รัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้าข่ายระบอบอำนาจนิยมหรือไม่? (13) : การฆ่าตัวตายทางการเมืองของรัฐบาลหุ่นเชิดจนถึงวิกฤตมาตรา 7

AFP PHOTO / POOL / RUNGROJ YONGRIT

รัฐบาลยิ่งลักษณ์และสมาชิกสภาพรรคเพื่อไทยยอมเป็น “นอมินี” ให้ทักษิณก็เท่ากับขาดความอิสระในการตัดสินใจทางการเมือง ทั้งๆ ที่โดยตำแหน่งอำนาจหน้าที่แล้ว ควรจะทำงานอย่างอิสระด้วยวิจารณญาณและมโนสำนึกที่มีต่อผลประโยชน์สาธารณะ

การยอมเป็น “นอมินี” ให้ทักษิณจึงเท่ากับยอมอยู่ภายใต้อำนาจของทักษิณ

และเมื่อถึงคราวที่ถูกกดปุ่มให้เข็นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่งออกมา ก็เท่ากับยอม “ฆ่าตัวตายทางการเมือง” เพื่อทักษิณ

นอกจากจะฆ่าตัวเองทางการเมืองแล้ว ยังดึงสถานการณ์ให้เปิดช่องให้ผู้คนที่เป็นปฏิปักษ์กับทักษิณออกมาประท้วงขยายผลบานปลาย

จนในที่สุดก็เกิดสภาวะชะงักงันทางการเมือง

เป็นจุดเริ่มต้นของรัฐผุเสื่อม-รัฐล้มเหลว และนำไปสู่ “การรัฐประหาร” ในที่สุด ประชาธิปไตยไทยที่เหลือแค่เพียง “รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง” และ “การเลือกตั้งที่จะให้มีรัฐบาล” ต่อไปก็หมดสภาพไปด้วย

กล่าวได้ว่า การพยายามเข็นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่งออกมานั้นเป็น การแสดงออกถึงปฏิบัติการอำนาจนิยมและอำนาจนิยมอำพราง (ตามกรอบแนวคิดเรื่อง Stealth Authoritarianism ของ Ozan Varol) ของรัฐบาลที่เป็นนอมินีของทักษิณ

ในช่วงที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เริ่มรู้ตัวว่า อาจจะต้องยุบสภาก่อนครบวาระ เนื่องจากประสบกับปัญหากรณีจำนำข้าวที่กำลังจะเกิดขึ้น และทักษิณได้รอคอยการกลับสู่เวทีทางการเมืองอย่างไม่มีคดีและมลทินและสามารถมีอำนาจทางการเมืองได้เหมือนสมัยที่ควบรวมพรรคการเมืองได้

จึงได้มีการเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญและเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเกิดขึ้น

 

ปฏิบัติการอำนาจนิยมอำพรางเกิดขึ้นจากการที่ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในวาระที่สอง ได้มีการเปลี่ยนเนื้อหาที่เสนอในวาระแรก และสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติในวาระ 2 และ 3 ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าว เมื่อเวลา 04.24 น. วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 อันเป็นการพิจารณาอย่างรวบรัด “หักดิบ” ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงในการพิจารณา 5 มาตรารวด รวมเวลาการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. นี้ในวาระ 2 และวาระ 3 ทั้งสิ้น 19 ชั่วโมง

โดยการรวบรัดตัดบทโดยประธานสภาที่มาจากพรรคเพื่อไทยและอาศัยใช้เสียงข้างมากของพรรคและปิดกั้นการอภิปรายของ ส.ส. ที่รอการแปรญัตติอีกจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดกระแสต่อต้านคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้แผ่กระจายไปทั่วอย่างรวดเร็วในช่วงวันที่ 1-11 พฤศจิกายน 2556 ทั้งจากแวดวงนักวิชาการ คณาจารย์ และนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาแทบทุกแห่งทั่วประเทศ เอ็นจีโอ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กลุ่มวิชาชีพต่างๆ นักธุรกิจและองค์กรภาคเอกชน พนักงานภาคเอกชน-รัฐวิสาหกิจ ข้าราชการ ผู้พิพากษากลุ่มตุลาการผู้รักแผ่นดินจำนวน 63 คน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แห่งประเทศไทย เป็นต้น ต่างออกมาแสดงท่าทีชัดแจ้ง

เป็นการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนจำนวนมากมายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

และแม้แต่กลุ่มคนเสื้อแดงบางส่วนที่เป็นฐานหลักของพรรคเพื่อไทยก็คัดค้าน

 

ส่วนการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. ก็เพื่อต้องการให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด อีกทั้งยังตัดเงื่อนไขการเป็นญาติกับ ส.ส. และเงื่อนไขที่ห้าม ส.ส. ลงสมัครเป็น ส.ว. ทันทีโดยต้องเว้นระยะเวลาออกไปเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นอิสระจากพรรคการเมืองอย่างแท้จริง

และชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทยได้ปฏิบัติการอำนาจนิยม/อำนาจนิยมอำพรางในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมและการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว

จนนำไปสู่การชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่มีคนทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมต่อต้านในกรณีของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมตามที่ผู้เขียนได้กล่าวไปข้างต้น

ส่วนในกรณีการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. นั้น

เมื่อมีการนำเรื่องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ศาลมีอำนาจในการวินิจฉัยกรณีดังกล่าวและมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมกรณีที่มา ส.ว. ที่ใช้พิจารณาในวาระ 1 ขั้นรับหลักการ มีหลักการแตกต่างกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เสนอมาในตอนแรก จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 291(1) วรรคหนึ่ง

