ย้อนมองเกม 9 ธ.ค. 2556 : จังหวะก้าวถอย ของ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ยุบสภาดีกว่านองเลือด

“จริงๆ ก็ต้องเรียนว่าเป็นความรู้สึก ถ้าถามว่าเป็นใครก็เชื่อว่าทุกคนก็คงจะมีความรู้สึก ดิฉันเองก็ใช่ว่าจะไม่มีความรู้สึก ได้ฟังมาตลอดจากการร้องขอของผู้ชุมนุม

การกล่าวถึงทั้งตระกูลนั้น ดิฉันก็ถือว่าเราเป็นคนไทยด้วยกัน ถึงขนาดจะไม่ให้เหยียบแผ่นดินไทยเลยหรือ เราจะเป็นกันอย่างนี้หรือ ดิฉันก็ถอยจนไม่รู้จะถอยอย่างไรแล้ว ขอความเป็นธรรมด้วย”

รายงานข่าวระบุ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี กล่าวตอบผู้สื่อข่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือและน้ำตาคลอ ต่อข้อซักถามกรณีกลุ่มผู้ชุมนุมต้องการขับไล่คนตระกูล”ชินวัตร”ทั้งหมดออกจากประเทศ

ก่อนหน้าคำให้สัมภาษณ์ นี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เคยตอบคำถามด้วยน้ำเสียงสั่นเครือน้ำตาคลอแบบนี้มาแล้ว เมื่อครั้งผู้สื่อข่าวตั้งคำถามถึงเหตุการณ์คนกลุ่มหนึ่งเข้าไป”เป่านกหวีด” ในโรงเรียนที่ ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร หรือน้องไปป์ กำลังศึกษาอยู่

“ถ้าใครมีลูกก็คงเข้าใจ ถ้าไม่พอใจ ก็มาลงที่แม่เถอะ อย่าไปลงกับเด็กเลย”

ผู้สื่อข่าวถามว่าน้องไปป์จะทำอย่างไรต่อไป น.ส.ยิ่งลักษณ์ตอบว่า คงไปโรงเรียนตามปกติและจะเข้มแข็งขึ้น ลูกคงเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ไม่ว่าในฐานะคนตระกูลชินวัตร หรือในฐานะคนเป็นแม่ ถ้าหากพิจารณาจากแรงกดดันทางการเมืองที่แผ่รังสีอำมหิตคุกคามไปถึงบุคคลในครอบครัวและบุตรชายอายุเพียง 11 ขวบ

น่าจะเป็นคำตอบได้ว่าการเสียน้ำตาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นเรื่องจงใจประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อหวังผลทำลายภาพลักษณ์ฝ่ายตรงข้ามหรือไม่

ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้ 2 ฝ่าย ถอยคนละก้าว เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้

แต่ภาพความจริงที่ปรากฏ คือ รัฐบาลไม่เคยเป็นฝ่ายรุกไล่ มีแต่เป็นฝ่ายถอยแล้วถอยอีก

กลับมาสู่ประโยคคำพูดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ว่า “เราจะเป็นกันอย่างนี้หรือ ดิฉันก็ถอยจนไม่รู้จะถอยอย่างไรแล้ว”

ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ปัญหาความวุ่นวายยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ ถึงแม้นายกรัฐมนตรีจะประกาศยุบสภาเลือกตั้งใหม่ คืนอำนาจให้ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมแล้วก็ตาม

แต่กลุ่มผู้ชุมนุมภายใต้การบังคับบัญชาของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อีกจำนวนหนึ่ง

ซึ่งยกระดับจากม็อบนกหวีด ขึ้นเป็นกลุ่มประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส.

ก็ยังเปิดฉากรุกไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่หยุดหย่อน

ต่อมา นายสุเทพถึงกับออกแถลงการณ์คำสั่ง ในฐานะเลขาธิการ กปปส. ให้ดำเนินคดีกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะรัฐมนตรี ในข้อหาเป็นกบฏ

เนื่องจากไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลรักษาการหลังการยุบสภา ตามเงื่อนไขเวลาที่ กปปส. กำหนดเส้นตาย

หากถือเอาการยุบสภาเป็นการ”ถอย”ครั้งใหญ่ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่ใครต่อใครหลายคนไม่ว่าฝั่งไหนก็ยังเฝ้าจับตาดูว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะยอมถอยออกจากตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี

อันเป็นเงื่อนไขข้อเรียกร้องสูงสุดของกลุ่ม กปปส. และอาจารย์มหาวิทยาลัยชั้นนำจำนวนหนึ่ง ที่เกื้อกูลอยู่กับ กปปส. และอดีตพรรคฝ่ายค้านมาตลอด

เพื่อบีบบังคับให้การเมืองเข้าสู่ห้วงสุญญากาศ นำไปสู่การมีนายกรัฐมนตรี”คนกลาง” หรือที่เรียกว่า “นายกฯ มาตรา 7″ เข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทน

รวมถึงจัดตั้งสภาประชาชน รัฐบาลประชาชน หรือคณะปฏิรูปประเทศ แล้วแต่จะเรียก

คำถามคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะยอมให้การเมืองเดินไปถึงจุดนั้นหรือไม่

หากจับจังหวะการถอยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นับแต่เกิดวิกฤตการเมืองรอบนั้น ตั้งแต่ราวปลายเดือนตุลาคม 2556 เป็นต้นมา

จะเห็นได้ว่าทุกจังหวะล้วนเป็นการถอยตามกรอบกฎหมายและครรลองประชาธิปไตย

เริ่มตั้งแต่การประสานกับสมาชิกวุฒิสภาเพื่อ”ตีตก” ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง รวมถึงการถอนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมปรองดอง ที่ค้างวาระอยู่ในสภาอีก 6 ฉบับออกทั้งหมด

ทั้งยังจับมือกับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลลงนามสัตยาบัน ยืนยันจะไม่นำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กลับมาพิจารณาดำเนินการออกเป็นกฎหมายบังคับใช้อีก

แต่ทุกอย่างตอนนั้นดูเหมือนไม่ทันต่อข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม ที่ยกระดับก้าวข้ามการต่อต้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ไปสู่การล้างระบอบทักษิณ โค่นล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์

มีการเคลื่อนกำลังมวลชนเข้าปิดล้อมสถานที่ราชการหลายแห่ง บุกยึดกระทรวงการคลังและศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เปิดเป็นเวทีปราศรัยคู่ขนานเวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ก่อนหน้ายุบสภาครั้งดังกล่าวมีการระดมมวลชนชุมนุมใหญ่ด้วยกัน 4 ครั้ง

คือวันที่ 11 พฤศจิกายน วันที่ 24 พฤศจิกายน วันที่ 1 ธันวาคม และ วันที่ 9 ธันวาคม ที่แบ่งสายเดินขบวนทั่วกรุง 9 สาย ทุกสายมุ่งสู่ทำเนียบรัฐบาล

ทุกครั้งที่มีการระดมชุมนุมใหญ่ ปริมาณมวลชนจะขยายใหญ่โตมากขึ้นตามลำดับ

บวกกับความเคลื่อนไหวในส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่นำลูกพรรคแถลงลาออกจาก ส.ส. ทั้งหมด เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม เพื่อร่วมกับม็อบ กปปส. สร้างแรงกดดันอีกทางหนึ่ง

ทุกอย่างจึงเป็นแรงกดดันให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ต้องถอยก้าวใหญ่เมื่อเช้าวันที่ 9 ธันวาคม ด้วยการประกาศยุบสภาในที่สุด

ตรงนี้เองคือที่มาประโยคคำพูดที่ว่า “ถอยจนไม่รู้จะถอยอย่างไรแล้ว”

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ช่วงค่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 108 และมาตรา 187 ของรัฐธรรมนูญ

มีเนื้อหาใจความสำคัญ ให้ยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการ”เลือกตั้ง”สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่

พร้อมให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 และให้นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการการเลือกตั้ง “รักษาการ”ตามพระราชกฤษฎีกานี้

นอกจากนี้ ประกอบกับมาตรา 181 บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่เข้ารับหน้าที่

ข้อบัญญัติดังกล่าว ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อเรียกร้องสูงสุดของกลุ่มผู้ชุมนุมได้

เนื่องจากการลาออกหลังยุบสภา อาจทำให้รักษาการนายกรัฐมนตรี ต้องกลายเป็นผู้กระทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 และกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เสียเอง

ตรงนี้เองคือกับดักแยบยล

ในสังคมคนทั่วไปมองว่ามีทั้งความเหมือนและความต่างระหว่างการยุบสภาของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร วันที่ 9 ธันวาคม 2556 กับการยุบสภาของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ วันที่ 9 พฤษภาคม 2554

เหมือนกันคือ 2 รัฐบาลต่างถูกกดดันอย่างหนักจากกลุ่มมวลชนขนาดใหญ่นอกสภา ที่เห็นว่ารัฐบาลขาดความชอบธรรมที่จะอยู่บริหารประเทศต่อไป

แต่ต่างกันคือจังหวะเวลา

รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ใช้เวลาเกือบ 1 ปีหลังเหตุการณ์สั่งใช้กำลังอาวุธความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 จนมีคนตาย 99 คน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน

และอยู่เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการตามกฎหมายจนกระทั่งถึงการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 โดยไม่มีคนกลุ่มใดหรือคนเสื้อแดงเรียกร้องให้ลาออก

ขณะที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงรับมือผู้ชุมนุมด้วยวิธีการละมุนละม่อม เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมรุกไล่ รัฐบาลก็สั่งถอยโดยไม่ปะทะ เมื่อมีประชาชนเรือนแสนออกมาเคลื่อนไหวแสดงเจตนารมณ์ทวงคืนอำนาจจากรัฐบาล

รัฐบาลก็เลือกที่จะยุบสภา จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ตามกฎกติกาประชาธิปไตย คืนอำนาจให้ประชาชน”ตัวจริง เสียงจริง”ทั่วประเทศ

โดยไม่ต้องใช้ชีวิตและเลือดเนื้อเข้าแลก


หมายเหตุ เนื้อหาส่วนหนึ่งจาก มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 34 ฉบับที่ 1739หน้า 12