ไฉนหนัง “หมูป่า-ถ้ำหลวง” ฉบับ “ฮอลลีวู้ด” จึงเลือกไปถ่ายทำที่ “ออสเตรเลีย”? | คนมองหนัง

คนมองหนัง

 

ปฏิบัติการช่วยชีวิตนักฟุตบอลเยาชน-ผู้ฝึกสอนทีม “หมูป่า อะคาเดมี” รวม 13 ชีวิต ที่ติดอยู่ใน “ถ้ำหลวง” วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เมื่อปี 2561 (2018) คือเหตุการณ์สำคัญระดับโลก ที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เล่าเรื่อง-ภาพยนตร์สารคดีหลากหลายเวอร์ชั่น

แต่โปรเจ็กต์ “หนังช่วยชีวิต 13 หมูป่า” ที่น่าจะมีสเกลใหญ่ที่สุดก็คือภาพยนตร์เรื่อง “Thirteen Lives” ผลงานการกำกับฯ โดย “รอน ฮาวเวิร์ด” เจ้าของรางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากหนังเรื่อง “A Beautiful Mind”

ซึ่งอาจเรียกขานได้ว่า “หนังหมูป่าฉบับฮอลลีวู้ด”

อย่างไรก็ดี ข่าวคราวล่าสุดที่เผยแพร่ออกมา กลับกลายเป็นว่า “หนังหมูป่าฉบับฮอลลีวู้ด” เรื่องนี้ จะไปปักหลักถ่ายทำกันที่รัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ในเดือนมีนาคม 2564 (2021)

ไม่ใช่จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย อย่างที่สมควรจะเป็น

สํานักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ผลจากการเลือกไปออกกองถ่ายที่รัฐควีนส์แลนด์ จะทำให้เอ็มจีเอ็ม และอิมเมจิน เอ็นเตอร์เทนเมนต์ สองบริษัทผู้สร้างของภาพยนตร์เรื่อง “Thirteen Lives” ได้รับเงินสนับสนุนจำนวน 9.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบๆ 300 ล้านบาท จากรัฐบาลออสเตรเลีย

นี่คือส่วนหนึ่งของงบประมาณ 295 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวๆ 9 พันล้านบาท ที่รัฐบาลออสเตรเลียใช้จ่ายไปตลอดช่วง 7 ปีหลัง เพื่อกระตุ้นให้กองถ่ายภาพยนตร์ต่างชาติเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศ

ผู้กำกับฯ อย่างฮาวเวิร์ดหยอดคำหวานว่าเขาตื่นเต้นที่จะมีโอกาสไปถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง “Thirteen Lives” ที่ออสเตรเลีย พร้อมทั้งกล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมา ตนเองได้ทำงานร่วมกับศิลปินชาวออสเตรเลียจำนวนมาก ด้วยความรู้สึกสนุกสนาน และได้ต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ

บุคลากรเหล่านั้นมีอาทิ เคต แบลนเชตต์ นิโคล คิดแมน รัสเซล โครว์ และคริสต์ เฮมเวิร์ธ เป็นต้น ซึ่งต่างเฉลียวฉลาดและมีจรรยาบรรณทางวิชาชีพที่น่าเคารพนับถือ

ทางด้าน “พอล เฟลตเชอร์” รมว.การสื่อสาร ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และศิลปะ ของออสเตรเลีย คาดการณ์ว่าโปรเจ็กต์ภาพยนตร์เรื่อง “Thirteen Lives” จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นมูลค่าสูงกว่า 70.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 2 พันล้านบาท

และจะสร้างอาชีพให้ประชาชนชาวออสเตรเลียราว 435 อัตรา หรืออาจประเมินเป็นผู้ประกอบธุรกิจรวมประมาณ 300 กิจการ

ประเด็นสำคัญ คือ เนื่องจากหนังฟอร์มใหญ่เรื่องนี้ต้องใช้เทคนิคพิเศษทางด้านภาพจำนวนมาก หนึ่งในกลุ่มคน/วิชาชีพที่จะได้รับประโยชน์และประสบการณ์มหาศาล จึงได้แก่บริษัทท้องถิ่นที่รับงานด้านโพสต์โปรดักชั่นและเทคนิคพิเศษทางภาพยนตร์

“Thirteen Lives จะบอกเล่าเรื่องราวสุดพิเศษของความพยายามโดยอาสาสมัครจำนวนมาก รวมถึงชาวออสเตรเลียด้วย ในการรับภารกิจช่วยเหลือชีวิตมนุษย์อันสลับซับซ้อนและน่าทึ่ง และผมรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้กล่าวว่าเรื่องราวพิเศษเช่นนี้จะถูกบอกเล่าที่นี่ ที่ประเทศออสเตรเลีย”

รมว.การสื่อสาร ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และศิลปะ ของรัฐบาลออสเตรเลีย ระบุ

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ซึ่งมีรองนายกฯ “วิษณุ เครืองาม” (ในสมัยรัฐบาล คสช.) เป็นประธานการประชุม ได้ประชุมหารือแนวทางการส่งเสริมการจัดสร้างภาพยนตร์และสารคดี กรณีการช่วยเหลือนักฟุตบอลและผู้ฝึกสอนทีม “หมูป่าฯ”

โดยขณะนั้น ที่ประชุมได้รับรายงานจากหน่วยงานภาครัฐต่างๆ อาทิ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศ ว่ามีบริษัทต่างชาติจำนวน 5 ราย ติดต่อเข้ามา เพราะสนใจจะจัดสร้างภาพยนตร์จากเหตุการณ์ที่ถ้ำหลวง

อันนำไปสู่การเสนอคณะรัฐมนตรีให้แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ซึ่งจะทำหน้าที่ (1) ดูแลลิขสิทธิ์เกี่ยวกับเนื้อหาเรื่องราว (2) การคุ้มครองบุคคลด้านข้อมูลข่าวสารและความเป็นส่วนตัวของเยาวชน-ผู้ฝึกสอนทั้ง 13 ราย ตลอดจนบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาพลักษณ์ชื่อเสียงของประเทศไทย และ (3) ดูแลด้านการผลิตภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยเฉพาะ

ทั้งนี้ ที่ประชุมพร้อมให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ ที่มีความสนใจจะผลิตภาพยนตร์และวีดิทัศน์กรณีการช่วยเหลือสมาชิกทีมหมูป่าฯ โดยอยู่ภายใต้กฎหมายไทย

ไม่ทราบว่าเป็นเพราะสาเหตุใด? ที่ทำให้โครงการภาพยนตร์ “หมูป่าฯ” ที่ใหญ่ที่สุดและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากที่สุด ค่อยๆ หลุดลอยออกจากประเทศไทยไปสู่ออสเตรเลีย

เพราะงบประมาณดึงดูดใจ/ส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐที่น้อยกว่า? เพราะศักยภาพ-คุณภาพของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ท้องถิ่นโดยรวมที่ด้อยกว่า? หรือเพราะรูปแบบการเซ็นเซอร์-ควบคุมเนื้อหาที่เข้มข้นมากกว่า?

ข้อมูลจาก

https://variety.com/2020/film/news/ron-howard-thai-cave-rescue-film-australia-scott-morrison-1234841016/

https://www.m-culture.go.th/th/article_view.php?nid=18566