส้มสายน้ำผึ้ง (81%) ฝรั่ง (60%) แก้วมังกร (56%) น้อยหน่า (43%)
ที่พบการตกค้างน้อยได้แก่ ลองกอง (14%) ส้มแมนดารินนำเข้า (13%) และส้มโอไม่พบการตกค้างเกินมาตรฐาน
สำหรับของแห้งได้แก่ เห็ดหอมแห้ง และพริกแห้งนั้น พบการตกค้างในระดับไม่ปลอดภัยมากถึง 94% และ 88% ตามลำดับ
สำหรับแหล่งจำหน่ายเมื่อเปรียบเทียบระหว่างห้างกับตลาดสดทั่วไปนั้น
พบว่า ผักและผลไม้จากตลาดทั่วไป พบสารตกค้าง 60.1%
ส่วนห้างพบการตกค้างน้อยกว่าเล็กน้อยที่ระดับ 56.7%
ทั้งที่โดยส่วนใหญ่จะจำหน่ายผักผลไม้ราคาแพงกว่าตลาดสดทั่วไป
นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์
ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN
สวนชีววิถี นนทบุรี
ข่าวร้ายปลายปี 2563 ไทยแพนพบผักผลไม้ 58.7% พบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน
ลงทุนส่งไปตรวจถึงสหราชอาณาจักร
ก็คง “เชื่อถือได้”
แต่ประเด็นเราจะเลี่ยง “สารเคมี” เหล่านี้อย่างไร
เพราะอยู่รายรอบเราไปหมด
กว่าบ้านเมืองเราจะมีระบบแก้ไข-ป้องกันที่ดี
เราก็ฟังเสียงเตือน
แล้วก็เสี่ยงกันแบบตัวใครก็ตัวใครไปก่อน เด้อ…