วิเคราะห์ : เมื่อทำเลดีกำลังเปลี่ยนไป

การซื้อขายสินค้าออนไลน์ และการบริการขนส่งสินค้าที่เรียกว่า เดลิเวอรี่ ที่มีพัฒนาการมาแล้วสั้นๆ ระยะหนึ่ง และมา “พีก” เต็มที่ตอนคนไทยกักตัวหรือ lock down อยู่กับบ้านช่วงไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดหน้ก จนกลายเป็นพฤติกรรมต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้

มีผลต่อทัศนคติของผู้บริโภคหลายอย่างเปลี่ยนไป เช่น ร้านอาหารอร่อยหากินได้ยาก เพราะเข้าถึงยาก ไม่ค่อยมีโอกาสผ่านไป หรือที่จอดรถยาก แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องยากอีกแล้ว เพราะสั่งมากินที่บ้านได้สบายตามที่ต้องการ

พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปดังกล่าว ส่งผลมาถึงอสังหาริมทรัพย์ เพราะทำเลการค้าเปลี่ยนไป

 

ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างหนึ่งหลังโควิด คือ การขยายสาขาอย่างรวดเร็วของ “ร้านสุกี้ตี๋น้อย” ซึ่งปัจจุบันไม่รู้กี่สิบสาขาเข้าไปแล้ว

ที่สร้างความประหลาดใจแก่ผู้พบเห็นมาก ก็คือ ทำเลที่ร้านสุกี้ตี๋น้อยเปิดสาขา ต่างไปจากร้านอาหารใดๆ ที่เคยเห็นมาก่อนที่มักจะเลือกเปิดสาขาตามห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือไม่ก็ตึกแถวย่านชุมชนหนาแน่น แต่สุกี้ตี๋น้อยไม่ใช่

สุกี้ตี๋น้อยเปิดในทำเลที่เปล่าที่เช่ามาแล้วสร้างอาคารตามแบบมาตรฐานของตัวเองบ้าง หรือดัดแปลงอาคารเก่าบางแห่งเป็นร้านบ้าง และบางแห่งก็เป็นทำเลใหม่ที่ยังไม่มีใครเปิดร้านอาหารมาก่อน แต่เจ้านี้เขากล้าเปิด

ขอเพียงรถยนต์ส่วนบุคคลเข้าถึงสะดวก มีที่จอดรถเพียงพอ แค่นั้นเอง ที่เหลือเป็นเรื่องอาคารสถานที่และการจัดการอาหารประเภทสุกี้ให้บริการกับลูกค้าแบบบุฟเฟ่ต์ มีพนักงานเสิร์ฟถึงโต๊ะ มีกำหนดเวลากินได้ 1.30 ชั่วโมง

ด้วยต้นทุนสถานที่ที่ถูกกว่า คุณภาพสินค้า “สุกี้” สู้กับผู้นำตลาดได้ และราคาประมาณ 200 บาทเท่านั้น เทียบอิ่มต่ออิ่มถูกกว่าเจ้าตลาดครึ่งหนึ่ง ทำให้ทุกสาขาลูกค้าต้องเข้าคิวรอ

 

อีกตัวอย่างหนึ่ง ร้านส้มตำน้องรีจ๊อย หรือเรียกกันติดปากว่า ส้มตำโจ๊ะโจ๊ะ เป็นร้านส้มตำดังอยู่ข้างๆ คอนโดลุมพินี รัชโยธิน ถนนพหลโยธิน ขณะนี้จะเปิดสาขาเพิ่มที่ซอยพหลโยธิน 37/1 หรือซอยไปรษณีย์เสนานิคม แต่บริเวณที่ตั้งร้านแห่งใหม่นี้เป็นลานที่จอดรถยนต์ท้ายซอย ซึ่งมองจากปากซอยไปยังไงก็ไม่เห็น

แต่เหตุผลที่ร้านเลือกทำเลนี้ ไม่เลือกตึกแถวริมถนนใหญ่ ก็เพราะต้องการบริเวณสำหรับจอดรถมอเตอร์ไซค์เดลิเวอรี่แบรนด์ต่างๆ ที่มาสั่งซื้ออาหารให้เพียงพอ หน้าร้านติดถนนใหญ่ไม่มีความจำเป็นเพราะลูกค้าผู้ซื้อ ผู้บริการขนส่ง และร้านค้าผู้ผลิตติดต่อกันทางออนไลน์ ไม่ใช่การผ่านมาแล้วมองเห็น

ตรงกันข้าม ร้านตึกแถวริมถนนใหญ่จะเป็นปัญหาเรื่องการจอดมอเตอร์ไซค์ของเหล่าบรรดาเดลิเวอรี่อีกต่างหาก

จากตัวอย่างจะเห็นว่า ทำเลการค้าเปลี่ยนไปแล้ว และจะเปลี่ยนมากขึ้นเรื่อยๆ ในทิศทางนี้

ที่ผ่านมา สถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทำให้ทำเลคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ปริมณฑลเปลี่ยนแปลงไป และส่งผลไปถึงราคาที่ดินในทำเลเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปด้วย

มาตอนนี้การซื้อสินค้าและอาหารออนไลน์ บวกบริการส่งสินค้าถึงบ้าน ทำให้ความหมายหรือประโยชน์ใช้สอยทำเลเปลี่ยนไป ทำเลริมถนนใหญ่ ปากซอย กลางซอย และท้ายซอย ไม่ได้แตกต่างกันเหมือนอดีตอีกแล้ว

สุดท้าย จะส่งผลต่อราคาที่ดิน ต่อรูปแบบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างไร ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด