เพ็ญสุภา สุขคตะ ข้อมูลใหม่ หลักฐานสมัยทวารวดี ในถ้ำพราหมณี ณ เขาสมอคอน

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ฤๅษีสุกกทันตะ
ไศวนิกายหรือไวษณพนิกาย?

เขาสมอคอนหรือ “ธรรมิกบรรพต” ปัจจุบันมีสภาพเป็นภูเขาหินปูนที่มีเนื้อศิลาขาวละเอียดจนค่อนไปทางหินอ่อน มีขนาดเตี้ยๆ หลายลูกไม่ติดกันเป็นเทือกเดียว มีความสูงไม่มากนักระหว่าง 25-60 เมตร มองเห็นอย่างโดดเด่นตั้งอยู่ที่ตำบลเขาสมอคอน อำเภอท่าวุ้ง ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองลพบุรี

ในอดีตบริเวณนี้เคยเป็นเกาะกลางทะเล ยังเหลือชื่อบ้านนามเมืองที่ใช้เรียกเขื่อนดินบนสันเขาที่สร้างทับตาน้ำแห่งนี้ว่า “โคกทะเล” มีการทำเขื่อนเก็บน้ำคล้ายทำนบสรีดภงส์ของสมัยสุโขทัย แต่โคกทะเลนี้น้ำเหือดแห้งมานานกว่า 30 ปีแล้ว

ในปีที่ฤดูน้ำหลากมากๆ เช่นเมื่อ 120 ปีก่อน สมัยพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้นที่เมืองลพบุรี ได้บันทึกว่าเขาสมอคอนมีสภาพเป็นเกาะกลางน้ำ พระองค์เสด็จพระราชดำเนินโดยทางเรือไปจนถึงเชิงเขา

เขาสมอคอนสำคัญอย่างไร ตำนานระบุว่าตั้งแต่ราว 1,400 ปีที่ผ่านมา เป็นที่สถิตพำนักของสุกกทันตฤๅษี (ฤๅษีสุกกทันตะ) เปรียบได้ดั่งสำนักตักศิลาแห่งกรุงลวปุระ และยังเป็นสถานที่ที่พระนางจามเทวีทรงเล่าเรียนศิลปวิทยาคม ฝึกศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยศาสตราวุธในวัยเยาว์จากฤๅษีสุกกทันตะ

ที่มาของความสัมพันธ์ระหว่างนคร “หริภุญไชย” (ลำพูน) กับนคร “ลวปุระ” (ละโว้-ลพบุรี) สืบเนื่องมาจากตำนานได้ระบุว่า ฤๅษี 2 ตนเป็นสหายกัน ตนหนึ่งคือ “ฤๅษีวาสุเทพ” พำนัก ณ ยอดเขาดอยสุเทพ ได้เขียนสาส์นไปยังฤๅษีอีกตนคือ “สุกกทันตะ” ณ เขาสมอคอน ละโว้ เพื่อให้ช่วยคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมจะมาเป็นผู้ปกครองนครหริภุญไชย ซึ่งก็คือพระนางจามเทวี

นามของ “สุกกทันตะ” นี้ ดิฉันและอาจารย์พงศ์เกษม สนธิไทย นักวิชาการด้านรามัญศึกษามีความเห็นว่า น่าจะแผลงมาจากคำว่า “สกันทา” Skandha หรือ “ขันทกุมาร” เทพฮินดูผู้เป็นโอรสของพระศิวะ ดังนั้น ฤๅษีตนนี้จึงนับถือไศวนิกาย

กับอีกทฤษฎีหนึ่ง อาจารย์วิธูร บัวแดง นักคติชนวิทยา เสนอว่ามาจาก “สักกะ+ทัณฑ์” แปลว่าการที่พระอินทร์ถูกลงทัณฑ์ อาจเกี่ยวข้องกับพระกฤษณะผู้เป็นอวตารของพระวิษณุมาทำหน้าที่ปราบพระอินทร์ ในนัยยะนี้ ฤๅษีสุกกทันตะจึงนับถือไวษณพนิกาย

