จัตวา กลิ่นสุนทร : ต้องอยู่กันไปอย่างนี้แหละ

รัฐบาลไม่ใช่ผู้ปกครอง เพียงคือผู้ที่ประชาชนเลือกให้เข้ามาบริหารประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยดูคล้ายจะมิได้เป็นอย่างนั้น ประชาชนจึงได้กลายเป็นผู้ถูกปกครอง

หัวหน้ารัฐบาลทำท่าเป็นผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่มาก ออกท่าทางความคิดเป็นเผด็จการ ไม่ยอมรับฟังเสียงเรียกร้องของประชาชน

จึงตีความเอาได้ว่าตั้งแต่ตัวนายกรัฐมนตรี ที่มีอาชีพทหารมาจากการยึดอำนาจรวมทั้งทีมงานต่างล้วนเข้าสู่อำนาจด้วยวิธีพิเศษ จึงไม่แปลกที่ติดยึดกับอำนาจ หวงอำนาจ ผลประโยชน์ และคิดต่างจากประชาชนเรื่อง “ประชาธิปไตย”

ย้ำพูดจาบอกกล่าวกันตลอดมาว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ชนะการเลือกตั้ง แต่ที่สามารถเข้าสู่ตำแหน่งได้เพราะกลเกมของกฎหมาย ซึ่งทุกวันนี้ยังตอบสังคมไม่ได้ว่าพรรคการเมืองเล็กๆ ที่ กกต.ประเคน ส.ส.ให้พรรคละ 1 คน คิดคำนวณกันมาได้ยังไง ผู้แทนฯ ที่ออกหน้าเป็นกระบอกเสียงให้นาย (พล.อ.ประวิตร+พล.อ.ประยุทธ์) ตลอดมา แต่ตอบคำถามเด็กไม่ได้ว่าเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่ออันดับที่เท่าไร? ของพรรครัฐบาล

พรรคการเมืองที่เขาก่อตั้งส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งได้รับเลือกจากประชาชนทั่วประเทศ (เน้นว่าทั่วประเทศ) ราว 40,000 คะแนน แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ใช้วิชาเหนือชั้นอย่างไม่เคยปรากฏในประเทศทั่วโลก คิดคะแนนจน (พรรคเล็กๆ) ได้เป็น ส.ส.พรรคละ 1 คน เขาได้ทำการยุบพรรคแล้วสมัครเป็นสมาชิกพรรคแกนนำรัฐบาล โดยไม่มีใครตรวจสอบเรื่องกฎหมาย กระทั่งทุกวันนี้มีบทบาทกร่างสุดๆ เพื่อต่อต้านประชาชน

ไม่เหมือนกับพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ได้รับเลือกเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ แต่ถูกจองเวรทุกๆ เรื่อง ช่วยกันขุดคุ้ยค้นหาเรื่องจนกระทั่งต้องถูกยุบพรรค ซึ่งย่อมพอจะเข้าใจกันได้ว่าอาจนำมาซึ่งความไม่พอใจของคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชมชอบพอนโยบาย และมีความหวังกับพรรคการเมืองที่เพิ่งก่อตั้งพรรคดังกล่าวนี้ด้วย

 

ต้องเขียนเรื่องเก่าอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพราะมันไม่เคยมีคำตอบอะไรจากรัฐบาลว่ามันเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร และอะไรๆ ที่ไม่ค่อยจะถูกต้องเรื่องกฎหมายที่มันสุมกันอยู่ในพรรคการเมืองซีกรัฐบาลเพียงเพราะต้องการเสียงข้างมากจึงร่วมมือช่วยกัน ส.ส.บางคนเห็นได้ชัดเจนว่าแปดเปื้อนเต็มไปด้วยคดีความ

บางคนบุกรุกป่าคดโกงที่ทำกินชาวบ้านมาตั้งแต่รุ่นพ่อ แต่บังเอิญไปอยู่พรรครัฐบาลซึ่งมีความผิดเห็นชัดเจนยังพยายามช่วยกันดึงช่วยกันแก้ตัว

รัฐบาลไม่เคยอับอายประชาชนเลยเกี่ยวกับเรื่องสมาชิกของพรรครัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นพวกสีเทาๆ เดินหน้าล่าเมืองขึ้นสร้างความสำคัญให้กับตัวเองเพื่อจะทำมาหากินอย่างเห็นชัดๆ

บางคนมีคดีความคดโกงแผ่นดินเกี่ยวกับเรื่องสนามกีฬาบางประเภทของโรงเรียนค้างคาอยู่ แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบยังไม่ชี้ความผิดเสียที กลับได้เป็นใหญ่เป็นโต แถมเป็นคนสำคัญเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เรื่องต่างๆ เหล่านี้รัฐบาลไม่เคยตอบคำถามชี้แจงให้ชัดเจนจนกระทั่งประชาชนหายขัดข้องใจ

