จิตต์สุภา ฉิน : “เอไอสร้างคน” ขั้นกว่าของภาพโปรไฟล์ปลอม

การขโมยภาพของคนอื่นมาใช้สร้างโปรไฟล์ปลอมบนโซเชียลมีเดียไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร

แต่ที่ใหม่กว่านั้นก็คือการสร้างภาพคนปลอมที่ไม่มีอยู่จริงขึ้นมาจากศูนย์

และที่น่ากลัวก็คือ เทคโนโลยีที่สามารถทำเช่นนั้นได้ก็เก่งกาจขึ้นเรื่อยๆ จนแทบจะแยกไม่ออกแล้วว่าคนในภาพเป็นคนที่มีตัวตนเดินดินอยู่บนโลกใบนี้จริงๆ

หรือเป็นเพียงภาพที่ปัญญาประดิษฐ์ประดิษฐ์ขึ้นกันแน่

ภาพคนปลอมที่สร้างขึ้นโดยเอไอกลายเป็นสิ่งที่ซื้อขายกันบนอินเตอร์เน็ตเพื่อจุดประสงค์ในการนำไปใช้ที่หลากหลาย เพียงจ่ายประมาณหนึ่งร้อยบาท ก็จะได้ภาพที่ดูผิวเผินเหมือนคนปกติธรรมดาทุกประการ แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะตามหาตัวตนให้เจอเพราะคนในภาพไม่เคยมีอยู่จริง

หรือบางเว็บไซต์ก็เปิดให้เข้าไปดาวน์โหลดภาพมาใช้ได้ฟรีๆ เลยด้วยซ้ำ แถมยังดัดแปลงได้ด้วยว่าอยากให้คนในภาพดูเด็กลง แก่ขึ้น หรือเปลี่ยนเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ได้ตามใจชอบ

เอไอสามารถสร้างภาพคนปลอมขึ้นมาได้ก็ด้วยฐานข้อมูลภาพใบหน้าจำนวนมหาศาล แล้วใช้อัลกอริธึ่มในการสร้างภาพคนภาพใหม่ที่ไม่เคยมีอยู่จริงบนโลกใบนี้ขึ้นมา

ไม่ใช่แค่ภาพนิ่งเท่านั้น แต่มันยังเก่งพอที่จะสามารถทำเป็นภาพแบบเคลื่อนไหวหรือจะทำให้พูดด้วยก็ยังได้

 

ภาพคนปลอมเหล่านี้พบเห็นได้มากขึ้นเรื่อยๆ บนอินเตอร์เน็ต จุดประสงค์ของการใช้งานก็มีหลากหลาย อย่างการใช้เพื่อโปรโมตเว็บไซต์ของบริษัทว่ามีพนักงานหรือลูกค้าที่หลากหลาย ใช้สร้างโปรไฟล์ปลอมเพื่อปกปิดความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ใช้สร้างแคแร็กเตอร์ในวิดีโอเกม

ทว่าศักยภาพของเทคโนโลยีแบบนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้ที่จะคิดไปว่ามันน่าจะถูกหยิบไปใช้กับวัตถุประสงค์ในแบบเทาๆ มากกว่า อย่างการใช้ภาพคนปลอมมาทำโปรไฟล์ที่น่าเชื่อถือเพื่อเจาะเข้าไปในชุมชนออนไลน์และหลอกเอาข้อมูลออกมา

ไปจนถึงการใช้โปรไฟล์ปลอมเพื่อแพร่กระจายข่าวลวง กลั่นแกล้งและทำร้ายทำลายคนอื่น

สมัยก่อนเราไม่สามารถสร้างภาพคนปลอมแบบนี้ขึ้นมาได้

แต่ด้วยเทคโนโลยีของปัญญาประดิษฐ์ที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็ทำให้เรื่องนี้เป็นจริงขึ้นมาได้ในที่สุด

ความเก่งจนน่ากลัวของมันก็คือการที่เราป้อนข้อมูลภาพใบหน้าคนจำนวนมากเข้าไปเพื่อให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้ คอมพิวเตอร์จะศึกษาและพยายามสร้างภาพคนในเวอร์ชั่นของมันเองขึ้นมา

ในขณะที่อีกส่วนของระบบก็จะพยายามตรวจจับไปด้วยว่าภาพไหนเป็นภาพจริง ภาพไหนเป็นภาพปลอม คล้ายๆ กับการคิวซีคุณภาพผลงานตัวเองประมาณนั้น

กระบวนการที่ทำซ้ำไปซ้ำมาแบบนี้ก็จะยิ่งทำให้มันเก่งขึ้นเรื่อยๆ จนผลลัพธ์สุดท้ายที่ได้มาก็คือภาพใบหน้าคนที่สร้างขึ้นมาใหม่ ไม่มีอยู่จริง

แต่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะแยกแยะออกได้ด้วยตาเปล่าและการมองเพียงผิวเผิน

 

การพัฒนาอย่างรวดเร็วนี้ทำให้ไม่ยากเลยที่จะจินตนาการว่า อีกไม่นานนักหรอก เราจะได้เห็นภาพปลอมที่ดูเหมือนจริงสุดๆ เกลื่อนกลาดทั่วอินเตอร์เน็ตไปหมด ไม่ใช่แค่ภาพแนว portrait ที่ยืนตรงหน้ามองกล้องเท่านั้น แต่ภาพปลอมจะเก่งและสลับซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ

เช่น ภาพกลุ่มเพื่อนที่กำลังอยู่ในงานปาร์ตี้และสังสรรค์กันอย่างสนุกสนาน ภาพคนกำลังจูงหมาเดินเล่น หรือกำลังอุ้มเด็ก ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นของปลอมที่คอมพิวเตอร์สร้างขึ้น

ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่เคยมีมนุษย์ที่หน้าตาแบบนี้ถือกำเนิดขึ้นมา ไม่มีเด็ก ไม่มีหมา ไม่มีงานปาร์ตี้อะไรทั้งนั้น

ส่วนหนึ่งที่ทำให้มันเก่งขึ้นได้อย่างรวดเร็วก็คือเทคโนโลยีที่ใช้ในการระบุอวัยวะต่างๆ บนใบหน้าของเรานั้นก้าวหน้าไปเยอะมาก อย่างการปลดล็อกโทรศัพท์ด้วยใบหน้าของเรา หรือซอฟต์แวร์ที่สามารถเลือกขึ้นมาเฉพาะภาพใบหน้าของเราท่ามกลางภาพอื่นๆ อีกเป็นพันเป็นหมื่นรูปได้ เมื่อมันจับโครงหน้าของเราได้ละเอียดขึ้นก็แปลว่ามันจะสร้างโครงหน้าใหม่ขึ้นมาให้สมจริงได้มากขึ้นด้วยเหมือนกัน

การจะแยกแยะว่าภาพที่เราเห็นบนโลกอินเตอร์เน็ตเป็นภาพจริงหรือภาพปลอมก็จะกลายเป็นเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจจะไปถึงจุดที่เราไม่สามารถแยกได้อีกต่อไปเลยก็ได้

 

ย้อนกลับไปเพียงแค่ไม่ถึงสิบปีก่อนหน้านี้ เทคโนโลยีการสร้างภาพคนปลอมขึ้นมาทำได้อย่างเก่งสุดก็แค่คล้ายตัวละครในเกม The Sims เท่านั้น

ตัวฉันเองก็ยังจำได้เลยว่าไม่ต้องย้อนไปถึงสิบปีหรอก แค่ประมาณสักสองสามปีก่อนที่ฉันเขียนบทความเรื่องภาพคนปลอมครั้งแรก ในตอนนั้นการจะแยกแยะระหว่างภาพจริงภาพปลอมยังทำได้ค่อนข้างง่าย เพราะจุดบกพร่องของแต่ละภาพจะค่อนข้างเด่นชัด ต่อให้ไม่รู้ว่ามีสิ่งที่เรียกว่าภาพคนปลอมอยู่ ก็พอจะบอกได้ว่าภาพคนที่เห็นตรงหน้ามันมีอะไรทะแม่งๆ เป็นองค์ประกอบที่ไม่ถูกต้องอยู่ในภาพ

ขอเพียงแค่รู้ไว้ในใจว่าเรากำลังจะจับผิดภาพที่เห็นตรงหน้า เราก็จะค่อยๆ มองหาสัญญาณแห่งความผิดพลาด และจะหาเจอในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้สิ่งที่เคยเป็นสัญญาณให้แยกแยะได้ก็ค่อยๆ หายไป หรือถ้าไม่หาย ก็เนียนจนมีโอกาสที่จะมองข้ามไปได้ง่ายๆ เช่น ภาพใบหน้าปลอมของคนที่สวมต่างหู หากดูให้ดีๆ จะเห็นว่าคอมพิวเตอร์ไม่สามารถสร้างภาพต่างหูทั้งสองข้างให้เหมือนกันเป๊ะๆ ได้ (แต่จะว่าไปก็ไม่ใช่ว่าคนจริงๆ จะไม่เคยมีบางโอกาสที่คว้าต่างหูผิดข้างมาใส่) ตาซ้ายและตาขวาอยู่ห่างจากเส้นกึ่งกลางใบหน้าในระยะเท่ากันเป๊ะๆ ขาแว่นผิดเพี้ยน หรือพื้นหลังที่จะต้องเบลอเสมอ

บอกได้เลยว่าทั้งหมดนี้ ถ้าไม่ได้รู้วิธีดูมาก่อนก็มีโอกาสสูงมากที่จะมองข้ามไป เพราะต่อให้เพ่งเล็งมองแค่ไหนก็ยังคิดว่านี่ก็เป็นเพื่อนมนุษย์ที่มีเลือดมีเนื้อเหมือนเราอยู่ดี

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเทคโนโลยีที่มีความก้ำกึ่งกับดีพเฟคแบบนี้จะต้องถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ดีมากกว่าทางที่ดีแน่ๆ และอาจจะมีอาชญากรรูปแบบใหม่ๆ ที่คาดไม่ถึงงอกเงยขึ้นมาจากเทคโนโลยีนี้อีกเยอะ

ดังนั้น การที่เรารู้ไว้ก่อนว่ามีสิ่งที่เรียกว่าภาพปลอมของใบหน้าคนที่คอมพิวเตอร์สร้างขึ้นแบบนี้ ถ้าในอนาคตเราต้องรับมือกับการหลอกลวงที่มาพร้อมกับใบหน้าที่สาวหาตัวตนไม่พบ

ก็อาจจะทำให้เราร้อง “เอ๊ะ” ขึ้นมาได้