อย่างไรก็ดี ดร.อัครินทร์ พงษ์พันธ์เดชา นักวิชาการอิสระด้านหริภุญไชยศึกษา เคยเสนอว่าน่าจะมาจาก “สุกกะ+ทันตะ” หมายถึง ฟันสีขาวสุกสกาว อาจเกี่ยวข้องกับชาติพันธุ์บางเผ่าที่ไม่เคี้ยวหมาก เช่น ลัวะ

 

สืบสานชาติพันธุ์มอญ
ซ้อนทับต่างยุคสมัย

จากการสัมภาษณ์คุณธนัญชัย บัวหลวง เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2562 ปราชญ์ชาวบ้านที่เขาสมอคอน อธิบายว่า ประชากรที่อาศัยอยู่รายรอบเขาสมอคอนเกินกว่า 90% เป็นคนเชื้อสายมอญ โดยสืบสาวได้ว่าบรรพบุรุษของพวกเขาเป็นทหารมอญกลุ่มหนึ่งที่ถูกเกณฑ์มาร่วมรบกับกองทัพพม่าในสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ.2310 หรือราว 250 กว่าปีที่ผ่านมา

กล่าวคือ เมื่อเสร็จการศึกไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับประเทศพม่าไปด้วย แต่ได้รับมอบหมายจากทหารพม่าให้ตั้งหลักแหล่งที่นี่เพื่อคอยเฝ้าสอดส่องดูความเคลื่อนไหวของประชากรชาวสยาม

ดังนั้น ณ ปัจจุบันชาวมอญที่เขาสมอคอนจึงเป็นกลุ่มชนที่ไม่ค่อยอยากเปิดเผยตัวตนเท่าใดนัก และบางครั้งก็ถูกกลุ่มชนชาติพันธุ์อื่นๆ ล้อเลียนว่าเป็นพวก “ขี้ข้าพม่า”

แม้กระทั่งเมื่อมีกระบวนการฟื้นฟูกลุ่มชนชาวมอญในลพบุรีขึ้นอย่างเป็นกิจจะลักษณะ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่วัดอัมพวัน ตำบลบางขันหมาก อำเภอเมือง กลางจังหวัดลพบุรี ชาวมอญจากเขาสมอคอนก็ไม่พร้อมที่จะเข้าร่วมทำกิจกรรมใดๆ กับชาวมอญกลุ่มอื่นๆ ที่อพยพเข้ามาสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เพราะเป็นมอญคนละกลุ่มกัน

 

ลิง หนุมาน กากะวานร

บนเขาสมอคอนมีถ้ำหลายแห่ง ได้แก่ ถ้ำช้างเผือก ถ้ำตะโก ถ้ำเขาสมอคอน ถ้ำเหล่านี้ปัจจุบันพัฒนาขึ้นเป็นวัดที่มีพระภิกษุจำพรรษา แต่เป็นวัดที่คนขึ้นไปน้อย เพราะเป็นพื้นที่ที่มีลิงป่าอาศัยอยู่จำนวนมากไม่แพ้ฝูงลิงใจกลางเมืองลพบุรี

ข้อสำคัญได้พบก้อนหินธรรมชาติหล่นทับกันจนเกิดเป็นรูปร่างหน้าตาละม้ายคล้ายกับลิงอีกด้วย โดยชาวบ้านละแวกนั้นเรียกขานกันว่า “เขาไอ้จ๋อ” ถือว่าเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ใจเหตุที่เขาลูกนี้มีตำนานเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับหนุมานอยู่ก่อนแล้ว

นอกจากนี้ ชื่อของเขาสมอคอนยังมีความเกี่ยวข้องกับ “เขาสรรพยา” ในจังหวัดชัยนาทอีกด้วย ซึ่งชื่อเหล่านี้นำมาจากวรรณคดีเรื่องรามายนะ

เหตุที่ใช้คำว่ารามายนะ ไม่ใช้คำว่ารามเกียรติ์ เนื่องมาจากคำว่ารามเกียรติ์เพิ่งเกิดขึ้นสมัยต้นรัตนโกสินทร์ แต่ว่าตำนานและชื่อเขาสมอคอนมีมาก่อนแล้ว

