เกษียร เตชะพีระ | แรกอ่าน Moments of Silence ของธงชัย วินิจจะกูล (3)

เกษียร เตชะพีระ

ถ้ากระนั้น สรุปโดยรวมแล้ว หนังสือ Moments of Silence ของธงชัยคืออะไร?

ภาพประทับใจของผมคือมันเป็นงานวิชาการและทรงคุณค่าทางวิชาการอย่างไม่ต้องสงสัย และมันไม่ใช่เป็นแค่บันทึกความทรงจำส่วนตัวของธงชัยล้วนๆ แน่ๆ

ในแง่ใกล้ชิดกันเองที่สุด มันเหมือนจดหมายขนาดยาวที่ธงชัยเขียนเล่าให้เพื่อนร่วมชะตากรรมฟังว่าตัวเขา ได้ค้นพบอะไร คิดอ่านอย่างไร เกี่ยวกับตัวเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ และกระบวนการไม่ลืมเหตุการณ์นั้นของตัวเองและสังคมไทยตลอดสี่สิบกว่าปีที่ผ่านมาบ้าง

และในแง่กว้างใหญ่ที่สุด มันยังทำให้เราได้รู้จักตัวตนเอกลักษณ์แท้จริงลึกๆ ของสังคมการเมืองวัฒนธรรมไทยด้วย!

เพราะคนเราเป็นใคร เป็นอะไร ก็ประกอบส่วนสร้างขึ้นจากความจำ – ดังที่คนประสบอุบัติเหตุ สมองได้รับความกระทบกระเทือน เมื่อได้สติฟื้นมามักเกิดอาการความจำเสื่อม หรือ amnesia อย่างน้อยก็ชั่วคราว และเรื่องแรกที่เจ้าตัวถามคือ เขาเป็นใคร? อยู่ที่ไหน? แล้วคุณคือใคร? ฯลฯ

ฉะนั้น เมื่อความจำเสื่อม คนเราก็สูญเสียเอกลักษณ์ไปด้วย

ตามนัยนี้ การศึกษาเรียนรู้ครุ่นคิดอย่างเอาจริงกับกระบวนการไม่ลืมเหตุการณ์ที่กระทบกระแทกเขย่าสั่นคลอนตัวตนที่แท้จริง อำนาจนำที่ใหญ่โตยิ่ง และพล็อตประวัติศาสตร์ที่เป็นแก่นของสังคมไทย จึงทำให้เราได้รู้จักเข้าใจเอกลักษณ์ตัวตนของสังคมไทยอย่างลึกซึ้งจริงแท้ที่สุดว่ามันเป็นยังไง จากการไม่ลืมและความเงียบของมันต่อเหตุการณ์บาดแผลหรือ trauma อย่าง 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 นี่เอง

เหมือนคนที่ถูกข่มเหงรังแกอย่างทารุณในวัยเด็ก ผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือทหารผ่านศึกสงครามอันโหดร้าย จนเกิดอาการเก็บกดผิดปกติทางจิตภายหลังและมีพฤติกรรมอุปนิสัยผิดแปลกไปจากธรรมดา ก็เพราะความจำจากเหตุการณ์บาดแผลเหล่านั้นคอยตามหลอนใจอยู่ลึกๆ ซึ่งเราจะเข้าใจคนเหล่านี้ได้โดยสอบถามขุดคุ้ยแกะรอยเข้าถึงความไม่ลืม/ความเงียบของพวกเขาต่อเหตุการณ์บาดแผลดังกล่าวฉันใด

การฆ่าหมู่และรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ก็คือเหตุการณ์บาดแผลทำนองเดียวกันนั้นของสังคมไทยและย่อมเป็นช่องทางทำความรู้จักเข้าใจเอกลักษณ์ตัวตนของสังคมไทย การเมืองไทยและประวัติศาสตร์ไทยผ่านการลืมมันไม่ได้ จำมันไม่ลง ฉันนั้นนั่นเอง

อย่างที่พูดถึงมันขึ้นมาทีใด ก็พาลให้น้ำตารื้นออกมาเองอย่างสุดกลั้นทุกที

แต่วิธีวิทยาอันแปลกพิเศษใน Moments of Silence ของธงชัยก็มีปัญหาของมันดังที่เจ้าตัวรับออกมาเองว่ามันนำไปสู่การแยกแย้งของตัวเขาในหนังสือออกเป็น :

ตัวผู้เรียนรู้ หรือ the knowing subject (ดังที่ธงชัยใช้คำต่างๆ ว่า “writing subject”, “author”, “scholar”, “historian”, “analyst”) กับ

