วงค์ ตาวัน | มุ่งหาอนาคต-ปกป้องอดีต

วงค์ ตาวัน

ตลอด 4-5 เดือนมานี้ สังคมไทยก้าวเข้าสู่ห้วงเวลาที่ต้องบันทึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์กันเลยทีเดียว นั่นคือเป็นห้วงเวลาแห่งการปะทะกันอย่างเปิดเผยและจริงจัง ระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า ระหว่างคนในโลกใหม่กับคนในโลกเก่า

“ระหว่างคนที่มุ่งหน้าไปหาอนาคต กับคนที่ปกป้องอดีตเอาไว้ไม่ยอมปล่อย”

ขณะที่ระดับนักศึกษาปัญญาชนคนรุ่นใหม่ ในนามคณะราษฎร เปิดฉากต่อสู้เพื่อเรียกหาประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ เพื่อรื้อโครงสร้างอำนาจทางการเมือง ให้ไปสู่ยุคการเมืองเสรีแท้จริง

ขณะเดียวกันในระดับนักเรียน ในนามองค์กรนักเรียนเลว ก็มุ่งหน้าผลักดันการเปลี่ยนแปลงการศึกษา เพื่อยกระดับไปสู่การศึกษาที่สอนเพื่อให้เด็กได้คิด ไม่ใช่การเรียนการสอนแบบเดิมๆ ที่สร้างเด็กให้เป็นนกแก้วนกขุนทอง

“การเปิดประเด็นต่อสู้แต่งตัวไปรเวตไปโรงเรียนเป็นการแสดงออกอย่างเข้มข้นของเด็กนักเรียน เพื่อประท้วงระบบการศึกษาที่เอากฎระเบียบมากดทับ ทำให้เด็กอยู่ในกรอบ เพื่อให้เป็นคนว่านอนสอนง่าย!”

ระเบียบการแต่งกาย เสื้อผ้า ผมเผ้า คือแนวการต่อสู้ที่สำคัญประการหนึ่ง ซึ่งเด็กนักเรียนยุคใหม่ต้องการทลายกฎระเบียบนี้ให้ได้

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อรื้อตำรา รื้อการเรียนการสอน

ทั้งที่ระบบการเรียนการสอนของหลายๆ ประเทศ เป็นที่ยกย่องว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง สร้างเด็กที่มีคุณภาพ เป็นอนาคตของประเทศเหล่านั้นอย่างแท้จริง

“เป็นรูปธรรมความสำเร็จที่เห็นได้ชัดเจนในหลายๆ ชาติทั่วโลก”

ภายใต้ระบบการเรียนในห้องเรียน ที่นำเอาเนื้อหาในตำรามาพูดคุยสนทนา และนำเอาทฤษฎีในวิชาการไปเชื่อมต่อกับชีวิตจริงของเด็กๆ ทั้งระหว่างการเดินทางไป-กลับโรงเรียน หรือทั้งในช่วงที่กลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน

ทำให้หนังสือหนังหาสามารถเชื่อมโยงกับโลกความจริง และสร้างการแตกฉานทางความคิด

“ระบบเช่นนี้สร้างเด็กให้เติบโตขึ้นมา และกลายเป็นอนาคตที่รุ่งโรจน์ของสังคมนั้นๆ”

วันนี้เด็กรุ่นใหม่ของบ้านเรามองเห็นแล้วว่า ถ้ายังเรียนยังสอนกันแบบเก่าๆ เน้นท่องจำ ไม่สร้างเด็กให้คิดเป็น แถมเอากฎการแต่งตัว ทรงผม มาเป็นเครื่องกำกับเด็กให้อยู่ในกรอบซ้ำอีก

สังคมไทยก็ยากจะมีอนาคตที่พัฒนาก้าวหน้า

การลุกขึ้นมาประท้วงเรื่องการแต่งกาย จึงเป็นย่างก้าวสำคัญของเด็กนักเรียนที่ต้องการอนาคตที่ดีกว่านี้