และการกำหนดเวลาแปรญัตติร่างรัฐธรรมนูญฯ โดยการนับระยะเวลาแปรญัตติย้อนหลัง เป็นการดำเนินการขัดต่อข้อบังคับและไม่เป็นกลาง ไม่ชอบด้วยมาตรา 125 วรรคหนึ่งและสอง

และการตัดสิทธิการอภิปรายแสดงความคิดเห็นในการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา การรวบรัดปิดอภิปรายและนัดประชุมเพื่อให้มีการลงคะแนนเสียง เป็นการใช้อำนาจไปในทางที่ไม่ชอบ ขัดต่อหลักนิติธรรมตามมาตรา 3 วรรคสอง และการแสดงตนและลงมติออกเสียงในการพิจารณาญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแทนสมาชิกรัฐสภาผู้อื่น ไม่ชอบด้วยมาตรา 122 และมาตรา 126 วรรคสาม

นอกจากนี้ ตุลาการฯ ยังมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อความที่เป็นสาระสำคัญ ขัดหรือแย้งต่อหลักการพื้นฐานและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ อันเป็นการกระทำเพื่อให้ผู้ถูกร้องได้นำมาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยการปกครองประเทศซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้ พิจารณาเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2550 บัญญัติให้มี ส.ว.สรรหา เข้ามามีองค์ประกอบร่วมกับ ส.ว.เลือกตั้ง เพื่อให้โอกาสแก่ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมทำหน้าที่ในวุฒิสภา

แต่การแก้ไขเพิ่มเติมตามคำร้องของฝ่ายพรรคเพื่อไทย มีการแก้ไขที่มาของวุฒิสภาจากการเลือกตั้งอย่างเดียวเหมือนสภาเดียวกัน ไม่เกิดความแตกต่างและเป็นอิสระซึ่งกันและกันของทั้งสองสภา

เป็นการทำลายลักษณะและสาระสำคัญของระบบทั้งสองสภาให้สูญสิ้นไป

การแก้ไขที่มาและคุณสมบัติวุฒิสภาให้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับทางการเมืองหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ ย่อมทำให้หลักการตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกันของระบบทั้งสองสภาต้องสูญสิ้นไป

ทำให้ฝ่ายการเมืองสามารถควบคุมอำนาจเหนือรัฐสภาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ปราศจากการตรวจสอบและการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน อันเป็นการกระทบต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เปิดช่องให้ผู้ร่วมกระทำการครั้งนี้กลับมีโอกาสได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากการออกเสียงจากปวงประชาชนชาวไทย

 

หลังจากนั้น ความขัดแย้งระหว่างอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจตุลาการก็ได้ปะทุขึ้น สมาชิกพรรคเพื่อไทยยืนยันในอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาล ส.ส. พรรคเพื่อไทยต่างพากันยื่นหนังสือกล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 5 คนที่วินิจฉัยในประเด็นการแก้ไขที่มาของ ส.ว. ขัดกับรัฐธรรมนูญ ในข้อหาความผิดเข้าข่ายก้าวล่วงพระราชอำนาจตามมาตรา 112 และมาตรา 113 ตามประมวลกฎหมายอาญา

ประชาชนแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และอีกฝ่ายที่ต่อต้าน

และถ้าพิจารณารายละเอียดของปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ผู้เขียนได้ลำดับไว้ข้างต้น จะเห็นได้ว่า ได้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองที่ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตบาดเจ็บของผู้คนและเจ้าหน้าที่รัฐ

อีกทั้งการพยายามหามาตรการกลไกในการจัดการความขัดแย้งก็ล้มเหลว

องค์กรหน่วยงานของรัฐและองค์กรอิสระไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

พรรคการเมืองฝ่ายค้านลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

รัฐบาลประกาศยุบสภาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งเพื่อเป็นทางออกของความขัดแย้ง แต่ก็ไม่สามารถเรียกความชอบธรรมทางการเมืองกลับคืนมาได้

ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลกลับยกระดับข้อเรียกร้องมากขึ้นเรื่อยๆ ยืนยันไม่ยอมรับการเลือกตั้งจนกว่าจะมีการปฏิรูปโดยมีวาระที่เรียกว่าเป็นอุดมคติยากที่จะสัมฤทธิผลได้ในความเป็นจริงในช่วงระยะเวลาที่กำหนดขึ้น การเลือกตั้งไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพราะมีการประท้วงขัดขวางผู้สมัครและการลงคะแนนเสียง ประชาชนมีความขัดแย้งกันมากขึ้นระหว่างฝ่ายที่ต้องการเลือกตั้งกับฝ่ายที่ต้องการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

มีการเรียกร้องให้ยิ่งลักษณ์ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรีลาออก

แต่ทางฝ่ายยิ่งลักษณ์อ้างว่าการลาออกไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

แต่ต่อมาก็มีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้ยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากการออกคำสั่งที่มิชอบในการโยกย้ายข้าราชการ

กระนั้นรัฐมนตรีเพื่อไทยก็ยังขึ้นมาทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี แต่ฝ่ายต่อต้านประกาศตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์ยืนยันให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะลาออกเพื่อให้มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ที่เป็นคนกลางโดยตีความมาตรา 7 ให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจ

ขณะเดียวกันฝ่ายรัฐบาลก็อ้างมาตรา 7 เช่นเดียวกัน!