ว่าด้วยเรื่องของ “หนุมาน” ทหารเอกของพระราม ในตอนที่พระลักษมณ์ (อนุชาของพระราม) ถูกกุมภกรรณ (น้องชายทศกัณฐ์) เอาหอกโมกขศักดิ์ปักร่างจนใกล้เสียชีวิต หนุมานจึงต้องเหาะไปหายาสังกรณีตรีชวา (ภาษาอินเดียเรียก “สัญชีวนี”) ซึ่งเป็น “สรรพยา” (ยาสมุนไพรนานาชนิด) ที่จะแก้พิษหอกได้

แต่ยานี้ซ่อนอยู่บนภูเขาสูงชันป่ายปีนยากลำบาก อีกทั้งหนุมานต้องต่อสู้กับเวลาอันจำกัดที่จะต้องหาสรรพยามารักษาพระลักษมณ์ให้ทันก่อนรุ่งเช้า ซึ่งหนุมานมีเวลาไม่มากพอที่จะค้นหาสรรพยาได้ทั่วทุกเขา เกรงว่าจะรุ่งสางเสียก่อนจึงได้คอนเอาภูเขามาทั้งลูกหอบมาด้วย เผอิญเหาะผ่านมาทางเมืองละโว้ซึ่งไฟกําลังลุกไหม้ตั้งแต่ครั้งที่หนุมานเอาหางกวาดเมือง แสงสว่างจากไฟทําให้มองเห็นต้นสังกรณีตรีชวาที่แทรกอยู่ท่ามกลางสรรพยาชัดเจนขึ้น

หนุมานจึงถอนเอาแต่ต้นสังกรณีตรีชวาไปรักษาพระลักษมณ์ที่บาดเจ็บ แล้วทิ้งภูเขาที่คอนมาลงกลางทุ่งทะเลเพลิง ภูเขาที่ทิ้งลงมาได้ถูกไฟเผากลายเป็นหินสีขาวและมีชื่อเรียกว่า “เขาสมอคอน”

กับอีกเรื่องเล่าหนึ่งกล่าวว่า ครั้งหนึ่งพระรามทรงกริ้วทศกัณฐ์มาก ทรงขว้างจักรจากทะเลชุบศร หวังจะให้ทศกัณฐ์แหลกลาญ แต่เผอิญจักรนั้นได้เฉี่ยวยอดเขาสูงลูกหนึ่ง เศษหินที่ถูกอํานาจจักรกระเด็นไปนั้นก็คือหมู่เขาสมอคอนนั่นเอง ส่วนยอดเขาที่ถูกเฉี่ยวแหว่งไป ชาวเมืองต่างพากันเรียกว่าเขาช่องลพ (ปัจจุบันอยู่ในตําบลโคกกระเทียม อําเภอเมืองลพบุรี)

พบว่าบริเวณเขาสมอคอนมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ “หนุมาน” “วานร” หรือ “ลิง” อันเป็นทหารเอกของพระราม ซึ่งพระรามเป็นอวตารปางหนึ่งของพระวิษณุ โดยเรื่องราวเกี่ยวกับ “วานร” นี้ นอกจากจะเกี่ยวข้องกับการนับถือลัทธิไวษณพนิกายอย่างแนบแน่นแล้ว

ยังมีความผูกพันกับ “กากะวานร” ฝูงทหารลิงที่คอยอารักขาพระนางจามเทวีตอนเดินทางจากลำพูนมาลพบุรีในวัยเยาว์ตามตำนานพื้นเมืองที่เชื่อว่าพระนางจามเทวีประสูติที่ลำพูนแต่ต้องมาเป็นพระราชธิดาบุญธรรมของพระเจ้ากรุงละโว้อีกด้วย

 

