คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : พระจะส่งเสริม ขบวนการคนรุ่นใหม่ โดยง่ายที่สุดได้อย่างไร

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คอลัมน์นี้ไม่เคยเขียนอะไรแบบฮาวทู (How to) หรือเสนอวิธีการอะไรชัดๆ

แต่มีเรื่องที่ผมคิดแล้วคิดอีกก็คิดไม่ออกว่า พระ เณรรวมทั้งภิกษุณีจะสามารถเข้ามาช่วยขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้นอย่างไร หากท่านเห็นด้วยกับสิ่งที่คนรุ่นใหม่ทำ เห็นว่าตนเองควรทำโลกานุเคราะห์ตามพุทธเจตนารมณ์ โดยไม่ต้องรู้สึกกลัวผู้บังคับบัญชาหรือเจ้าอาวาสจะเล่นงาน

อย่างที่ผมเล่าไปแล้วครับว่าสังคมพระนั้น เผลอๆ จะใช้อำนาจกันยิ่งกว่าทหาร-ตำรวจ ควบคุมกันทุกระดับ ไล่ไปตั้งแต่เจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค ฯลฯ เรียกว่า กระดุกกระดิกยากทีเดียว

มีเพื่อนพระภิกษุรูปหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ตัวท่านเองมักอยู่ในวัดป่าที่ต่างจังหวัดหรือสถานปฏิบัติในชานเมืองกรุงเทพฯ แทบไม่รู้เรื่องกฎเกณฑ์คณะสงฆ์ ชีวิตพระของท่านโบยบินไปดังนก ดั่งเสรีชนตามอุดมคติที่ท่านคิดเกี่ยวกับพระนั่นแหละ

แต่ท่านก็ยอมรับว่า ที่ท่านทำเช่นนี้ได้ก็ด้วยคณะสงฆ์กริ่งเกรงบารมีครูบาอาจารย์ที่เป็นพระปฏิบัติที่มีผู้นับถือมากของท่าน จึงไม่กล้าเข้ามาแทรกแซงอะไร

ผมคิดว่านี่ไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีเท่าไหร่นัก เพราะมันไม่ใช่เรื่องระบบ แต่เป็นการอาศัยบารมีส่วนบุคคล ซึ่งมีพระน้อยแสนน้อยที่มีบารมีพอคุ้มพระ-เณรของตัวได้ และส่วนมากก็อาจใช้บารมีไปในทางไม่ถูกด้วยซ้ำ

พระ-เณรส่วนใหญ่จึงมิได้มีอิสระเช่นหลวงพี่รูปนี้

 

ประกาศมหาเถรสมาคมปี 2538 ซึ่งอ้างอำนาจจากพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ปี 2505 (ฉบับที่ประกาศในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกฯ) ผมขอยกมาเป็นบางข้อให้เห็นชัดๆ ดังนี้

“ข้อ ๔ ห้ามพระภิกษุสามเณรเข้าไปในที่ชุมนุมหรือในบริเวณสภาเทศบาล หรือสภาการเมืองอื่นใด หรือในที่ชุมนุมทางการเมือง ไม่ว่ากรณีใดๆ

ข้อ ๖ ห้ามพระภิกษุสามเณรร่วมชุมนุมในการเรียกร้องสิทธิของบุคคลหรือคณะบุคคลใด

ข้อ ๗ ห้ามพระภิกษุสามเณรร่วมอภิปราย หรือบรรยายเรื่องเกี่ยวกับการเมืองซึ่งจัดตั้งขึ้นทั้งในวัดและนอกวัด”

หากพระ-เณรไม่ปฏิบัติตามประกาศอันนี้จะให้ผู้บังคับบัญชาจัดการไปตามลำดับ ซึ่งไปสอดคล้องกับอำนาจของเจ้าอาวาสที่สามารถพิจารณาขับไล่ออกจากวัดหรือจับสึกได้

กฎข้างต้นนั้น ผมเข้าใจเอาเองว่า มหาเถรสมาคมคงกลัวพระช่วยนักการเมืองหาเสียง (ซึ่งพระผู้ใหญ่ก็ยังทำอยู่เสมอนี่นา ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม) จึงออกประกาศดังกล่าว แล้วใช้ลากยาวมาถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย

ด้วยกฎระเบียบทั้งหมดนี้ ทำให้พระ-เณรจำนวนมากที่อยากสนับสนุนคนรุ่นใหม่ไม่กล้าที่จะออกมาในกิจกรรมหรือม็อบ แม้แต่จะมาเดินเฉยๆ ก็ตาม