 

เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็น 1 ใน 3 ข้อที่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนเคลื่อนไหวก่อนจะออกมาชุมนุมในนามกลุ่ม “ราษฎร 2563” ยื่นข้อเรียกร้อง เขาคงมิได้ต้องการอย่างดังที่รัฐบาลพยายามจะลดกระแสโดยเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรัฐบาล + ฝ่ายค้านผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในวาระแรก และตั้งกรรมาธิการพิจารณาร่วมกันอยู่ขณะนี้ ประชาชนเรียกร้องรัฐธรรมนูญใหม่ โดยต้องการให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาจากประชาชนทั้งหมดเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญของประชาชนให้เป็นฉบับสุดท้าย

“โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อประชาชน” (ไอลอว์) ได้รวบรวมรายชื่อเสนอรัฐธรรมนูญแต่ได้ถูกตีตกไปแล้ว บรรดากองหน้าของ พล.อ.ประยุทธ์ หรือจะเรียกว่าลิ่วล้อทั้งหลาย ทั้ง ส.ส.กับ ส.ว.ช่วยกันอภิปรายโจมตีว่ารับเงินจากต่างชาติมาดำเนินการ เป็นรัฐธรรมนูญที่จะล้มสถาบัน และพาอดีตผู้นำที่หนีออกไปต่างประเทศได้กลับบ้าน

นักกฎหมายประชาชนที่พอมีสติปัญญาอยู่บ้างได้พิจารณากันอย่างไร้อคติ ไม่ได้เอียงไปทางใดทางหนึ่ง ต่างลงความเห็นว่ามันเพ้อเจ้อ

เรียนตามตรงว่ากรรมาธิการที่สภาเลือกขึ้นจาก ส.ส.ตามสัดส่วนทั้งพรรครัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน รวมทั้ง ส.ว.ซึ่งได้เลือกประธาน รองประธานกรรมาธิการ และ ฯลฯ ไปแล้ว (ไม่ต้องการเอ่ยชื่อ) ไม่ได้อยู่ในสายตาและให้ความสนใจ โดยเฉพาะจากกลุ่มคณะราษฎร ประชาชนที่เป็นกลาง เพราะเป็นที่เข้าใจกันได้อยู่แล้วว่ารัฐธรรมนูญย่อมออกมาตามความต้องการของผู้กุมอำนาจทุกวันนี้

พวกเขาเหล่านั้นย่อมที่จะสนองตอบ พล.อ.ประยุทธ์อย่างมิต้องสงสัย กรรมาธิการเสียงข้างน้อยจากซีกฝ่ายค้านคงจะเสนออะไรสอดแทรกเข้าไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นบางเรื่องราวจากรัฐธรรมนูญฉบับของประชาชน ถึงแม้ว่ามันจะเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งมาจากประชาชนก็ตาม

เพียงสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จำนวน 200 คนที่ร่างของรัฐบาลเสนอให้ประชาชนเลือกตั้ง 150 คน และแต่งตั้ง 50 คน ทางด้านฝ่ายค้านต้องการให้มาจากการเลือกตั้งทั้ง 200 คน ถึงเวลาโหวตกันเมื่อไรฝ่ายรัฐบาลก็ต้องชนะเนื่องจากกรรมาธิการฝ่ายค้านเป็นเสียงข้างน้อย ในที่สุดคงต้องมาลุ้นกันตรงการทำประชามติโดยมีประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นผู้ตัดสิน

ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไรจะถึงวันนั้น

 

ไม่ทราบเหมือนกันว่าประเทศของเราจะติดกับดักอยู่อย่างนี้อยู่อีกสักกี่ศตวรรษ เราคงไม่มีโอกาสได้รัฐบาลประชาธิปไตยที่มีนโยบายที่ดีโดนใจซึ่งประชาชนเลือกเข้ามา เป็นรัฐบาลประชาธิปไตยที่ไม่ตระบัดสัตย์เข้ามาทำให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ และไม่ต้องตกอยู่ใต้การปกครองของผู้มีอำนาจ

เพราะประชาชนเลือกผู้แทนฯ ไปบริหาร ไม่ได้เลือกผู้ปกครอง หรือต้องการอดีตทหารเผด็จการที่พาพรรคพวกขนอาวุธมาปล้นอำนาจแล้วแจกจ่ายผลประโยชน์ให้กันทั่วหน้า พร้อมทำตัวเป็นผู้ยิ่งใหญ่แต่แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ บ้านเมืองของเราจึงค่อยๆ เหี่ยวแห้งโรยราสะสมหนี้สินจำนวนมหาศาลไว้เป็นมรดกให้รุ่นลูก-หลาน

