อภิญญา ตะวันออก : มองปัจจุบันกาล ผ่านพระขรรค์กำปงสวาย

อภิญญา ตะวันออก

จากเสียมเรียบสู่ดงพญาไฟแห่งเขมรหรือชายป่าพนมกุเลน และเคลื่อนผ่านไปทางตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดเขาพระวิหาร/เปรียะวิเหียร์เล็กน้อย

จุดนี้เช่นกันที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าจากยุคกลางถึงร่วมสมัย ทั้งนักรบ โจรป่า ฤๅษี (ผู้นำชุมชนหรือแม้แต่ชาวนาในสมัยเขมรแดง) และบทบาทชนกลุ่มน้อย

หนึ่งในวิทยาการชนเหล่านี้ที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน แบ่งเป็น 2 สายหลักรอง 1 ในนั้นคือ ศิลปะการต่อสู้ที่เรียกว่ากบัจคุน

รวมทั้งวัฒนธรรมเฉพาะด้านสายดนตรีของชนกลุ่มน้อยเหนือทะเลสาบใหญ่นี้ ได้ชื่อว่ามีอิทธิพลอย่างมากต่อประวัติศาสตร์ร่วมสมัย โดยเฉพาะดนตรียุคปฏิวัติเขมรแดง

น่าเสียดายที่การให้ความสำคัญต่อบทบาทชนกลุ่มน้อยของพลพตถูกบดบังคุณค่าทั้งหมดจากประเด็นประวัติศาสตร์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

แต่เชื่อไหมเมื่อย้อนไปราว 8 ศตวรรษก่อนในสมัยพระบาทชัยวรรมันที่ 7 บริเวณนี้คือแหล่งวิทยาการสมัยใหม่ที่สำคัญต่อการสร้างบ้านแปงเมือง อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ของยุคกลางแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นั่นคือเมืองพระนครธม โดยเฉพาะการหลอมใช้สินแร่เหล็กที่หมู่บ้านตาเสง ตำบลระณาศิรป์ (สะกดแบบเขมร) อำเภอสังคมใหม่ ห่างจากจังหวัดเปรียะวิเหียร์ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 60 กิโลเมตร

มีอดีตราชธานีอายุร่วมพันปีแห่งหนึ่งซึ่งมีชื่อเรียกว่าปราสาทพระขรรค์กำปงสวาย

 

จําได้ไหม อัญเจียแขฺมร์เคยนำเสนอชนกลุ่มน้อยโบราณต้นกำเนิดไฟแห่งยุคกลางมาแล้ว ซึ่งคือชุมชนโบราณบริเวณปราสาทพระขรรค์กำปงสวายนั่นเอง

สำหรับฉัน ชื่อชั้นของปราสาทแห่งนี้มีความลึกลับและเมลืองมลังแห่งองค์ความรู้ ทั้งการสำรวจยุคก่อน ร่วมและหลังอาณานิคมฝรั่งเศสในกลุ่มความสนใจ 2-3 หัวข้อดังนี้

หนึ่ง-หลักฐานด้านพุทธศาสนาอ้างจากหลักฐาน รูปสลักดอกบัวที่พบจากปราสาทพระขรรค์กำปงสวายที่พบและตีความโดยซูซานน์ คาร์เปเลส และทำให้ทราบว่าอิทธิพลเก่าแก่พุทธศาสนาต่อยุคกลางเขมรแรกๆ นี้คือที่ปราสาทพระขรรค์กำปงสวาย

สอง-งานวิจัยของแบร์นาร์ด ฟิลิปป์ โกรสลิเยร์ อันเกี่ยวกับเตาหลอมเหล็กกล้า (และเซรามิก) ที่ปราสาทพระขรรค์กำปงสวาย

และสุดท้าย คือชุดสำรวจเข้าใจว่าน่าจะเป็นผลงานของอ็องรี มูโอต์นั้น สร้างความตื่นตะลึงต่ออัตลักษณ์และการมีตัวตนในกลุ่มน้อยในป่าตอนกลางเหนือทะเลสาบใหญ่ที่เต็มไปด้วยความลึกลับและสร้างความตื่นตะลึงไปทั่วต่อวงการไปทั่วต่อเชิงวิจัยมานุษยวิทยาในความคิดของฉัน

แต่ที่มากกว่าซากปรักหักพังคือ ปราสาทพระขรรค์กำปงสวายที่เต็มไปด้วยวิทยาการสมัยใหม่และท้าทายของกลาง