เวลาใครไปม็อบ ก็จะเห็น “แก๊งแครอท” (คำนี้ผมว่าน่ารักดีครับ แถมพระในม็อบท่านก็ไม่ได้คิดว่าเป็นคำในเชิงลบอะไร) ที่มาร่วมเดินกับผู้ประท้วงหรือปราศรัยโดยไม่ละเมิดพระธรรมวินัยอยู่ไม่เกินสิบรูป ส่วนที่ขึ้นปราศรัยบ่อยๆ ก็มีเพียงสองรูปเท่านั้น

 

ที่จริงขณะที่เขียนบทความนี้อยู่ก็นึกแวบเข้ามาว่า กูนี่เหมือนคนบ้า นักวิชาการหลายคนเห็นว่าพุทธศาสนาไทยสูญสิ้นความหมายต่อคนรุ่นใหม่ไปแล้ว

เขาสามารถจะมีชีวิตอย่างสมบูรณ์ มีจริยธรรมสากลและฝันถึงสังคมที่ดีโดยไม่ต้องสนใจเหลียวแลพุทธศาสนาอีกต่อไปด้วยซ้ำ

แต่ผมก็ยังมาบ้า ทั้งมายุ ทั้งตีความด้วยปัญญาอันน้อยนิด โดยหวังให้พุทธศาสนาในบ้านเราปรับตัว แล้วอยู่ไปได้กับคนรุ่นใหม่อีกนานๆ

ดังนั้น เอาเข้าจริง ผมก็ถือตัวเองเป็นคนหวังดีกับศาสนานะครับ ซึ่งมันดูเชยแสนเชยสำหรับบางคน

แต่เอาเถอะ ผมดันเป็นพวกศาสนิกไปแล้ว ยังเห็นว่าศาสนธรรมมีพลังต่อผู้คนในทางบวกก็ได้ ที่พูดมานี้ก็เพื่อจะชักชวนให้เห็นเจตนาดีนะครับ เพราะผมก็ยังมีสิ่งที่อยากยุพระ-เณรให้ทำอยู่

มิตรสหายท่านหนึ่ง เล่าถึงประสบการณ์และวิธีการง่ายๆ ที่ผมดันคิดไม่ออก เขาเล่าว่า แม่ของเพื่อนในต่างจังหวัด ปกติก็ดูแต่ทีวีบางช่องที่ด่าม็อบนักเรียน-นักศึกษาทุกวัน แกก็พลอยด่าไปด้วย

อยู่มาวันหนึ่งก็เปลี่ยนไป กลับหันมาสนับสนุนม็อบนักศึกษา

เมื่อเพื่อนไปสอบถามดู ก็พบว่าแม่ของเขาได้ไปทำบุญยังวัดที่มีพระภิกษุที่ตนเองเคารพมาก วันนั้นท่านดันเทศน์สนับสนุนขบวนการนักศึกษา แถมมีเพื่อนๆ วัยเดียวกันเล่าเรื่องไปม็อบให้ฟังอีก

แม่เขาถึงได้เปิดใจและกลายมาเป็นผู้สนับสนุน

 

นี่แหละครับ ผมถึงอยากเสนอวิธีง่ายๆ แค่นี้ แค่พระ-เณรที่สนใจบ้านเมือง เทศนาโปรดญาติโยมในโอกาสต่างๆ สอดแทรกสนับสนุนขบวนการประชาธิปไตยไปนิดเดียว คนส่วนหนึ่งก็อาจเปิดใจได้ แถมท่านไม่ต้องกลัวเสี่ยงโดนลงโทษจากเจ้าอาวาสหรือผู้บังคับบัญชา

หากกลัวว่าจะกลายเป็นเทศนาการเมือง แล้วจะไปเข้าเงื่อนประกาศมหาเถระฯ อีก ผมคิดว่า พระส่วนมากถูกฝึกให้แต่งโศลกโยกหน้าโยกหลัง ยักย้ายถ่ายคำเก่งกว่าใครๆ อยู่แล้ว

การเทศนานี้ก็อาจแนบเนียนไปได้ เทศน์เรื่องพระอนิจจลักษณะ ก็แสดงให้เห็นว่า ตอนนี้บ้านเมืองเสื่อมทรามลงเป็นอนิจจลักษณะอย่างไร

หากจะเทศนาเรื่องเบญจศีลเบญจธรรม ก็แสดงให้เห็นตัวอย่างชัดๆ ว่า ผู้มีอำนาจละเมิดเบญจศีลเบญจธรรมอย่างไรบ้าง ข่าวสารก็มีให้เห็นอยู่

หรือยกสาธกเอาพุทธประวัติ ในตอนที่สามารถตีความให้เห็นว่าพระพุทธะไปโปรดโลกอย่างไรบ้าง ทำไมพระ-เณรจะโปรดโลกบ้างไม่ได้

เล่าเรื่องครูบาอาจารย์ที่ท่านไม่ยอมอยู่กับความไม่เป็นธรรมหรือความไม่ถูกต้อง เช่นท่านพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) หรือครูบาอาจารย์ท่านอื่นๆ อย่างนี้ก็ได้

พระรูปใดเป็นเปรียญ ก็ขออาราธนาแต่งบทสวดบาลีพร้อมบทแปล อ้างคุณพระรัตนตรัยอวยชัยให้พรราษฎรทุกถ้วนหน้า ให้ความจริงมีชัยเหนือความไม่จริง สันติมีชัยเหนือความรุนแรง อย่างที่ฝ่ายมหายานเขาทำกันมานานแล้ว แล้วช่วยกันเผยแพร่ให้พระ-เณรเอาไปสวดกัน จะแนบท้ายทำวัตรหรือจะแนบไปก่อนขึ้นเทศน์ หลังเทศน์ หรือไปสวดบ้านสวดศพก็แนบไปด้วยตอนอนุโมทนาวิธีก็ยังได้

หากมีโอกาสไปเทศนายังหน่วยงานราชการ ทหาร-ตำรวจ ก็เทศนาแสดงคุณของสันติวิธี การรักความถูกต้อง ความเป็นมนุษย์ หน้าที่ที่พึงทำและศักดิ์ศรีในการรับใช้ประชาชน

หากเป็นเจ้าอาวาส อาจเปิดพื้นที่วัดให้เยาวชนเข้ามาพูดคุย ทำกิจกรรม สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เขา หรือสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยใช้วัดเป็นศูนย์กลาง เปิดโอกาสให้คนรุ่นเก่าที่เข้าวัดได้เรียนรู้อะไรจากคนรุ่นใหม่บ้าง พระเณรก็จะได้เรียนรู้ด้วย

ที่จริง เรื่องเทศนา ถ้าไม่เทศน์สนับสนุนขบวนการประชาธิปไตยเพราะยังไม่ค่อยแน่ใจหรือไม่กล้า จะเทศน์เรื่องพื้นๆ ทั่วๆ ไปยังได้ เช่น เรื่องการไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน หลักเมตตาธรรม สันติวิธี อะไรพวกนี้ก็ยังดี

 

เอาเข้าจริงผมแทบไม่ต้องแนะนำอะไรหรอกครับ หากพระ-เณรท่านใช้เพียงแค่ “สามัญสำนึก” ท่านก็จะทราบเองว่าท่านควรทำอะไรในสถานการณ์แบบนี้

การจะทดลองทำสิ่งที่ผมแนะนำได้ เอาเข้าจริงก็ไม่ง่าย ต้องอาศัยความเปิดกว้าง การเปิดใจ ความอ่อนน้อม ความเพียรในการศึกษาหาความรู้และความจริง ความกล้าหาญที่จะอยู่ข้างความถูกต้องและความเป็นธรรม ความรักความเมตตาในเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ แต่ที่จริงแล้วทั้งหมดนี่คือคุณธรรมที่พระ-เณร ตลอดจนศาสนิกชนทั้งหลายควรมีอยู่แล้ว

มิฉะนั้น เราก็จะใช้ศาสนธรรม พิธีกรรม หลบเลี่ยงที่จะเข้าใจความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ ตลอดจนสังคมที่พระ-เณรเองก็อาศัยอยู่ด้วย และบางครั้งความเพิกเฉยต่อทั้ง “ปาณาติบาต” (ทำร้ายหรืออุ้มฆ่า) “อทินนาทาน” (ใช้ภาษีและเงินของรัฐไปในทางที่ไม่ถูกควร เช่น ซื้ออาวุธ) และ “มุสาวาท” (ผู้นำให้สัมภาษณ์กลับกลอก ใส่ร้ายอยู่เป็นประจำ) ที่รัฐกระทำต่อประชาชน ดังเห็นกันอยู่ต่อหน้าต่อตา เราจะเรียกตนเองว่าเป็นพุทธบุตรผู้ซื่อตรงต่อพระธรรมวินัยได้อย่างไร

ผมขออาราธนาด้วยใจจริงนะครับ เพื่อประโยชน์และความสุข (หิตายะ สุขายะ) ของสรรพสัตว์

อย่าให้สุดท้ายแล้ว คนเห็นคุณค่าของ “มะเขือเทศ”

มากกว่า “พระเทศน์” กันเลย