การเคลื่อนไหวของระดับเด็กนักเรียนดำเนินไปพร้อมๆ กับระดับนักศึกษา-ประชาชน ที่มีเป้าหมายร่วมกันคือการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย ในทุกมิติ เพื่อให้เกิดความก้าวหน้า ความเท่าเทียมกันทั้งในชีวิตความเป็นอยู่ การเล่าเรียน และการเมือง

เพราะถ้าการเมืองดี เศรษฐกิจก็ดี สังคมโดยรวมก็จะดีไปด้วย

ขณะที่คนรุ่นเก่า คนในโลกเก่า ต่างยืนยันว่า สังคมไทยวันนี้ดีที่สุดแล้ว มีความสงบ มีวัฒนธรรมประเพณีดีงามต่างๆ นานา

แต่คนรุ่นใหม่มองว่า ภายใต้สังคมอันสงบสุขแบบไทยๆ วันนี้ เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำทุกด้าน ประชาชนเต็มไปด้วยความขาดแคลน สวัสดิการจากรัฐ การดูแลจากรัฐเกิดแค่บางด้าน แต่ไม่ทั่วด้าน

“ที่สำคัญสังคมไทยย่ำเท้าอยู่กับที่หรือถอยหลังไปด้วยซ้ำ”

มีภาพเปรียบเทียบคือ สังคมประเทศที่เจริญทางการเมือง มีประชาธิปไตยแท้จริง ไม่มีอำนาจนอกระบบคอยแทรกแซง ไม่มีทหารคอยปฏิวัติยึดอำนาจ ประเทศนั้นก็เจริญรุดหน้าไปทุกด้าน

ไม่ต้องมองไกลถึงยุโรป เอาแค่เกาหลีใต้ ที่ไม่ห่างไกลมากนัก ก็สามารถเปรียบเทียบได้ชัดเจน

ย้อนไปเพียง 40 ปีที่แล้ว เกาหลีใต้มีสภาพไม่ต่างจากไทย เคยเกิดกรณีกวางจู ปราบปรามนักศึกษาที่ประท้วงจนล้มตายนองเลือด

แต่สุดท้ายการเมืองเกาหลีใต้เกิดเปลี่ยนแปลงจนสำเร็จ เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ ใช้การเลือกตั้งเป็นกระบวนการขับเคลื่อน ทหารต้องออกไปจากการเมืองอย่างถาวร

“แค่ 40 ปีเท่านั้น ทีมฟุตบอลเกาหลีใต้เลิกเป็นคู่แข่งสูสีกับทีมชาติไทย ที่เดิมก็เตะกันอยู่ในย่านนี้ แต่ยุคหลังเกาหลีใต้ไปบอลโลกทุกครั้ง ส่วนไทยก็ระดับเจ้าอาเซียนดังเดิมต่อไป อีกทั้งอุตสาหกรรมเกาหลีใต้ก็ไปสู่ระดับโลก ซัมซุง แอลจี รถยนต์ รวมไปถึงวัฒนธรรมเคป๊อปยึดครองไปทั่ว สร้างรายได้มหาศาล”

ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ทำให้คนรุ่นใหม่ในบ้านเราทนไม่ไหว

โดยเฉพาะเหตุการณ์รัฐประหาร 2557 นำมาสู่รัฐบาลทหารยาวนาน 5 ปี แล้วเปิดเลือกตั้งในปี 2562 ด้วยรัฐธรรมนูญพร้อมกติกาที่เหลื่อมล้ำ เอารัดเอาเปรียบ สร้างระบบสืบทอดอำนาจ ใช้องค์กรอิสระเป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

ขืนจมอยู่แบบนี้ อนาคตของชาติทั้งหลาย ปักใจแล้วว่าคงจะหาอนาคตไม่ได้แน่ๆ

ปรากฏการณ์ล่าสุด กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเป็นนายกฯ ได้ต่อไป ไม่ตกเก้าอี้จากคดีพักอาศัยในบ้านหลวง ทั้งที่เกษียณไปแล้วยาวนาน โดนกล่าวหาว่าเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน เรียกรับประโยชน์เกินกว่า 3 พันบาท

กระบวนการศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ผิด ซึ่งก็เป็นเรื่องของกระบวนการทางกฎหมายที่ว่ากันไปทางหนึ่ง

“แต่ในทางการเมือง คดีบ้านหลวงไม่อาจจบลงได้ง่ายๆ เพราะมีภาพเปรียบเทียบหลายประการให้ถกเถียงกันอื้ออึง”

เช่น เหตุผลที่ พล.อ.ประยุทธ์สามารถอยู่บ้านหลวงได้ ก็เพราะเป็นอดีต ผบ.ทบ. ที่สร้างคุณงามความดีให้ประเทศชาติ อีกทั้งเมื่อเป็นนายกฯ หากพักอาศัยนอกเขตทหาร ก็จะยากต่อการรักษาความปลอดภัย

เหล่านี้เกิดคำถามจากทั่วสังคมว่า แล้วนายกฯ คนอื่นๆ เล่า นายกฯ พลเรือน นายกฯ จากการเลือกตั้ง เหตุใดจึงไม่มีโอกาสแบบนี้

เหตุใดจึงซื้อบ้านอยู่เอง เช่าบ้านอยู่เอง จ่ายเงินเองเพื่อเป็นค่าส่วนกลางหมู่บ้านให้ได้ รปภ.มาขี่จักรยานตรวจตรา

“ความปลอดภัยของนายกฯ พลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง เหตุใดจึงไม่ต้องเข้มข้นเท่านายกฯ ที่มาจากผู้นำกองทัพ!”

ไม่เท่านั้น ผลพวงจากคดีบ้านหลวงก็ยังช่วยตอกย้ำให้สังคมไทยได้นึกย้อนถึงที่มาของ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะผู้นำกองทัพที่ก่อรัฐประหารเมื่อปี 2557 แล้วเป็นนายกฯ ด้วยอำนาจรัฐประหาร ต่อมาเป็นนายกฯ ต่อเนื่องไปอีกหลังเลือกตั้งปี 2562 ภายใต้กติกาที่มี 250 ส.ว.มาโหวตให้ กลายเป็นอำนาจที่อยู่เหนือเสียงประชาชนหลายคนที่ไปเลือกตั้ง

อันเป็นปมเงื่อนที่ทำให้การเมืองขาดความเป็นประชาธิปไตย เกิดการผูกขาดอำนาจโดยคนกลุ่มเดียว

“ทั้งหลายทั้งปวง การดำรงอยู่ของอำนาจดังกล่าวนี้ เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่จริงหรือไม่!?”

ที่แน่ๆ สำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ไม่พึงพอใจต่อระบบการเมืองวันนี้เห็นว่า ไม่ใช่การเมืองที่เสรี ไม่เปิดกว้างให้คนเก่งๆ คนรุ่นใหม่ๆ ที่คิดทันโลก มีวิสัยทัศน์ เข้ามาร่วมบริหารบ้านเมือง

ในระดับการศึกษาตามโรงเรียน ก็จมอยู่กับการเรียนการสอนนกแก้วนกขุนทอง ใช้กฎระเบียบกดทับ

เมื่อถกเถียงเรื่องทรงผมนักเรียนก็ได้รับรู้ทัศนคติของระดับรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการที่ว่า ถ้าเด็กไว้ผมยาว จะเปลืองเงินค่าแชมพูสระผม และผมยาวจะบังเพื่อนข้างหลัง

นี่แหละ ทำให้เด็กนักเรียนปักใจแล้วว่าต้องลุกขึ้นมา เช่นเดียวกับนักศึกษาที่กำลังเรียกหาการเมืองใหม่ที่แท้จริง

เป็นเรื่องของเหล่าอนาคตของชาติ ที่ต้องการความมีอนาคตจริงๆ!