อันที่จริงแล้วคงหนีไม่พ้นที่จะต้องกล่าวหาประชาชนที่ตัดสินใจหรือหลงเชื่อเลือก ส.ส.พวกที่เป็นทาสเผด็จการ เป็นพวกที่ปลดปล่อยแล้วไม่ยอมไปไหนยังเกาะเกี่ยวเหนี่ยวรั้งผลประโยชน์ส่วนตนเล็กๆ น้อยๆ โดยใช้ประชาชนเป็นสะพานเหยียบขึ้นมาสนับสนุนเผด็จการ

ต้องเรียนกับท่านพี่น้องประชาชนว่าทุกวันนี้ต้องหูตาสว่างได้แล้ว และดูผลงานจากรัฐบาลปัจจุบันว่าจะมีขีดความสามารถทำอะไรให้กับพี่น้องประชาชนผู้ยากไร้ให้ลืมตาอ้าปากได้บ้าง

 

เวลาที่สะสมกันมานานก่อนที่จะมีการก่อตั้งกลุ่มต่างๆ เริ่มชุมนุมเรียกร้องกันมาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2562 กระทั่งพัฒนามาถึงกลุ่ม “ราษฎร 2563” มีการเว้นวรรคเพราะเกิดการระบาดของไวรัสโคโรนา (Covid-19) และมาเริ่มต้นอีกครั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 โดยชุมนุมต่อเนื่องติดต่อกันมาร่วมครึ่งปี ด้วยข้อเรียกร้องที่ชัดเจนซึ่งเป็นไปได้ว่าจะต้องชุมนุมกันทั่วประเทศต่อไปจนถึงปี พ.ศ.2564 หรือต่อไปเรื่อยๆ เพราะไม่มีคำตอบอะไรจากรัฐบาล

รัฐบาลใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือตอบโต้ทุกเม็ดทุกมาตราเพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมตัวสำคัญๆ ดังที่ได้เห็นแล้วหลังจากกลุ่มผู้ชุมนุมไปเอาคืนด้วยการสาดสี “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ”

และเมื่อมีข่าว (ลวง) ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะไปปิดล้อม “สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” ตำรวจก็งัดหมายจับตัวแกนนำคนแรกคือนาย (โตโต้) ปิยรัฐ จงเทพ อดีตผู้สมัคร ส.ส. (พรรคอนาคตใหม่) ก่อนพาตัวไปยังจังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาเป็นนายอรรถพล บัวพัฒน์ (ครูใหญ่ขอนแก่นพอกันที)

แกนนำทุกคนตั้งแต่ทนายอานนท์ นำภา, นาย (เพนกวิน) พริษฐ์ ชิวารักษ์, นางสาว (รุ้ง) ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (ได้รับการคัดเลือกจากผู้หญิง 100 คนทั่วโลกผู้เป็นแรงบันดาลใจและทรงอิทธิพล 2020 ของบีบีซี), นายภาณุพงศ์ จาดนอก (ไมค์ ระยอง), นางสาว (มายด์) ภัสรวลี ธนกิจวิบูลย์ผล และ ฯลฯ ล้วนอยู่ในรายชื่อที่จะถูกจับตัวดำเนินคดีทั้งสิ้น ตำรวจบอกว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีคดีค้างรวมกันทั้งหมดถึง 107 คดี

บ้านเมืองของเราจำเป็นต้องอยู่กันไปแบบนี้แหละ คงจะลากกันไปทื่อด้วยสมองก้อนโตๆ ตามสไตล์ พล.อ.ประยุทธ์ รอเวลาเหี่ยวแห้งแก้อะไรไม่ได้ ก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงจบลงไปเอง ข้อเรียกร้องทั้งหมดของกลุ่ม “ราษฎร 2563” คงไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ต้องยกเอาคำพูดของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ว่าถึงยังไงมัน “ต้องมีทางออก” ก่อนจะบอกว่า ให้สื่อตัดคำว่า “รัฐประหาร” ทิ้งไปเสียจากหน้าหนังสือพิมพ์ สื่อโซเชียล

เราไม่มีรัฐบาลเป็น “ประชาธิปไตย” มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 แต่ถ้ายังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ หลังจากนี้หากเกิดรัฐบาลมาจากการ “เลือกตั้ง” ของประชาชนอย่างแท้จริง

รัฐประหาร (อาจ) จะกลับมาได้อีกครั้ง