อดีตอาณาจักรลึกลับแห่งนี้เชื่อว่าเป็นยุคเดียวกับปราสาทนครวัด (ราวคริสต์ศตวรรษ 11) โดยพระบาทสูรยวรรมันที่ 1 และปกครองเป็นราชธานีอยู่หลายปีในรัชกาลพระบาทสูรยวรรมันที่ 2

อย่างไรก็ตาม เมื่อถูกอ้างว่าปราสาทแห่งนี้จะเป็นแอ่งวิทยาการว่าด้วยเตาหลอมเหล็กกล้าแล้ว ในเรื่องพุทธศาสนา ดูจะถูกลดความสำคัญ

แต่ปราสาทพระขรรค์กำปงสวายก็ยังเป็น 1 ในโบราณสถานนอกเขตเสียมเรียบที่ได้รับการสำรวจและบูรณะอย่างต่อเนื่องแห่งหนึ่ง

แสดงถึงความสำคัญ ทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะมีเครื่องเซรามิกด้วยหรือไม่? ซึ่งพบว่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2447 นั้น สมมุติฐานนี้ได้ถูกตีตกไปโดยนักวิจัยท้องถิ่น ที่เจาะจงเพิ่มเติมว่า โรงเผาเหล็กปราสาทพระขรรค์กำปงสวายนี้เกิดขึ้นในสมัยพระบาทชัยวรรมันที่ 7

และมีเป็นจำนวนมากถึง 12 แห่ง

 

บทบาทของพระบาทชัยวรรมันที่ 7 และความสัมพันธ์อันมีต่อปราสาทพระขรรค์กำปงสวายนี้ น่าจะเป็นราชธานีชั่วคราวระหว่างตั้งทัพรบกับจาม โดยพบว่ามีการสร้างปราสาท สถูปจำลองบารายเป็นอนุสาวรีย์ไว้ที่นั่นเป็นจำนวนมาก (ค.ศ.1177)

สำหรับสมรภูมิรอบปราสาทและขนาดพื้นที่ ที่ล้อมรอบด้วยกำแพง 3 ชั้น โดยเฉพาะชั้นนอกนั้นมีขนาดกว้างใหญ่ไพศาลถึง 5 ตารางกิโลเมตร!

นับเป็นกำแพงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาปราสาทเขมรทั้งหมดในยุคเดียวกัน และนี่คือเหตุผลว่าทำไมชัยวรรมันที่ 7 จึงใช้พระขรรค์กำปงสวายเป็นชัยภูมิการส้องศึกและทำสงคราม

แม้ว่าจะมีที่ตั้งและภูมิศาสตร์ที่ลึกลับและโดดเดี่ยวก็ตาม แต่ปราสาทพระขรรค์กำปงสวายก็ไม่ห่างกลุ่มปราสาทอื่นๆ ที่มีความสำคัญ อาทิ ห่างจากปราสาทบึงมาลา (เมียเลีย) เพียง 70 กิโลเมตร

และให้ข้อสังเกตว่า หลังจากปราบกบฏอย่างราบคาบ และสถาปนาเมืองพระนครแล้ว เหตุใดพระบาทชัยวรรมันที่ 7 ยังให้ความสำคัญต่อปราสาทพระขรรค์กำปงสวาย จะด้วยว่านอกจากที่นั่นจะมีแอ่งสินแร่บางประเภทแล้ว จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า ในการสร้างราชธานีที่ยิ่งใหญ่และท้าทายแล้ว

พระบาทชัยวรรมันที่ 7 ยังอาศัยวิทยาการก้าวหน้าแห่งยุคกลางของปราสาทแห่งนี้ผลิตศาสตราวุธรวมทั้งสร้างบ้านแปงเมืองจากเตาหลอมเหล็กกล้าชนิดเหลวจำนวน 12 แห่ง มีขนาดยาว 16 คูณ 7 เมตร และสูงราว 1 เมตร ตั้งอยู่บริเวณปัจจุบันระหว่างบึงสแรหรือบึงเหนือ และบึงสวายรอเลกหรือบึงใต้ ห่างจากปราสาทพระขรรค์กำปงสวายไปราว 2 กิโลเมตร

ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสนามเพลาะชั้นในและนอก รวมทั้งกำแพงคันดินที่กระจัดกระจาย ซึ่งทุกวันนี้บริเวณเขตเตาหลอมเหล็กดังกล่าวยังพบเศษซากเหล็กและภาชนะบางส่วนกระจัดกระจายจำนวนมาก