หลักฐานด้านโบราณคดี
จากการสำรวจถ้ำ

ดิฉันได้มีโอกาสสำรวจวัดต่างๆ ที่เขาสมอคอนหลายครั้ง อาทิ วัดถ้ำตะโก มีชื่อเต็มว่าวัดถ้ำตะโกพุทธโสภา เหตุที่เรียกชื่อเช่นนี้เนื่องจากอดีตเคยมีต้นตะโกใหญ่อยู่หน้าถ้ำ แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว เป็นวัดที่มีพิพิธภัณฑ์เก็บรวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุสมัยทวารวดี ลพบุรี และอยุธยา

สถานที่แห่งนี้ยังระบุอีกด้วยว่า เป็นสำนักศึกษาเล่าเรียนของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งกรุงสุโขทัย และพระญางำเมืองแห่งเมืองพะเยา สองพระสหายในยุคหลังสมัยพระนางจามเทวีอีก 600 ปีถัดมา

หมายเหตุ ส่วนพระญามังรายปฐมกษัตริย์แห่งล้านนานั้น ไม่มีเอกสารเล่มใดระบุว่าพระองค์เคยเสด็จมาร่ำเรียน ณ สำนักเขาสมอคอนแต่อย่างใด เป็นความเข้าใจผิดของคนจัดทำป้ายคำบรรยายที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์

วัดเขาบันไดสามแสน พบพระพุทธรูปศิลาแลงองค์ใหญ่พอกปูนทับใหม่ทาสีทองอยู่ในถ้ำ

วัดเขาสมอคอนเป็นวัดที่ใหญ่ที่สุด มีถ้ำหลายแห่ง ภายในถ้ำหลัก (ถ้ำใหญ่ที่สุด หน้าวัดเขาสมอคอน) มีอาศรมของฤๅษีสุกกทันตะ พระไสยาสน์ หรือพระนอนขนาดใหญ่ที่เป็นของเก่าแต่บูรณะครอบองค์ใหม่เนื่องจากชำรุด โดยทางเจ้าอาวาสเล่าว่าภายในองค์พระนอนตอนที่กำลังบูรณะได้กะเทาะปูนออก พบพระพิมพ์และโบราณวัตถุล้ำค่าจำนวนมาก

ทางเข้าถ้ำวัดเขาสมอคอน พบภาพสลักบนผนังเขาหินปูนเป็นพระพุทธรูป 2 จุด พระพักตร์เลือนราง แต่เห็นได้ชัดว่าเป็นศิลปะสมัยทวารวดี จุดหนึ่งอยู่ในกรอบซุ้มโค้งมน (ช่องกูฑุ) ที่ผนังด้านนอก อีกแห่งอยู่ที่ปากทางเข้าถ้ำที่ด้านซ้าย

นอกจากนี้ ภายในถ้ำยังพบตัวอักขระมอญโบราณเขียนว่า “สโมญ” อ่าน สะ-โมน-ยะ อาจารย์พงศ์เกษม สนธิไทย ถอดความว่าหมายถึง “รวมกันเป็นหนึ่งเดียว” แต่เนื่องด้วยธรรมชาติของเขาหินปูนนั้นมีพื้นผิวที่ขรุขระตะปุ่มตะป่ำไม่สม่ำเสมอ หากไม่สังเกตอย่างละเอียดตัวอักขระเหล่านี้อาจดูกลมกลืนกับผิวของถ้ำ

 

ภาพจำหลักหินทวารวดี
ณ ถ้ำพราหมณี ค้นพบใหม่

ถํ้าพราหมณี ตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัดเขาสมอคอน ถือเป็นส่วนหนึ่งของวัดนี้ เป็นถ้ำที่แปลว่านักพรตฮินดูฝ่ายหญิง ชาวบ้านมีเรื่องเล่ามุขปาฐะถึงยายเฒ่าท่านหนึ่งที่มาขอน้ำดื่ม

การเดินทางไปถ้ำพราหมณี ห่างจากตัววัดเขาสมอคอนประมาณ 500-600 เมตร ระยะทางไม่ไกลมาก แต่ทว่าต้องเดินเท้าด้วยความยากลำบาก คือต้องฝ่าทั้งดงหมามุ่ย ตำแย หญ้าเจ้าชู้ หญ้าเขี้ยวเสือ และเมื่อถึงถ้ำที่มืดสนิท การก้าวย่างแต่ละก้าว ต้องระวังมูลค้างคาวถมทับเป็นพื้นหนา บางจุดเดินเหยียบไปเท้าก็ยุบจมลง