ตัวผู้กระทำการ หรือ the doing subject (ธงชัยใช้คำว่า “insider”, “protagonist”, “witness”, “participant”)

ดังเขาบรรยายไว้ในคำนำหนังสือที่หน้า xi-xii ว่า :

“กล่าวในทางปัญญาความรู้ ความขัดแย้งของตัวผมเองในฐานะตัวผู้เขียนเป็นเรื่องยากลำบากและท้าทายใหญ่อย่างหนึ่ง ผมไม่ได้ต้องการเขียนบันทึกความจำส่วนบุคคล ไม่ว่าจะในทีทรรศน์เชิงเศร้าคำนึง เชิงวีระอาจหาญ เชิงสำนึกเสียใจหรือเชิงอาฆาตแค้น มิพักต้องพูดถึงในเชิงกล่าวโทษคนอื่น ในฐานะนักประวัติศาสตร์ ผมอยากเขียนงานศึกษาเชิงวิพากษ์ว่าด้วยบรรดาความทรงจำที่เปลี่ยนไปของทารุณกรรมครั้งนั้น อย่างไรก็ตาม ผมไม่ใช่คนนอกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ผมกำลังเขียนถึง และก็ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ผู้ยึดมั่นภววิสัยของตัวเหตุการณ์ที่ผมศึกษา แม้กระทั่งการที่ผมทำการศึกษาและเขียนถึงเหตุการณ์นั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำที่เปลี่ยนแปลงไปเกี่ยวกับตัวเหตุการณ์เช่นกัน กล่าวโดยสรุปก็คือสถานะของผู้เขียนเป็นปริศนาอยู่ ผมเป็นตัวผู้กระทำการของเหตุการณ์ที่ผมเองกำลังพยายามเขียนถึงในฐานะนักวิชาการ ทางออกหาใช่เพียงแค่ทำอย่างรอบคอบรัดกุมและวิพากษ์ตัวเองเท่านั้นไม่ และก็ไม่มีทางสายกลางหรือการรอมชอมง่ายๆ อันใดอยู่เช่นกัน หนทางเดียวที่จะนำร่องผ่านช่องว่างระหว่างการเป็นประจักษ์พยานหรือผู้เข้าร่วมในเหตุการณ์กับการเป็นนักประวัติศาสตร์หรือนักวิเคราะห์ก็คือทำให้งานชิ้นนี้ผลิดอกออกผลงอกเงยออกมาและมีลักษณะริเริ่มเป็นต้นแบบ โดยปล่อยให้บรรดาความตึงเครียดและย้อนแย้งภายในสถานะของผู้เขียนสำแดงตัวมันออกมาในการคิดและการเขียนหนังสือเล่มนี้ ผลิตสร้างแนวทางการสืบค้น คำถาม การวิเคราะห์และการตีความต่างๆ นานาที่ทั้งโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์และหยั่งรู้เข้าใจ

“ฉะนั้น กับใครก็ตามที่อาจบอกว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่งานวิชาการล้วนๆ ผมขอตอบว่าก็ช่างปะไร จิตวิญญาณของผมส่วนหนึ่งอยู่ในหนังสือเล่มนี้ กระนั้นก็ตาม สำหรับใครก็แล้วแต่ที่คิดว่าชีวิตนักวิชาการกับนักเคลื่อนไหวเอามาผสมผสานกันไม่ได้ ผมขอเห็นต่างออกไป ผลลัพธ์ที่ได้ในกรณีนี้เป็นงานประเภทโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ กล่าวคือ มันเป็นงานวิชาการที่เจือบันทึกความจำ ร่องรอยของความเป็นผู้เขียนสองบุคลิกแสดงออกหลายรูปแบบตลอดกระบวนการเขียนและตัวบทของหนังสือเล่มนี้ มันอยู่ในเรื่องราว น้ำเสียง สำเนียงต่างๆ ที่เปล่งออกมา แม้กระทั่งในสรรพนามทั้งหลายที่ใช้ – พวกเราหรือพวกเขา, ของพวกเราหรือของพวกเขา ฯลฯ – มิเพียงในตอนที่ผมอภิปรายถึงพวกผู้ก่อเหตุเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ตกเป็นเหยื่อทั้งหลายด้วยซึ่งบางทีก็เป็นเพื่อนฝูงบ้าง พวกพ้องบ้าง ทว่าพวกเขาก็เป็นประเด็นแห่งการสังเกตเชิงวิพากษ์วิจารณ์ของผมด้วยเช่นกัน…”

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)