รวมทั้งการที่นักโบราณวิทูลงความเห็นว่า พบชนพื้นถิ่นที่อาศัยบริเวณดังกล่าว มีองค์ความรู้ชำนาญด้านเหล็กกล้า รวมทั้งการผลิตอุปกรณ์ดำรงชีพแบบโบราณ

น่าเสียดายว่า 15 ปีที่ผ่านไปจากงานวิจัยชิ้นนี้ ดูจะล่าช้าไปมากสำหรับการรุกคืบของกลุ่มทุนสัมปทานต่างชาติ ที่ครอบครองพื้นที่เกษตรกรรมหลายหมื่นไร่ของจังหวัดเปรียะวิเหียร์

และให้เชื่อว่า ชาวพื้นถิ่นรวมทั้งชนกลุ่มน้อยที่ประสบชะตากรรมอันเกิดจากนโยบายรัฐ และกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชุมชนแบบดั้งเดิมที่ยังพบได้ในพื้นที่ของกัมพูชาต้นศตวรรษที่ 21

แต่กำลังจะสาบสูญ

 

นี่ไม่ใช่เรื่องของซากปรักหักพังของปราสาทโบราณนานา แต่ความลึกลับของเรื่องราวที่หลงเหลือจากยุคกลางที่ถ่ายผ่านและตกทอดมาถึงปัจจุบันได้สร้างความพิศวงต่อฉันยิ่งนัก

ทว่ารู้สึกอาสูญอย่างมากในการพบว่า 8 ศตวรรษต่อมาหลังจากศูนย์กลางวิทยาการแห่งยุคกลาง-เครื่องมือดำรงชีพด้วยเหล็กกล้า ณ ปราสาทพระขรรค์กำปงสวายนั้น

แต่ใครจะนึกเล่าว่า ทูตจีนผู้บันทึกเรื่องราวเมืองพระนคร- จูต้ากวนในวันนั้น

8 ศตวรรษต่อมา ลูกหลานในคราบนักลงทุนข้ามชาติของเขาจะทรงอิทธิพลทั้งเศรษฐกิจและวิทยาการอย่างมากต่อกัมพูชา

นัยทีว่าราวกับเป็นพรหมลิขิตแห่งชะตากรรมของมนุษย์ยุคหลังที่ได้เห็นการถ่ายผ่านแห่งอิทธิพลในอดีตของจีนที่มีต่อราชอาณาจักรกัมพูชา จากยุคกลางมาสู่ปัจจุบัน ราวกับถูกกำหนดไว้ เช่นใดเช่นนั้น-นิรันดร์

โดยเฉพาะกรณีครองที่ดินบริเวณดังกล่าว โดยมี “ออกญา” ตำแหน่งเสนาบดีเขมรยุคปัจจุบันที่เทียบกับตัวแทนต่างพระเนตรพระกรรณและผู้ถือครองที่ดินอาณาจักรขอมยุคกลางนั่น ทำการเพาะปลูกพื้นที่นับหมื่นเฮกตาร์ทั้ง “มะรึด-พริกไท” และกล้วยหอมทอง

รวมทั้งการไหลเข้าไปยึดครองพื้นที่ทำกินของชาวเขมรกลาง จนทำให้เกิดการอพยพออกของชนกลุ่มน้อยรวมทั้งชุมชนบริเวณตอนกลาง-ล่างของเปรียะวิเหียร์ และบางส่วนของปราสาทพระขรรค์กำปงสวาย

อนึ่ง ความน่าสนใจของประชาคมเล็กๆ แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เคยยิ่งใหญ่ไปด้วยวิทยาการและความสำเร็จแห่งยุคกลางในแบบเฉพาะตน ทั้งที่มีชัยภูมิที่ดีทางภูมิศาสตร์และต้นทุนทางทรัพยากรล้วนสมบูรณ์ แต่เหตุใดจึงไม่สามารถหลุดพ้นจากสถานะความเป็นประเทศที่พึ่งพาตัวเองได้เล่า?

เมื่อมองกลับไปที่ปราสาทพระขรรค์กำปงสวายเป็นกรณีศึกษาอย่างน่าฉงนยิ่ง

ราวถูกสาปไว้ด้วยเวลาแห่งการหยุดนิ่ง