สิ่งอัศจรรย์ใจคือการค้นพบภาพประติมากรรมสีขาว (ทำจากหินปูนที่เกือบเป็นหินอ่อน) นูนต่ำบนผนังถ้ำ น่าเสียดายที่ถูกสกัดออกเป็นแผ่นร่วงลงมา อันเกิดจากฝีมือมนุษย์ที่พยายามตอกสกัด จนสามารถนำชิ้นส่วนบางชิ้นออกไปจากถ้ำได้แล้ว

แผ่นภาพที่เหลือเป็นรูปบุคคลเอนกายนอน ท่อนบนสูญหาย มีเพียงท่อนล่างนุ่งผ้าที่ยังดูไม่ออกว่าเป็นสบงของพระหรือเป็นภูษาของเทพฮินดู คณะเราถกเถียงกันอยู่ว่าประติมากรรมชิ้นนี้ควรจะเป็นพระพุทธไสยาสน์ หรือพระนารายณ์บรรทมสินธุ์?

ปลายเท้าของรูปบุคคลนอนเอนกาย เป็นบุคคลนั่งทำท่าสักการะ ยกมือขึ้นประสานไขว้ที่อก มีลักษณะเป็นศิลปะทวารวดีคล้ายกับที่พบเห็นทั่วไป คือสวมตุ้มหูกลมใหญ่ ใบหน้ามน ทรงผมหยิกฟูเป็นก้อนหนา ตอนบนมีศิราภรณ์คล้ายมงกุฎทรงกระบอก

คณะของเราลงพื้นที่สำรวจถ้ำพราหมณีเวลา 16.30-17.30 น. เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2563 ได้พบเพียงภาพแรกเท่านั้น อย่างไรก็ดี ดิฉันได้ทำรายงานถึงสำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรีเรียบร้อยแล้ว เหตุที่ประติมากรรมชิ้นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะมีความเก่าแก่ถึงยุคทวารวดี ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องราวของพระนางจามเทวี

ภายในถ้ำพราหมณี ผู้นำทางบอกว่ายังมีภาพสลักเช่นนี้อีกหลายจุดที่ลึกเข้าไปในถ้ำที่มืดมาก การสำรวจต้องลงพื้นที่ตั้งแต่เช้า เตรียมสปอตไลต์ ไฟฉายไปหลายกระบอก และต้องให้ชาวบ้านช่วยกันถากถางวัชพืชก่อนเดินถ้ำ

ในอดีตสมัยทวารวดี ละโว้หรือลพบุรีเป็นศูนย์กลางการนับถือพระพุทธศาสนาหลากหลายลัทธิ มีทั้งศาสนาฮินดูลัทธิไวษณพนิกาย และลัทธิไศวนิกายกับศาสนาพุทธ มีทั้งลัทธิเถรวาทและลัทธิมหายาน ซึ่งลัทธิหลังนี้จะเริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในยุคที่ละโว้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลขอม

สิ่งที่น่าสนใจคือการอยู่ร่วมกันระหว่างลัทธิไวษณพนิกายกับลัทธิไศวนิกาย ลัทธิไศวนิกายเป็นลัทธิที่ฤๅษีสุกกทันตะ พระอาจารย์ของพระนางจามเทวีเลื่อมใสศรัทธา แต่ลัทธิไวษณพนิกายเป็นลัทธิที่ฤๅษีวาสุเทพ (พระบิดาบุญธรรมของพระนางจามเทวี) นับถือ

ปริศนาภาพสลักนูนต่ำในถ้ำพราหมณีนี้ รอการเฉลยจากผู้รู้หลายฝ่าย ว่าภาพบุคคลที่เอนกายนอนนั้นเป็นใคร สร้างขึ้นในลัทธิความเชื่อใด